โดยทั่วไปคำว่า "ภูมิทัศน์" หมายถึง ภาพรวมของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่มนุษย์ รับรู้ทางสายตาในระยะห่าง อาจเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ประกอบด้วยรูปทรงของแผ่นดิน น้ำ ต้นไม้ สัตว์และสรรพสิ่งมนุษย์สร้างในสภาพอากาศหนึ่งและช่วงเวลาหนึ่งที่เรียกว่าภูมิทัศน์ธรรมชาติ หรือภาพรวมของเมืองหรือส่วนของเมือง เรียกว่าภูมิทัศน์เมืองนอกจากนี้ยังมีการใช้คำ “ภูมิทัศน์” กับพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะเด่นชัด เช่น ภูมิทัศน์ทะเล ภูมิทัศน์ภูเขา ภูมิทัศน์ทะเลทราย หรือ ภูมิทัศน์พระจันทร์ ซึ่งหมายถึงภาพรวมของพื้นที่บนผิวดวงจันทร์ที่มนุษย์อวกาศไปเยือน

ภูมิทัศน์

ภูมิทัศน์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Landscape มีผู้บัญญัติคำนี้ใช้แทนการทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2520 ในรายงานทางเทคนิคด้านภูมิสถาปัตยกรรม โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

คำว่าภูมิทัศน์ยังหมายรวมถึง

  • จิตรกรรมภูมิทัศน์ (Landscape art) ได้แก่งานจิตรกรรมภาพวิวทิวทัศน์ หรือสื่ออื่นที่แสดงภูมิทัศน์
  • ภาพถ่ายภูมิทัศน์ (Nature photography) ได้แก่งานการถ่ายภาพภาพวิวทิวทัศน์
  • ภูมิทัศน์สถาปัตยกรรม หรือภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape architecture) ได้แก่ศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการวางแผน การออกแบบ และการจัดการงานภูมิทัศน์สาธารณะ งานภูมิทัศน์และสวนส่วนบุคคลซึ่งสามารถแบ่งเป็นสาขาย่อยได้ดังนี้
    • การออกแบบภูมิทัศน์ (Landscape design) ได้แก่การออกแบบที่ว่างทั้งในเมืองและชนบท
    • ภูมิทัศน์วิศวกรรม (Landscape engineering) ได้แก่งานด้านเทคนิคในงานภูมิสถาปัตยกรรม
    • การวางแผนภูมิทัศน์ (Landscape planning) ได้แก่การวางแผนพื้นที่ขนาดใหญ่ และ/หรืองานพัฒนาโครงการภูมิทัศน์ระยะยาว
    • การจัดการงานภูมิทัศน์ (Landscape management) ได้แก่การดูแลและจัดการภูมิทัศน์มนุษย์สร้างและภูมิทัศน์ธรรมชาติ
    • งานภูมิทัศน์สวน (Landscape gardening) ได้แก่งานออกแบบสวนในคฤหาสก์ขนาดใหญ่ ซึ่งนิยมทำและมีความสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ นับเป็นต้นตอของภูมิสถาปัตยกรรม
  • ภูมิทัศน์ชุมชน (Urban landscape) ได้แก่การออกแบบหรือปรับปรุงคุณภาพทางทัศนียภาพในสภาพแวดล้อมที่เป็นส่วนของเมือง โดยเฉพาะที่เป็นชุมชนให้มีความร่มรื่น สวยงาม มีเอกลักษณ์และร่มรื่น
  • ภูมิทัศน์นิเวศวิทยา (Landscape ecology) ได้แก่สาขาย่อยในวิชานิเวศวิทยาที่ว่าด้วยการศึกษาสาเหตุ ผลกระทบและกระบวนการของรูปลักษณ์ภูมิทัศน์ของพื้นที่ที่ถูกเปลี่ยนแปลง
  • ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural landscapes) ได้แก่ “การรวมเข้าด้วยกันในงานของธรรมชาติและงานของมนุษย์” เป็นการแสดงให้เห็นภาพของวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์และการตั้งถิ่นฐานตามกาลเวลาที่ล่วงเลยมา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากข้อจำกัดทางกายภาพและ/หรือโอกาสในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและจากการสืบทอดทางสังคม เศรษฐกิจและพลังอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งที่เกดภายในและที่ได้รับจากภายนอก