เดชา บุญค้ำ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ (เกิด 13 ตุลาคม พ.ศ. 2482 - ) เป็นภูมิสถาปนิกชาวไทย ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม สำนักศิลปกรรม[1]ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) ประจำปี 2549 [2] ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา เป็นผู้บุกเบิกด้านการศึกษาและวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เขาได้ออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์เขตต่าง ๆ, สวนหลวง ร.๙, อุทยานเบญจสิริ, สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ และอื่นๆ รวมทั้งงานภูมิทัศน์วัดโสธรวรารามวรวิหาร ผังแม่บทภูมิทัศน์เดิมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (พ.ศ. 2537) เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2520 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย[ลิงก์เสีย]คนแรก [3] รองประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง [4] และประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษานโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างหน่วยงานการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง [5] และเป็นเจ้าของสำนักงานภูมิสถาปนิกแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อบริษัทสำนักงานภูมิสถาปนิก ดี เอส บี แอสโซสิเอส (DSB Associates)
เดชา บุญค้ำ | |
---|---|
เกิด | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | |
รางวัล | ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) |
ผลงานสำคัญ |
|
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา ยังได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็น 1 ใน 12 คณะวุฒยาจารย์ (คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ หรือ กพว.เดิม) โดยสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติผลการสรรหาและแต่งตั้งแล้ว ตาม ม. 23 ของ พรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551
ประวัติ
แก้ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ เกิดที่ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2498 เตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2500 และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสถาปัตยกรรมบัณฑิต รุ่นเดียวกับ ผศ.ปราโมทย์ แตงเที่ยง, รศ.ดร.เกียรติ จิวะกุล, ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน และ รศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2506 เดชา ได้เริ่มทำงานในตำแหน่งสถาปนิกโทกองแบบแผน กรมโยธาเทศบาล หรือกรมโยธาธิการและผังเมืองในปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปี จึงได้ลาไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขาภูมิสถาปัตยกรรมที่ บัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา Master of Landscape Architecture เมื่อปี พ.ศ. 2513 หลังจากกลับมารับราชการต่อที่กรมโยธาเทศบาล (ปัจจุบันคือกรมโยธาธิการและผังเมือง) ได้ 2 ปีจึงได้โอนไปดำรงตำแหน่งวิทยากรโท สำนักนโยบายและแผน ฝ่ายสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น
ปี พ.ศ. 2517 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ขอรับโอนศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำมาดำรงตำแหน่งอาจารย์โทในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมอบหมายให้เป็นผู้ร่างหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี พร้อมทั้งได้ดำเนินการร่างหลักสูตรเมื่อ พ.ศ. 2518 และจัดตั้งภาค (แผนก) วิชาภูมิสถาปัตยกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2520 และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคนแรกเป็นเวลา 6 ปี ต่อจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ ได้ร่วมก่อตั้งสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้รับการโปรดเกล้าเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมและเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2543
ปี พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานกิตติบัตรเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และต่อมาได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาประจำปี พ.ศ. 2546 สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำเป็นราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์[6]
ปี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2549 ในสาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) และได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ [7] และในปีเดียวกันก็ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 12 กรกฎาคม
ปี พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2556 [8]
ปี พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ [9]
ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ สมรสกับ นางสาวิตรี มีบุตรธิดารวม 3 คน
ผลงาน
แก้ผลงานสำคัญของศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำรวมทั้งการบุกเบิกวิชาชีพและการวางรากฐานการศึกษาภูมิสถาปัตยกรรมของประเทศไทย ได้เปิดสำนักงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2530 ได้ก่อตั้งสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยขึ้น และดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 1 วาระ ทางด้านการพัฒนาวิชาชีพภูมิสถาปนิก ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา ยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภาสถาปนิก เพื่อร่างกฎหมาย ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพ หลักสูตร แนวทางในการพัฒนาวิชาชีพในสาขาภูมิสถาปัตยกรรมและสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และปัจจุบันได้รับการคัดสรรเป็นผู้ตรวจสภาสถาปนิก
ตัวอย่างผลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 4-5 แห่ง รวมทั้งที่จังหวัดศรีสะเกษ, สวนหลวง ร.๙ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อุทยานเบญจสิริ ภูมิทัศน์พระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโรงแรม คอนโดมิเนียม และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ผลงานหนังสือและสิ่งพิมพ์
แก้- การปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม ISBN 974-6-328-115
- การวางผังบริเวณและงานบริเวณ ISBN 978-9-740-33233-6
- ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง ISBN 974-3-332-901
- หนังสือแปล ปรับความคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ใน 25 วัน : 25 Days to Better Thinking & Better Living ISBN 978-6-160-82158-7
- เมืองขวางน้ำ การพัฒนาของเมืองไทยในอนาคต อุปสร รรคกับทางออกเชิงนโยบาย ISBN 978-6-164-21008-0
ผลงานเขียนชิ้นหลักคือ ตำราการปฏิบัติวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม และหนังสือชื่อ 'ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง'[10] ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ งานรุกขกรรม อาชีพรุกขกร และการศัลยกรรมต้นไม้ นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้เขียนคำนิยมหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า
คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก เข้าใจ และมองเห็นถึงตัวตนที่แจริงและความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ ตลอดจนวิธีการที่จะรักษาต้นไม้ใหญ่ทุกชนิดในผืนดิน ซึ่งมันพร้อมที่จะบอกกล่าวและแสดงออกถึงความขอบคุณต่อความอบอุ่นและมิตรไมตรีที่เราทั้งหลายได้มอบให้และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองและมนุษย์ชาติตลอดไป
ผลงานแปล ได้แก่ หนังสือ ปรับความคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ใน 25 วัน : 25 Days to Better Thinking & Better Living ISBN 978-6-160-82158-7 สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น [11] ในปี พ.ศ. 2554 ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็น 1 ใน 12 คณะวุฒยาจารย์ ตาม ม. 23 พรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 (ฉบับใหม่) ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ กรรมการคณะวุฒยาจารย์กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และประธานคณะอนุวุฒยาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวุฒยาจารย์มีหน้าที่พิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[12]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[13]
- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[14]
- พ.ศ. 2546 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์[15]
- พ.ศ. 2532 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[16]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม สำนักศิลปกรรม<
- ↑ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2549 เก็บถาวร 2007-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 8 กุมภาพันธ์ 2550 14:13 น.
- ↑ ประวัติสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ "รายนามคณะกรรมาธิการฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-24.
- ↑ "รายนามคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษานโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างหน่วยงานการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-24.
- ↑ รายนามราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรมตามประเภทและสาขาวิชา ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ "ข่าว ศิลปินแห่งชาติ 2549". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-13. สืบค้นเมื่อ 2007-02-08.
- ↑ "ข่าวมหาวิทยาลัยศิลปากร : Silpakorn University". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2015-02-22.
- ↑ "ข่าวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ :: MJU NEWS :". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-02-22.
- ↑ ต้นไม้ใหญ่ ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง[ลิงก์เสีย]
- ↑ ปรับความคิด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ใน 25 วัน : 25 Days to Better Thinking & Better Living สำนักพิมพ์ซีเอ็ด
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๐, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๑๒๑, ๗ มกราคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๒๑, ๔ มีนาคม ๒๕๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖๓, ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓
- ประวัตินิสิตเก่าดีเด่น คณะสถาปัตย์จุฬาฯ
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ประวัติภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม
- คนดีวันละคน, วิจารณ์ พานิช, KMI Thailand[ลิงก์เสีย]
- แก่นสาระ-สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง เว็บไซต์แหล่งความรู้เพื่อเตรียมเข้ารียนวิชาสัมมนาด้านการออกแบบ-วางแผนและและเพื่อเสริมทักษะกระบวนการคิด