นิราศนครวัด
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
นิราศนครวัด เป็นนิราศร้อยแก้วเพียงเรื่องเดียวในบรรดาวรรณคดีของไทยทั้งหมด เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นักปราชญ์คนสำคัญของเมืองไทย นับเป็นหนังสือเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีเล่มแรกๆ ของไทย
นิราศนครวัด | |
---|---|
กวี | สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
ประเภท | นิราศ, สารคดี |
คำประพันธ์ | ร้อยแก้ว |
ความยาว | 231 หน้า |
ยุค | รัตนโกสินทร์ |
ปีที่แต่ง | พ.ศ. 2468 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
ประวัติ
แก้เดิมนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งพระทัยจะแต่ง นิราศนครวัด นี้เป็นนิราศอย่างธรรมเนียมการแต่งนิราศโดยทั่วไป ทว่าด้วยทรงเปลี่ยนพระทัย มาแต่งเป็นร้อยแก้ว ดังความปรากฏอยู่แล้วในบทกลอนก่อนเข้าเรื่องนิราศนครวัด ซึ่งทรงเขียนไว้ว่า “กลอนนิราศนครวัด” ฉะนั้น ด้วยเจตนาของผู้ประพันธ์ เราอาจเรียก นิราศนครวัด นี้ ว่าเป็นนิราศคำกลอนก็คงจะได้ ด้วยทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “มีกลอนนำสักนิดเหมือนติดแวว พอเนื่องแนวแบบนิราศปราชญ์โบราณ / มิฉะนั้นจะว่าไม่ใช่นิราศ ด้วยเหตุขาดคำกลอนอักษรสาร”
ปีที่แต่งนั้น คงจะเป็น พ.ศ. 2468 เนื่องจากเป็นการเล่าเหตุการณ์ที่เสด็จประพาสกัมพูชา ช่วงปลายปี พ.ศ. 2467 (16 พฤศจิกายน – 14 ธันวาคม) แต่ที่ท้าย “กลอนนิราศนครวัด” ต้นเรื่อง “นิราศนครวัด” นี้ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2467 (เป็นการนับแบบเก่า หากนับแบบใหม่ จะถือเป็น พ.ศ. 2468 แล้ว)
เนื้อหา
แก้เมื่อ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงมีโอกาสเสด็จส่วนพระองค์ไปยังประเทศกัมพูชา โดยเสด็จไปทางเรือ ออกจากท่าเรือบริษัทอิสต์อาเซียติค ข้างเหนือวัดพระยาไกร โดยมีผู้ตามเสด็จไปด้วยคือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย, หม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ พระธิดา นอกจากนี้ยังมีพระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา) , หลวงสุริยพงศพิสุทธิแพทย์ (กระจ่าง บุนนาค) ซึ่งเป็นแพทย์และล่าม, ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ (บรรณารักษ์ใหญ่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร) เป็นมัคคุเทศก์ นายสมบุญ โชติจิตร เป็นเสมียน และนายเดช คงสายสินธุ์ เป็นมหาดเล็กรับใช้ รวม 9 คน กับครอบครัวของศาสตราจารย์ยอช อีก 5 คน รวมทั้งสิ้น 14 คน
เรือโดยสารนี้ชื่อว่า เรือสุทธาทิพย์ แล่นจากท่าเรือในกรุงเทพฯ ออกไปถึงสมุทรปราการ ออกทะเล ผ่านเกาะช้าง และเกาะกูด แล้วไปเทียบท่าขึ้นฝั่งที่เมืองกำปอดของกัมพูชา ในวันที่ 18
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงการเดินทาง และสิ่งที่ได้พบเห็นในกัมพูชา ตามลำดับเวลาที่ได้เสด็จไป เบื้องต้นได้ทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ในกรุงพนมเปญ เล่าเรื่องและตำนานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเสด็จไปยังพิพิธภัณฑสถาน และชมพระที่นั่งต่างๆ ทั้งนี้ได้ลำดับทำเนียบพระสมณศักดิ์ของพระราชาคณะกัมพูชา เล่าเรื่องพระราชพิธีประจำปี และคำถวายอติเรก ฯลฯ
จากนั้นได้เสด็จไปเมืองเสียมราฐ เพื่อทอดพระเนตรปราสาทนครวัด ทรงเล่าเรื่องและอธิบายประวัติเกี่ยวกับปราสาทนครวัด และปราสาทหินอื่นๆ โดยละเอียด นับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ของไทยที่ใช้อ้างอิงเกี่ยวกับปราสาทหินของเขมรได้ ทั้งนี้ด้วยความสนพระทัยส่วนพระองค์อยู่แล้ว และยังมีศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นมัคคุเทศก์ด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และคณะได้พักที่บ้านของเมอสิเออ บอดูแอง เรสิดังสุปีริเอกรุงกัมพูชา (เวลานั้นกัมพูชาอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศส) แม้ว่าจะเสด็จไปเป็นการส่วนพระองค์ แต่พระองค์และคณะก็ได้รับการต้อนรับจากหลายฝ่ายด้วยดี (ดังปรากฏในกลอนนิราศที่ทรงแต่งไว้) ทั้งนี้ยังได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ พระเจ้ากรุงกัมพูชา
เมื่อมีเวลาในช่วงท้ายของการเดินทาง ชาวคณะของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางไปยังเมืองไซ่ง่อน เนื่องจากเวลานั้นเพิ่งมีถนนตัดใหม่จากกรุงพนมเปญ เมืองไซ่ง่อนของเวียดนาม ภายใต้การกำกับดูแลของฝรั่งเศสในเวลานั้น มีร้านรวงและห้างขายของใหม่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองของเวียดนามมาเฝ้ารับเสด็จด้วยดีเช่นเดียวกับในกัมพูชา ทั้งนี้ได้เสด็จไปทอดพระเนครละครโอเปร่า และทอดพระเนตรหนังฉาย ทั้งหนังข่าวและหนังเรื่อง มี “เรื่องตลกฮาโรลด์ลอยด์ (แว่นตาโต) เรื่องหนึ่ง”
เมื่อกลับถึงพนมเปญ ยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงละครของเขมร ซึ่งนิยมเล่นละครอย่างของไทย เรื่องพระสมุทร ทรงถึงการแต่งตัว เปรียบเทียบกับละครของไทยด้วย ก่อนเสด็จกลับยังได้พบกับคนไทยที่เคยเป็นครูละครหรือพนักงานในวังที่กรุงเทพฯ มาอาศัยในกัมพูชา 30-40 ปี ทรงเคยรู้จักหรือคุ้นเคยอยู่บ้าง
คณะของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร โดยเส้นทางเดิม แต่โดยสารเรืออีกลำหนึ่ง ชื่อเรือวลัย ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2467
นิราศนครวัด เป็นหนังสือดีที่มีเกร็ดประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งยังบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ของไทยในอดีต ผู้ที่ได้อ่านนอกจากจะได้ความเพลิดเพลินอย่างอ่านหนังสือนำเที่ยวแล้ว ยังได้ความรู้หลากหลาย ตามรสนิยมของปราชญ์ผู้ทรงพระนิพนธ์ ที่ล้วนแต่บันทึกและเล่าเรื่องความรู้เผยแพร่แก่สาธารณชนเสมอมา
กลอนนิราศนครวัด
แก้๏ แต่ฟังเขาเล่าขานนานหนักหนา | |
พวกที่ได้ไปเมืองเขมรมา | ว่าปราสาทศิลาน่าชมนัก |
ล้วนใหญ่โตมโหฬารโบราณสร้าง | ฝีมือช่างขอมชำนาญการจำหลัก |
ทำลวดลายหลายอย่างช่างเยื้องยัก | เขาชอบชักชวนให้เราไปดู |
แต่ยังติดกิจการพานขัดข้อง | ก็จำต้องเฝ้าผัดหลายนัดอยู่ |
จนถึงปีชวดนี้มีช่องคู | จะไปสู่นครวัดได้บัดนี้ |
ฝ่ายธิดายาใจอยากไปบ้าง | จะขัดขวางเธอไว้ก็ใช่ที่ |
เที่ยวแห่งใดก็ไปด้วยทุกที | จำปรานียอมให้ไปด้วยกัน |
จึงทูลลาพาสามทรามสวาท | แรมนิราศกรุงไกรมไหศวรรย์ |
แต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันว์ | ไปดัดดั้นเที่ยวอยู่กัมพูชา |
ฝรั่งเศสแสนดีอารีเหลือ | เขาเอื้อเฟื้อสารพัดช่วยจัดหา |
ไปถึงไหนก็เป็นสุขทุกเวลา | ช่างนึกน่าขอบใจกระไรเลย |
ทั้งเจ้านายฝ่ายกรุงกัมพูชา | ก็ต้อนรับสู่หาไม่เพิกเฉย |
ได้พูดจาสาสะจนคุ้นเคย | ใจก็เลยชักชอบด้วยขอบใจ |
เที่ยวสนุกขุกคิดถึงมิตรสหาย | ทั้งหญิงชายอยู่หลังยังกรุงใหญ่ |
ให้นึกอยากฝากของต้องฤทัย | แต่คิดไปก็ลำบากยากใช่น้อย |
จะซื้อหาสิ่งไรมาให้เล่า | ทุนของเราก็ไม่พอต้องท้อถอย |
ด้วยเพื่อนฝูงคณนาเห็นกว่าร้อย | จะแจกย่อยไปทุกคนพ้นปัญญา |
อย่าเลยจะเลี่ยงทำเยี่ยงปราชญ์ | แต่งนิราศสักทีจะดีกว่า |
ลองเล่าเรื่องที่ไปเมืองกัมพูชา | ให้บรรดามิตรสหายทั้งหลายฟัง |
แล้วพิมพ์แจกเช่นทำนองเป็นของฝาก | เห็นโดยมากจะสมอารมณ์หวัง |
แต่คิดกลอนแหละเบื่อเหลือกำลัง | จะแต่งตั้งนับปีก็มิแล้ว |
ด้วยกล่าวกลอนไม่สันทัดออกขัดข้อง | เห็นจะต้องเรียบเรียงเพียงร้อยแก้ว |
มีกลอนนำสักนิดเหมือนติดแวว | พอเนื่องแนวแบบนิราศปราชญ์โบราณ |
มิฉะนั้นจะว่าไม่ใช่นิราศ | ด้วยเหตุขาดคำกลอนอักษรสาร |
จึงแต่งไว้พอเห็นเป็นพยาน | ขอเชิญอ่านเนื้อเรื่องเนื่องไปเทอญฯ |