นีโครโนมิคอน (อักษรละติน: Necronomicon) เป็นตำราเวทย์สมมุติที่ปรากฏในงานประพันธ์ชุดตำนานคธูลู ของ เอช. พี. เลิฟคราฟท์และถูกหยิบยืมไปอ้างถึงโดยนักประพันธ์อื่น ๆ โดยปรากฏครั้งแรกในเรื่องสั้น The Hound[1] ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2467 แต่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น เลิฟคราฟท์ก็ได้อ้างคำพูดของตัวละคร อับดุล อัลฮาเซรด ซึ่งเป็นผู้แต่งนีโครโนมิคอนไว้แล้วในเรื่อง The Nameless City[2] เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้นั้นมีเรื่องราวของเกรทโอลด์วันและพิธีกรรมที่ใช้อัญเชิญอยู่ด้วย

นีโครโนมิคอนจำลอง

นักประพันธ์คนอื่น ๆ เช่น ออกัสต์ เดอเลธและคลาก แอชตัน สมิท ได้ยืมเอานีโครโนมิคอนไปอ้างถึงในงานเขียนของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากเลิฟคราฟท์ซึ่งคิดว่าการยกมาใช้ร่วมกันนี้จะทำให้บรรยากาศของเรื่องสมจริงยิ่งขึ้น ทำให้มีผู้อ่านจำนวนมากเข้าใจผิดว่าหนังสือเล่มนี้มีจริง มีการสั่งซื้อหรือขอนีโครโนมิคอนผ่านทางผู้ขายหนังสือและบรรณารักษ์เป็นจำนวนมาก บางครั้งก็มีการแกล้งใส่ชื่อนีโครโนมิคอนไว้ในรายการหนังสือหายาก และเคยมีนักศึกษาแอบใส่บัตรของนีโครโนมิคอนไว้ในบัตรห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเยล[3] หลังจากที่เลิฟคราฟท์เสียชีวิตไปแล้ว สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือโดยใช้ชื่อว่านีโครโนมิคอนเป็นจำนวนมาก หนังสือรวมงานศิลป์เล่มแรกของ เอช อาร์ กีเกอร์ ก็ใช้ชื่อว่านีโครโนมิคอน

ที่มา

แก้

ที่มาของชื่อนีโครโนมิคอนนั้นไม่แน่ชัดนัก โดยเลิฟคราฟท์ระบุว่าเขาได้ชื่อนี้มาจากในฝัน[4] แม้จะมีผู้เชื่อว่าเลิฟคราฟท์น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจาก เดอะคิงอินเยลโล ของ โรเบิร์ต ดับเบิลยู. แคมเบอร์ส แต่ดูเหมือนว่าเลิฟคราฟท์จะไม่เคยอ่านเดอะคิงอินเยลโลจนกระทั่งปี พ.ศ. 2470[5] โดนัลด์ อาร์ เบอร์ลสันเชื่อว่าความคิดของหนังสือนี้มาจากแนแธเนียล ฮอว์ธอร์น แต่เลิฟคราฟท์เองก็เคยระบุว่าข้อเขียนที่ถูกซ่อนไว้นี้เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยในงานประพันธ์แบบกอธิค[6]

เลิฟคราฟท์เคยเขียนไว้ว่า[7] ชื่อนี้แปลมาจากภาษากรีก หมายถึง "ภาพแห่งกฎมรณะ": nekros - νεκρός ("ตาย"), nomos - νόμος ("กฎ"), eikon - εικών ("ภาพ").[8] โรเบิร์ต เอ็ม. ไพรซ์ระบุว่าชื่อนี้ได้รับการแปลโดยผู้อื่นไว้เป็น "ตำราแห่งนามมรณะ" "ตำราแห่งกฎมรณะ" และ "ผู้รู้กฎมรณะ" เอส. ที. โจชิ ระบุว่าเลิฟคราฟท์น่าจะแปลผิดพลาด โดยคำขยาย -ikon นั้นเป็นเพียงคำขยายทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวกับคำว่า eikõn (ภาพ) เลย[9]

เลิฟคราฟท์นั้นกล่าวอยู่เสมอว่าเรื่องราวของนีโครโนมิคอนนั้นเป็นสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเอง ในจดหมายถึง วิลลิส โคโนเวอร์ เลิฟคราฟท์ได้ขยายความไว้ว่า

ทีนี้ก็เรื่องของ"บรรดาหนังสือต้องห้ามอันน่ากลัว" ผมต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้วมันเป็นจินตนาการล้วน ๆ ไม่เคยมีอับดุล อัลฮาเซรดหรือนีโครโนมิคอน เพราะผมสร้างชื่อนั้นขึ้นเอง โรเบิร์ต บล็อก สร้างลุดวิก พรินน์และ เด เวอร์มิส มิสเทรีส ขณะที่ หนังสือแห่งเอบอน เป็นผลงานของ คลากแอชตัน สมิท โรเบิร์ต อี. โฮเวิร์ดให้กำเนิดฟรีดริค ฟอน ยุนซท์ และ Unaussprechlichen Kulten หนังสือที่เขียนถึงเรื่องอันมืดมนของไสยศาสตร์และเหนือธรรมชาติอย่างจริงจังนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ค่อยมีอะไรนัก นั่นเป็นสาเหตุที่การสร้างงานลึกลับอย่างนีโครโนมิคอนหรือหนังสือแห่งเอบอนนั้นสนุกกว่ากันมากนัก[4]

แท้จริงแล้ว ชื่อของอับดุล อัลฮาเซรด ก็ไม่ใช่ชื่อที่ถูกไวยากรณ์ของภาษาอาหรับ เนื่องจากอับดุลนั้นหมายถึง "ผู้รับใช้ของ..." ส่วนอัลฮาเซรดนั้นไม่ใช่นามสกุลแต่เป็นการอ้างถึงสถานที่เกิด[10]

ประวัติสมมุติ

แก้

เลิฟคราฟท์ได้เขียนประวัติสมมุติคร่าว ๆของนีโครโนมิคอนในปี พ.ศ. 2470 และได้รับการเผยแพร่ในชื่อว่า ประวัติของนีโครโนมิคอน ในปีพ.ศ. 2481 หลังจากที่เลิฟคราฟท์เสียชีวิตไปแล้ว[11] ทำให้นักประพันธ์รุ่นหลังสามารถเขียนถึงนีโครโนมิคอนอย่างสอดคล้องกันได้[12]

ในประวัติของนีโครโนมิคอนนั้น เดิมทีหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า อัล อาซิฟ (Al Azif) ซึ่งเป็นศัพท์อาหรับที่เลิฟคราฟท์แปลว่า "เสียงในยามราตรี (ที่แมลงทำ) ซึ่งเหมือนเสียงหอนของปิศาจ" (พจนานุกรม อาหรับ/อังกฤษเล่มหนึ่งระบุว่า `Azīf หมายถึง "เสียงหวีดหวิว (ของลม); เสียงประหลาด")[13]

อับดุล อัลฮาเซรด "อาหรับวิปลาส" ผู้เขียนนีโครโนมิคอนนั้นเป็นผู้บูชายอก โซธอทและคธูลู มาจากซานาในเยเมน และเคยไปเยือนซากโบราณแห่งบาบิโลน "ความลับใต้ดิน" ของเมืองเมมฟิสในประเทศอียิปต์ และค้นพบนครไร้นามใต้ไอเรมในทะเลทรายของอาหรับ อัลฮาเซรดได้อาศัยอยู่ที่ดามัสกัสและได้เขียนอัล อาซิฟก่อนจะถูกอสุรกายที่มองไม่เห็นฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ ในปี ค.ศ. 738

อัล อาซิฟ ได้รับความสนใจอย่างมากจากเหล่านักปรัชญาในสมัยนั้น และได้รับการแปลเป็นภาษากรีกในปี ค.ศ. 950 โดยธีโอโดรัส ฟิเลตัส นักศึกษาจากคอนสแตนติโนเปิล ผู้ตั้งชื่อให้หนังสือเล่มนี้ว่า นีโครโนมิคอน เนื่องจากมีผู้ได้ทดลองกระทำสิ่งที่น่ากลัวตามนีโครโนมิคอน ทำให้พระสังฆราชไมเคิลที่หนึ่งประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้ามและเผาทำลายในปี 1050 จึงมีการเผยแพร่อย่างลับ ๆ เท่านั้น

ในปี 1228 บาทหลวงลัทธิโดมินิกัน ออเล วอร์เมียสได้แปลนีโครโนมิคอนเป็นภาษาละติน (ในความเป็นจริงนั้น ออเล วอร์มเป็นแพทย์ชาวเดนนิชและมีชีวิตอยู่ในช่วง 1588 ถึง 1655) สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 ได้สั่งให้นีโครโนมิคอนทั้งสองภาษาเป็นหนังสือต้องห้ามในปี 1232 แต่ก็มีการพิมพ์ฉบับภาษาละตินในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในประเทศเยอรมนีและช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในประเทศสเปน ส่วนฉบับภาษากรีกนั้นมีการเผยแพร่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในประเทศอิตาลี

ในสมัยเอลิซาเบธ จอห์น ดีได้แปลนีโครโนมิคอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่เคยมีการตีพิมพ์และมีต้นฉบับเหลืออยู่เพียงบางส่วนเท่านั้น (เนื้อหาที่โยงจอห์น ดีเข้ากับนีโครโนมิคอนนี้ แฟรงก์ เบลค์นาพ ลองเป็นผู้เสนอให้เลิฟคราฟท์)

สำเนาของนีโครโนมิคอนฉบับดั้งเดิมนั้นมีเก็บไว้ตามสถาบันต่าง ๆ เพียงห้าเล่มเท่านั้น

นอกจากนั้นแล้วยังมีสำเนาที่เก็บไว้เป็นของส่วนตัว คือที่ปรากฏในเรื่อง The Case of Charles Dexter Ward ในเรื่อง The Festival ในเรื่อง The Nameless City และในเรื่อง The Hound

อัล อาซิฟ ฉบับภาษาอาหรับนั้นหายสาบสูญไปแล้วก่อนที่นีโครโนมิคอนจะกลายเป็นหนังสือต้องห้าม แม้ว่าจะมีการอ้างถึงสำเนาลับ ๆ ที่ปรากฏในซานฟรานซิสโกในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็สาบสูญไปในอุบัติเหตุไฟไหม้ในเวลาต่อมา ส่วนฉบับภาษากรีกนั้นก็ไม่เคยมีใครพบอีกเลยหลังจากที่ห้องสมุดของชายชาวซาเลมถูกเผาไปในปี 1692

ลักษณะและเนื้อหา

แก้

แม้ว่าเลิฟคราฟท์จะอ้างถึงนีโครโนมิคอนบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยระบุถึงลักษณะหรือเนื้อหาในนีโครโนมิคอนมากนัก ซึ่งเลิฟคราฟท์เคยเขียนไว้ว่า "ถ้ามีใครพยายามเขียนนีโครโนมิคอนขึ้นมา ก็จะทำให้คนที่สั่นกลัวข้อความลึกลับเหล่านั้นผิดหวังกันหมด"[14]

ในเรื่อง The Nameless City ได้มีการยกข้อความของอับดุล อัลฮาเซรดขึ้นมาว่า

สิ่งนั้นมิได้ตายและจักอยู่ไปชั่วกาล,


เมื่อเวลาอันพิกลเปลี่ยนผ่าน มัจจุราชก็จักมรณา

ซึ่งข้อความนี้ได้ถูกยกขึ้นมาอ้างอีกในเรื่องเสียงเรียกของคธูลูและได้รับการระบุว่ามาจากนีโครโนมิคอน ข้อความนี้ได้รับการอ้างถึงบ่อยครั้งโดยนักประพันธ์รุ่นหลัง เช่นในเรื่อง The Burrowers Beneath ของไบรอัน ลัมลีย์ซึ่งได้เพิ่มเนื้อหาหลายย่อหน้าเข้าไปก่อนหน้า

เนื้อหาของนีโครโนมิคอนนั้นเป็นข้อความที่มีเนื้อหาอย่างชัดเจน ดังที่ปรากฏในเรื่อง The Dunwich Horror ซึ่งตัวละคร วิลเบอร์ เวทลีย์ไปหาสำเนาของนีโครโนมิคอนที่มหาวิทยาลัยมิสคาทอนิค เนื่องจากต้องการคาถาในหน้าที่ 751 เพราะฉบับภาษาอังกฤษที่วิลเบอร์มีอยู่นั้นมีความผิดเพี้ยนไป

ลักษณะของนีโครโนมิคอนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดนักนอกจากว่าตีพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีดำ โดยทั่วไปแล้วมักมีปกทำจากหนังสัตว์ต่าง ๆ และมีสันจับเป็นโลหะ นอกจานั้น บางครั้งนีโครโนมิคอนยังถูกปลอมไว้เป็นหนังสืออื่น ๆ เช่น ในเรื่อง The Case of Charles Dexter Ward ซึ่งนีโครโนมิคอนถูกปลอมเป็นหนังสือชื่อ Qanoon-e-Islam

หนังสือที่ใช้ชื่อนีโครโนมิคอนส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีข้อความที่เลิฟคราฟท์เคยระบุไว้[15]

ของปลอมและเลียนแบบ

แก้

แม้เลิฟคราฟท์จะยืนยันเสมอว่านีโครโนมิคอนเป็นเพียงสิ่งที่เขาแต่งขึ้นเท่านั้น แต่ก็มีคนที่เชื่อว่านีโครโนมิคอนมีจริงอยู่ นอกจากนั้น บางครั้งยังมีผู้เล่นตลกโดยการใส่ชื่อของนีโครโนมิคอนไว้ในรายการหนังสือของร้านหนังสือหรือห้องสมุด หอสมุดไวด์เนอร์ที่ฮาวาร์ด ซึ่งเลิฟคราฟท์ระบุว่ามีสำเนาเก็บไว้ในประวัติสมมุตินั้น ในรายการให้ผู้ที่ต้องการหาหนังสือเล่มนี้ "สอบถามที่โต๊ะ"

ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยทรอมโซ ประเทศนอร์เวย์ มีฉบับแปลของนีโครโนมิคอนอยู่ในรายการหนังสือ แต่ก็ระบุว่า"ไม่มีให้บริการ"[16]

โอวล์สวิคเพรสได้พิมพ์นีโครโนมิคอนในปีพ.ศ. 2516 ซึ่งฉบับนี้นั้นเป็นภาษาสมมุติที่ถอดความไม่ได้ เรียกว่า Duriac[17]

ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่อ้างว่าเป็นฉบับแปลของนีโครโนมิคอน โดยผู้แต่งใช้นามปากกาว่า ไซมอน หนังสือเล่มนี้แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องของเลิฟคราฟท์เลยแต่กลับมีตำนานของชาวสุเมเรียนเป็นเนื้อหาหลัก

ในปีถัดมา จอร์จ เฮย์ ได้เรียบเรียงนีโครโนมิคอนฉบับปลอมขึ้นโดยมีบทแนะนำที่เขียนโดยคอลลิน วิลสัน ผู้ค้นคว้าเรื่องเหนือธรรมชาติและนักประพันธ์ เดวิด แลงฟอร์ด อ้างว่าหนังสือนี้มาจากการใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อเขียนเข้ารหัสของจอห์น ดี ในความเป็นจริงนั้น ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ก็คือนักรหัสญาณ โรเบิร์ต เทิร์นเนอร์ นีโครโนมิคอนฉบับนี้นับว่าใกล้เคียงกับลักษณะที่เลิฟคราฟท์เคยเขียนถึงไว้มาก รวมถึงมีข้อความที่เลิฟคราฟท์เคยอ้างไว้ในงานประพันธ์อยู่ด้วย ในเรื่อง The Return of the Lloigor ซึ่งวิลสันเป็นผู้ประพันธ์นั้น ยกให้ข้อเขียนวอยนิชเป็นสำเนาของนีโครโนมิคอน

นีโครโนมิคอนฉบับต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความสับสนว่านีโครโนมิคอนมีอยู่จริงหรือไม่มากขึ้น ทำให้มีหนังสือ แฟ้มนีโครโนมิคอน เผยแพร่ในปีพ.ศ. 2541 เพื่อพิสูจน์ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงเรื่องสมมุติเท่านั้น และต่อมาได้รับการเพิ่มเนื้อหาและพิมพ์ใหม่ในปีพ.ศ. 2546[18]

ในปี พ.ศ. 2547 นักรหัสญาณโดนัลด์ ไทสัน ได้เขียน Necronomicon: The Wanderings of Alhazred ซึ่งเป็นฉบับที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับที่เลิฟคราฟท์จินตนาการไว้มากที่สุด ไทสันนั้นระบุไว้อย่างชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงเรื่องแต่งเท่านั้น แต่ก็ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย[19]

หมายเหตุ

แก้
  1. "The Hound", by H. P. Lovecraft Published February 1924 in "Weird Tales". YankeeClassic.com. Retrieved on January 31, 2009
  2. แม้จะเป็นไปได้ว่าหนังสือไม่มีชื่อในเรื่อง The Statement of Randolph Carter ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2462นั้นจะเป็นนีโครโนมิคอน แต่ เอส. ที. โจชิ ก็ได้ระบุว่าข้อความในนั้นเขียนด้วยอักขระที่ตัวละคร แรนดอล์ฟ คาเตอร์ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งไม่ตรงกับนีโครโนมิคอนฉบับใดๆที่ปรากฏ S. T. Joshi, "Afterword", History of the Necronomicon, Necronomicon Press.
  3. L. Sprague de Camp, Literary Swordsmen and Sorcerers, p100-1 ISBN 0-87054-076-9
  4. 4.0 4.1 Quotes Regarding the Necronomicon from Lovecraft’s Letters
  5. Joshi & Schultz, "Chambers, Robert William", An H. P. Lovecraft Encyclopedia, p. 38
  6. Joshi, "Afterword".
  7. H. P. Lovecraft - Selected Letters V, 418
  8. H. G. Liddell, Robert Scott - Abridged Greek-English Lexicon
  9. Joshi, S.T. The Rise and Fall of the Cthulhu Mythos (Mythos Books, 2008) pp. 34-35.
  10. Petersen, Sandy & Lynn Willis. Call of Cthulhu, p. 189.
  11. H. P. Lovecraft's History of the Necronomicon
  12. A Note About the Necronomicon
  13. The Hans Wehr Dictionary of Modern Written Arabic, ed. J.M. Cowan.
  14. Letter to Jim Blish and William Miller, Jr., quoted in Joshi, "Afterword".
  15. The Simon Necronomicon, a review.
  16. "Necronomicon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-17.
  17. Al Azif: The Necronomicon, a Review (Owlswick/Wildside Edition)
  18. Dan and John Wisdom Gonce III. 2003. The Necronomicon Files. Boston: Red Wheel Weiser.
  19. Keys to Power beyond Reckoning: Mysteries of the Tyson Necronomicon

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ

แก้

แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้