เดซีเร คลารี สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์

เดซีเร คลารี หรือ แบร์นาร์ดีน เออเฌนี เดซีเร คลารี (ฝรั่งเศส:Bernardine Eugénie Désirée Clary; 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777 - 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ โดยทรงเป็นพระมเหสีในพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน อดีตนายพลชาวฝรั่งเศสและเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ และครั้งหนึ่งพระนางทรงเคยเป็นคู่หมั้นในนโปเลียน โบนาปาร์ต พระนางทรงเปลี่ยนพระนามอย่างเป็นทางการเป็น เดซีเดอเรีย (Desideria) พระนามในภาษาละติน[1] ซึ่งพระนางก็ไม่ทรงเคยใช้แทนพระองค์เอง[2]

เดซีเร คลารี
พระสาทิสลักษณ์ของพระนางเดซีเร ใน ค.ศ. 1830
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
สถาปนา5 กุมภาพันธ์ 1718 - 8 มีนาคม 1844
ราชาภิเษก21 สิงหาคม 1719
ก่อนหน้าเฮดวิด เอลิซาเบธ ชาร์ล็อต
ถัดไปโฌเซฟีน มักซีมีเลียน เดอ โบอาร์แน
พระราชสมภพ8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777(1777-11-08)
มาร์แซย์, ฝรั่งเศส
สวรรคต17 ธันวาคม ค.ศ. 1860(1860-12-17) (83 ปี)
สต็อกโฮล์ม, สวีเดนและนอร์เวย์
ฝังพระศพริดดาร์โฮล์ม, สต็อกโฮล์ม, สวีเดน
พระราชสวามีพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน
พระราชโอรสพระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน
พระนามเต็ม
แบร์นาร์ดีน เออเฌนี เดซีเร คลารี
ราชวงศ์ตระกูลคลารี
แบร์นาด็อต (โดยการอภิเษกสมรส)
พระราชบิดาฟร็องซัว คลารี
พระราชมารดาฟร็องซวซ โรซ โซมี
ลายพระอภิไธย

พระราชประวัติ

แก้

ช่วงต้นพระชนม์ชีพและครอบครัว

แก้
 
พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระนางเดซีเรในช่วงวัยดรุณีวาดโดยโรแบร์ เลฟอีเร

เดซีเร คลารีประสูติที่ มาร์แซย์ ฝรั่งเศส เป็นบุตรีของฟรองซัวส์ คลารี (เกิดที่มาร์แซย์, แวงต์เฟร์เรออล, 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1725 - เสียชีวิตที่มาร์แซย์, 20 มกราคม ค.ศ. 1794) เป็นพ่อค้าและผู้ผลิต ผ้าไหมที่มั่งคั้ง กับภริยาคนที่สองของเขา (สมรสกันเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1759) ฟรองซัวส์ โรเซ โซมิส (เกิดที่มาร์แซย์, แวงต์เฟร์เรออล, 30 สิงหาคม ค.ศ. 1737 - เสียชีวิตที่ปารีส, 28 มกราคม ค.ศ. 1815) ซึ่งเขาเคยสมรสมาก่อนที่มาร์แซย์ ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1751 กับกาเบรียล เฟลชง (เกิดค.ศ. 1732 - เสียชีวิต 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1758) โดยไม่มีทายาท พี่สาวของเธอคือ จูลี คลารีได้สมรสกับโจเซฟ โบนาปาร์ต และหลังจากนั้นได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเนเปิลส์และสเปน น้องชายของเดซีเรคือ นิโกลัส โจเซฟ คลารี ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงเตคลารีที่ 1 (1st Comte Clary) และสมรสกับแอนน์ ฌานน์ โรแยร์ ซึ่งมีธิดาหนึ่งคนคือ ซีไนเด ฟรองซัวส์ คลารี (เกิดที่ปารีส 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1812 - เสียชีวืตที่ปารีส 27 เมษายน ค.ศ. 1884) เป็นภริยาของนโปเลียน เบอติเอร์ เดอ วากรัม ดยุกที่ 2 แห่งวากรัม (เกิด 10 กันยายน ค.ศ. 1810 - เสียชีวิต 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1887) เป็นบุตรชายในนายพลหลุยส์-อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย และมีทายาท (ซึ่งเชื้อสายนี้มีคนหนึ่งเป็นภริยาคนแรกของฌออากีม เจ้าชายมูว์ราที่ 4)

เดซีเรได้รับการศึกษาจากคอนแวนต์ซึ่งมักจะเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรสาวของตระกูลชนชั้นสูงในฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 คอนแวนต์ได้ถูกปิด[3] และเดซีเรเดินทางกลับไปอยู่กับบิดามารดา การศึกษาของเดซีเรได้ถูกบรรยายว่าตื้นเขิน[4] เธออุทิศให้กับครอบครัวของเธอตลอดทั้งชีวิต ในปีค.ศ. 1794 บิดาของเธอเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นานมีการค้นพบว่าเขาได้ขอร้องให้สถานะของครอบครัวสูงขึ้นก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ (คำขอถูกปฏิเสธ) ด้วยเหตุนี้ เอเตียง พี่ชายของเธอ ซึ่งเป็นหัวหน้าของครอบครัวและเป็นผู้ปกครองของเธอ ได้ถูกจับกุมที่บ้านของบิดาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิวัติ ตามเรื่องราวเดิม เธอพร้อมกับซูซาน พี่สะใภ้ได้เดินทางไปพบหัวหน้ากรมตำรวจ อัลบิตเต เพื่อร้องขอให้ปล่อยตัวพี่ชายของเธอ ในห้องรับรอง เธอได้เผลอหลับไปและได้ถูกลืมโดยผู้คนได้ยกย่องซูซานที่ทำความตั้งใจได้สำเร็จ เธอพบกับโจเซฟ โบนาปาร์ตซึ่งเดินทางมายังบ้านของเธอ โจเซฟได้แนะนำตัวกับครอบครัวของเธอ และปนะนำให้มีการหมั้นระหว่างโจเซฟและเดซีเร และนโปเลียน โบนาปาร์ตก็ได้แนะนำตัวกับครอบครัว มีรายงานว่านโปเลียนได้แนะนำโจเซฟว่า โจเซฟควรหมั้นกับพี่สาวของเธอคือ จูลี คลารี ในขณะที่เขาจะหมั้นกับเดซีเร ข้อเสนอนี้ได้รับการตกลงจากคนสี่คนที่เกี่ยวข้อง โจเซฟสมรสกับจูลี และเดซีเรหมั้นกับนโปเลียน โบนาปาร์ต ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1795 ในระหว่างปีค.ศ. 1795 - 1797 เดซีเรอยู่อาศัยกับมารดาที่เจนัว อิตาลี ที่ซึ่งโจเซฟ พี่เขยของเธอได้มาปฏิบัติภารกิจทางการทูต พวกเขาจึงมาร่วมกับตระกูลโบนาปาร์ต ในปีค.ศ. 1795 นโปเลียนได้มีความสัมพันธ์กับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน เขาได้ถอนหมั้นเดซีเรในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งทำให้เธอเป็นอิสระจากคำสัญญาในการแต่งงานและเขาสมรสกับโฌเซฟีนในปีค.ศ. 1796

ในปีค.ศ. 1797 เดซีเรเดินทางไปยังโรม พักอาศัยกับจูลี พี่สาวของเธอและโจเซฟ พี่เขย ซึ่งเป็นทูตฝรั่งเศสประจำรัฐสันตะปาปา ความสัมพันธ์ของเธอกับจูลียังคงแนบแน่นและลึกซึ้ง เธอได้หมั้นช่วงสั้นๆกับมาทูแรง-ลีโอนาร์ด ดูโปต์ นายพลชาวฝรั่งเศส การหมั้นได้รับการจัดการโดยนโปเลียนไม่มากก็น้อย ซึ่งต้องการชดเชยเธอด้วยการจัดการแต่งงาน และดูโปต์ก็สนใจสินสอดและสถานะที่เป็นน้องสะใภ้ในนโปเลียนของเธอ เธอตกลงที่จะหมั้นอย่างไม่เต็มใจ เพราะเป็นที่รู้กันว่าดูโปต์มีคู่รักที่คบหาอย่างยาวนานและมีบุตรชาย ในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1807 ในวันก่อนวันแต่งงานของพวกเขา ดูโปต์ได้ถูกสังหารในการจลาจลต่อต้านฝรั่งเศสนอกสถานพำนักปาลาซโซคอร์ซินีในโรม[4]

มาดามเบอร์นาดอตต์

แก้
 
เดซีเร คลารี วาดโดยฟรองซัวส์ เกอราร์ดในปีค.ศ. 1810

หลังจากที่เดินทางกลับฝรั่งเศส เดซีเรได้พำนักกับจูลีและโจเซฟที่ปารีส ในกรุงปารีส เธอพำนักอยู่กับตระกูลโบนาปาร์ตซึ่งต่อต้านโฌเซฟีน หลังจากที่นโปเลียนถอนหมั้นเธอและหันมาสนับสนุนเธอแทน เธอเองก็ไม่ชอบโฌเซฟีนเช่นกัน ซึ่งเธอได้เรียกโฌเซฟีนว่าโสเภณีสูงอายุซึ่งมีชื่อเสียงที่ไม่ดีไม่งาม แต่เธอก็ไม่ได้แสดงตนเป็นศัตรูกับโฌเซฟีนเช่นเดียวกับสมาชิกในตระกูลโบนาปาร์ต เธอตอบรับการขอแต่งงานจากนายพลฌ็อง-อันดอเช ฌูโนต์ แต่ข้อเสนอก็ถูกปฏิเสธไปเมื่อมันถูกส่งผ่านไปยังออกุสต์ เดอ มาร์มงต์[5] เดซีเรได้พบกับสามีในอนาคตคือ ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ เบอร์นาดอตต์ นายพลและนักการเมืองชาวฝรั่งเศส ทั้งคู่สมรสกันโดยพิธีทางฆราวาสที่โซในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798[5] ในสัญญาสมรส เดซีเรมีอิสระทางการเงิน[4] ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1799 เธอได้ให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนคือ โจเซฟ ฟรองซัวส์ ออสการ์ เบอร์นาดอตต์

ในช่วงการรัฐประหารปีค.ศ. 1799 เมื่อนโปเลียนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ เดซีเรได้ถูกจัดการให้เป็นเครื่องมือของทั้งตระกูลโบนาปาร์ต ซึ่งต้องการให้เบอร์นาดอตต์สนับสนุนนโปเลียน และฝ่ายเบอร์นาดอตต์ที่ต้องการให้เขาดำเนินการด้วยตัวเอง ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้อิทธิพลของเธอเหนือเบอร์นาดอตต์และพยายามล้วงข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของเขา ด้วยการตระหนักถึงเรื่องนี้ เขาจึงไม่บอกแผนการของเขาแก่เธอ แต่เขาก็ได้พูดในภายหลังว่าเป็นเพราะอิทธิพลของครอบครัวซึ่งทำให้เขาไม่ตอบโต้อะไรในช่วงการรัฐประหาร ในระหว่างรัฐประหาร ทั้งคู่ถูกบังคับให้ลี้ภัยที่วิลลาชานเมืองของนายพลซาร์ราแซงที่วิลเลนิวแซงต์จอร์จ เดซีเรปลอมตัวเป็นผู้ชายในระหว่างการหลบหนี เธอยังคงติดต่อกับจูลีตลอดเวลา และนโปเลียนได้ยอมรับในตัวเบอร์นาดอตต์ก็เพราะเธอ

ในปีค.ศ. 1800 เดซีเรได้อยู่ในสถานที่ที่เกิดการลอบสังหารนโปเลียนซึ่งล้มเหลว เมื่อระเบิดได้ระเบิดขึ้นบริเวณระหว่างรถม้าของนโปเลียนกับรถม้าที่เธอและแคโรไลน์ โบนาปาร์ตนั่งมา เดซีเรไม่ได้สนใจการเมือง แต่ด้วยเธอมีสายสัมพันธ์อันดีทำให้ต้องกลายเป็นหุ่นเชิดของสามีและนโปเลียน ซึ่งใช้อิทธิพลที่มีต่อเธอซึ่งกันและกันในการส่งผ่านข้อความ[4]ในปีค.ศ. 1801 เบอร์นาดอตต์ได้เข้าแทรกแซงเธอตามความต้องการของนายพลเออร์นูฟโดยผ่านโจเซฟ[5] ในปีค.ศ. 1802 แผนการสมคบคิดต่อต้านนโปเลียนได้ถูกเปิดเผย นโปเลียนได้สงสัยเบอร์นาดอตต์ และได้ทำการสอบปากคำเดซีเร ซึ่งเธอได้บอกเขาอย่างบริสุทธิใจว่าสามีของเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนการ แม้ว่าเขาจะได้พบกับนายพลมอโรที่บ้านและเบอร์นาดอตต์มีการพึมพำถึงชื่อของเขาในตอนนอนหลับ[5] หลังจากเหตุการณ์นี้นโปเลียนได้แต่งตั้งเบอร์นาดอตต์เป็นผู้ว่าการลุยเซียนา ทั้งคู่พร้อมที่จะเดินทางโดยเรือแล้วเมื่อมีคำสั่งเพิกถอนการแต่งตั้ง

ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1804 สามีของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลแห่งฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เธอได้รับตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เธอได้ถูกอธิบายว่าเป็นคนที่ไม่สนใจในสถานะทางการเมือง เช่นเดียวกับจูลี พี่สาวของเธอ นโปเลียนได้ให้เบี้ยเลี้ยงแก่เธอ และมอบบ้านในรูดีอองฌูแซงต์-ฮอนอเร ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอพำนักเมื่ออยู่ที่ปารีส ในพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 เธอได้ตามเสด็จจักรพรรดินีโฌเซฟีน ซึ่งขบวนนำโดยพี่สะใภ้ของเธอ และเธอได้ทำหน้าที่ถือผ้าซับพระพักตร์และผ้าคลุมพระพักตร์ของจักรพรรดินีโฌเซฟีนไว้กับหมอน[5]

สามีของเธอเป็นนายพลชั้นแนวหน้าของกองทัพฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนและมักจะไม่ได้อยู่ที่ปารีส เขาชอบให้เธอเป็นสมาชิกของสังคมชั้นสูงและให้เธอมีเวลาเรียนเต้นรำและมารยาทจากอาจารย์มงเตล เดซีเรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชวงศ์โบนาปาร์ต ตามคำขอของสามี เธอจึงไม่ได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์และไม่ได้เข้าร่วมราชสำนัก เธออาศัยอยู่ในแวดวงของราชวงศ์โบนาปาร์ตและตระกูลคลารีและยังเข้าร่วมสังคมชั้นสูง ซึ่งเธอมีความสุขกับดนตรี การละครและการเต้นรำ ในขณะที่เธอใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนไปสปาหรือไปยังวิลลาต่างจังหวัดที่ลาแกรงและออเตอุล เชื่อว่าเธอมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับอังเก ไชป์เป ชายชาวคอร์ซิกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันของเธอ[4][5] เธอถูกบรรยายว่าเป็นคนที่น่ารักและเป็นที่ชื่นชอบและเป็นนักเต้นรำที่มีความสามารถ แต่คำบรรยายนี้ไม่ถูกระบุชื่อว่าเป็นใคร เธอมักจะแยกจากสามีโดยเธอต้องอยู่ในกรุงปารีสในช่วงที่เขาไม่อยู่ เธอเป็นคนบอกเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในปารีสโดยติดต่อถึงกัน[5]

ในระหว่างที่เบอร์นาดอตต์ดำรงเป็นผู้ว่าการกลุ่มเมืองฮันเซียติกและผู้ว่าการฮาโนเวอร์ เดซีเรได้เดินทางไปเยี่ยมเขาที่ฮัมบวร์คพร้อมกับบุตรชายถึงสองสามครั้ง แต่เธอก็ไม่เคยพำนักอยู่นาน ซึ่งต้องกลับปารีสในไม่ช้า เธอไม่มีความสุขที่จะอยู่ที่ใดก็ตามยกเว้นปารีส ในปีค.ศ. 1806 เธอถูกบังคับให้ตามเสด็จจักรพรรดินีโฌเซฟีนไปยังไมนทซ์ เมื่อสามีของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โวในปีค.ศ. 1806 เดซีเรถามอย่างกังวลใจถึงการจะต้องถูกบังคับให้ออกจากปารีส แต่เธอก็มีความสุขเมื่อเธอมั่นใจว่าไม่ต้องออกไปจากปารีส[4] ในปีค.ศ. 1807 เธอได้เดินทางไปเยี่ยมเบอร์นาดอตต์ในสปานเดาและในมาเรียนบูร์กที่ปรัสเซียตะวันออก ซึ่งเธอได้เดินทางไปดูแลสามีซึ่งกำลังเจ็บป่วย

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1810 เบอร์นาดอตต์ได้ถูกเลือกให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์สวีเดน ในตอนแรกเดซีเรคิดว่ากรณีนี้คล้ายกับกรณีตำแหน่งเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โว และไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องเดินทางไปสวีเดนมากไปกว่าการที่ถูกบังคับให้ไปปงเตคอร์โว เธอกล่าวว่า "ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เหมือนกับปงเตคอร์โว สถานที่ที่ซึ่งเราได้ตำแหน่ง"[5] ในภายหลังเธอยอมรับว่า เธอไม่เคยสนใจประเทศอื่นใดไปนอกจากฝรั่งเศสเลยและเธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับต่างประเทศดังเช่นที่เธอพยายามไม่สนใจประเทศเหล่านั้น และนั่นทำให้เธอสิ้นหวังเมื่อเธอคาดว่าในเวลานี้ต้องเดินทางออกจากปารีส เดซีเรเดินทางล่าช้าและไม่ได้ออกไปพร้อมสามีของเธอ เธอยินดีกับสถานะที่เธอได้รับจากราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อเธอได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารี (เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานของราชสำนักทุกสัปดาห์) และเธอได้หวั่นกลัวเรื่องราวของคนรับใช้ชาวฝรั่งเศส ซึ่งพยายามทำให้เธอหมดกำลังใจที่จะเดินทางไปโดยบอกว่าสวีเดนเป็นประเทศที่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและเต็มไปด้วยหมีขาว[5] ในที่สุดเธอได้ออกจากปารีสและเดินทางผ่านฮัมบวร์คและโครนบอร์กในเดนมาร์ก ข้ามออเรซุนด์ไปยังเฮลซิงบอร์กในสวีเดน (หัวข้อต่อจากนี้จะมีการใช้ราชาศัพท์เนื่องจากเดซีเรได้รับการเลื่อนสถานะเป็นมกุฎราชกุมารี)

มกุฎราชกุมารี

แก้
 
ขณะทรงเป็นมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน ทรงฉลองพระองค์เนชันเนลลา ดรักเทน วาดโดยโรแบร์ เลฟอีเร

ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1810 มกุฎราชกุมารีเดซีเรเสด็จมาพร้อมเจ้าชายออสการ์ พระโอรสที่เฮลซิงบอร์กในสวีเดน และในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1811 พระนางทรงได้รับการแนะนำต่อราชสำนักสวีเดนที่พระราชวังหลวงในสต็อกโฮล์ม ที่เฮลซิงบอร์กพระนางทรงพบกับแคโรไลน์ เลเวนฮุปต์ นางสนองพระโอษฐ์ประจำห้องฉลองพระองค์และมาเรียนา คอสคูล นางพระกำนัลที่ได้รับการแต่งตั้ง สภาพอากาศของสวีเดนเป็นสิ่งที่ทำให้พระนางตกพระทัยมาก พระนางเสด็จมาถึงในช่วงฤดูหนาวและทรงเกลียดหิมะมากจนถึงขนาดที่ทรงร่ำไห้[4] พระสวามีของพระนางทรงเปลี่ยนศาสนาทันทีที่ได้รับการเลือกให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์สวีเดน และเมื่อเสด็จมาถึงพระโอรสของพระนางก็ทรงเปลี่ยนศาสนาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องแยกพระโอรสออกมาจากพระนางเพื่อให้ทรงได้รับการอภิบาลในฐานะนิกายลูเธอรัน แต่ก็ไม่มีข้อเรียกร้องให้พระนางเปลี่ยนศาสนา และได้มีการจัดโบสถ์คาทอลิกสำหรับพระนางโดยเฉพาะ[5] พระนางเดซีเรไม่ทรงเคร่งในศาสนา[5] แต่การทำพิธีมิสซาแบบคาทอลิกเป็นสิ่งที่ทำให้ทรงระลึกถึงฝรั่งเศส และพระนางทรงเฉลิมฉลองการประสูติของพระโอรสในจักรพรรดินโปเลียน กษัตริย์แห่งโรม โดยทรงทำพิธีเพลงสรรเสริญพระเจ้าแสดงความกตัญญูภายในโบสถ์ของพระนาง

มกุฎราชกุมารีเดซีเรไม่ทรงสามารถปรับพระองค์เข้ากับมารยาททางราชสำนักหรือการมีส่วนร่วมในพระกรณียกิจได้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารี คณะผู้ติดตามชาวฝรั่งเศสของพระนางเดซีเร โดยเฉพาะเอลีซ ลา ฟลอเต ทำให้พระนางไม่ทรงได้รับความนิยมในระหว่างที่ประทับในสวีเดนโดยทรงสนับสนุนให้เอลีซวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง[2] มกุฎราชกุมารีเดซีเรทรงกล่าวว่าพระนางทรงได้รับการปฏิบัติอย่างเย่อหยิ่งจากราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมเด็จพระราชินีเฮดวิก เอลิซาเบธ ชาร์ล็อต แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโซเฟีย มักดาลีนาทรงมีพระเมตตาต่อพระนาง สมเด็จพระราชินีได้บรรยายถึงมกุฎราชกุมารีในพระอนุทินที่มีชื่อเสียงของพระนางไว้ว่า มกุฎราชกุมารีเป็นคนที่จิตใจดี ในกว้างและมีความสุขในสิ่งที่เธอเลือกที่จะเป็นและเป็นคนที่ไม่มีเล่ห์เพทุบาย แต่เธอยังคงอยู่ในวัยกำดัด เป็น"เด็กนิสัยเสีย" ซึ่งเกลียดคำขอร้องทุกอย่างและไม่สามารถควบคุมอากัปกิริยาท่าทางได้ สมเด็จพระราชินีทรงบรรยายว่าพระนางเดซีเรเป็น "ผู้หญิงฝรั่งเศสทุกกระเบียดนิ้ว" ซึ่งเกลียดและจะวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เป็นฝรั่งเศส และ "เพราะเหตุนี้ เธอจึงไม่เป็นที่ชื่นชอบ"[6]

พระนางเดซีเรเสด็จออกจากสวีเดนในฤดูร้อน ปีค.ศ. 1811 โดยทรงใช้พระนามว่าเคานท์เตสแห่งกอตลันด์ ทรงเสด็จอย่างเป็นทางการจากปัญหาด้านสุขภาพ และทรงเสด็จกลับปารีส โดยที่พระสวามีและพระโอรสยังคงประทับอยู่ที่สวีเดน พระนางทรงกล่าวว่าชนชั้นสูงในสวีเดนได้ปฏิบัติต่อพระนางราวกับน้ำแข็ง ทรงตรัสว่า "อย่าพูดคุยกับฉันที่สต็อกโฮล์ม มันทำให้ฉันจะเป็นไข้พอๆกับที่ฉันได้ยินคำพูดเหล่านั้น"[7] ที่สวีเดน พระสวามีของพระนางทรงมีพระสนมคือ มาเรียนา โคสกูล

ภายใต้พระนาม เคานท์เตสแห่งกอตลันด์ พระนางเดซีเรทรงพำนักอย่างเป็นทางการที่กรุงปารีสโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเมือง แต่ที่พำนักของพระนางที่รูดีอองฌูได้ถูกจับตามองโดยตำรวจลับและลายพระหัตถ์ของพระนางได้ถูกเปิดอ่านโดยตำรวจลับ พระนางไม่ทรงมีราชสำนัก ทรงมีเพียงแต่พระสหายหญิง เอลีซ ลา ฟลอเต ที่ให้ความช่วยเหลือพระนางในฐานะเจ้าภาพในการรับรองแขก และโดยส่วนใหญ่แล้วพระนางทรงอยู่ในแวดวงของพระสหายสนิทและครอบครัว พระนางทรงต้อนรับตาแลร็องและโจเซฟ ฟูเชบ่อยๆซึ่งได้มาตามคำสั่งของจักรพรรดินโปเลียนซึ่งต้องการแทรกแซงอิทธิพลของพระสวามีของพระนางโดยผ่านพระนาง[5] ในปีค.ศ. 1812 พระนางทรงทำหน้าที่เป็นคนกลางเมื่อจักรพรรดินโปเลียนทรงเจรจากับพระสวามีของพระนางโดยผ่านดยุกแห่งบาซซาโน พระสวามีของพระนางทรงโปรดให้พระนางประทับในปารีส ซึ่งพระนางสามารถสงบพระอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของจักรพรรดินโปเลียนต่อการเมืองของสวีเดนและจะทำให้พระองค์ทราบถึงเหตุการณ์การเมืองยุโรป แต่การติดต่อกันได้สูญหายซึ่งไม่ได้รู้จักวิธีทางการเมืองอย่างที่ควรเป็น[5] ในระหว่างการพบกันระหว่างพระสวามีของพระนางกับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียในอาโบในปีค.ศ. 1812 พระเจ้าซาร์ทรงแนะนำให้พระสวามีของพระนางหย่ากับพระนางและเสกสมรสกับหนึ่งในพระขนิษฐาของพระองค์ แต่พระสวามีของพระนางทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้[5]

ก่อนที่จักรพรรดินโปเลียนจะบุกรัสเซีย พระองค์ได้ขอให้พระนางเดซีเรเสด็จออกไปจากฝรั่งเศส พระนางทรงจัดการเตรียมพร้อมที่จะเสด็จออกแต่ทรงพยายามหลีกเลี่ยง ในฐานะที่พระนางทรงพำนักอย่างเป็นทางการโดยไม่ระบุตัวตน พระนางสามารถหลีกเลี่ยงจากการเมืองได้เมื่อสวีเดนและฝรั่งเศสทำสงครามกันในปีค.ศ. 1813 ในฤดูร้อนปีค.ศ. 1813 พระนางทรงถอนพระองค์จากสิทธิในทรัพย์สินของพระนางจูลี มอร์เตฟงแตนและเจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจก่อนที่จะทรงกลับไปยังปารีสในวันส่งท้ายปีเก่าปีค.ศ. 1814 ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1814 การมาถึงของกองทัพพันธมิตรในกรุงปารีสหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ ที่พำนักของพระนางได้กลายเป็นที่ลี้ภัยของพระนางจูลี พระเชษฐภคินี พระนางเดซีเรทรงพบกับพระสวามีของพระนาง ผู้ซึ่งอยู่ในกลุ่มนายพลพันธมิตรที่เดินทางมาถึงปารีส พระนางไม่ทรงเสด็จกลับสวีเดนพร้อมพระสวามี แต่เป็นที่ดึงดูดความสนใจ เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่เสด็จกลับโดยเคานท์ยาค็อบ เดอ ลา การ์ดี ชาวสวีเดนที่มอร์เตฟงแตน พระนางทรงตอบว่าทรงเกรงว่าถ้าพระนางเสด็จกลับจะทรงถูกหย่า[5]

ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 พระนางทรงได้รับการแนะนำให้รู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งพระนางได้เสด็จไปเยี่ยมราชสำนักทุกๆปีและเป็นผู้ซึ่งพระนางทรงชื่นชอบ หลังจากสมัยร้อยวันในปีค.ศ. 1815 เชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศส รวมถึงพระนางจูลี พระเชษฐภคินีของพระนางด้วย และเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงโปรดปรานพระนาง พระนางก็ทรงขอร้องพระองค์บ่อยครั้งให้ทรงยกเว้นโทษของพระนางจูลีและอนุญาตให้พระนางประทับในปารีสได้ ในปีค.ศ. 1816 มกุฎราชกุมารีเดซีเรทรงตั้งพระทัยจะเสด็จกลับสวีเดน แต่ทรงปรารถนาที่จะพาพระนางจูลี พระเชษฐภคินีโดยเสด็จด้วย พระสวามีของพระนางเห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่ฉลาด เพราะพระนางจูลีเป็นพระมเหสีของเชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตและและการปรากฏของพระนางอาจจะเป็นการแสดงสัญญาณว่าพระองค์อยู่ฝ่ายเดียวกับอดีตจักรพรรดินโปเลียนซึ่งทรงถูกปลดจากราชบัลลังก์ และในที่สุดเรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้น[8] ในจุดนี้ มกุฎราชกุมารีเดซีเรมักจะทรงใช้เวลากับเฌอแมน เดอ สตอลและจูเลียต เรกามิเยร์ ในปีค.ศ. 1817 พระสวามีของพระนางเดซีเรได้ตั้งให้เคานท์เดอมงตรีชาร์ดไปเป็นสายลับในที่พำนักของพระนางเพื่อรายงานว่าพระนางกระทำอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อพระองค์[4]

สมเด็จพระราชินี

แก้
 
สมเด็จพระราชินีเดซีเดอเรียแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ วาดโดยฟรีดริก เวสทิน ในปีค.ศ. 1822

ในปีค.ศ. 1818 พระสวามีของพระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน ซึ่งทำให้พระนางเดซีเรกลายเป็นสมเด็จพระราชินี แต่พระนางยังคงประทับอยู่ในฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่เป็นทางการคือปัญหาสุขภาพ ซึ่งทำให้พระนางเป็นจุดสนใจของสื่อในปารีสและผู้มาเยี่ยมเยือนพระนาง หลังจากที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งสวีเดนทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระนาง ทรงแนะนำให้พระนางรับนางสนองพระโอษฐ์ชาวสวีเดน แต่พระนางทรงตอบกลับไปว่าไม่จำเป็นที่พระนางจะมีข้าราชสำนักเพราะว่าพระนางยังทรงพำนักอยู่โดยไม่เปิดเผยนาม สมเด็จพระราชินีเดซีเรยังไม่ทรงเปิดเผยพระองค์อย่างเป็นทางการและไม่ทรงจัดตั้งราชสำนัก แต่พระนางก็ยังทรงติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน พระนางเสด็จในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 บ่อยครั้ง และทรงมักต้อนรับชาวสวีเดนในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ โดยที่ไม่ทรงใช้พระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีอย่างเป็นทางการ แต่ทรงใช้พระอิสริยยศ เคานท์เตส แทน

ในช่วงนี้ พระนางทรงมีจิตปฏิพัทธ์กับนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ดยุกแห่งรีเชอลีเยอ ผู้ซึ่งมีเสน่ห์น่าดึงดูดใจ[5] ตามเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า พระนางทรงตกหลุมรักเขาหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้มอบหมายให้เขาปฏิเสธคำอุทธรณ์ที่พระนางทรงวิงวอนให้กับพระนางจูลี พระเชษฐภคินี โดยทรงมองว่าเข้าเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ที่สุด จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่พระนาทรงตกหลุมรักเขา แต่ความรักนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรีเชอลีเยอ ซึ่งเขามักจะกล่าวถึงพระนางว่าเป็น "พระราชินีผู้บ้าคลั่ง" ของเขา[5] ตามบันทึกของลอเร ฌูโนต์ ดัชเชสแห่งอบรานเตส์กล่าวว่า พระนางไม่ทรงกล้าที่จะตรัสกับเขาหรือเข้าใกล้เขา แต่พระนางเสด็จตามเขาไปทุกแห่ง และพยายามตรัสกับเขา ทรงติดตามเขาไปยังสปาและทรงวางช่อดอกไม้ที่ห้องของเขา[5] พระนางทรงตามเขาไปทั่วจนเมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ. 1822[4] อีกเรื่องราวของพฤติกรรมของพระนางที่มีต่อเขา คือ การที่พระสวามีของพระนางได้ทรงมอบหมายพระราชกิจให้พระนางติดต่อกับรีเชอลีเยอด้วยเหตุทางการเมือง แต่อากัปกิริยาของเขาทำให้พระนางทรงเขินอายเกินไปที่จะทำเช่นนั้น[5]

ในช่วงฤดูร้อน ปีค.ศ. 1822 พระราชโอรสของพระนาง เจ้าชายออสการ์ได้เสด็จประพาสไปทั่วยุโรปเพื่อพบพระชายาในอนาคต และตัดสินพระทัยว่าต้องทรงมาพบกัน การพบกันที่ประเทศฝรั่งเศสถือว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นเจ้าชายออสการ์และพระมารดาได้พบกันที่เมืองอาเคินและทรงพบกันครั้งที่สองที่สวิตเซอร์แลนด์ ในปีค.ศ. 1823 สมเด็จพระราชินีเดซีเรได้เสด็จกลับสวีเดนพร้อมกับพระชายาในพระโอรสคือ เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก ซึ่งเดิมพระนางทรงตั้งพระทัยเพียงแค่เสด็จเยือน แต่กลายเป็นว่าพระนางทรงประทับอยู่ในสวีเดนตราบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สมเด็จพระราชินีเดซีเรและเจ้าหญิงโจเซฟีนเสด็จถึงสต็อกโฮล์มในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1823 สามวันต่อมา ราชสำนักและรัฐบาลได้ถวายบังคมต่อสมเด็จพระราชินีเดซีเร และวันที่ 19 มิถุนายน พระนางทรงต้อนรับเจ้าหญิงโจเซฟีนอย่างเป็นทางการและทรงร่วมพิธีเสกสมรส

 
สมเด็จพระราชินีเดซีเดอเรียในพระราชพิธีราชาภิเษกปีค.ศ. 1829

ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1829 พระนางได้ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนที่สตอร์คีร์กานในสต็อกโฮล์ม พระราชพิธีราชาภิเษกของพระนางเป็นการแสดงถึงการเสด็จกลับมาของพระนาง แต่พระสวามีของพระนางทรงเลื่อนออกไปเพราะทรงเกรงว่าจะเกิดความยากลำบากทางศาสนา มีข้อเสนอจริงๆว่าพระนางควรเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนามาเป็นลูเธอรันก่อนที่จะราชาภิเษก แต่ท้ายที่สุด ปัญหานี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญมากพอที่จะสามารถกดดันได้ และพระนางทรงได้สวมมงกุฎในที่สุด พระนางทรงได้รับการสวมมงกุฎตามคำขอของพระนาง หลังจากที่ทรงกดดันพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันด้วยความปรารถนาที่ว่า พระนางต้องได้สวมมงกุฎ "มิฉะนั้นพระนางจะไม่ได้ทรงเป็นพระราชินีที่ถูกต้องตามกฎหมาย"[9] เหตุผลนี้เชื่อว่าพระนางทรงเล็งเห็นว่าวิธีนี้สามารถป้องกันพระนางจากการหย่าร้างได้[10] ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระนางทรงบรรยายว่าทรงรู้สึกประทับใจมากในระหว่างพระราชพิธีราชาภิเษกของพระนาง[5] อย่างไรก็ตามพระนางไม่ทรงเคยได้สวมมงกุฎในนอร์เวย์เนื่องจากทรงเป็นคาทอลิก สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงปรารถนาที่จะสวมมงกุฎสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์เช่นกัน และได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับเป็นเงินทุนในการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในนอร์เวย์ในปีค.ศ. 1830 แต่ท้ายที่สุดกลับเป็นไปไม่ได้ พระนางเดซีเรทรงเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีคาริน แมนสด็อทเทอร์ ในปีค.ศ. 1568

ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางกับพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันค่อนข้างจะห่างเหิน แต่ทรงเป็นมิตรกัน พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงปฏิบัติต่อพระนางอย่างฉุนเฉียวบ้าง ในขณะที่พระนางทรงประพฤติพระองค์อย่างง่ายๆและไม่ทรงมีพิธีรีตองกับพระสวามี ราชสำนักประหลาดใจจากพฤติกรรมของพระนาง พระนางทรงสามารถเสด็จเข้าห้องบรรทมของกษัตริย์และทรงประทับอยู่ที่นั่นจนเวลากลางคืน แม้ว่าพระสวามีจะทรงตรัสเปรยเป็นนัยกับพระนางว่า พระองค์ประสงค์ที่จะประทับตามลำพังกับเคานท์แมกนัส บราเฮ คนโปรดของพระองค์[5] ทุกๆเช้า พระนางจะเสด็จไปพบพระสวามีของพระนางในฉลองพระองค์ชุดบรรทม ซึ่งถูกมองว่ากลายเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะพระสวามีของพระนางมักจะทรงประชุมกับเหล่ามาชิกสภาของรัฐในห้องบรรทมเวลานั้น เนื่องจากพระอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ทำให้มักจะเห็นทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ด้วยกันนานๆครั้ง เนื่องจากสมเด็จพระราชินีมักจะเสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำสาย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงหยุดเสวยพระกระยาหารกับพระนางและพระองค์ทรงโปรดที่จะเสวยพระกระยาหารเพียงพระองค์เดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับขุนนางในราชสำนักที่จะนั่งที่โต๊ะรับประทานอาหารเพียงคนเดียว โดยที่ไม่มีกษัตริย์และพระราชินีร่วมประทับด้วย[4]

ไม่มีอะไรชี้ให้เห็นว่าพระนางทรงเคยมีอิทธิพลทางการเมืองใดๆเลย และพระนางทรงได้รับการยกย่องจากการที่ไม่ทรงเข้าแทรกแซงทางการเมือง เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงกระวนกระวาย พระนางทรงเป็นที่รู้จักโดยทรงสามารถทำให้พระสวามีสงบลงได้ โดยจะทรงเรียก "เบอร์นาดอตต์!"[5] อีกหนึ่งเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เมื่อพระเจ้าคาร์ล โยฮัน ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักในฐานะทรงมีพระอารมณ์ร้อน โดยจะทรงหาวิธีการลงโทษที่ปรึกษาด้านการเมืองบางคนในวิธีต่างๆเพื่อระบายพระอารมณ์ โดยทุกการลงทัณฑ์ที่พระองค์ทรงบัญชา พระนางจะทรงตีพัดของพระนางลงบนโต๊ะและตรัสกับข้าราชบริพารโดยรอบว่า "พระองค์ทำร้ายแมวไม่ได้หรอก!"[5] ซึ่งทั้งราชสำนักก็เริ่มหัวเราะ พระนางยังทรงตรัสอีกว่า "โอ้ ข้าชอบที่จะได้ยินพระองค์พูดเช่นนั้น พระองค์ผู้ซึ่งไม่มีใจที่จะบีบคอแมวได้!"[5]

ในช่วงทศวรรษที่ 1830 เป็นช่วงเวลาที่พระนางทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชินีอย่างกระตือรือร้นที่สุด ซึ่งเป็นสถานะที่พระนางไม่ทรงอยากเป็น ทศวรรษนี้ถูกบรรยายว่าเป็นช่วงเวลาของงานรื่นเริงและงานเลี้ยง มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในราชสำนักสวีเดนนับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แต่สมเด็จพระราชนีเดซีเรมักจะทรงเหน็ดเหนื่อยกับพระราชสถานะของพระนางและมีพระประสงค์ที่จะเสด็จกลับฝรั่งเศส แต่พระสวามีของพระนางไม่ทรงอนุญาต ในฐานะพระราชินี พระนางเดซีเรทรงเป็นที่รู้จีกมากในพระอุปนิสัยที่แปลกพิสดาร พระนางไม่ทรงตรงต่อเวลา พระนางมักจะทรงเสด็จช้าบ่อยๆ เป็นผลให้แขกที่มาเข้าเฝ้าต้องรอ บางทีอาจเป็นการที่ทรงพยายามยั่วยุพระสวามี โดยปกติพระนางจะเข้าบรรทมเวลา 4 นาฬิกาในตอนเช้าและตื่นขึ้นมาเวลาบ่ายสองโมง ก่อนที่จะบรรทม พระนางมักจะทรง "ประทับรถม้า" ตลอดการดำเนิน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติเพราะเป็นเวลากลางคืน เมื่อสภาพอากาศไม่ดี พระนางจะทรงแล่นรถไปรอบสนามพระราชวังเป็นปกติ มันเป็นเรื่องปกติเมื่อพระนางเสด็จถึงการเข้าชมละครโอเปรา โดยการแสดงได้จบลงแล้ว

 
ภาพพระราชวงศ์ในปีค.ศ. 1837 จากซ้าย:เจ้าชายออสการ์, สมเด็จพระราชินีเดซีเดอเรีย, มกุฎราชกุมารีโจเซฟีน, เจ้าชายออกัส, เจ้าหญิงยูจีนี, มกุฎราชกุมารออสการ์, เจ้าชายคาร์ล, พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันแห่งสวีเดน, เจ้าชายกุสตาฟและรูปปั้นครึ่งพระองค์ของพระเจ้าคาร์ลที่ 13 แห่งสวีเดน

สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงสนพระทัยในแฟชั่น ทรงสนพระทัยและภาคภูมิในพระเกศาของพระนางและฉลองพระองค์ชุดตัดต่ำจวบจนกระทั่งทรงสูงวัย พระนางทรงโปรดการเต้นรำ ปัญหาพื้นฐานของพระนางในราชสำนักคือถ้าหญิงสาวซึ่งออกงานสังคมครั้งแรกชื่นชอบการเต้นรำ พระนางก็จะทรงเต้นรำด้วยและทรงเต้นรำได้ดีจนกระทั่งในวัยชรา บทสนทนาของพระนางมักจะเกี่ยวกับพระชนม์ชีพเดิมของพระนางในฝรั่งเศส มาร์แซล ตาเช เดอ ลา ปาเฌอรี พระนัดดาของพระนาง ซึ่งเป็นพนักงานผ้าพระภูษาของพระนางในช่วงที่พระนางเดซีเรทรงเป็นพระราชินีปีแรก ได้กล่าวว่า พระนางมักจะทรงตรัสถึงเรื่องราวเก่าๆของพระนาง หลังจากที่พระนัดดาเดินทางกลับฝรั่งเศส พระราชินีมักจะทรงพบปะกับคาร์ล อัร์ฟเวดสัน พ่อค้าผู้ร่ำรวย ซึ่งขึ้นหนึ่งเคยเป็นแขกที่มาเยี่ยมเยียนบ้านของพระนางเมื่อทรงพระเยาว์[5] พระนางไม่ทรงเคยเป็นที่นิยมในราชสำนักเลย ซึ่งพระนางถูกมองว่าทรงเป็นพวกเย่อหยิ่งเพราะที่ผ่านมาพระนางทรงเป็นธิดาของพ่อค้าและเป็นพวกสาธารณรัฐนิยม พระนางไม่ทรงเคยเรียนรู้ที่จะตรัสภาษาสวีเดน และถึงแม้ว่ามีเรื่องราวเล็กๆน้อยๆว่าพระนางทรงพยายามตรัสภาษานี้ก็ตาม

สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงเป็นคาทอลิก แต่ก็แตกต่างจากมกุฎราชกุมารีโจเซฟีน ผู้เป็นพระสุณิสา ซึ่งทรงเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นคาทอลิกสายปฏิบัติ ในขณะที่พระนางเดซีเรไม่ได้ทรงศรัทธาทางศาสนามากนัก[5] พระสุณิสาผู้ศรัทธาในคาทอลิกมักจะรบเร้าให้พระราชินีเข้าร่วมพิธีมิสซาและสารภาพบาป[4] พระนางทรงเข้าร่วมมิสซาเพื่อให้มกุฎราชกุมารีโจเซฟีนพอพระทัย แต่พระนางก็ทรงยืนยันว่าไม่ทรงมีบาปให่สารภาพ เมื่อบาทหลวงเริ่มเทศนาและติติงพระนาง พระนางจะทรงมีรับสั่งให้เขาเงียบและกล่าวว่าคำพูดพวกนั้นทำให้พระนางขุ่นเคือง[5]

พระตำหนักฤดูร้อนที่พระนางทรงโปรดคือ พระราชวังโรเซอส์เบิร์ก ที่ซึ่งพระนางทรงเลี้ยงไก่เป็นสัตว์ทรงเลี้ยง แต่เนื่องจากพระราชวังโรเซอสืเบิร์กอยู่ห่างไกลมาก พระนางจึงมักจะประทับที่พระราชวังดรอทนิงโฮล์ม หรือ พระราชวังฮากา พระนางมักจะเสด็จเยือนสปาของสวีเดน เช่น สปารามโลซา พระนางทรงมีนางสนองพระโอษฐ์ชาวนอร์เวย์ อาทิเช่น คาทินกา ฟัลเบ และจานา ฟัลเบ เนื่องจากพระนางเดซีเรทรงมีพระอุปนิสัยที่ประหลาด ทำให้เป็นที่รู้จักในนามว่า "Strapatsfröknarna" (มีความหมายประมาณว่า "มาดมัวแซลภัยพิบัติ")[4] ระหว่างที่ทรงประทับที่โรเซอส์เบิร์กและทั้งๆที่พระนางทรงเป็นคนกลัวความมืด แต่พระนางมักจะทรงพระดำเนินเล่นในสวนตอนกลางคืนและมักจะทรงสั่งให้นางสนองพระโอษฐ์คนหนึ่งเดินนำหน้าพระนางซึ่งทรงฉลองพระองค์ชุดขาว เพื่อทำการไล่ค้างคาวออกไป[2]

พระนางเดซีเรยังทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ด้วย พระนางเสด็จเยือนนอร์เวย์สองครั้ง ครั้งแรกในปีค.ศ. 1825[4] ในนอร์เวย์ พระนางมักจะทรงเป้นที่รู้จักในฐานะผู้อุปถัมภ์ Eugenia stiftelse (มูลนิธิยูจีเนีย) เพื่อเด็กสาวผู้ยากไร้ในออสโล ซึ่งเป็นมูลนิธิของมาเรีย สชานดอร์ฟ ซึ่งพระนางทรงให้การอุปถัมภ์และทรงเสด็จเยือนบ่อยๆตั้งแต่ค.ศ. 1828 ถึงค.ศ. 1847

สมเด็จพระพันปีหลวง

แก้
 
ภาพถ่ายขณะที่สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเดอเรียสวรรคต

ในปีค.ศ. 1844 พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันเสด็จสวรรคต และพระนางทรงกลายเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง หลังจากที่พระสวามีสวรรคต พระโอรสของพระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน ทรงมีพระราชานุญาตให้พระนางทรงใช้พื้นที่ในพระราชวังหลวงและราชสำนักของพระนางเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่าพระนางไม่ต้องทรงย้ายที่ประทับ เมื่อสมเด็จพระราชินีโจเซฟีน พระสุณิสาทรงโน้มน้าวให้ลดข้าราชสำนักลงเพื่อพระนางเองจะได้เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่ที่จะมีราชสำนักขนาดใหญ่ในขณะที่ทรงเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง พระนางทรงตอบว่า "เป็นเรื่องจริง ที่ฉันไม่ได้ต้องการพวกเขาทั้งหมด แต่พวกเขาทั้งหมดนั่นต่างหากที่ต้องการฉัน"[5] พระนางทรงเป็นนายจ้างที่มีน้ำพระทัยและทรงเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ข้ารับใช้

สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงมีส่วนร่วมในงานการกุศล แต่ก็ทรงกระทำอย่างรอบคอบ และมีการพูดถึงว่า "พระนางทรงงานการกุศลมากมายแต่มักจะทรงกระทำอย่างเงียบเชียบ" ตัวอย่างหนึ่งคือ พระนางทรงสนับสนุนผู้หญิงชนชั้นสูงที่ยากจนโดยให้พวกเขาทำงานเย็บผ้า ในปีเดียวกับที่ทรงเป็นม่าย พระนางทรงได้รับการบรรยายจากทูตฝรั่งเศส บาโกต์ ว่า "พระยศที่สูงส่งไม่ได้ทำให้พระนางเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในการสร้างพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระนางยังคงเป็นแม่ค้าธรรมดาๆและจะยังทรงเป็นต่อไป ซึ่งน่าประหลาดใจในพระอิสริยยศของพระนาง และน่าแปลกใจที่พบลักษณะเช่นนี้ในหมู่ราชวงศ์"[5] เขายังคงกล่าวต่อไปว่าพระนางทรงเป็นสตรีที่มีพระทัยดียิ่ง

หลังจากเสด็จกลับสวีเดน พระนางทรงเก็บรักษาบ้านรูดีอองฌู ที่พำนักในปารีส โดยทรงรอคอยที่จะได้กลับไป ซึ่งที่นั่นได้รับการจัดการโดยวิลเลเนิฟ พระขนิษฐาของพระนางและข้ารับใช้เก่าแก่ชาวฝรั่งเศสของพระนาง ในขณะที่ธุรกิจของพระนางในฝรั่งเศสได้รับการจัดการจาก วิกอมเต เดอ คลารี พระนัดดาของพระนาง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1853 หลังจากนโปเลียนที่ 3 ตั้งตนเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส พระนางทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับปารีส และเมื่อทุกสิ่งพร้อมหมดแล้ว พระนางได้รับการส่งเสด็จไปยังเรือพระที่นั่งในคาร์ลสกรูนาโดยเจ้าชายออสการ์ พระราชนัดดาทรงเป็นผู้นำเสด็จ พระนางทรงกลัวการเดินทางทางทะเล แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่พระนางจะเสด็จไปได้[5]

ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระนางทรงกังวลถึงบ้านที่พำนักของพระนางในปารีสอันเนื่องจากแผนการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเมืองปารีสของฌอร์ฌ-เออแชน ฮุสมานน์ แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงกำหนดการยกเว้นให้พระนางและรับรองว่าที่พำนักของพระนางยังคงอยู่จนกระทั่งหนึ่งปีหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์[5] สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับพระสุณิสา และทรงเห็นพระทัย เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเนเธอร์แลนด์ พระชายาในพระราชนัดดา

หลังจากที่ทรงตกพุ่มหม้าย พระนางทรงมีพระอุปนิสัยที่แปลกยิ่งขึ้น ทรงเข้าบรรทมในตอนเช้า และทรงตื่นขึ้นมาในตอนเย็น ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าในตอนกลางคืน และทรงนั่งรถม้าออกไปบนถนน บนสนาม หรือทรงพระดำเนินไปรอบๆทางเดินของพระราชวังด้วยแสงเทียน[4] มีเรื่องราวเกร็ดเล็กน้องบรรยายถึงเรื่องนี้ ในปีค.ศ. 1843 (ก่อนพระเจ้าคาร์ล โยฮันสวรรคตหนึ่งปี) เจ้าหน้าที่รักษาพระราชวังได้พบเห็นสมเด็จพระราชินีทรงฉลองพระองค์เต็มยศบนเฉลียงพระราชวังในตอนกลางคืน เมื่อเขากลับบ้านจึงไปพูดกับภรรยา โดยติเตียนภรรยาว่า เธอขี้เกียจมากเมื่อเทียบกับพระราชินี พระนางทรงตื่นบรรทมก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นเสียอีก[2] เขาคิดว่าพระนางทรงตื่นบรรทมเร็วกว่าใครทุกคนในเมือง แต่ในความเป้นจริงแล้ว พระนางยังไม่ได้ทรงเข้าบรรทม พระนางมักจะทรงตื่นบรรทมเวลาบ่ายสามโมงหรือบ่ายสี่โมง

 
โลงพระศพของพระนางเดซีเดอเรียในโบสถ์ริดดาร์โฮล์ม

สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงโปรดที่จะเสด็จเยือนโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้ามาก่อน และบางครั้งพระนางจะมีทรงพาเด็กๆบนท้องถนนกลับมายังพระราชวัง และทรงประทานขนมนมเนยแก่เด็กเหล่านั้น พระนางมักไม่ทรงตรัสกับเด็กเหล่านั้นอย่างจริงจัง แต่ทรงตรัสแต่เพียง "Kom, kom!" (ภาษาสวีเดน แปลว่า "มา มาสิ!")[4]

มีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ต้องตื่นขึ้นมาเพราะรถม้าของพระนางเมื่อทรงประทับผ่านในเวลากลางคืน รถม้าพระที่นั่งบางครั้งก็หยุด ซึ่งพระนางจะทรงงีบบรรทมเพียงชั่วครู่และเมื่อทรงตื่นขึ้นมา รถม้าก็วิ่งต่อไป บางครั้งรถม้าของพระนางได้ขับผ่านวงเวียนรอบพระราชวัง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นที่รู้จักว่า "Kring Kring" (ภาษาสวีเดน แปลว่า "วนไปรอบๆ"; ซึ่งเป็นคำภาษาสวีเดนเพียงไม่กี่คำที่พระนางทรงทราบ)[2]

ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระนางได้เสด็จไปชมการแสดงที่โรงละครโอเปราหลวงสวีเดนเพียงหลังจากที่การแสดงจบลง สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรได้สวรรคตในสต็อกโฮล์ม วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา ในรัชกาลของพระเจ้าคาร์ลที่ 15 แห่งสวีเดน พระราชนัดดา พระบรมศพได้ฝังที่โบสถ์ริดดาร์โฮล์ม

พระโอรส

แก้
  พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา
  พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน 17994 กรกฎาคม
ค.ศ. 1799
18598 กรกฎาคม
ค.ศ. 1859
อภิเษกสมรส วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1823 กับ
เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก
มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ ได้แก่
พระเจ้าคาร์ลที่ 15 แห่งสวีเดน
เจ้าชายกุสตาฟ ดยุกแห่งอุปป์ลันด์
พระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน
เจ้าหญิงยูจีนีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
เจ้าชายออกัส ดยุกแห่งดาลาร์นา

พระอิสริยยศ

แก้
  • 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777 - 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798 : มาดมัวแซล เบอร์นาร์ดีน เออเฌนี เดซีเร คลารี
  • 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798 - ค.ศ. 1806 : มาดามเบอร์นาดอตต์
  • ค.ศ. 1806 - ค.ศ. 1810 : เจ้าหญิงแห่งปงเตคอร์โว
  • ค.ศ. 1810 - ค.ศ. 1814 : มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน
    • ในฝรั่งเศส ฤดูร้อน ค.ศ. 1811 - 13 มิถุนายน ค.ศ. 1823 : กงเตสเดอกอตลันด์ (เคานท์เตสแห่งกอตลันด์)
  • ค.ศ. 1814 - 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 : มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
  • 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 - 8 มีนาคม ค.ศ. 1844 : สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
  • 8 มีนาคม ค.ศ. 1844 - 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1859 : สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
  • 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1859 - 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860 : สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเดอเรียแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
ธรรมเนียมพระยศของ
เดซิเรแห่งสวีเดน
 
ธงประจำพระอิสริยยศ
 
ตราประจำพระองค์
การทูลHer Majesty
(ใต้ฝ่าละอองพระบาท)
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า'
การขานรับYour Majesry
(พระพุทธเจ้าค่ะ/เพคะ)

เดซีเร คลารีในแวดวงวรรณกรรม

แก้

เดซีเร คลารีทรงมีบทบาทในเรื่องราววรรณกรรมและภาพยนตร์หลายเรื่อง[11]

  • Désirée (1951) โดยแอนน์มารี เซลินโก นวนิยายจากอัตชีวประวัติจำลอง ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาเยอรมัน โดย คีเปนฮอยเออและวิตช์ และกลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก ได้รับการแปลหลายภาษา รวมทั้ง ภาษาจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี กรีก ฮังการี สเปน เปอร์เซียและตุรกี
  • Le Destin fabuleux de Désirée Clary (หรือ มาดมัวแซล เดซีเร) (1942) ภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศส โดย ซาชา กีทรี
  • Désirée (1954) ภาพยนตร์อเมริกันซึ่งพื้นเรื่องมาจากหนังสือของเซลินโก แสดงนำโดยจีน ซิมมอนส์และมาร์ลอน แบรนโด
  • The Bernadotte Album (1918) เป็น"กระบวนการรักษาภาพ"โดยจอห์น บี. แลนแกน ในภาพชีวิตของคลารีและโฌเซฟีน (หรือ มารี ตาเช) ซึ่งอ้างถึงการ "ตั้งอยู่บนบันทึกความทรงจำของมารี ตาเชและเดซีเร คลารี"

เชิงอรรถ

แก้
  1. "Desideria - Meaning of the name". www.babynamespedia.com.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Lars Elgklou (1995). Familjen Bernadotte. En släktkrönika. (The Bernadotte family. A family chronicle.) (ภาษาสวีเดน). Skogs Boktryckeri Trelleborg. p. 21. ISBN 91-7054-755-6.
  3. Revue politique et littéraire: revue bleue. p. 576 (French).
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 Lars O. Lagerqvist (1979). Bernadotternas drottningar (The queens of the Bernadotte dynasty) (ภาษาสวีเดน). Albert Bonniers Förlag AB. ISBN 91-0-042916-3.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 5.16 5.17 5.18 5.19 5.20 5.21 5.22 5.23 5.24 5.25 5.26 5.27 5.28 5.29 5.30 Lindwall, Lilly: (Swedish) Desideria. Bernadotternas anmoder.[Desideria. The Ancestral Mother of the Bernadottes] Stockholm. Åhlén och Åkerlunds Förlag A.-B. (1919)
  6. Cecilia af Klercker (1939). Hedvig Elisabeth Charlottas dagbok IX 1807-1811 (The diaries of Hedvig Elizabeth Charlotte IX 1807-1811) (ภาษาสวีเดน). P.A. Norstedt & Söners förlag. pp. 636–637, 654–655, 705.
  7. Lars Elgklou (1978). Bernadotte. Historien - eller historier - om en familjen. Stockholm: Askild & Kärnekull Förlag AB.
  8. Cecilia af Klercker (översättning och redigering) (1942). Hedvig Elisabeth Charlottas dagbok IX (The diaries of Hedwig Elizabeth Charlotte IX) (ภาษาสวีเดน). P.A. Norstedt & Söners förlag.
  9. Anne-Marie Riiber (1959). Drottning Sophia. (Queen Sophia) Uppsala: J. A. Lindblads Förlag. page 149. ISBN (Swedish)
  10. Robert Braun (1950). Silvertronen, En bok om drottning Josefine av Sverige-Norge. (The Silver Throne. A Book about Queen Josefine of Sweden-Norway) Stockholm: Norlin Förlag AB. ISBN (Swedish) page 145
  11. "Michael Sibalis (2014). Napoleon's Fiancée: The Fabulous Destiny of Désirée Clary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-10. สืบค้นเมื่อ 2015-05-05.

อ้างอิง

แก้
  • Désirée Clary d'après sa correspondance inédite avec Bonaparte, Bernadotte et sa famille, Gabriel Girod de l'Ain, Paris: Hachette (1959).
  • Herman Lindqvist, Historien om alla Sveriges drottningar (The Histories of the queens of Sweden) (In Swedish)
  • Lars O. Lagerqvist (1979). Bernadotternas drottningar (The queens of the Bernadotte dynasty) (ภาษาสวีเดน). Albert Bonniers Förlag AB. ISBN 91-0-042916-3.
  • Cecilia af Klercker (översättning och redigering) (1942). Hedvig Elisabeth Charlottas dagbok IX (The diaries of Hedwig Elizabeth Charlotte IX) (ภาษาสวีเดน). P.A. Norstedt & Söners förlag.
  • Lars Elgklou (1995). Familjen Bernadotte. En släktkrönika. (The Bernadotte family. A family chronicle.) (ภาษาสวีเดน). Skogs Boktryckeri Trelleborg. ISBN 91-7054-755-6.
  • Lindwall, Lilly: (Swedish) Desideria. Bernadotternas anmoder.[Desideria. The Ancestral Mother of the Bernadottes] Stockholm. Åhlén och Åkerlunds Förlag A.-B. (1919)
  • Desideria, Svenskt biografiskt lexikon (SBL)
  • Desideria, Norsk biografisk leksikon

เว็บไซต์อ้างอิง

แก้
ก่อนหน้า เดซีเร คลารี สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ ถัดไป
เจ้าหญิงเฮดวิก เอลิซาเบธ ชาร์ล็อตแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อตท็อป    
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
(ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์)

(2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 18188 มีนาคม ค.ศ. 1844)
  เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก