การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการลดข้อบังคับของรัฐบาล

การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (อังกฤษ: economic liberalization/liberalisation) เป็นการลดข้อบังคับและข้อจำกัดในเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อแลกกับการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากขึ้น สำหรับในทางการเมือง ลัทธินี้สัมพันธ์กับเสรีนิยมคลาสสิกและเสรีนิยมใหม่

ประเทศรายได้สูงส่วนใหญ่ยึดแนวทางการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษหลังโดยมีเป้าหมายตามแถลงเพื่อธำรงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ นโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมีทั้งการโอนกิจการของรัฐทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นของเอกชน มีความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานสูงขึ้น อัตราภาษีธุรกิจต่ำลง จำกัดทุนในประเทศและต่างประเทศลเลง เปิดตลาด เป็นต้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจหมายความถึงการเปิดเศรษฐกิจรับทุนและการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น ประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดสามประเทศ บราซิล จีนและอินเดีย มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเสรีเศรษฐกิจของตนเพื่อรับทุนต่างประเทศ[1]

ปัจจุบันมีการให้เหตุผลว่าหลายประเทศโดยเฉพาะในโลกที่สามไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเปิดเสรีเศรษฐกิจของตนเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในการดึงดูดและเก็บรักษาการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดียในปี 2534[2] และประเทศฟิลิปปินส์มีข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2530 เพื่อตัดบทบัญญัติที่จำกัดทางเศรษฐกิจ[3]

ในทางกลับกัน แนวคิดตรงข้ามกับเศรษฐกิจเสรี คือ เศรษฐกิจเกาหลีเหนือที่ใช้ระบบการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ (autarky) ซึ่งปิดรับการค้าและการลงทุนต่างประเทศ แต่ยังมีการค้าขายกับประเทศจีนและรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อแลกกับสันติภาพและการจำกัดโครงการอาวุธนิวเคลียร์[4][5] อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ประเทศที่อุดมด้วยน้ำมันซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพราะมีรายได้จากการส่งออกสูงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี บางส่วนให้เหตุผลว่าบริษัทต่างประเทศอาจเก็บเอากำไรไว้เองและนำเงินออกนอกประเทศได้[6] นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เช่น

  • ความเสี่ยงของความไร้เสถียรภาพของภาคการเงินจากการติดต่อกับโลก
  • ความเสี่ยงของการเกิดสมองไหล
  • ความเสี่ยงการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
  • ความเสี่ยงของวิกฤตหนี้เนื่องจากมีรายได้จากภาษีลดลง ฯลฯ
  • ความเสี่ยงการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Zuliu Hu, Mohsin S. Khan. "Why Is China Growing So Fast?". International Monetary Fund.
  2. For detailed account of reforms before and after 1991 in India see Sharma, Chanchal Kumar, "A Discursive Dominance Theory of Economic Reform Sustainability: The Case of India", India Review, Vol. 10, No. 2, 2011.
  3. "Philippines : Gov.Ph : About the Philippines". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (ASP)เมื่อ 2006-10-03.
  4. "A photo journey through China's lesser known cities". www.nationalgeographic.com. National Geographic. สืบค้นเมื่อ 26 March 2019.
  5. "China: Tyranny Tourism Thrives at North Korea's Border". Time. สืบค้นเมื่อ 26 March 2019.
  6. Massimiliano Cali, Karen Ellis and Dirk Willem te Velde (2008) The contribution of services to development: The role of regulation and trade liberalisation เก็บถาวร 2010-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน London: Overseas Development Institute