กบฏซินเสีย (จีน: 新城之亂) เป็นการก่อกบฏที่เกิดขึ้นในรัฐวุยก๊กระหว่างช่วงปลาย ค.ศ. 227[1] ถึงช่วงต้น ค.ศ. 228[2] ในยุคสามก๊กของจีน การก่อกบฏริเริ่มโดยเบ้งตัด อดีตขุนพลของจ๊กก๊กผู้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กและได้รับมอบหมายให้ดูแลเมืองซินเสีย (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์) ในมณฑลเกงจิ๋ว กบฏถูกปราบปรามลงอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งเดือนโดยสุมาอี้ขุนพลวุยก๊ก เบ้งตัดถูกจับและถูกประหารชีวิต

กบฏซินเสีย
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก

ภาพวาดแสดงเหตุการณ์ที่เบ้งตัดถูกสังหารโดยทหารของสุมาอี้
วันที่ป. ธันวาคม ค.ศ. 227[a]ป. มีนาคม ค.ศ. 228[b]
สถานที่
เมืองซินเสีย (ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอฝาง อำเภอจู๋ซี และอำเภอจู๋ชานในนครฉือเยี่ยน กับอำเภอเป่าคางและอำเภอหนานจางในนครเซียงหยาง ทั้งหมดอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์)
ผล วุยก๊กชนะ กบฏถูกปราบปราม
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ซินเสียถูกวุยก๊กชิงคืน
คู่สงคราม
วุยก๊ก เบ้งตัด
(ด้วยการสนับสนุนบางส่วนจากจ๊กก๊กและง่อก๊ก)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาอี้  โทษประหารชีวิต เบ้งตัด
กบฏซินเสีย
อักษรจีนตัวเต็ม新城之亂
อักษรจีนตัวย่อ新城之乱

ภูมิหลัง แก้

ในปี ค.ศ. 220 เบ้งตัดขุนพลผู้เดิมรับใช้ขุนศึกเล่าปี่ ได้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยโจผีศัตรูของเล่าปี่ซึ่งเป็นผู้สืบทอดฐานันดรศักดิ์ "วุยอ๋อง" สืบต่อโจโฉบิดาผู้เพิ่งล่วงลับ[c] เบ้งตัดนำผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวติดตามมาด้วยรวมมากกว่า 4,000 คน โจผียินดีมากที่ได้ยินว่าเบ้งตัดมาเข้าร่วมและต้อนรับเบ้งตัดเป็นอย่างดี โจผีตั้งให้เบ้งตัดเป็นเจ้าเมือง (太守 ไทโฉ่ว) ของเมืองซินเสีย (新城 ซินเฉิง) ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวุยก๊ก[3]

ในเวลานั้น ขุนนางหลายคนรู้สึกว่าเบ้งตัดไม่น่าไว้วางใจและไม่ควรมอบหมายความรับผิดชอบที่สำคัญ[4] สุมาอี้ขุนพลวุยก๊กผู้ประจำการอยู่ที่อ้วนเซีย (宛 หว่าน; ปัจจุบันคือเขตหว่านเฉิง นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน) และดูแลกิจการการทหารในมณฑลเกงจิ๋วและอิจิ๋วในเวลานั้น[5] ก็ยังเตือนโจผีไม่ให้ไว้วางใจเบ้งตัดมากเกินไป แต่โจผีไม่ใส่ใจคำแนะนำของสุมาอี้[6]

เบ้งตัดได้รับความโปรดปรานจากโจผีอย่างมาก และเบ้งตัดยังเป็นมิตรสนิทกับขุนนางวุยก๊กอย่างฮวนกายและแฮหัวซง เมื่อโจผีสวรรคตในปี ค.ศ. 226 ฮวนกายและแฮหัวซงในเวลานั้นก็เสียชีวิตไปแล้ว เบ้งตัดจึงเริ่มรู้สึกไม่สบายใจเพราะอยู่ในแนวหน้าเป็นเวลานาน[7] ตลอดช่วงเวลาที่เบ้งตัดรับราชการที่ซินเสีย ก็ได้ผูกมิตรกับง่อก๊ก (รัฐที่ก่อตั้งโดยซุนกวน) และสร้างการป้องกันที่แข็งแกร่งเพื่อรับการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากรัฐจ๊กก๊ก (ก่อตั้งโดยเล่าปี่) รัฐอริของวุยก๊ก จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊กไม่ชอบเบ้งตัดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้[d] และยังกังวลว่าเบ้งตัดจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อจ๊กก๊ก[8]

การก่อกบฏ แก้

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ 2 แหล่งที่บันทึกถึงแรงจูงใจในการก่อกบฏของเบ้งตัด ทั้งสองแหล่งมีรายละเอียดโดยทั่วไปที่คล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างบ้างเล็กน้อย บันทึกแรกมาจากเว่ย์เลฺว่ ส่วนบันทึกที่สองมาจากจิ้นชู

บันทึกในเว่ยเลฺว่ระบุว่าจูกัดเหลียงวางแผนชักจูงเบ้งตัดให้แปรพักตร์มาเข้าด้วยจ๊กก๊กหลังทราบข่าวว่าเบ้งตัดกำลังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ที่ซินเสีย จูกัดเหลียงจึงเขียนจดหมายหลายฉบับถึงเบ้งตัดและเบ้งตัดก็ตอบรับจดหมาย ซินหงี (申儀 เชิน อี๋) เจ้าเมืองเว่ย์ซิง (魏興; อยู่บริเวณอำเภอฉือเฉฺวียนในมณฑลฉ่านซีและอำเภอยฺหวินซีในมณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ไม่เห็นด้วยกับเบ้งตัด จึงลอบรายงานไปยังราชสำนักวุยก๊กว่าเบ้งตัดกำลังติดต่อกับจ๊กก๊ก แต่โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงไม่เชื่อรายงาน สุมาอี้ผู้ประจำการที่อยู่ที่อ้วนเซียในเวลานั้นส่งที่ปรึกษาเลียงกี๋ (梁幾 เหลียง จี) ไปตรวจสอบและเชิญให้เบ้งตัดเดินทางมายังนครหลวงลกเอี๋ยง เบ้งตัดเริ่มระแวงและหวาดกลัวว่าจะเป็นเรื่องถึงชีวิตจึงเริ่มก่อกบฏขึ้น[9]

บันทึกในจิ้นชูระบุว่าเบ้งตัดมีความขัดแย้งกับซินหงี จูกัดเหลียงวางแผนใช้โอกาสจากเหตุการณ์นี้จะบีบให้เบ้งตัดแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงจึงส่งกัว หมัว (郭模) ทำทีเป็นยอมสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กและเปิดเผยแผนการของเบ้งตัดให้ซินหงีฟัง เมื่อเบ้งตัดทราบว่าแผนการรั่วไหลจึงเริ่มดำเนินแผนก่อกบฏทันที สุมาอี้ซึ่งเวลานั้นอยู่ที่อ้วนเซียเริ่มกังวลว่าเบ้งตัดจะก่อการจลาจลอย่างฉับพลันจึงเขียนจดหมายส่งถึงเบ้งตัดเพื่อยับยั้งไว้ สุมาอี้เขียนว่า "ก่อนหน้านี้ท่านขุนพลตีจากเล่าปี่และอุทิศตนให้กับรัฐของเรา รัฐของเรามอบหมายหน้าที่พิทักษ์ชายแดนให้กับท่านและมอบหมายภารกิจในการวางแผนบุกจ๊ก เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐของเราไว้วางใจท่าน ชาวจ๊กโง่เขลาและเกลียดชังท่านอย่างมาก จูกัดเหลียงต้องการให้ท่านกลับไปจ๊กเพียงเพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น สิ่งที่กัว หมัวบอกกับซินหงีไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เหตุใดจูกัดเหลียงจึงให้กัว หมัวเผยแผนการของท่านโดยง่ายดายเช่นนี้ การดำเนินการที่อันตรายเช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยากเลย" เบ้งตัดรู้สึกพอใจเมื่อได้รับจดหมายของสุมาอี้และเริ่มลังเลว่าจะก่อกบฏหรือไม่ ในเวลานั้นสุมาอี้ลอบนำกองกำลังทหารจากอ้วนเซียไปยังซินเสีย ผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้แนะนำให้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของเบ้งตัดก่อนจะรุดหน้าต่อไป แต่สุมาอี้ตอบว่า "(เบ้ง) ตัดไม่ใช่คนที่น่าเชื่อถือ บัดนี้เขากำลังลังเลด้วยความระแวงสงสัย เราจึงควรถือโอกาสนี้กำจัดเขาเสีย" กองกำลังของสุมาอี้จึงรุดหน้าอย่างรวดเร็วและไปถึงซินเสียภายใน 8 วัน[10]

จ๊กก๊กและง่อก๊กต่างก็ส่งกำลังทหารไปสนับสนุนเบ้งตัดโดยมาถึงที่สะพานอานเฉียว (安橋) ที่เสเสีย (西城 ซีเฉิง) และท่าข้ามมู่หลานไซ (木闌塞) ตามลำดับ สุมาอี้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปจัดการกับกำลังเสริมของเบ้งตัด[11]

ก่อนยุทธการ เบ้งตัดเขียนจดหมายถึงจูกัดเหลียงว่า "อ้วนเซียอยู่ห่างจากลกเอี๋ยง 800 ลี้ ส่วนข้าพเจ้าอยู่ห่างจากลกเอี๋ยง 1,200 ลี้ เมื่อ (สุมาอี้) รู้ว่าข้าพเจ้าวางแผนก่อกบฏ ก็คงจะต้องทูลแจ้งจักรรพรรดิ (โจยอย) เสียก่อน เวลาทั้งหมดที่สุมาอี้จะใช้ในการส่งรายงานถึงลกเอี๋ยงและรับหนังสือตอบกลับคือประมาณหนึ่งเดือน ถึงตอนนั้นเมืองของข้าพเจ้าก็เสริมกำลังตระเตรียมกำลังทหารไว้พร้อมแล้ว ในเมื่อข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ สุมาอี้ก็ไม่กล้าเข้ามาโจมตี ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องกังวล"

แต่อีกแปดวันต่อมา สุมาอี้ยกกำลังทหารมาถึง เบ้งตัดจึงเขียนจดหมายถึงจูกัดเหลียงอีกครั้งว่า "ข้าพเจ้าวางแผนก่อกบฏ ภายในแปดวันกองทัพ (ของสุมาอี้) ก็ยกมาถึงเมืองเสียแล้ว ช่างรวดเร็วปานเทพเสียจริง" เบ้งตัดตั้งมั่นอยู่ที่เซียงหยง[e] (上庸 ช่างยง) เมืองปราการในเขตเมืองซินเสียซึ่งล้อมรอบด้วยแม่น้ำสามด้าน เบ้งตัดจึงให้ตั้งเครื่องกีดขวางไม้เพื่อป้องกันตน กำลังทหารของสุมาอี้ข้ามน้ำเข้าทำลายเครื่องกีดขวางและมาถึงด้านนอกของเซียงหยง สุมาอี้จึงแบ่งทหารเข้าโจมตีเบ้งตัดจากแปดทิศทาง สุมาอี้เกลี้ยกล่อมให้เตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) หลานชายของเบ้งตัดและลิจู (李輔 หลี ฝู่) ผู้ใต้บังคับบัญชาของเบ้งตัดให้ยอมจำนน เตงเหียนและลิจูจึงเปิดประตูเมืองเซียงหยงภายหลังการล้อม 16 วัน เบ้งตัดถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต ศีรษะถูกส่งไปยังลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก[13][14][15]

ผลสืบเนื่อง แก้

สุมาอี้และกำลังทหารจับกุมได้เชลยศึกมากกว่า 10,000 คนและกลับไปยังอ้วนเซีย[16]

ซินหงี (申儀 เชิน อี๋) อยู่ที่เมืองเว่ย์ซิงเป็นเวลานานและมีพฤติกรรมเย่อหยิ่ง ซินหงีมีตราราชการหลายอันที่แกะสลักและแจกจ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อซินหงีได้ข่าวเรื่องชะตากรรมของเบ้งตัดก็รู้สึกวิตกกังวล ขุนนางคนอื่น ๆ หลายคนในภูมิภาคมอบของกำนัลให้สุมาอี้เพื่อแสดงความยินดีกับชัยชนะของสุมาอี้ สุมาอี้ส่งคนถือหนังสือไปตามซินหงี ซินหงีจึงมาพบสุมาอี้ สุมาอี้ถามซินหงีเรื่องการแจกจ่ายตราประทับที่ไม่ได้รับอนุญาตแต่ก็ปล่อยตัวซินหงีไปในภายหลัง[17]

สุมาอี้ยังได้กวาดต้อนราษฎร 7,000 ครัวเรือนจากอาณาเขตของเบ้งตัดไปยังมณฑลอิวจิ๋วทางตอนเหนือของจีน ขุนพลจ๊กก๊กเหยา จิ้ง (姚靜), เจิ้ง ทา (鄭他) และคนอื่น ๆ นำกำลังทหารมากกว่า 7,000 นายมาสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก[18] แต่นายทหารของจ๊กก๊กเหล่านี้ปรากฏชื่อเฉพาะในจิ้นชู ไม่ได้ปรากฏในจือจื้อทงเจี้ยนตำราลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เขียนในศตวรรษที่ 11[19]

สุมาอี้เดินทางไปยังนครหลวงลกเอี๋ยงเพื่อเข้าเฝ้าโจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก โจยอยทรงปรึกษากับสุมาอี้เรื่องการตอบโต้การบุกจากง่อก๊ก จากนั้นจึงมีรับสั่งให้สุมาอี้กลับไปประจำการอยู่ที่อ้วนเซีย[20]

ในนิยายสามก๊ก แก้

กบฏซินเสียถูกกล่าวถึงในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ตอนที่ 94[f] ซึ่งมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบสมมติเข้ามาในเหตุการณ์เพื่อผลเชิงละคร

ความในนิยาย แก้

เบ้งตัดเชิญซินหงี (申儀 เชิน อี๋) เจ้าเมืองกิมเสีย (金城 จินเฉิง) และซินต๋ำ (申耽 เชิน ตาน) เจ้าเมืองเซียงหยง[e] (上庸 ช่างยง) ให้เข้ากับตนในการก่อกบฏ ซินหงีและซินต๋ำแสร้งทำเป็นเข้าด้วยแต่ขณะเดียวกันก็ลอบวางแผนที่จะช่วยกองทัพวุยก๊กที่ยกกำลังมาปราบกบฏ ซินหงีและซินต๋ำอ้างกับเบ้งตัดว่าการเตรียมการยังไม่พร้อมเพียงพอซึ่งเบ้งตัดก็เชื่อ

เลียงกี๋ (梁畿 เหลียง จี) คนส่งสารของสุมาอี้มาถึงเมืองซินเสียและอ้างกับเบ้งตัดว่าสุมาอี้นำทัพยกไปเตียงฮันเพื่อรับมือการบุกของจ๊กก๊ก เบ้งตัดยินดีจึงจัดงานเลี้ยงให้เลียงกี๋และส่งเลียงกี๋ออกจากเมือง จากนั้นเบ้งตัดจึงนัดแนะกับซินหงีและซินต๋ำให้เริ่มก่อกบฏในวันรุ่งขึ้น แต่ต่อมาไม่นานเบ้งตัดก็ได้รับรายงานว่ามีกองกำลังมาถึงนอกเมือง เบ้งตัดรีบขึ้นกำเแพงเมืองเห็นกองกำลังที่ยกมาบัญชาการโดยซิหลงขุนพลทัพหน้าของวุยก๊ก ซิหลงบอกเบ้งตัดให้ยอมจำนน แต่เบ้งตัดยิงเกาทัณฑ์ไปถูกหน้าผากของซิหลง ทหารมือเกาทัณฑ์ของเบ้งตัดก็ระดมยิงเกาทัณฑ์ใส่กองกำลังของซิหลงบีบให้ล่าถอย ซิหลงเสียชีวิตจากแผลเกาทัณฑ์ในคืนนั้นด้วยวัย 59 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ศพของซิหลงได้รับการวางในโลงศพแล้วส่งไปลกเอี๋ยงเพื่อทำพิธีฝัง

จากนั้นทัพหลักของสุมาอี้ก็ยกมาถึงนอกเมืองซินเสียและล้อมเมืองไว้ วันถัดมาเบ้งตัดเห็นกองกำลังของซินหงีและซินต๋ำยกมาถึง เบ้งตัดคิดว่าซินหงีและซินต๋ำมาเพื่อช่วยตนจึงเปิดประตูเมืองและนำทหารออกไปโจมตีสุมาอี้ แต่ซินหงีและซินต๋ำตะโกนใส่เบ้งตัดว่า "อ้ายขบถมึงคิดทรยศต่อเจ้าเร่งไปหาที่ตายเถิด" เบ้งตัดเห็นว่าภัยมาถึงตัวจึงพยายามถอยกลับเข้าเมือง แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเบ้งตัดคือลิจู (李輔 หลี ฝู่) และเตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) ทรยศต่อเบ้งตัดและปฏิเสธไม่ให้เบ้งตัดเข้าเมือง ซินต๋ำเข้าไปใกล้และสังหารเบ้งตัด ทหารของเบ้งตัดก็ยอมจำนนต่อทัพวุยก๊ก

สุมาอี้เข้าเมืองซินเสียและฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในเมือง สุมาอี้รายงานชัยชนะของตนต่อโจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก โจยอยให้ส่งศีรษะของเบ้งตัดมายังลกเอี๋ยง ซินหงีและซินต๋ำได้รับการเลื่อนขั้นและได้รับมอบหมายให้ติดตามสุมาอี้ไปรับมือการบุกของจ๊กก๊ก ส่วนลิจูและเตงเหียนได้รับมอบหมายให้รักษาซินเสียและเซียงหยง[22][21]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แก้

ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาที่เบ้งตัดก่อกบฏ ซินต๋ำ (申耽 เชิน ตาน) ไม่ได้รับราชการแล้วและไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏ และในเวลานั้นซินต๋ำอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าซิหลงเข้าร่วมในการปราบกบฏ จดหมายเหตุสามก๊กไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของซิหลงมากนัก โดยระบุเพียงว่าซิหลงเสียชีวิตในศักราชไท่เหอ (ค.ศ. 227-233) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจยอย[23]

ในวัฒนธรรมประชานิยม แก้

กบฏซินเสียปรากฏเป็นด่านที่เล่นได้ในวิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ 5: เอ็กซ์ตรีมเลเจนส์ของโคเอ เป็นที่รู้จักในชื่อ "ยุทธการที่ปราสาทซิน" (Battle of Xin Castle) ผู้เล่นสามารถเล่นได้เฉพาะตัวละครฝ่ายวุยก๊กคือโจผี สุมาอี้ หรือซิหลง และต้องเอาชนะเบ้งตัดเพื่อชนะด่าน หากผู้เล่นเล่นได้เร็วก็จะสามารถผ่านด่านได้ก่อนที่กำลังเสริมของจ๊กก๊กจะมาถึงเพื่อช่วยเบ้งตัด

หมายเหตุ แก้

  1. กบฏเริ่มต้นในเดือน 12 ของศักราชไท่เหอปีที่ 1 ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอย[1] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 227 ถึง24 มกราคม ค.ศ. 228 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. กบฏสิ้นสุดในเดือน 1 ของศักราชไท่เหอปีที่ 2 รัชสมัยจักรพรรดิโจยอย[2] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ถึง 23 มีนาคม ค.ศ. 228 ในปฏิทินกริโกเรียน
  3. ปลายปี ค.ศ. 220 หลายเดือนหลังการเสียชีวิตของโจโฉ โจผีบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ (ผู้ปกครองของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกลำดับสุดท้าย) ให้สละราชบัลลังก์ให้กับตน จากนั้นโจผีสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐวุยก๊ก นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก
  4. เดิมเบ้งตัดรับใช้เล่าเจี้ยงขุนศึกในมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เบ้งตัดสวามิภักดิ์์ต่อเล่าปี่ในปี ค.ศ. 214 ภายหลังจากเล่าปี่เข้ายึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยง และรับใช้เล่าปี่เป็นเวลาประมาณห้าปีก่อนจะแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายโจผี จูกัดเหลียงมองว่าเบ้งตัดเป็นคนผู้ไม่น่าไว้วางใจและเปลี่นนความภักดีได้ง่าย ๆ
  5. 5.0 5.1 ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักเรียกซ่างยง (上庸) ว่า "ซงหยง" เหมือนกับชื่อ "ซงหยง" ที่ใช้เรียกเมือง "เซียงหยาง" (襄陽) ในที่นี้จึงเรียก "ซ่างยง" ว่า "เซียงหยง" ตามชื่อที่ปรากฏการเรียกใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62[12]
  6. ตรงกับสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 72[21]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 จากจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3: (太和元年 ... 十二月, ... 新城太守孟達反,詔驃騎將軍司馬宣王討之。)
  2. 2.0 2.1 จากจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3: ([太和]二年春正月,宣王攻破新城,斬達,傳其首。)
  3. (魏略曰:達以延康元年率部曲四千餘家歸魏。文帝時初即王位,既宿知有達,聞其來,甚悅,令貴臣有識察者往觀之,還曰「將帥之才也」,或曰「卿相之器也」,王益欽達。 ... 又加拜散騎常侍,領新城太守,委以西南之任。) อรรถาธิยายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  4. (時眾臣或以為待之太猥,又不宜委以方任。 ...) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  5. (太和元年六月,天子詔帝屯于宛,加督荊、豫二州諸軍事。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  6. (初,蜀將孟達之降也,魏朝遇之甚厚。帝以達言行傾巧不可任,驟諫不見聽,乃以達領新城太守,封侯,假節。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  7. (達既為文帝所寵,又與桓階、夏侯尚親善,及文帝崩,時桓、尚皆卒,達自以羈旅久在疆埸,心不自安。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  8. (達於是連吳固蜀,潛圖中國。蜀相諸葛亮惡其反覆,又慮其為患。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  9. (諸葛亮聞之,陰欲誘達,數書招之,達與相報答。魏興太守申儀與達有隙,密表達與蜀潛通,帝未之信也。司馬宣王遣參軍梁幾察之,又勸其入朝。達驚懼,遂反。) อรรถาธิบายจากเว่ยเลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  10. (達與魏興太守申儀有隙,亮欲促其事,乃遣郭模詐降,過儀,因漏泄其謀。達聞其謀漏泄,將舉兵。帝恐達速發,以書喻之曰:「將軍昔棄劉備,託身國家,國家委將軍以疆埸之任,任將軍以圖蜀之事,可謂心貫白日。蜀人愚智,莫不切齒於將軍。諸葛亮欲相破,惟苦無路耳。模之所言,非小事也,亮豈輕之而令宣露,此殆易知耳。」達得書大喜,猶與不決。帝乃潛軍進討。諸將言達與二賊交構,宜觀望而後動。帝曰:「達無信義,此其相疑之時也,當及其未定促決之。」乃倍道兼行,八日到其城下。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  11. (吳蜀各遣其將向西城安橋、木闌塞以救達,帝分諸將以距之。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  12. (ครั้งนั้นแฮเฮาเซียงกับซิหลงทหารโจผี ๆ ใช้ให้มาอยู่เมืองยังหยง ให้มาเกลี้ยกล่อมทหารเมืองเซียงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๖๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. (初,達與亮書曰:「宛去洛八百里,去吾一千二百里,聞吾舉事,當表上天子,比相反覆,一月間也,則吾城已固,諸軍足辦。則吾所在深險,司馬公必不自來;諸將來,吾無患矣。」及兵到,達又告亮曰:「吾舉事八日,而兵至城下,何其神速也!」上庸城三面阻水,達於城外為木柵以自固。帝渡水,破其柵,直造城下。八道攻之,旬有六日,達甥鄧賢、將李輔等開門出降。斬達,傳首京師。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  14. (二年春正月,宣王攻破新城,斬達,傳其首。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  15. (魏略曰:宣王誘達將李輔及達甥鄧賢,賢等開門納軍。達被圍旬有六日而敗,焚其首於洛陽四達之衢。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  16. (俘獲萬餘人,振旅還于宛。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  17. (初,申儀久在魏興,專威疆埸,輒承制刻印,多所假授。達既誅,有自疑心。時諸郡守以帝新克捷,奉禮求賀,皆聽之。帝使人諷儀,儀至,問承制狀,執之, ...) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  18. (又徙孟達餘衆七千餘家于幽州。蜀將姚靜、鄭他等帥其屬七千餘人來降。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  19. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 71.
  20. (... 歸于京師。 ... 屬帝朝于京師,天子訪之於帝。 ... 天子並然之,復命帝屯于宛。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  21. 21.0 21.1 (ฝ่ายเบ้งตัดอยู่ในเมืองซงหยงให้ไปชักชวนซินหงีเจ้าเมืองกิมเสียกับซินต๋ำเจ้าเมืองซินเสีย...เบ้งตัดได้ฟังก็ตกใจควบม้าจะพาทหารหนีออกจากที่ล้อม พอซินต๋ำไล่มาทันเอาทวนแทงถูกเบ้งตัดตกม้าตายตัดเอาสีสะมาให้สุมาอี้ ทหารทั้งปวงก็เข้าหาสุมาอี้ เตงเหียนกับลิจูก็เปิดประตูเชิญสุมาอี้เข้าตั้งอยู่ในเมือง สุมาอี้เกลี้ยกล่อมให้ราษฎรชาวเมืองอยู่เย็นเปนสุข แล้วให้ทหารเอาสีสะเบ้งตัดขึ้นไปถวายพระเจ้าโจยอย ๆ แจ้งเนื้อความทั้งปวงแล้วก็มีความยินดีนัก ให้ทหารเอาสีสะเบ้งตัดไปเสียบประจานไว้ณทางสามแพร่ง แล้วแต่งหนังสือรับสั่งใจความว่า ซินต๋ำกับซินหงีมีความชอบให้ตั้งเปนขุนนางผู้ใหญ่ ยกไปช่วยทำการศึกกับสุมาอี้ ให้ลิจูเปนเจ้าเมืองซินเสีย ให้เตงเหียนเปนเจ้าเมืองซงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๗๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. (卻說孟達在新城,約下金城太守申儀、上庸太守申耽,剋日舉事。 ... 達奪路而走,申耽趕來。達人困馬乏,措手不及,被申耽一鎗刺於馬下,梟其首級。餘軍皆降。李輔、鄧賢大開城門,迎接司馬懿入城。撫民勞軍已畢,遂遣人奏知魏主曹叡。叡大喜,教將孟達首級去洛陽城市示眾;加申耽、申儀官職,就隨司馬懿征進;命李輔、鄧賢守新城、上庸。) สามก๊ก ตอนที่ 94.
  23. (太和元年薨,諡曰壯侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 17.

บรรณานุกรม แก้