เพื่อนพ้องน้องพี่ (บริษัท)

บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชน ก่อตั้งโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ และมีกลุ่มเพื่อนของนายวีระร่วมถือหุ้น เพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ คือ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี (พ.ศ. 2550-2551), นิตยสารข่าว วาไรตี้นิวส์ฉบับมหาประชาชน (พ.ศ. 2550), รายการโทรทัศน์ ความจริงวันนี้-เพื่อนพ้องน้องพี่-มหาประชาชน (พ.ศ. 2551 - 2553) และหนังสือพิมพ์ มหาประชาชนฉบับความจริงวันนี้ (พ.ศ. 2552 - 2555)

บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด
ประเภทสื่อสารมวลชน
อุตสาหกรรมสถานีโทรทัศน์
รายการโทรทัศน์
หนังสือพิมพ์รายสามวัน
นิตยสารข่าวรายสัปดาห์
รูปแบบบริษัทจำกัด
ก่อตั้งพ.ศ. 2548
ผู้ก่อตั้งวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกรรมการ
สำนักงานใหญ่2539 ชั้น 6 อาคารบิ๊กซีลาดพร้าว
แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร
พื้นที่ให้บริการ
ไทย ประเทศไทย
บุคลากรหลัก
จตุพร พรหมพันธุ์
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ก่อแก้ว พิกุลทอง
ผลิตภัณฑ์ความจริงวันนี้, เพื่อนพ้องน้องพี่, มหาประชาชน
มหาประชาชนฉบับความจริงวันนี้
วาไรตี้นิวส์ฉบับมหาประชาชน
สถานีโทรทัศน์พีทีวี
เว็บไซต์www.ptv.co.th
www.ptvthai.com

ประวัติ แก้

สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี แก้

สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี (อังกฤษ: People's Television ชื่อย่อ: PTV) มีผู้ร่วมก่อตั้งประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายอุสมาน ลูกหยี และนายก่อแก้ว พิกุลทอง และคำขวัญว่า เพื่อนพ้องน้องพี่ พีทีวีเพื่อประชาชน

โดยนายวีระ นายจตุพร นายจักรภพ และ นายณัฐวุฒิ ร่วมกันแถลงข่าวว่า พีทีวีจะเริ่มต้นออกอากาศ ในวันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง ต่อต้านการรัฐประหาร และเผด็จการทหารทุกรูปแบบ

ซึ่งหมายถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่กระทำรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตย แต่กลับนิ่งเฉยต่อรัฐบาลที่มาจากเผด็จการทหาร ตลอดจนตั้งคำถามถึงการแสดงออกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สามารถตีความในเชิงการเมือง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษด้วย

แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าว กลับไม่สามารถออกอากาศได้ เนื่องจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.กสท เจ้าของโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่ยอมเชื่อมต่อโครงข่าย[1] โดยผู้บริหาร กสท อ้างว่า พีทีวียังไม่ได้ทำเรื่องขอใช้บริการ จึงไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญาณได้ พีทีวีจึงนำรายการบางส่วน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี ช่อง 1 สตาร์ แชนแนล เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม แต่ระหว่างออกอากาศรายการสด เพื่อนพ้องน้องพี่ พีทีวีเพื่อประชาชน ที่ดำเนินรายการโดยผู้บริหารทั้ง 4 คน สัญญาณดาวเทียมก็ขาดหายไป เชื่อกันว่าผู้มีอำนาจเผด็จการในเวลานั้น ใช้อำนาจทางทหารของตน สั่งการให้หน่วยทหารสื่อสารส่งคลื่นรบกวนสัญญาณดาวเทียมของพีทีวี

ในที่สุด สถานีโทรทัศน์พีทีวี ก็สามารถออกอากาศได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 หลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จากนั้นไม่นาน ผู้บริหารทั้ง 4 คนประกาศว่า จะยุติการออกอากาศรายการของพีทีวี ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดยให้เหตุผลว่า บรรยากาศทางการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แล้ว อีกทั้งงบประมาณในการดำเนินงานก็มีไม่เพียงพออีกด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหารทั้งหมดยังยืนยันว่า หากเกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้นอีก พวกตนจะกลับมาทำงานนี้อีกครั้ง

การชุมนุมที่ท้องสนามหลวง แก้

เมื่อไม่สามารถออกอากาศได้ ผู้บริหารทั้ง 4 คน จึงเปิดแถลงข่าวว่า จะไปตั้งเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ในวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยมีผู้ไปร่วมฟังปราศรัย ประมาณ 3,000 คน เนื้อหาของการปราศรัย ยังเป็นการต่อต้านและขับไล่ คมช. ตลอดจนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ สนธิ ลิ้มทองกุล ด้วย[2]

โดยเมื่อผ่านการปราศรัยไประยะหนึ่ง ในช่วงเย็น กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่าพันนาย ตรงเข้าผลักดันผู้ฟังการปราศรัยไปยังหน้าเวที แต่กลุ่มผู้ฟังการปราศรัยส่วนหนึ่งปักหลักตรึงตัวและผลักดันเจ้าหน้าที่กลับไป ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับไปดูแลสถานการณ์ดังเดิม การปราศรัยจึงดำเนินต่อไป[3][4] และในช่วงท้ายของการปราศรัย นายวีระได้นัดหมายการปราศรัยครั้งต่อไป ในวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม เวลา 16.00 น. จากนั้นจึงเชิญชวนผู้ฟังการปราศรัยร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนจะยุติการปราศรัย ในเวลาประมาณ 22.00 น.[5]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม กรุงเทพมหานคร และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่อนุญาตให้ใช้ท้องสนามหลวงจัดงานใด ๆ จนถึงวันที่ 5 เมษายน พีทีวีจึงต้องย้ายสถานที่ปราศรัย ไปยังลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในเวลา 16.30 น. โดยมีผู้มาฟังการปราศรัยกว่า 4,000 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเทศกิจมาตรึงกำลัง ทั้งนี้ พีทีวียุติการปราศรัย ในเวลาประมาณ 23.00 น.[6]

นายจตุพร และนายจักรภพ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า นายวีระจะเปิดการปราศรัยเป็นครั้งที่ 3 ในวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน เวลา 16.30 น. โดยจะใช้เวทีร่วมกับ 12 องค์กรประชาธิปไตย ที่ท้องสนามหลวง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ชื่อย่อ: นปก.) (ปัจจุบันคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน ชื่อย่อ: นปช.)

นิตยสารข่าว มหาประชาชน แก้

ระหว่างที่พีทีวียังไม่สามารถออกอากาศได้ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 นายวีระ และกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ ร่วมกันผลิตนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ แนววิเคราะห์การเมืองไทย ภายใต้ชื่อ วาไรตี้นิวส์ ฉบับ มหาประชาชน ด้วยแนวคิดต่อต้านเผด็จการ ปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากสื่อมวลชนกระแสหลักในระยะนั้น โดยนิตยสารดังกล่าวออกวางแผงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพีทีวีสามารถออกอากาศได้ บริษัทฯ จึงยุติการผลิตและจำหน่ายนิตยสารดังกล่าวลง

รายการเพื่อนพ้องน้องพี่ และมหาประชาชน แก้

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 บริษัทฯ กลับมาผลิตรายการโทรทัศน์อีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ขณะเดียวกันก็เพื่อถ่วงดุลข่าวสารกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน ของเครือผู้จัดการ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงหลักของพันธมิตรประชาชนฯ

โดยทางบริษัทฯ ดำเนินการเช่าเวลาของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอ็มวีทีวี ช่อง 5 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ จำนวน 3 รายการ เป็นเวลา 5 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบด้วย รายการ เพื่อนพ้องน้องพี่ (ภาคเช้า) เวลา 07.30-09.30 น. รายการ มหาประชาชน เวลา 11.00-12.00 น. และรายการ เพื่อนพ้องน้องพี่ (ภาคเย็น) เวลา 18.30-20.30 น.

รายการความจริงวันนี้ แก้

จากนั้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ สนทนาประสาสมัคร ว่าจะเปิดโอกาสให้มีรายการโทรทัศน์ เพื่อตอบโต้กลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 22.00-23.00 น. ซึ่งเดิมเป็นเวลาของรายการ ข่าวหน้า 4 โดยบริษัทฯ เข้าเป็นผู้ร่วมผลิตรายการดังกล่าวกับเอ็นบีที โดยใช้ชื่อว่า ความจริงวันนี้ และเริ่มออกอากาศสดเป็นครั้งแรก ในวันที่ 21 กรกฎาคม ต่อมาได้เวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกในวันอาทิตย์ด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปีเดียวกัน ความจริงวันนี้ถูกถอดออกจากผังรายการของเอ็นบีทีอย่างกะทันหัน จนกระทั่ง นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เริ่มทดลองออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ในนาม สถานีประชาธิปไตย (ดี-สเตชัน) รายการฯ จึงกลับมาออกอากาศอีกครั้ง ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ทางดี-สเตชัน ในทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 21.30-22.30 น. แต่แล้วในวันที่ 13 เมษายน รัฐบาลอภิสิทธิ์ อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัดสัญญาณการออกอากาศดี-สเตชัน จากสถานีดาวเทียมไทยคม และปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของสถานีฯ ด้วย

ต่อมา ในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน ปีเดียวกัน คณะผู้บริหาร ผู้ประกาศข่าว พิธีกรข่าว และผู้ปฏิบัติงานของดี-สเตชันชุดเดิม สามารถกลับมาปฏิบัติงานอีกครั้ง โดยส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมของต่างประเทศ ในช่องสัญญาณเดิม แต่เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีประชาชน (พีเพิล แชนแนล) จากนั้น บริษัทฯ จึงนำรายการความจริงวันนี้ กลับมาออกอากาศในผังรายการของพีเพิล แชนแนลอีกครั้ง ในวันและเวลาเดิม ตั้งแต่วันพุธที่ 15 กรกฎาคม เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

หนังสือพิมพ์ มหาประชาชนฉบับความจริงวันนี้ แก้

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ระหว่างการชุมนุม แดงทั้งแผ่นดินสัญจร ที่ท้องสนามหลวง นายวีระ และกลุ่มเพื่อนพ้องน้องพี่ กลับมาร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายสามวัน ขนาดแท็บลอยด์ (วางแผงทุกวันอังคาร และวันศุกร์ของทุกสัปดาห์)เชิงวิเคราะห์สถานการณ์ข่าวการเมืองในประเทศอีกครั้ง โดยใช้ชื่อ มหาประชาชน ฉบับ ความจริงวันนี้ โดยยังคงยึดตามแนวคิดเดิมคือ ปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. The Nation, PTV says 'CAT attack' ruined debut เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 March 2007 (อังกฤษ)
  2. The Nation, PTV to sue Sondhi Limthongkul, 2 April 2007 (อังกฤษ)
  3. Bangkok Post, Military to monitor political rally, 23 March 2007
  4. Bangkok Post, PTV rally draws thousands of Thaksin backers, 24 March 2007 (อังกฤษ)
  5. Bangkok Post, PTV to hold weekly anti-govt rallies, 24 March 2007
  6. Bangkok Post, 4,000 join pro-Thaksin protest, 31 March 2007 (อังกฤษ)