นักองค์ศิริวงษ์

นักองค์ศิริวงษ์, พระองค์เจ้าศิริวงษ์ หรือ นักพระองค์ศิริวงศ์[2] (พระนามเดิม พระองค์เจ้าจอจแรด; ประสูติ พ.ศ. 2385 ถึง 2387[1] – สิ้นพระชนม์ ไม่มีข้อมูล) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ประสูติแต่พระแม่นางผลทิพย์สุวรรณ (เขียว) เป็นพระอนุชาต่างพระชนนีของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร และพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ต่อมานักองค์ศิริวงษ์เข้าฝ่ายกับนักองค์วัตถา ก่อกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร[3]

นักองค์ศิริวงษ์
ประสูติช่วง พ.ศ. 2385–2387[1]
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
พระบิดาสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระมารดาพระแม่นางผลทิพย์สุวรรณ (เขียว)

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

นักองค์ศิริวงษ์ มีพระนามเดิมว่า จอจแรด เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ประสูติแต่พระแม่นางผลทิพย์สุวรรณ (เขียว)[1] เข้าพระราชพิธีเกศากันต์เมื่อเดือนสี่ ปีมะโรงอัฐศก จ.ศ 1218 ตรงกับ พ.ศ. 2399 สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีพระราชทานพระนามใหม่ว่า "ศิริวงษ์"[4]

นักองค์วัตถาถูกส่งตัวกลับไปปฏิบัติราชการในกรุงกัมพูชาก่อน พ.ศ. 2400 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้ นักองค์ราชาวดี เป็นที่พระมหาอุปราช และนักองค์ศรีสวัสดิ เป็นที่สมเด็จพระแก้วฟ้า กลับไปปฏิบัติราชการกรุงกัมพูชา และทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองค์ราชาวดีขึ้นเป็นที่สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ มหาอุปราช และนักองค์ศรีสวัสดิเป็นที่พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า (เอกสารเขมรเรียก สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า)[5] สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีก็ส่งตัวนักองค์เจ้าวัตถาและนักองค์ศิริวงษ์ไปรับใช้ราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานครแทน[3][6] กระทั่งหลังการพิราลัยของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีเมื่อ พ.ศ. 2403 ด้วยโรคริดสีดวงทวารที่ประชวรมานานหลายเดือน[7] นักองค์วัตถาได้เข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพด้วย สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ มหาอุปราช ทรงปลูกพระตำหนักทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวังในอุดงฦๅไชยแก่นักองค์วัตถา นักองค์วัตถาขอให้พระองค์เจ้าศิริวงษ์ พระอนุชาต่างพระชนนีไปประทับที่พระตำหนักด้วยกัน[8]

การก่อกบฏ

แก้

ครั้น พ.ศ. 2404 สนองโสร์ กรมการของเมืองบาพนมซึ่งเป็นพระมาตุลาหรือน้าชายของวัตถา เกลี้ยกล่อมชาวเมืองบาพนมเป็นพวกจำนวนมาก โดยยุยงให้ชาวเมืองกระด้างกระเดื่องต่อพระยาธรรมเดโชซึ่งเป็นเจ้าเมืองดังกล่าว[9] ในเอกสารไทยระบุว่า สนองโสร์เห็นว่าสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์นั้น "...ไม่โอบอ้อมอารีต่อพี่น้อง..." ก็คุมสมัครพรรคพวกก่อกบฏขึ้น[10] สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์จึงตรัสให้เอาตัวสนองโสร์ไปไต่สวน แต่สนองโสร์ไม่ยินยอม กลับไปพักพิงอยู่กับนักองค์วัตถาและศิริวงษ์แทน ซึ่งนักองค์วัตถาก็ออกตัวปกป้องสนองโสร์ พร้อมกับกล่าวว่า ตนรับใช้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มาดูแลน้ำใจของเหล่าเจ้านายเขมรและขุนนางเขมรมิให้เอาใจออกหาก หากใครประพฤติผิดไปจากนี้ก็จะนำความกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความประพฤติของเจ้านายและขุนนางเขมรทุกประการ หลังจากเหตุการณ์นั้น ทั้งนักองค์วัตถาและศิริวงษ์ก็มิได้เฝ้าแหนสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ตามเคย[9] และทั้งสองพระองค์นี้ก็มิได้เสด็จออกไปร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของพระชนกเลย[11] ใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่าพระยาราชประสิทธิไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสังฆราช (เที่ยง สุวณฺณเกสโร) ที่วัดปราง เพื่อเชิญนักองค์วัตถาและศิริวงษ์เพื่อกราบทูลเจรจาเรื่องราวแต่ก็ล้มเหลว ในช่วงเวลาดังกล่าว นักองค์วัตถาได้แต่งตั้งให้สนองโสร์ ซึ่งเป็นพระมาตุลาขึ้นเป็นออกญามหาฤทธิรงค์ชาญไชย[12]

พ.ศ. 2404 สมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ ทรงให้ไพร่พลนำปืนไปยิงพระตำหนักนักองค์วัตถาและศิริวงษ์ เพื่อไล่ให้ตื่น จะได้หนีกลับไปยังกรุงเทพมหานครโดยเร็ว ฝ่ายออกญามหาฤทธิณรงค์ (โสร์) และออกญากำแหงโยธา (แก้ว) ก็พาสมัครพรรคพวกราว 40-50 คน ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กันไปมากับฝ่ายสมเด็จพระนโรดม จนฝ่ายของนักองค์วัตถาล้มตายไป 7-8 คน นักองค์วัตถาเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงพาครอบครัว คือ นักขำ มารดา หม่อมดอกบัว ภรรยา และยายแก้ว พระอัยยิกา พร้อมด้วยบ่าวไพร่ ขี่ม้าหนีไปเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นเขตแดนของสยาม เพื่อมุ่งสู่กรุงเทพมหานครต่อไป พระบาทสมเด็จพระนโรดมตรัสให้ออกญาเสนาธิบดี (เล็ก) กับออกญาราชเดชะ (เอก) ยกไพร่พลไล่ตามพวกนักองค์วัตถาจนสุดเขตแดน แล้วให้จับพระแม่นางผลทิพย์สุวรรณ (เขียว) พระชนนีของพระองค์เจ้าศิริวงษ์ จำขังไว้ในพระราชวัง[12] แม้ตัววัตถาและศิริวงษ์จะลี้ภัยไปกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ออกญามหาฤทธิณรงค์ (โสร์) และออกญากำแหงโยธา (แก้ว) ยังปฏิบัติการอยู่ในเขมรต่อไป ด้วยประสงค์จะให้นักองค์วัตถาเสวยราชสมบัติสืบต่อไป[13] เรื่องราวดังกล่าว ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช ซึ่งทรงสนิทสนมกัน ความว่า[14]

"...ราชการในกรุงเทพมหานครทุกวันนี้ มีแต่ด้วยเรื่องเมืองเขมร เกิดรบพุ่งยุ่งยิ่งกันมาก เปนเหตุด้วยบุตร์ชายหญิงขององค์สมเดจพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ที่ถึงแก่พิราลัยนั้นนั้นไม่มีความสมัคสโมสรแก่กัน ต่างคนต่างจะชิงกันเปนเจ้าเมืองเขมรต่อไป แต่งพวกพ้องออกไปหัวเมืองเกลี้ยกล่อมคนเปนกองทัพแล้ว รบกันหลายแห่งหลายตำบล นักองค์วัถา นักองค์ศิริวงษ์ ๆ เปนผู้ก่อเหตุเดิม แล้วบัดนี้หนีเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร องค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์ มหาอุปราช กับพระยาเขมรก็อพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่ที่เมืองพัตบอง เมืองอุดงมีไชย ยังอยู่แต่องค์พระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้ากับเจ้าผู้หญิง บัดนี้ที่กรุงเทพมหานครได้แต่งให้พระยามุขมนตรี แลพระยาสีหราชฤทธิไกรยกออกไปทางบก โดยทางเมืองพัตบอง แลให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ กับพระ (ราช) เสนายกออกไปทางเรือ ขึ้นเมืองกำปอด เพื่อจะให้รงับการเมืองเขมรให้สงบ บัดนี้การเรื่องนั้นก็ยังไม่จบลง..."[14]

ลี้ภัยในสยาม

แก้

หลังเสด็จลี้ภัยอยู่ในกรุงสยามพร้อมกับนักองค์วัตถา[2] นักองค์ศิริวงษ์ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ มีฉายาธรรมว่า "ปุ วํโส" หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี ระบุว่าในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผนวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2409 ทรงให้พระปุ วํโส (นักองค์ศิริวงษ์) แปลศิลาจารึกที่เป็นภาษาเขมร[15]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 283
  2. 2.0 2.1 รำไพพรรณี พระบรมราชินี, สมเด็จพระนางเจ้า (2481). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 71. พระนคร: กรุงเทพบรรณาคาร. p. 102.
  3. 3.0 3.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "นิราสนครวัด (3. อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งแรก)". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 297
  5. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 291-292
  6. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 294
  7. สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (2505). ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร (PDF). พระนคร: ธนะการพิมพ์จำกัด. p. 49.
  8. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 300
  9. 9.0 9.1 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 301-302
  10. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 249
  11. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 303
  12. 12.0 12.1 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 305
  13. เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 306
  14. 14.0 14.1 เทวะวงศ์วโรปการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (2465). พระราชหัดถเลขาในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ 3 (PDF). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. p. 28.
  15. ประเสริฐ ณ นคร, ศาสตราจารย์ ดร. (2547). ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ. p. 110-111.