การเมืองสเปน

รูปแบบการปกครองของประเทศสเปน

การเมืองสเปน ดำเนินอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ค.ศ. 1978 สเปนได้รับการสถาปนาเป็นรัฐเอกราชที่มีสังคม และประชาธิปไตย[1] ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชนผ่านการแสดงอำนาจของรัฐ[1]

การเมืองสเปน

Política de España (สเปน)
Política d'Espanya (กาตาลา)
Política de España (กาลิเซีย)
Espainiako politika (บาสก์)
ประเภทรัฐรัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ชื่อรัฐสภาสเปน
ประเภทระบบสองสภา
สถานที่ประชุมปาลาซิโอเดลเซนาโด
ปาลาซิโอเดลัสกอร์เตส (มาดริด)
สภาสูง
ชื่อวุฒิสภา
ประธานเปโดร โรยัน
ประธานวุฒิสภา
สภาล่าง
ชื่อสภาผู้แทนราษฎร
ประธานฟรันซินา อาร์เมนกอล
ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ฝ่ายบริหาร
ประมุขแห่งรัฐ
คำเรียกพระมหากษัตริย์
ปัจจุบันสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6
ผู้แต่งตั้งการสืบราชสันตติวงศ์
หัวหน้ารัฐบาล
คำเรียกนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันเปโดร ซันเชซ
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์
คณะรัฐมนตรี
คำเรียกคณะรัฐมนตรี
ชุดปัจจุบันรัฐบาลที่สองของเปโดร ซันเชซ
หัวหน้านายกรัฐมนตรี
รองหัวหน้ารองนายกรัฐมนตรีสเปนคนแรก
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์
สำนักงานใหญ่พระราชวังมองโกลอา
ฝ่ายตุลาการ
ชื่อระบบศาลยุติธรรมสเปน
ศาลศาลยุติธรรมสูง
ศาลฎีกา
ประธานศาลการ์โลส เลสเมส
ที่ตั้งศาลคอนแวนต์แห่งซาเลซัสเรอาเลส
ศาลแห่งชาติ
ประธานศาลโฆเซ รามอน นาบาร์โร

รูปแบบการปกครองในสเปน เป็นระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์[1] กล่าวคือ เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขแห่งรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการคือ "ประธานแห่งรัฐบาล" เป็นหัวหน้ารัฐบาล อำนาจบริหาร อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ รวมกันจัดตั้งคณะรัฐมนตรี อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจของรัฐสภากอร์เตสเฆเนราเลส ซึ่งเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจอิสระจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ อยู่ภายใต้ลายพระอภิไธยของพระมหากษัตริย์ ใช้อำนาจผ่านข้าราชการฝ่ายตุลาการ และผู้พิพากษา โดยมีศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของประเทศ มีเขตอำนาจศาลในทุกแคว้นของสเปนเหนือกว่าทุกสิ่งในทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลที่แยกจากกันคือ ศาลรัฐธรรมนูญ

ระบบการเมืองของสเปน เป็นระบบหลายพรรคการเมือง แต่นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1990 มีเพียงสองพรรคการเมืองที่โดดเด่นขึ้นมา ได้แก่ พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (PSOE) และพรรคประชาชน (PP) นอกจากนี้ยังมีพรรคภูมิภาคนิยมที่สำคัญ ได้แก่ พรรคชาตินิยมบาสก์ (EAJ-PNV) จากแคว้นประเทศบาสก์ พรรคหลอมหลวมและสหภาพ (CiU) และ พรรคสาธารณรัฐฝ่ายซ้ายแห่งกาตาลุญญา (ERC) จากแคว้นกาตาลุญญา ได้มีบทบาทสำคัญในการเมืองสเปน โดยสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกผ่านการเลือกตั้งระบบสัดส่วน ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งโดยพรรคเดียว หรืออาจรวมกันหลายพรรค โดยได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา แต่เดิมนับตั้งแต่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาว่า พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดจะได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ถึงแม้ว่าบางครั้งพรรคนั้นจะไม่มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ก็ยังมีอำนาจบริหารต่อไปได้โดยอาศัยสมาชิกพรรคอื่น ๆ ในการให้ความเห็นชอบร่างงบประมาณ และร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 2020 การจัดตั้งรัฐบาลที่สองของเปโดร ซันเชซ ซึ่งจัดตั้งโดยพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน และพรรคอูนิดัสโปเดโมส เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การจัดตั้งรัฐบาลผสม เกิดขึ้นในสเปน นับตั้งแต่สาธารณรัฐสเปนที่ 2

รัฐบาลระดับภูมิภาคทำหน้าที่ภายใต้ระบบที่เรียกว่า รัฐปกครองตนเอง ซึ่งเป็นระบบการบริหารแบบกระจายอำนาจสูง (เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากเยอรมนี ในดัชนีอำนาจส่วนภูมิภาค มาตั้งแต่ ค.ศ. 1998)[2] เดิมทีถูกวางกรอบว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ "สหพันธรัฐที่ไม่สมมาตร" ด้วยลักษณะของภูมิภาคที่มี "เชื้อชาติทางประวัติศาสตร์" สิ่งนี้ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วกลายเป็นการสร้างภูมิภาคต่าง ๆ ไปทั่วสเปน และกระจายอำนาจให้แก่ทุกคน รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม "กาแฟสำหรับทุกคน"[3] เป็นการใช้สิทธิการปกครองตนเองตามที่ได้รับจากรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งออกเป็น 17 แคว้นปกครองตนเอง และ 2 นครปกครองตนเอง รูปแบบของรัฐบาลในแต่ละแคว้นปกครองตนเอง และนครปกครองตนเองตั้งอยู่ในระบบรัฐสภา โดยอำนาจบริหารเป็นของ “ประธาน” และคณะรัฐมนตรี

ใน ค.ศ. 2022 หน่วยข่าวกรองของนักเศรษฐศาสตร์ ได้ลดระดับสเปนจาก ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ สู่ "ประชาธิปไตยบกพร่อง" เนื่องจาก ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของตุลาการ หลังจากฝ่ายการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ให้กับสภาตุลาการทั่วไป (CGPJ)[4]

พระมหากษัตริย์ แก้

พระราชสถานะ แก้

 
สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน

พระมหากษัตริย์สเปนองค์ปัจจุบัน ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 เป็นประมุขของรัฐ เป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี และความยั่งยืน เป็นผู้ตัดสิน และกลั่นกรองการทำงานอย่างเที่ยงตรงของภาครัฐ และถือว่าเป็นตัวแทนสูงสุดของประเทศในการเจริญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และใช้หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่กำหนดให้[5] ตำแหน่งองค์พระมหากษัตริย์จะได้รับการประกาศโดยรัฐสภา พระองค์ต้องปฏิญาณว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าพระองค์จะปฏิบัติตาม และเคารพสิทธิของพลเมือง ตลอดจน สิทธิของแคว้นปกครองตนเอง[6]

ตามรัฐธรรมนูญแห่งสเปน พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการอนุมัติ และประกาศใช้กฎหมาย เรียกประชุม หรือยุบรัฐสภา จัดให้มีการเลือกตั้ง และการทำประชามติ ตามโอกาสที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่งตั้ง ถอดถอน และเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตลอดจนรัฐมนตรีอื่น ๆ ตามเงื่อนไชที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ออกพระราชกฤษฎีกาตามความยินยอมของคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายงานด้านพลเรือน และทหาร และพระราชทานยศศักดิ์ และเกียรติคุณตามกฎหมาย และเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่เห็นสมควรเพื่อทราบราชการของรัฐ มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดแก่กองทัพสเปน รวมทั้ง มีสิทธิในการพระราชทานอภัยโทษตามกฎหมาย พระองค์ได้รับการรับรองเอกเอกอัครราชทูต ผู้แทนทางการทูตทุกคน และตัวแทนต่างประเทศในสเปนทุกคนได้ให้การรับรองแก่พระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงแสดงความยินยอมของรัฐในการเข้าสู่ข้อผูกพันระหว่างประเทศผ่านสนธิสัญญา และประกาศสงคราม หรือสร้างสันติภาพ โดยได้รับความยินยอมจากรัฐสภา[7]

ในแง่การปฏิบัติ หน้าที่ของพระองค์โดยส่วนใหญ่เป็นพิธีการ และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้เป็นแนวทางชัดเจนว่าต้องพระองค์ต้องเป็นกลางอย่างเข้มงวด และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง[8][9] ในความเป็นจริง บิดาแห่งรัฐธรรมนูญ (สเปน: Padres de la Constitución) ได้ใช้ถ้อยคำที่ว่า "เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์" อย่างระมัดระวัง โดยจงใจละเว้นถ้อยคำอื่น เช่น "อำนาจ" หรือ "ความสามารถ" จึงเป็นการลบล้างพระราชอำนาจพิเศษของพระมหากษัตริย์ที่มีภายในระบอบพระมหากษัตริย์แบบรัฐสภา[10] ในแนวปฏิบัตินี้ พระมหากษัตริย์จะไม่มีเสรีภาพสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะถูกวางกรอบว่าจะต้องปฏิบัติให้ "สอดคล้องรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย" หรือตามคำร้องขอของฝ่ายบริหาร หรือได้รับอนุญาตจากรัฐสภา[10]

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารของกองทัพสเปน แต่ทรงมีอำนาจเหนือกองทัพสเปนในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ใช่ตามความเป็นจริง[9] อย่างไรก็ตาม สถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติได้ถูกนำมาใช้อย่างเห็นได้ชัดที่สุดในเหตุการณ์พยายามรัฐประหารใน ค.ศ. 1981 ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสในเครื่องแบบทหารทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องให้มีการรักษากฎหมาย และความคงไว้ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้การรัฐประหารล้มเหลวลง[9]

ฝ่ายนิติบัญญัติ แก้

อำนาจนิติบัญญัติ เป็นของรัฐสภากอร์เตสเฆเนราเลส[11] คำว่า "กอร์เตส" เป็นชื่อทางประวัติศาสตร์และรัฐธรรมนูญที่ใช้มาตั้งแต่สมัยยุคกลาง ส่วนคำว่า "เฆเนราเลส" ที่เพิ่มเข้ามาในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 แสดงถึงลักษณะของรัฐสภาที่มีอำนาจทั่วประเทศชาติ ต่างจากรัฐสภาในระดับแคว้นปกครองตนเองซึ่งบางแห่งใช้คำกำกับว่า "กอร์เตส"[12] รัฐสภากอร์เตสเฆเนราเลส เป็นผู้แทนสูงสุดของประชาชนชาวสเปน ประกอบไปด้วยสองสภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (สเปน: Congreso de los Diputados) และ วุฒิสภา (สเปน: Senado) ใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ ในการอนุมัติงบประมาณ และควบคุมการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติโดยส่วนใหญ่จะเป็นของสภาผู้แทนราษฎร เหมือนระบบรัฐสภาส่วนใหญ่[9] โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา

ห้องประชุมของทั้งสองสภาจะประชุมแยกจากกัน และปฏิบัติหน้าที่แยกกัน ยกเว้นการดำเนินเรื่องที่สำคัญ จึงจะประชุมร่วมกัน โดยเรื่องดังกล่าวรวมถึงการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล เสนอโดยสภาใดสภาหนึ่ง เสนอโดยแคว้นปกครองตนเอง หรือผ่านทางความคิดริเริ่มของประชาชน และการอนุมัติ หรือแก้ไขงบประมาณของประเทศที่นายกรัฐมนตรีเสนอ[8]

ฝ่ายบริหาร แก้

รัฐบาล และคณะรัฐมนตรี แก้

 
มุมมองทางอากาศของพระราชวังมองโกลอา ที่พำนักของนายกรัฐมนตรีสเปน

ในระดับประเทศ อำนาจบริหารในสเปนเป็นของรัฐบาลเพียงประการเดียว แม้พระมหากษัตริย์จะเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้พระองค์มีส่วนกับฝ่ายบริหาร โดยรัฐบาล ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เรียกกันในนาม "ประธานรัฐบาล" (สเปน: presidente del gobierno) รองนายกรัฐมนตรีหนึ่งคน หรือมากกว่านั้น เรียกกันในนาม "รองประธานแห่งรัฐบาล" (สเปน: vicepresidentes del gobierno) และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ทั้งหมดเรียกกันว่าคณะรัฐมนตรี รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตลอดจนนโยบายด้านกลาโหม และเศรษฐกิจ[9] ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ได้แก่ เปโดร ซันเชซ

รัฐธรรมนูญ[13] กำหนดว่าภายหลังการเลือกตั้ง พระมหากษัตริย์ จะทรงหารือกับกลุ่มการเมืองทั้งหมดที่เป็นตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะทรงเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผ่านทางประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ได้รับการเสนอชื่อจะนำเสนอนโยบายของรัฐบาลของเขา เพื่อขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากได้รับการไว้วางใจด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภา พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเป็น "ประธานแห่งรัฐบาล" อย่างเป็นทางการ แต่หากผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ได้รับการไว้วางใจ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติใหม่อีกครั้งภายใน 48 ชั่วโมง ในกรณีนี้ ต้องได้รับการไว้วางใจด้วยเสียงที่เห็นชอบมากกว่า ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง โดยไม่จำเป็นต้องถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ได้รับความไว้วางใจอีกครั้ง พระมหากษัตริย์ จะทรงเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ต่อไปจนกว่าจะได้รับความไว้วางใจ แต่หากหลังจากพ้น 2 เดือนไปแลเวยังไม่มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใดไได้รับความไว้วางใจ พระมหากษัตริย์จะยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยความยินยอมของประธานรัฐสภา[13] ในทางปฏิบัติ นับตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 นายกรัฐมนตรีจะมาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อของพรรคที่ได้รับที่นั่งจำนวนมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าพรรคนั้นจะมีจำนวนที่นั่งไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ พรรคในรัฐบาลจะต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากพรรคอิ่น ๆ เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจ และอนุมัติงบประมาณของรัฐ

หลังจากผู้ได้รับการเสนอชื่อได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เขาจะได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในพิธีปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งจัดขึ้นที่พระราชวังซาร์ซูเอลา ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ต่อหน้าผู้รับรองเอกสารสำคัญแห่งราชอาณาจักร และกล่าวคำสาบานเข้ารับตำแหน่ง เหนือสำเนารัฐธรรมนูญที่เปิดอยู่ถัดจากคัมภีร์ไบเบิล คำสาบานที่ใช้กล่าวว่า "ข้าพเจ้าขอปฏิญาณ/สัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานของรัฐบาลด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตาม และบังคับใช้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายพื้นฐานของรัฐ ตลอดจนรักษาการพิจารณาอย่างลับของคณะรัฐมนตรี"

นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เสนอชื่อรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยจำนวน และขอบเขตอำนาจของแต่ละรัฐมนตรีจะกำหนดโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละกระทรวงมักจะจัดตั้งขึ้นอย่างคลอบคลุมภาคส่วน หรือหลายภาคส่วนที่คล้ายกันในการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลจะประชุมกันในฐานะ "คณะรัฐมนตรี" โดยปกติทุกวันศุกร์ที่พระราชวังมองโกลอา ในกรุงมาดริด ซึ่งเป็นบ้านพักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานในการประชุม แต่สามารถจัดการประชุมในสถานที่อื่น ๆ ได้ ยกเว้นเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานการประชุมตามคำขอของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีนี้สภาจะแจ้งราชการของรัฐบาลให้ทราบ

ฝ่ายตุลาการ แก้

ฝ่ายตุลาการในสเปน ประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายตุลาการ และผู้พิพากษา ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินงานด้านความยุติธรรมภายใต้ลายพระอภิไธยของพระมหากษัตริย์[14] ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย ศาลที่มีระดับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับคำสั่งของเขตอำนาจศาล และสิ่งที่ต้องได้รับการตัดสิน ศาลระดับสูงสุดของสเปนคือ ศาลฎีกา (สเปน: Tribunal Supremo) ซึ่งมีเขตอำนาจศาลในสเปนทั้งหมด เหนือกว่าในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องรัฐธรรมนูญ นำโดยประธานศาลฎีกา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ผ่านการเสนอชื่อของสภาตุลาการทั่วไป (CGPJ) และมีสมาชิกอีก 20 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในจำนวนนี้มีสมาชิก 12 คนที่เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ และผู้พิพากษา สมาชิกอีก 4 คนได้รับการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกอีก 4 คนได้รับการเสนอชื่อโดยวุฒิสภา ซึ่งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากทั้งสองสภาจะต้องผ่านการคัดเลือกจากการประชุมของทนายความ และนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ทางวิชาชีพมากกว่า 15 ปี โดยต้องได้รับความเห็นชอบด้วยจำนวนเสียงเกินกว่าสามในห้า

ศาลรัฐธรรมนูญ (สเปน: Tribunal Constitucional) มีเขตอำนาจศาลในสเปนทั้งหมด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับกฎหมาย และกฎระเบียบที่มีผลบังคับตามกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตลอดจน การร้องขอความคุ้มครองส่วนบุคคล (recursos de amparo) เพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ[15] ศาลประกอบด้วยสมาชิก 12 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ในจำนวนนี้ผ่านการเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร 4 คน และวุฒิสภา 4 คน โดยการพิจารณาในทั้งสองสภาต้องได้รับความเห็นชอบเกินกว่าสามในห้าของสมาชิกทั้งหมด ส่วนอีก 2 คน ผ่านการเสนอชื่อโดยฝ่ายบริหาร และอีก 2 องค์เสนอโดยสภาตุลาการทั่วไป (CGPJ) ซึ่ง พวกเขาจะต้องเป็นผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถ หรือตำแหน่งที่ได้รับการยอมรับ และมีประสบการณ์ทางวิชาชีพมากกว่า 15 ปี

ประวัติศาสตร์ทางการเมือง แก้

 
นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก พบกับดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในมาดริดเมื่อ ค.ศ. 1960

การสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองสเปน นำไปสู่การสิ้นสุดของสาธารณรัฐสเปนที่ 2 (ค.ศ. 1931–1939) ซึ่งทำให้ระบอบเผด็จการได้รับการสถาปนาขึ้นมา ภายใต้การนำของ จอมพล ฟรันซิสโก ฟรังโก ใน ค.ศ. 1947 เขาได้ออกกฤษฎีกาเป็นกฎพื้นฐานของระบอบการปกครอง หนึ่งในแปดนั้นอ้างถึง กฎการสืบราชสันตติวงศ์ของประมุขแห่งรัฐ ว่าสเปนมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ราชบัลลังก์ว่าง โดยฟรังโกเป็นประมุขแห่งรัฐ ในฐานะนายพล และผู้นำประเทศสเปน และเมื่อเห็นว่าเหมาะสมเขาจะแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งสเปน แม้ว่าเคานต์แห่งบาร์เซโลนา ผู้สืบทอดราชสันตติวงศ์โดยชอบธรรม จะต่อต้านกฎหมายนี้ แต่ฟรังโกได้ไปพบเขาใน ค.ศ. 1948 ฟรังโกตกลงว่าโอรสของเขา คือฆวน การ์โลส ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 10 ขวบ จะสำเร็จการศึกษาในประเทศสเปน ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในโรมตามคำสั่งของฟรังโก ในที่สุดใน ค.ศ. 1969 ฟรังโกได้แต่งตั้งฆวน การ์โลส เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา ในฐานะเจ้าชายแห่งสเปน

ฟรังโก เสียชีวิตในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 ฆวน การ์โลส ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสเปน โดยรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งดำเนินงานตามระบอบของฟรังโก แม้ว่าฆวน การ์โลส ได้สาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อ "ขบวนการแห่งชาติ" พรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายเพียงพรรคเดียวตามระบอบของฟรังโก แต่พระองค์ก็ได้แสดงออกการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองในประเทศทันทีที่รับตำแหน่ง แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะต้องแน่ใจว่าไม่มีใครที่มียศศักดิ์ในระบอบการปกครองเดิมจะกลายเป็นพวกหัวรุนแรง และกองทัพจะไม่แข็งขืนเข้าไปแทรกแซงการฟื้นฟู "ขบวนการแห่งชาติ"

 
อาโดลโฟ ซัวเรซ นายกรัฐมนตรีคนแรกของราชอาณาจักรสเปน

ใน ค.ศ. 1976 เขาแต่งตั้งอาโดลโฟ ซัวเรซ เป็นนายกรัฐมนตรี ในนาม "ประธานรัฐบาล" ซึ่งมีภาระที่ต้องโน้มน้าวให้รัฐบาลเดิมถอดถอนตัวเอง และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เขาทำสำเร็จทั้งสองประการ ทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ ใน ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ร่างจากบุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่สาธารณรัฐสเปนที่ 2 โดยรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบผ่านการทำประชามติ ใน ค.ศ. 1978 จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยรัฐธรรมนูญประกาศว่าสเปนปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 เป็นประมุขแห่งรัฐ การเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่สู่ประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จนี้ ได้กลายเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น และเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเปลี่ยนผ่านการปกครองที่คล้ายคลึงกัน[16]

อาโดลโฟ ซัวเรซ เป็นนายกรัฐมนตรีของสเปน ตั้งแต่ ค.ศ. 1977 ถึง 1982 ในฐานะหัวหน้าพรรคสหภาพศูนย์ประชาธิปไตย เขาลาออกในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1981 ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1981 ในวันที่สภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้มีกองกำลังกบฏในหน่วยพิทักษ์พลเรือน (Guardia Civil) ได้พยายามก่อรัฐประหาร โดยนำกำลังเข้ายึดอาคารรัฐสภา แต่การรัฐประหารล้มเหลวลงในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากกองกำลังทหารส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพสเปน เพื่อยับยั้งความพยายามนี้ และเรียกร้องให้รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ผ่านการกระแสพระราชดำรัสทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ[9]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1982 พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ซึ่งนำโดยเฟลิเป กอนซาเลซ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยได้รับเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งในทั้งสองสภา เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาว 13 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงที่สเปนเข้าร่วมเนโทและประชาคมยุโรป

 
เฟลิเป กอนซาเลซ นายกรัฐมนตรีของสเปนตั้งแต่ปี 1982 ถึง 1996

รัฐบาลได้สร้างกฎหมายสังคมขึ้นมาใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พัฒนาระบบการศึกษา แม้เดิมเขาจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั่วไป (UGT) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่สำคัญแห่งหนึ่งของสเปน แต่เขาได้สร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนทุกคน เพื่อพยายามฟื้นความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมตัวที่จะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ตลอดจนการบูรณาการทางเศรษฐกิจร่วมกับชาติสมาชิกต่อไป พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนจึงได้ถอยห่างจากสหภาพแรงงานทั่วไป[17] ตามนโยบายการค้าเสรี ภายใต้รัฐบาลของกอนซาเลซ ได้ปิดบริษัทสถาบันอุตสาหกรรมแห่งชาติ (INI) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของรัฐดำเนินการควบคุมระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และลดขนาดอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้า โดยพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ได้ดำเนินนโยบายตลาดเดียวตามกฎหมายยุโรปตลาดเดียว และนโยบายภายในประเทศ สอดคล้องกันกับเกณฑ์ของสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป ตามสนธิสัญญามาสทริชท์[17] ประเทศได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย และพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงเวลานี้ โดยปิดช่องความแตกต่างกับชาติสมาชิกประชาคมยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญ นำไปสู่สังคมเปิดร่วมสมัย

 
โฆเซ มาริอา อัซนาร์ นายกรัฐมนตรีสเปนระหว่าง ค.ศ. 1996 ถึง 2004

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996 โฆเซ มาริอา อัซนาร์ จากพรรคประชาชน ได้รับเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร อัซนาร์ได้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ด้วยโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มรูปแบบ ปฏิรูปตลาดแรงงาน และนโยบายอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด เขายังได้เปิดเสรีในภาคพลังงาน โทรคมนาคมแห่งชาติ และเครือข่ายกระจายเสียงโทรทัศน์[17] รัฐบาลได้จัดตั้งศาลป้องกันการแข่งขัน (สเปน: Tribunal de Defensa de la Competencia) เพื่อรับรองผลสำเร็จของการเปิดเสรีดังกล่าว โดยเป็นหน่วยงานกำกับการต่อต้านการผูกขาด และจำกัดการผูกขาด[17] นอกจากนี้ รัฐบาลของอัซนาร์ ยังได้นำสเปนเข้าสู่สหภาพเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป และยกเลิกการใช้สกุลเงินเปเซตาสเปน โดยเปลี่ยนมาใช้ยูโรทั้งหมดใน ค.ศ. 2002 สเปน ยังได้ร่วมมือกับสหรัฐ และพันธมิตรเนโทอื่น ๆ ในการปฏิบัติการทางทหารในยูโกสลาเวีย ซึ่งกองทัพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจของสเปนได้รวมอยู่ในกองกำลังรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและคอซอวอ โฆเซ มาริอา อัซนาร์ ได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2000 ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนถึง ค.ศ. 2004 อัซนาร์ สนับสนุนความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกับสหรัฐ และร่วมมือกันในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และการบุกรุกอิรัก ใน ค.ศ. 2004 เขาตัดสินใจไม่รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาชนต่อไป โดยให้มาเรียโน ราฆอย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของเขา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อแทน

 
โฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร นายกรัฐมนตรีสเปน ระหว่าง ค.ศ. 1996 ถึง 2004

หลังจากเหตุระเบิดรถไฟในกรุงมาดริด ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเพียงสามวัน พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ชนะการเลือกตั้งอย่างน่าประหลาดใจ ภายใต้การนำของโฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร ซึ่งในคณะรัฐมนตรีของเขาเป็นครั้งแรกของสเปนที่มีจำนวนชาย และหญิงเท่ากัน ด้วยนโยบายความเท่าเทียมทางเพศ ภายใต้รัฐบาลของเขา เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว รัฐบาลบริหารงานโดยมีงบประมาณเกินดุล รัฐบาลของเขานำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเสรีนิยมมาสู่สเปน ทั้งการส่งเสริมสิทธิสตรี เปลี่ยนแปลงกฎหมายการทำแท้ง และการให้สมรสเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย และพยายามทำให้รัฐมีความเป็นโลกิยนิยมมากขึ้น[18] หลังจากที่พรรคชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งในสมัยที่สอง วิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 ทำให้เศรษฐกิจของสเปนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งต้องพึ่งพาการก่อสร้างเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงรุ่งเรืองในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 และต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 เมื่อเกิดวิกฤติการเงินระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการก่อสร้างพังทลายลงไปพร้อมกับมูลค่าทรัพย์สิน และธนาคารหลายแห่ง รวมถึง ธนาคารออมทรัพย์ (สเปน: Cajas) ต้องการการช่วยเหลือ หรือการควบรวมกิจการ[18] การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมาก และอัตราการว่างงานพุ่งถึงกว่า 20%[18]

 
มาเรียโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปน ระหว่าง ค.ศ. 2011 ถึง 2018

นับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ได้มีการนำนโยบายต่อต้านวัฏจักรเศรษฐกิจ มาใช้ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤต ซึ่งส่งผลให้รายได้ของรัฐลดลงตามมา การจัดหางบประมาณของรัฐตกอยู่ในภาวะขาดดุล ในช่วงระยะเวลา 18 เดือนตั้งแต่ ค.ศ. 2010 ถึง 2011 รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดในการลดการใช้จ่าย และเลิกจ้างคนงาน[18]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ซาปาเตโร ได้ตัดสินใจจะไม่เป็นหัวหน้าพรรคพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนต่อไป โดย อัลเฟรโด เปเรซ รูบัลกาบา ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ในรัฐบาลของซาปาเตโร จะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนแทน ในขณะที่ พรรคประชาชน นำโดย มาเรียโน ราฆอย ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม เป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา[18] ในขณะที่ ซาปาเตโร ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคใน ค.ศ. 2012 และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

 
เปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ตั้งแต่ ค.ศ. 2018 จนถึงปัจจุบัน

หลังจากสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของราฆอย การเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2015 โดยพรรคประชาชนยังคงเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ยังคงได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่สอง แต่พรรคโปเดโมส และพรรคซิวดาดาโนส ก็ได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากเช่นกัน การเจรจาต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลได้ยืดเยื้อออกไป[19] แต่ล้มเหลวในที่สุด นำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ซึ่งพรรคประชาชน ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่ง[20] ในท้ายที่สุด ในวันที่ 29 ตุลาคม ราฆอย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่สมาชิกพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ส่วนใหญ่งดออกเสียงในการลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่จะคัดค้านเขา[21]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 ได้มีญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาเรียโน ราฆอย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ยื่นคำร้องคือพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ต้องเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเสนอ เปโดร ซันเชซ หัวหน้าของพรรค ซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยผลปรากฎว่า ราฆอย ไม่ได้รับความไว้วางใจในการลงมติ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ทำให้ ซันเชซ ได้รับการพิจารณาโดยอัตโนมัติว่าได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[22]

อ้างอิง แก้

อ้างอิง
  1. 1.0 1.1 1.2 Spanish Constitution 1978, Article 1.
  2. Muro & Lago 2020, p. 7.
  3. Fishman 2020, p. 27.
  4. Catalan News: Spain downgraded to a ‘flawed democracy’ by The Economist index
  5. Spanish Constitution 1978, Article 56.
  6. Spanish Constitution 1978, Article 61.
  7. Spanish Constitution 1978, Article 62,63.
  8. 8.0 8.1 Solsten, Eric; Meditz, Sandra W. (1998). "King, Prime Minister, and Council of Ministers". Spain, a country Study. Washington GPO for the Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 18 February 2012.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 Encyclopædia Britannica.
  10. 10.0 10.1 Merino Merchán, José Fernando (December 2003). "Sinópsis artículo 62 de la Constitución Española". Cortes Generales. สืบค้นเมื่อ 18 February 2012.
  11. "Spain". The World Factbook. Central Intelligence Agency. สืบค้นเมื่อ 30 March 2014.
  12. Alba Navarro, Manuel. "Sinópsis artículo 66 de la Constitución Española (December 2003, updated 2011)". Cortes Generales. สืบค้นเมื่อ 19 February 2012.
  13. 13.0 13.1 Spanish Constitution 1978, Article 99.
  14. Spanish Constitution 1978, Article 117.
  15. Spanish Constitution 1978, Article 159.
  16. Gunther, Richard; Monero, José Ramón (2009). "The Politics of Spain". Cambridge Textbooks in Comparative Politics. สืบค้นเมื่อ 25 February 2012.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 "Spain Politics, government, and taxation". Encyclopedia of the Nations. สืบค้นเมื่อ 25 February 2012.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 Minder, Raphael (20 November 2011). "Spanish Voters Deal a Blow to Socialists over the Economy". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 25 February 2012.
  19. Stephen Burgen, "'Worrying and pathetic': anger in Spain over parties' failure to form government", The Guardian, 17 February 2016
  20. Jones, Sam (27 June 2016). "Spanish elections: Mariano Rajoy struggles to build coalition". The Guardian.
  21. Jones, Sam (31 October 2016). "Mariano Rajoy sworn in as Spain's PM after deadlock broken". The Guardian.
  22. "Pedro Sánchez is sworn in as Spain's new prime minister". BBC News. 2 June 2018.
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น แก้