เด เวอร์มิส มิสเทรีส
เด เวอร์มิส มิสเทรีส (อักษรละติน: De Vermis Mysteriis) หรือ ปริศนาแห่งหนอนเป็นตำราเวทย์สมมุติที่ปรากฏในงานประพันธ์ชุดตำนานคธูลู
ที่มา
แก้โรเบิร์ต บล็อก ได้ยกเด เวอร์มิส มิสเทรีสมาใช้ครั้งแรกในเรื่องสั้น The Shambler from the Stars (พ.ศ. 2478) โดยให้ตัวละครอ่านหนังสือเล่มนี้และเรียกสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวจากต่างมิติมาโดยไม่ตั้งใจ
ในตอนแรกนั้น บล็อกได้ตั้งชื่อตำราเล่มนี้ไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า Mysteries of the Worm แต่เมื่อได้ปรึกษากับเอช. พี. เลิฟคราฟท์เพื่อขอล้อเลียนเลิฟคราฟท์โดยการฆ่าตัวละครที่มีต้นแบบมาจากเลิฟคราฟท์เอง เลิฟคราฟท์ก็ได้แนะนำให้ใช้ชื่อภาษาละตินแทน และประโยคละตินที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ "Tibi, magnum Innominandum, signa stellarum nigrarum et bufaniformis Sadoquae sigillum" ซึ่งแปลได้ว่า "แด่ท่าน ผู้มิควรเอ่ยนาม สัญลักษณ์แห่งดวงดาวสีดำ และผนึกแห่งทซาธอกกวาผู้คล้ายคางคก" ก็เป็นเลิฟคราฟท์เสนอให้โรเบิร์ต บล็อก
ลุดวิก พรินน์
แก้ในเรื่อง The Shambler from the Stars นั้นระบุว่า เด เวอร์มิส มิสเทรีส เป็นงานประพันธ์ของลุดวิก พรินน์ ผู้เป็น "นักเล่นแร่แปรธาตุ หมอผี และพ่อมดที่มีชื่อเสียง" ซึ่ง "โอ้อวดว่ามีอายุยืนอย่างอัศจรรย์" ก่อนจะถูกจับเผาทั้งเป็นที่บรัสเซลส์ในยุคเฟื่องฟูของการล่าแม่มด
ตามที่โรเบิร์ต บล็อกประพันธ์ไว้นั้น พรินน์ได้กล่าวว่าตนเคยถูกจับเป็นเชลยในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 9และได้ศึกษาความรู้ด้านไสยศาสตร์จากพ่อมดชาวซีเรียในช่วงที่ถูกจับอยู่นั่นเอง และเรื่องราวที่พรินน์เคยกระทำไว้ในอะเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์นั้นก็เป็นที่ร่ำลือในหมู่นักพรตชาวลิเบียเหมือนตำนานเลยทีเดียว ช่วงก่อนที่พรินน์จะถูกจับนั้น เขาได้อาศัยอยู่ในซากโบราณในป่าซึ่งมีมาแต่ก่อนสมัยโรมัน ในป่าที่พรินน์อยู่นี้ยังมีแท่นบูชาของลัทธิเพกัน และตอนที่พรินน์ถูกจับนั้น แท่นบูชาเหล่านี้ก็มีรอยเลือดสด ๆ อยู่
เนื้อหา
แก้ในตอนแรกนั้น บล็อกได้ระบุว่าหนังสือเล่มนี้มีเวทมนตร์และคาถาซึ่งสามารถเรียกสิ่งแปลกประหลาดมาได้ และหนึ่งในนั้นก็คือคาถาเรียก "สิ่งงุ่มง่ามจากดวงดาว" (shambler from the stars) ซึ่งในเกมเล่นตามบทบาท เสียงเรียกของคธูลูนั้นได้ตั้งชื่อไว้อีกชื่อว่า แวมไพร์ดารา คาถานี้อยู่นบท "ว่าด้วยสัตว์รับใช้" และยังระบุว่าหนังสือเล่มนี้อ้างถึง "เทพศักดิ์สิทธิ์อย่าง เทพบิดรยิก ดาร์คฮัน และอสรพิษมีเครา เบียทิส"
บล็อกได้ขยายความเกี่ยวกับเนื้อหาของเด เวอร์มิส มิสเทรีสในตำนานคธูลูเรื่องต่อ ๆ มา โดยในเรื่อง The Faceless God (พ.ศ. 2479) ระบุว่าพรินน์นั้นได้รับความรู้มากมายจากไนอาลาโธเทป "เทพผู้เก่าแก่ที่สุดแห่งอียิปต์" ในเรื่อง The Brood of Bubastis The Secret of Sebek และ Fane of the Black Pharaoh (ทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ในพ.ศ. 2480) บล็อกก็ได้อ้างถึงบทที่ชื่อ "พิธีซาราเซนิค" (Saracenic Rituals) ซึ่ง "เผยถึงเรื่องราวของอิฟริทและญิน ความลับของนิกายมือสังหาร ตำนานของกูล พิธีลับของลัทธินักพรต" และ "ตำนานทั้งหลายของอียิปต์ใน"[1] ซึ่งโรเบิร์ต บล็อก ใช้เรื่องราวเหล่านี้เพื่อประกอบเป็นภูมิหลังของลัทธิบูชาบูบาสติสกับโซเบค และการบูชาไนอาลาโธเทปของฟาโรห์เนเฟรน-คา
บล็อกยังได้อ้างอิงเด เวอร์มิส มิสเทรีสในเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่นอกตำนานคธูลูด้วยเช่นกัน โดยในเรื่อง The Sorcerer's Jewel (พ.ศ. 2482) ได้อ้างถึงบท"ว่าด้วยการทำนายดวงชะตา" เป็นแหล่งข้อมูลของแก้วผลึกลึกลับชื่อ "ดาราแห่งเซคเมท" และในเรื่อง Black Bargain (พ.ศ. 2485) ได้บรรยายถึงหนังสือเล่มนี้ว่ามีเรื่องของการปรุงยาสมุนไพรและวาดวงกลมเพลิงในยามที่ดวงดาวอยู่ในตำแหน่งอันเหมาะสม วิธีการหล่อเทียนไขจากไขมันที่สกัดจากซากศพ วิธีการเลือกสัตว์สังเวยในพิธีบูชายัญ เรื่องราวของกลุ่มคนลึกลับที่ผู้คนไม่เชื่อว่ามีอยู่ภายใต้การชี้นำของความชั่วร้ายแต่โบราณกาล
ในเรื่อง Philtre Tip (พ.ศ. 2504) ได้อ้างถึงยาสเน่ห์ใน "ตำราเวทย์ของลุดวิก พรินน์ ฉบับภาษาอังกฤษ" และเป็นครั้งแรกที่บล็อกได้ยกถ้อยคำของพรินน์ในหนังสือมาใช้โดยตรง
ในงานอื่น ๆ
แก้เอช. พี. เลิฟคราฟท์ได้อ้างถึงหนังสือเล่มนี้ในเรื่อง The Haunter of the Dark (ซึ่งมีเนื้อหาต่อจาก The Shambler from the Stars) The Diary of Alonzo Typer และ The Shadow Out of Time
เด เวอร์มิส มิสเทรีสยังได้รับการยกมาอ้างถึงโดยนักประพันธ์รุ่นหลัง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง Jerusalem's Lot ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในชุด Night Shiftของสตีเฟน คิง
หมายเหตุ
แก้- ↑ Bloch, "The Secret of Sebek", quoted in Robert M. Price, "Reconstructing De Vermis Mysteriis, p. 76.