ประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติยาวนาน โดยสามารถแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้

ประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล แก้

ยุคโรงศิริราชพยาบาล (พ.ศ. 2429 - พ.ศ. 2431) แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งคณะคอมมิตี้ เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาล โดยใช้ที่ดินส่วนหนึ่งของวังหลัง มาเป็นที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรก ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" ในระหว่างการสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ได้สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล และเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาล พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า โรงศิริราชพยาบาล

ยุคโรงเรียนแพทยากร (พ.ศ. 2432-พ.ศ. 2440) แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล โดยมีชื่อว่า โรงเรียนแพทยากร นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้น ในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย ในปัจจุบัน คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยุคโรงเรียนราชแพทยาลัย (พ.ศ. 2443 - พ.ศ. 2475) แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกโรงเรียนแพทย์ และพระราชทานนามโรงเรียนแพทยากรใหม่ว่า โรงเรียนราชแพทยาลัย ในโอกาสนั้นโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตรให้แพทย์รุ่นที่ 8 จำนวน 9 คน และพยาบาลรุ่นแรก จำนวน 10 คน

ในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐาน โรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล

ในช่วงนี้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยมี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับภาระเป็นผู้แทนฝ่ายไทย และได้ขยายหลักสูตรเป็นแพทยศาสตร์บัณฑิต ต่อมา มูลนิธิฯ ได้ขยายความช่วยเหลือไปถึงโรงเรียนพยาบาล และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย

ยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2512) แก้

 
ตราประจำมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์

มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้น โดยแยก คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในช่วงนี้ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้จัดตั้งและโอนคณะต่างๆ มากมาย ได้แก่

  • พ.ศ. 2491 จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกระทรวงการสาธารณสุข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2490
  • พ.ศ. 2491 จัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2491
  • พ.ศ. 2498 โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2500 จัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
  • พ.ศ. 2501 จัดตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อมาเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • พ.ศ. 2502 จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่จัดการศึกษาฝ่ายแพทยศาสตร์ และฝ่ายวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2503 จัดตั้ง คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ปัจจุบันเป็นคณะเวชศาสตร์เขตร้อน) และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ปัจจุบันเป็นคณะวิทยาศาสตร์) ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยที่สมควรอบรมความรู้เรื่องอายุรศาสตร์เขตร้อนโดยละเอียดแก่บรรดาแพทย์ทั้งหลาย ตลอดจนทำการศึกษาวิจัยเพื่อความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคเขตร้อนแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2507 จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแพทย์ ช่วยเหลือ ปรับปรุงคุณวุฒิ และสมรรถภาพของแพทย์ รวมทั้งเภสัชกร ทันตแพทย์ ให้มีความรู้เหมาะสมกับสมัยและช่วยวิจัยปัญหาการแพทย์การสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2508 จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง เพื่อผลิตแพทย์ อาจารย์ พยาบาล ผดุงครรภ์อนามัย และพนักงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนบริการประชาชน ผู้ป่วยไข้ และโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2510 โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปเป็นของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2510
  • พ.ศ. 2511 จัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท และ คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นใหม่อีก 2 คณะ โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท มีหน้าที่จัดการศึกษาด้าน ทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท มีหน้าที่จัดการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์
  • พ.ศ. 2512 เปลี่ยนชื่อคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็น คณะวิทยาศาสตร์

ยุคมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2512-ปัจจุบัน) แก้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เรียกว่า "มหาวิทยาลัยมหิดล" มีขอบเขตดำเนินงานกว้างขวางยิ่งขึ้น ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นชื่อมหาวิทยาลัยแทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม ในช่วงนี้มีการจัดตั้งคณะต่าง ๆ อีกมากมายเพื่อให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้

ดูเพิ่ม แก้