คธูลู
คธูลู (Cthulhu) , คธุลฮู, คุลลูหรือธูลู (ชื่อจริงของคธูลูนั้นเป็นภาษาที่มนุษย์ไม่สามารถออกเสียงได้ถูกต้อง[2] แต่มีรูปเขียนคือ "เคอเลิวลู") เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า เกรทโอลด์วัน ในงานประพันธ์ของเอช. พี. เลิฟคราฟท์ คธูลูปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น "เสียงเรียกของคธูลู" (The Call of Cthulhu) ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2471 และมีบทบาทเล็กๆในงานเขียนเรื่องอื่นๆของเลิฟคราฟท์ ออกัสต์ เดอเลธใช้ศัพท์คำว่า ตำนานคธูลู (Cthulhu Mythos) เพื่อจำแนกงานเขียนของเลิฟคราฟท์และตัวเขาเองที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกัน ซึ่งในเวลาต่อมาได้รวมถึงงานประพันธ์ของคนอื่นๆซึ่งใช้ตัวละครและเนื้อหาแบบเดียวกันทั้งหมด (เรียกได้อีกอย่างว่าเรื่องสยองขวัญแนวเลิฟคราฟท์ (Lovecraftian horror) ชื่อของคธูลูมักใช้เปรียบเทียบในความหมายของสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
คธูลู | |
---|---|
ตัวละครใน ตำนานคธูลู | |
ภาพคธูลูโดยศิลปินในปีค.ศ.2006 | |
ปรากฏครั้งแรก | "เสียงเรียกของคธูลู" (1928) |
สร้างโดย | เอช. พี. เลิฟคราฟท์ |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เผ่าพันธุ์ | เกรทโอลด์วัน |
ตำแหน่ง | High Priest of the Great Old Ones The Great Dreamer The Sleeper of R'lyeh |
ครอบครัว | อซาธอท (พ่อของทวด) Cthaeghya (ครึ่ง-พี่/น้องสาว) |
ในงานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์
แก้ใน The Call of Cthulhu ลักษณะของคธูลูนั้นได้รับการบรรยายอย่างละเอียดจากรูปปั้นของคธูลู ซึ่งระบุว่ามีรูปร่างคล้ายกับมนุษย์ แต่ส่วนหัวคล้ายกับปลาหมึกที่มีหนวดระยางอยู่เป็นจำนวนมาก ร่างกายมีเกล็ด ขาหน้าเป็นกงเล็บแหลมคมและมีปีกคู่หนึ่งอยู่ด้านหลัง[3][4] และเมื่อคธูลูปรากฏตัวนั้น บทบรรยายระบุว่ามีขนาดใหญ่โตราวกับเป็นภูเขาเคลื่อนที่ ในเรื่องยังกล่าวว่ามีลัทธิบูชาคธูลูแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกโดยมีศูนย์กลางอยู่ในแถบอาหรับและแพร่กระจายไปถึงกรีนแลนด์ รัฐลุยเซียนาและนิวซีแลนด์[5] โดยผู้นำลัทธิซึ่งเชื่อว่าเป็นอมตะนั้นอยู่ในหุบเขาในประเทศจีน ซึ่งสาวกของลัทธิคธูลูกล่าวว่าคธูลูนั้นเป็นหัวหน้านักบวชของเกรทโอลด์วันซึ่งมายังโลกตั้งแต่ก่อนจะมีมนุษย์[6] คธูลูได้ใช้พลังจิตติดต่อกับมนุษย์ผ่านความฝันตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่เมื่อนครรุลูเยห์ (R'lyeh) จมลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น น้ำในมหาสมุรได้กลายเป็นกำแพงธรรมชาติปิดกั้นพลังจิตของคธูลูไว้[7] ซึ่งสาวกของคธูลูได้รอเวลาที่ดวงดาวบนท้องฟ้าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อทำพิธีเรียกรุลูเยห์ขึ้นจากมหาสมุทรและปลดปล่อยคธูลูจากสภาพกึ่งตายอีกครั้ง เมื่อคธูลูคืนชีพอย่างสมบูรณ์ก็จะใช้พลังจิตทำให้มนุษย์ในโลกบ้าคลั่งฆ่าฟันกันเองและสูญเสียจิตสำนึกในการแยกแยะดีชั่วไปสิ้น[8] ซึ่งเอกสารในเรื่องสั้น The Call of Cthulhu ระบุว่าคธูลูถูกชาวประมงปลุกขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่กุสตาฟ โยฮันเซนใช้เรือยอชพุ่งชนหัวของคธูลูที่ไล่ตามไปในทะเลจนเป็นแผลฉกรรณ์ แม้ว่าแผลนั้นจะสมานคืนสภาพเดิมอย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้คธูลูหยุดชะงักและจมลงไปในมหาสมุทรพร้อมนครรุลูเยห์อีกครั้ง[9]
ในงานประพันธ์อื่นๆของเอช พี เลิฟคราฟท์ เรื่องสั้น The Whisperer in Darkness ระบุว่าคธูลูเป็นหนึ่งในเทพที่สิ่งมีชีวิตจากต่าวดาวซึ่งเรียกว่า มิ โก (Mi-Go) บูชา และในเรื่องสั้น The Shadow Over Innsmouth อมนุษย์ที่เรียกว่า ดีพวัน (Deep One) ก็บูชาคธูลูเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีเหล่า คธูลิ (Cthulhi) หรือ ทายาทดาราของคธูลู (Star-spawn of Cthulhu) ซึ่งมีลักษณะเหมือนคธูลูแต่ตัวเล็กกว่ามาก คธูลิได้ติดตามคธูลูมายังโลกและเป็นผู้สร้างนครรุลูเยห์ คธูลิส่วนใหญ่จมอยู่ในรุลูเยห์พร้อมกับคธูลูแต่ก็มีบางตนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในโลกภายนอก ในนิยายเรื่อง At the Mountains of Madness ระบุถึงสงครามระหว่างคธูลิและสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวซึ่งเรียกว่าเอลเดอร์ธิงที่อาศัยอยู่บนโลกเป็นกลุ่มแรก
ในจดหมายโต้ตอบระหว่างเลิฟคราฟท์กับเจมส์ เอฟ มอร์ตัน ได้ระบุว่าคธูลูเป็นลูกของนุก ซึ่งเป็นทายาทของเอาเตอร์ก็อด ชุบ นิกกูรัธ (Shub-Niggurath)และ ยอก โซธอท (Yog-Sothoth)
ในงานประพันธ์ของออกัสต์ เดอเลธ
แก้ออกัสต์ เดอเลธซึ่งได้เขียนงานประพันธ์ในกลุ่มตำนานคธูลูตั้งแต่ก่อนหน้าที่เลิฟคราฟท์จะเสียชีวิต ระบุว่าคธูลูเป็นหนึ่งในสิ่งชั่วร้ายที่ต่อสู้กับเทพโบราณของโลก ( Elder God - เอลเดอร์ก็อด ) [10] และยังเป็นศัตรูกับฮัสเทอร์ (Hastur) ซึ่งเป็นพี่น้องของคธูลูเอง[11] ในเรื่องสั้นชุด The Trail of Cthulhu ตอน "The Black Island" นั้น เดอเลธได้ระบุว่าส่วนหัวของคธูลูจะเปลี่ยนรูปทรงไปเรื่อยๆและมีตาเดียวกับหนวดระยางขนาดต่างๆกันจำนวนมาก[12] อย่างไรก็ตาม แนวคิดของเดอเลธซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วร้ายนั้นไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบงานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์[13]
ในสื่ออื่นๆ
แก้- ภาพยนตร์เรื่องคธูลูCthulhu the Movie เก็บถาวร 2007-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กำกับโดยแดเนียล กิลดาร์ค เปิดตัวในงานเทศกาลหนังนานาชาติที่ซีแอตเทิล วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ในงานประพันธ์ชุดตำนานโซธิคของลิน คาเตอร์ คธูลูได้ให้กำเนิดทายาทสามตนกับอิด ยาห์ คือ กาทาโนธอ (Ghatanothoa) ยิทธอกธา (Ythogtha) และโซธ โอมมอก (Zoth-Ommog)
- ในงานประพันธ์ของไบรอัน ลัมลีย์ คธูลูมีพี่น้องฝ่ายดีคือคธานิดซึ่งมีลักษณะเหมือนคธูลูแต่มีตาเป็นสีทองและอาศัยอยู่ในถ้ำผลึกของโลกต่างมิติอีไลเซียกับเหล่าเอลเดอร์ก็อด คธานิดปรากฏตัวครั้งแรกในนิยายเรื่อง The Transition of Titus Crow ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2518 ในเรื่องนี้ยังได้กล่าวถึงคธิลลา (Cthylla) ซึ่งเป็นทายาทตนที่สี่ของคธูลูและอิด ยาห์
- สตีเฟน คิงได้เขียนถึงคธูลูในเรื่องสั้น Crouch End ซึ่งอยู่ใน New Tales of the Cthulhu Mythos (ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2523)
อ้างอิง
แก้- ↑ Lovecraft, H. P. (1967). Selected Letters of H. P. Lovecraft IV (1932–1934). Sauk City, Wisconsin: Arkham House. Letter 617. ISBN 0-87054-035-1.
- ↑ Cthul-Who?: How Do You Pronounce 'Cthulhu'?", Crypt of Cthulhu #9
- ↑ H. P. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", The Dunwich Horror and Others, p. 127.
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 134.
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu", pp. 133-141, 146.
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 139.
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu", pp. 140-141
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 141.
- ↑ Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 154.
- ↑ August Derleth, "The Return of Hastur", The Hastur Cycle, Robert M. Price, ed., p. 256.
- ↑ August Derleth, "The Return of Hastur", The Hastur Cycle, Robert M. Price, ed., p. 256.
- ↑ August Derleth, "The Black Island", The Cthulhu Cycle, Robert M. Price, ed., p. 83
- ↑ Bloch, Robert, "Heritage of Horror", The Best of H. P. Lovecraft: Bloodcurdling Tales of Horror and the Macabre
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Call of Cthulhu (อังกฤษ)
- Cthulhu Lives, the Lovecraft Historical Society เก็บถาวร 2007-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)