เสียงเรียกของคธูลู

"เสียงเรียกของคธูลู" (อังกฤษ: The Call of Cthulhu) เป็นเรื่องสั้นที่ประพันธ์โดยเอช. พี. เลิฟคราฟท์ในปี พ.ศ. 2469 และตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Weird Tales ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471[1] เสียงเรียกของคธูลู เป็นงานประพันธ์เพียงเรื่องเดียวของเลิฟคราฟท์ที่คธูลูปรากฏตัวในฐานะตัวละครสำคัญ

เสียงเรียกของคธูลูเขียนในรูปแบบของเอกสาร โดยตัวเอกซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องได้ค้นพบข้อเขียนของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนที่จะค้นคว้าและเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลของคนอื่น ๆ ก่อนจะเข้าใจว่าข้อเขียนเหล่านี้ซ่อนความลับที่น่าสะพรึงกลัวไว้แค่ไหน

แรงบันดาลใจ แก้

โรเบิร์ต เอ็ม. ไพรซ์ ได้ระบุในบทนำของ The Cthulhu Cycle ว่าบทกวี เดอะคราเคน ของ อัลเฟรด ลอร์ด เทนนีซัน เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในเรื่องเสียงเรียกของคธูลู โดยไพรซ์ได้ระบุถึงความคล้ายคลึงระหว่างคราเคนในบทกวีกับคธูลู ทั้งคู่เป็นอสูรกายคล้ายกับปลาหมึกยักษ์ซึ่งหลับใหลอย่างยาวนาน ณ ก้นมหาสมุทรและจะตื่นขึ้นในยุคแห่งความพินาศ[2]

ไพรซ์ยังเชื่อว่างานของลอร์ดดุนซานีซึ่งเป็นนักประพันธ์ที่เลิฟคราฟท์ชื่นชอบมาก น่าจะเป็นที่มาสำคัญของเทพผู้หลับใหลของเรื่องนี้ โดยในเรื่อง ร้านค้าบนถนนโก-บาย ได้พูดถึง "สวรรค์แห่งเทพผู้หลับใหล" และในเรื่อง เหล่าเทพแห่งเพกานา, ซึ่งเล่าถึงเทพที่ถูกขับกล่อมให้หลับใหลตลอดเวลา เพราะเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว "จะไม่มีเทพหรือมนุษย์อีกต่อไป"[3]

เอส. ที. โจชิ และเดวิด อี. ชูลทซ์ ได้ระบุถึงงานที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจของเลิฟคราฟท์อีกเรื่องคือ เดอะ ฮอร์ลา ของ กาย เดอ มอสพัสแซนท์ ซึ่งเลิฟคราฟท์เคยเขียนถึงในข้อเขียนชื่อ เรื่องสยองเหนือธรรมชาติในงานประพันธ์ ว่าเขาสนใจถึง "สิ่งล่องหนซึ่ง...บิดเบือนจิตใจของสิ่งอื่น และเป็นเหมือนแนวหน้าของกองทัพสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวซึ่งมายังโลกเพื่อกลืนกินมนุษย์" และ เรื่อง นิยายแห่งผนึกดำ ของ อาเทอร์ มาเชนซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินเรื่องโดยการเชื่อมโยงเรื่องราวที่แยกจากกันเพื่อเปิดเผยถึงความน่ากลัวจากโบราณกาล[4]

เลิฟคราฟท์เองยังได้ระบุถึงงานประพันธ์ที่เป็นแรงบันดาลใจในเสียงเรียกของคธูลูเองอีกด้วย เช่น กิ่งทอง ของ เจมส์ เฟรเซอร์ ลัทธิแม่มดในยุโรปตะวันตก ของ มากาเร็ต เมอเรย์และ แอ็ตแลนติสกับเลมูเรียซึ่งสาบสูญของ ดับเบิลยู. สก็อต เอเลียต[5]

เรื่องย่อ แก้

เสียงเรียกของคธูลูนั้นแบ่งเรื่องออกเป็นสามองก์ โดยนำเสนอในรูปแบบของเอกสารซึ่ง "พบในบรรดางานเขียนของฟรานซิส เวย์แลนด์ เทอร์สตัน ผู้ล่วงลับแห่งนิวยอร์ก"[6] ในเอกสารนี้ เทอร์สตันได้ย้อนความถึงการที่เขาพบข้อเขียนของจอร์จ แกมเมล แองเกล ญาติผู้อาวุโสและศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากลุ่มเซมิติกของมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

"รูปปั้นสยอง" แก้

องก์แรกของเรื่อง เล่าถึงปฏิมากรรมรูปนูนต่ำขนาดเล็กซึ่งปะปนอยู่ในเอกสาร ซึ่งบทบรรยายกล่าวว่า "ในจินตนาการที่เกินจริงไปหน่อยของข้าพเจ้า เป็นการผสมกันของปลาหมึกยักษ์ มังกรและมนุษย์.... หัวพองๆที่เต็มไปด้วยหนวดระยางตั้งอยู่บนลำตัวที่น่าขนลุกและเป็นเกล็ดกับปีกง่ายๆ"[7]

ปฏิมากรรมนี้เป็นผลงานของ เฮนรี แอนโทนี วิลคอกซ์ นักเรียนของโรงเรียนดีไซน์โรดไอแลนด์ วิลคอกซ์ได้ปั้นรูปนี้ที่เห็นในความฝัน ของมหานครแห่งก้อนอิฐมหึมาและเสาหินเสียดฟ้า ซึ่งเต็มไปด้วยเมือกเขียวและดูชั่วร้าย ภาพฝันเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคำว่า คธูลู และ รุลูเยห์[8]

ความฝันของวิลคอกซ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นอาการเพ้อในเวลาหนึ่งเดือน ในช่วงเวลานี้ ศาสตราจารย์แองเกลก็พบอาการป่วยทางจิตของผู้คนจำนวนมากราวกับเป็นโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก

"เรื่องของสายสืบเลแกรส" แก้

องก์ที่สองของเรื่อง ข้อเขียนของศาสตราจารย์แองเกลเปิดเผยว่าเขาเคยได้ยินชื่อของคธูลูและเห็นภาพของมันมาก่อนหน้านั้นแล้วในการพบปะครั้งหนึ่งของสมาคมโบราณคดีอเมริกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ จอห์น เรมอนด์ เลแกรสได้ขอให้ผู้เข้าร่วมงานช่วยวิเคราะห์รูปปั้นซึ่งทำจากหินสีดำเขียวอันไม่อาจระบุประเภทได้ โดยเลแกรสนั้นยึดรูปปั้นนี้มาในการบุกทลายลัทธิวูดูในนิวออร์ลีน รูปปั้นนั้นมีลักษณะคล้ายกับปฏิมากรรมของวิลคอกซ์มาก แต่หมอบอยู่บนแท่นอันเต็มไปด้วยอักขระที่อ่านไม่ออก

เลแกรสนั้นพบรูปปั้นนี้จากการสืบคดีที่ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากหายตัวไปจากนิคมสาธารณะ เขาพบว่าร่างของผู้เคราะห์ร้ายถูกใช้ในพิธีกรรมของรูปปั้นนี้ รายล้อมโดยเหล่าสาวกราวร้อยคนซึ่งเอาแต่บิดตัวและตะโกนถ้อยคำสวดว่า "Ph'nglui mglw'nafh Cthulhu R'lyeh wgah'nagl fhtagn."[9]

เลแกรสได้วิสามัญฆาตกกรมสาวกไปห้ารายและจับไว้ได้อีก 47 คน ก่อนจะสอบสวนผู้ต้องหาจนทราบว่าพวกนั้นบูชา "สิ่งโบราณอันยิ่งใหญ่ซึ่งมีชีวิตมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนจะมีมนุษย์และมายังโลกในวัยเยาว์จากท้องฟ้า สิ่งโบราณเหล่านั้นล้วนแต่จากไปแล้ว ในพื้นพิภพและใต้ท้องทะเล แต่ร่างอันวายชนม์เหล่านั้นได้เล่าความลับในความฝันแก่มนุษย์แรกเริ่ม ซึ่งได้สร้างลัทธิที่ไม่เคยมลาย...หลบซ่อนในแดนรกร้างอันห่างไกลและที่มืดทั่วโลกนี้จนถึงวันที่มหานักบวชคธูลู จากเคหาอันมืดมนแห่งนครรุลูเยห์อันเกรียงไกรใต้ผืนน้ำ จะลุกขึ้นมาและนำโลกไปอยู่ใต้การบงการของเขาอีกครั้ง สักวันหนึ่งเขาจะเรียก เมื่อดวงดาวทั้งหลายพร้อม และลัทธิลับจะเฝ้ารอเพื่อปลดปล่อยเขาตลอดไป"[10]

ผู้ต้องหานั้นได้ระบุว่ารูปปันนั้นคือ "คธูลูผู้ยิ่งใหญ่" และแปลคำสวดว่าหมายถึง "ในเคหาของเขาที่รุลูเยห์ คธูลูผู้มรณาฝันคอยอยู่"[11] สาวกชื่อคาสโตรเฒ่ายังบอกถึงศูนย์กลางของลัทธิว่าเป็นไอเรม นครแห่งเสา ในอาหรับและระบุถึงข้อความจากหนังสือนีโครโนมิคอน "ไม่ใช่ความตายที่คงอยู่ไปตลอดกาล และด้วยห้วงเวลาอันแปลกประหลาด แม้ความตายก็อาจมรณา"[12]

ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาซึ่งอยู่ในงาน วิลเลียม แชนนิง เวบบ์ ยังบอกเลแกรสว่าเขาเคยพบเหตุการคล้ายๆกันมาแล้วขณะที่สำรวจชายแดนกรีนแลนด์ตะวันตก โดยเขาพบเห็นการบูชาปิศาจของชาวเอสกิโมที่ทำให้เขารู้สึกสะอิดสะเอียน เวบบ์บอกว่าลัทธิที่กรีนแลนด์ก็มีคำสวดและรูปปั้นแบบเดียวกัน[13]

"ความวิปลาสจากทะเล" แก้

องก์ที่สามของเรื่อง เทอร์สตันได้สืบเรื่องของลัทธิคธูลูไปไกลกว่าที่ศาสตราจารย์แองเกลทำไว้ โดยเขาได้เจอข่าวจากหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย ซิดนีย์บุลเล็ตติน ซึ่งรายงานเรื่องของเรือที่ลอยลำอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือกะลาสีชาวนอร์เวย์ กุสตาฟ โยฮันเซน รองผู้การของเรือ เอมมา จากนิวซีแลนด์ ซึ่งถูกเรือยอชติดอาวุธ อเลิร์ทโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว แต่เหล่าลูกเรือของเอมมาก็ตอบโต้กลับไปและสามารถยึดอเลิร์ทมาแทนเอมมาที่ถูกยิงจนอัปปางได้ บทความที่เทอร์สตันพบระบุว่าเหล่าลูกเรือได้พบกับเกาะซึ่งไม่ปรากฏในแผนที่ ณ 47° 9' S, 126° 43' W ลูกเรือเกือบทั้งหมดได้เสียชีวิตที่นั่น และโยฮันเซนก็ไม่ยอมพูดว่าเกิดอะไรขึ้น[14]

เทอร์สตันรู้ว่าลูกเรือของอเลิร์ทนั้นมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิคธูลู เขาจึงเดินทางไปยังออสเตรเลียและได้เห็นรูปปั้นของคธูลูที่เก็บมาจากเรืออเลิร์ท เมื่อเทอร์สตันไปถึงออสโล เขาก็ทราบว่าโยฮันเซนนั้นเสียชีวิตแล้ว ภริยาม่ายของโยฮันเซนได้มอบข้อเขียนภาษาอังกฤษซึ่งสามีของเธอเขียนทิ้งไว้ให้กับเทอร์สตัน เทอร์สตันได้ทราบจากข้อเขียนถึงเรื่องที่เกิดบนเกาะนั้น ซึ่งก็คือนครรุลูเยห์[15] เหล่าลูกเรือได้สำรวจเมืองที่ดูแปลกประหลาดและได้เปิดประตูขนาดใหญ่เข้า ทำให้คธูลูตื่นขึ้นมาจากการหลับใหล ลูกเรือส่วนใหญ่นั้นถูกคธูลูจับกินและมีเพียงโยฮันเซนกับบริเดนที่หนีกลับไปถึงเรือยอชได้ ทั้งคู่ได้ออกเรือไปในมหาสมุทร แต่คธูลูก็ยังตามไป บริเดนนั้นหันกลับไปมองคธูลูและภาพอันน่าสะพรึงกลัวนั้นก็ทำให้เขาเสียสติไป โยฮันเซนรู้ว่าตนคงจะหนีไม่พ้นจึงได้เสี่ยงหันหัวเรือกลับไปชนหัวของคธูลูจนเป็นแผลฉกรรจ์และสามารถหนีมาได้ แม้โยฮันเซนจะเห็นว่าแผลนั้นสมานตัวอย่างรวดเร็วก็ตาม

เทอร์สตันจบเอกสารฉบับนี้ลงโดยคาดเดาว่า คธูลูคงจะจมลงไปในมหาสมุทรพร้อมกับรุลูเยห์ระหว่างที่กำลังรักษาแผลของตนนั้นเองและมนุษย์ชาติก็คงจะปลอดภัยไปจนกว่าดวงดาวจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอีกครั้ง แต่คธูลูยังหลับใหลอยู่และลัทธิของมันก็ยังอยู่ ตัวเขาเองรู้เรื่องของคธูลูมากเกินไปและอีกไม่นานเขาคงจะพบกับจุดจบเช่นเดียวกับศาสตราจารย์แองเกลและโยฮันเซนเช่นกัน[16]

ปฏิกิริยาตอบรับ แก้

เลิฟคราฟท์เองนั้นไม่ค่อยพอใจกับเสียงเรียกของคธูลูนักและระบุว่าเป็นผลงานในระดับครึ่งๆกลางๆของตัวเอง ฟาร์นเวิร์ธ ไรท์ บรรณาธิการของวารสาร Weird Tales ได้ปฏิเสธต้นฉบับของเรื่องนี้ในตอนแรก แต่ได้เปลี่ยนใจเมื่อเพื่อนนักเขียนของเลิฟคราฟท์ชื่อ โดนัลด์ แวนไดร โกหกว่าเลิฟคราฟท์จะส่งเรื่องนี้ไปที่อื่น[17]

แต่เมื่อได้ลงตีพิมพ์ เสียงเรียกของคธูลูก็ได้รับการตอบรับอย่างดี โรเบิร์ท อี. โฮเวิร์ด (ผู้ประพันธ์เรื่องชุดโคแนน ยอดคนเถื่อน)ได้เขียนจดหมายถึง Weird Tales ว่า "เรื่องล่าสุดของเลิฟคราฟท์ 'เสียงเรียกของคูลู' เป็นผลงานชิ้นเอกแน่นอน ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเรื่องนี้คงอยู่ต่อไปในฐานะความสำเร็จระดับสูงสุดในวงการประพันธ์เลยทีเดียว" และ "เลิฟคราฟท์อยู่ในตำแหน่งพิเศษในโลกแห่งงานประพันธ์ เขาได้กุมโลกที่อยู่เหนือดินแดนกระจ้อยร่อยของเราไปแล้ว สายตาของเขาไม่มีขีดจำกัดและขอบเขตของเขาก็คือจักรวาล"[18]

ในสื่อประยุกต์ แก้

บริษัท แอตแลนตาแรดิโอเทียเตอ ได้ดัดแปลงเรื่องนี้เป็นฉบับเสียงบรรยายในงาน ดราก้อนคอน ปีพ.ศ. 2530[19]

แลนด์ฟอล โปรดัคชัน ได้ดัดแปลงเรื่องนี้เป็นฉบับเทปในพ.ศ. 2532 โดยมีแกริค ฮากอนเป็นผู้บรรยาย

จอห์น คอลธาร์ท ได้วาดภาพประกอบเรื่องนี้ในปีพ.ศ. 2530และได้รับการเผยแพร่ในพ.ศ. 2536 ทางหนังสือ เดอะสตารีวิสดอมและตีพิมพ์ซ้ำใน H. P. Lovecraft's The Haunter of the Dark

โอนาราฟิล์ม ได้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง คธูลู ในปีพ.ศ. 2543 แต่เนื้อเรื่องนั้นจะคล้ายกับงานประพันธ์อีกเรื่องของเลิฟคราฟท์คือ เงาดำเหนืออินส์มัธ มากกว่า

สมาคมประวัติศาสตร์ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ ได้ดัดแปลงเสียงเรียกของคธูลูเป็นภาพยนตร์เงียบในปีพ.ศ. 2548

อิทธิพล แก้

ออกัสต์ เดอเลธเพื่อนนักประพันธ์ของเลิฟคราฟท์ ใช้ศัพท์ว่าตำนานคธูลูเพื่อใช้หมายถึงจักรวาลสมมุติที่เป็นฉากหลังของเรื่องต่างๆในงานประพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันของเลิฟคราฟท์และคนอื่นๆ และเกมเล่นตามบทบาทซึ่งใช้ฉากหลังเป็นตำนานคธูลูของบริษัทเคออเซียม ก็มีชื่อว่า Call of Cthulhu

เพลง The Call Of Ktulu และ The Thing That Should Not Be ของเมทัลลิก้า มีที่มาจากเรื่องสั้นเรื่องนี้

หมายเหตุ แก้

  1. Straub, Peter (2005). Lovecraft: Tales. The Library of America. p. 823. ISBN 1-931082-72-3.
  2. Robert M. Price, "The Other Name of Azathoth", introduction to The Cthulhu Cycle. Price credits Philip A. Shreffler with connecting the poem and the story.
  3. Price, "The Other Name of Azathoth". This passage is also believed to have inspired Lovecraft's entity Azathoth, hence the title of Price's essay.
  4. S. T. Joshi and David E. Schultz, "Call of Cthulhu, The", An H. P. Lovecraft Encyclopedia, pp. 28-29.
  5. H. P. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", The Dunwich Horror and Others, p. 128.
  6. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 125.
  7. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 127.
  8. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 129-130.
  9. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 137-138.
  10. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 139.
  11. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 139.
  12. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 141.
  13. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 135-136.
  14. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 146.
  15. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 150.
  16. Lovecraft, "The Call of Cthulhu", p. 154.
  17. S.T. Joshi, More Annotated Lovecraft, p. 173.
  18. Quoted in Peter Cannon, "Introduction", More Annotated Lovecraft, p. 7.
  19. "History of Dragon*Con". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2009-04-27.

อ้างอิง แก้

  • Lovecraft, Howard P. (1984) [1928]. "The Call of Cthulhu". ใน S. T. Joshi (ed.) (บ.ก.). The Dunwich Horror and Others (9th corrected printing ed.). Sauk City, WI: Arkham House. ISBN 0-87054-037-8. {{cite book}}: |editor= มีชื่อเรียกทั่วไป (help) Definitive version.
  • Lovecraft, Howard P. (1999) [1928]. "The Call of Cthulhu". ใน S. T. Joshi (ed.) (บ.ก.). More Annotated Lovecraft (1st ed.). New York City, NY: Dell. ISBN 0-440-50875-4. {{cite book}}: |editor= มีชื่อเรียกทั่วไป (help) With explanatory footnotes.
  • Price, Robert M. (1996) [1928]. "The Call of Cthulhu". ใน Robert M. Price (ed.) (บ.ก.). The Cthulhu Cycle: Thirteen Tentacles of Terror (1st ed.). Oakland, CA: Chaosium, Inc. ISBN 1-56882-038-0. {{cite book}}: |editor= มีชื่อเรียกทั่วไป (help) A collection of works that inspired and were inspired by "The Call of Cthulhu", with commentary.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้