อาร์ม็อง-แอมานุแอล ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ
อาร์ม็อง-แอมานุแอล ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ (ฝรั่งเศส: Armand-Emmanuel du Plessis de Richelieu) เป็นรัฐบุรุษและนักการเมืองชาวฝรั่งเศสในช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง เขาสืบบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งรีเชอลีเยอต่อจากบิดาใน ค.ศ. 1791
ดยุกแห่งรีเชอลีเยอ Duc de Richelieu | |
---|---|
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส คนที่ 2 | |
ดำรงตำแหน่ง 20 กุมภาพันธ์ 1820 – 14 ธันวาคม 1821 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 |
ก่อนหน้า | เอลี เดอกาซ |
ถัดไป | ฌ็อง-บาติสต์ เดอ วีแลล |
ดำรงตำแหน่ง 26 กันยายน 1815 – 29 ธันวาคม 1818 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 |
ก่อนหน้า | ชาร์ล มอริส เดอ ตาแลร็อง-เปรีกอร์ |
ถัดไป | ฌ็อง-โฌแซ็ฟ เดซอล |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | Armand Emmanuel Sophie-Septimanie Vignerot du Plessis 25 กันยายน ค.ศ. 1766 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1822 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (55 ปี)
คู่สมรส | รอซาลี เดอ รอชัวร์ |
วิชาชีพ | นักการทูต, นายทหาร |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ฝรั่งเศส รัสเซีย |
ประจำการ | 1785–1814 |
ยศ | ร้อยเอก (ฝรั่งเศส) พลตรี (รัสเซีย) |
ผ่านศึก | สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส สงครามรัสเซีย–ตุรกี สงครามนโปเลียน |
ประวัติ
แก้เขาเกิดในกรุงปารีสในตระกูลรีเชอลีเยอ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางผู้ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ทำให้เป็นมีหัวคิดนิยมเจ้า ด้วยความที่เป็นบุตรชายคนโตของดยุก ทำให้เขาถูกเรียกตามมารยาทว่า เคานต์แห่งชีนง แม้ว่าไม่ไช่บรรดาศักดิ์อย่างเป็นทางการก็ตาม
ค.ศ. 1790 เขาได้รับมอบหมายจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ให้เดินทางไปเป็นทูตที่กรุงเวียนนา จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสกับจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 พระเชษฐาของพระนาง แต่ก่อนที่เขาจะเดินทางถึง จักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 เสด็จสวรรคต เขาจึงได้เข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 ที่นครฟรังค์ฟวร์ท แล้วจึงตามเสด็จไปยังกรุงเวียนนา ต่อมาเมื่อบิดาของเขาถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1791 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเรียกตัวเขากลับกรุงปารีสเพื่อรับตำแหน่งและทำงานต่อจากบิดาที่พระราชวังตุยเลอรี
เขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีบทบาทในราชสำนักที่จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ของฝ่ายเจ้า จึงขออนุญาตสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเดินทางกลับไปเป็นทูตที่กรุงเวียนนา เมื่ออาศัยอยู่เวียนนาได้สักพัก เขาเข้าร่วมกับกองทัพของเจ้าชายแห่งกงเด (ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) ซึ่งตั้งทัพอยู่บริเวณเมืองโคเบล็นทซ์นอกชายแดนฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านฝ่ายปฏิวัติ แต่เมื่อกองทัพของกงเดประสบความพ่ายแพ้หลายครั้ง เขาจึงเดินทางไปรับราชการทหารในรัสเซียตามคำชวนของพระนางเจ้าเยกาเจรีนา และได้รับยศพลตรีในกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย เขาลาออกเมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินในรัสเซีย เนื่องจากจักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย ไม่ทรงโปรดปรานเขา ต่อมาเมื่อจักรพรรดิพอลถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1801 อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย จักรพรรดิพระองค์ใหม่ซึ่งทรงคุ้นเคยกับเขา ทรงชวนเขากลับมารับราชการรัสเซียอีกครั้ง
เขารับราชการรัสเซียจนถึง ค.ศ. 1814 แล้วจึงเดินทางกลับฝรั่งเศส แต่เมื่อนโปเลียนหนีจากเกาะเอลบาและกลับมาทวงคืนบัลลังก์ รีเชอลีเยอเดินทางไปกรุงเวียนนาเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพรัสเซีย และเมื่อสามารถขับไล่นโปเลียนแบบราบคาบ เขากลายเป็นบุคคลที่อิทธิพลในฐานะคนสนิทของจักรพรรดิรัสเซีย แต่เขาก็ยังปฏิเสธตำแหน่งในรัฐบาลฝรั่งเศส ท้ายที่สุด เมื่อนายกรัฐมนตรีตาแลร็องลาออกก่อนหน้าการเปิดประชุมสภาฐานันดรชุดใหม่ที่มีแต่พวกคลั่งเจ้า เขาตัดสินใจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากตาแลร็อง บันทึกของเขาระบุว่าเขาไม่รู้จักใครสักคนในคณะรัฐมนตรี[1]
บรรดาศักดิ์
แก้- ค.ศ. 1766–1791: เคานต์แห่งชีนง (Comte de Chinon)
- ค.ศ. 1791–1822: ดยุกแห่งฟรงซัก (Duc de Fronsac)
- ค.ศ. 1791–1822: ดยุกแห่งรีเชอลีเยอ (Duc de Richelieu)
อ้างอิง
แก้- ↑ Chisholm 1911, p. 302.