สวนหลวง ร.9

สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร

สวนหลวง ร.9 (อังกฤษ: Suan Luang Rama IX) เป็นสวนสาธารณะระดับเมืองและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จัดสร้างเพื่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ เป็นประธานออกแบบงานภูมิทัศน์ ส่วนหอรัชมงคลซึ่งจัดเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสวนหลวง ร.9 ได้รับการออกแบบโดย หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล[1] ปัจจุบันมี คุณหญิงสุชาดา ศรีเพ็ญ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสวนหลวง ร.๙[2]

สวนหลวง ร.9
Suan Luang Rama IX
แผนที่
ประเภทสวนสาธารณะระดับเมือง
ที่ตั้งถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
พื้นที่500 ไร่
เปิดตัว1 ธันวาคม พ.ศ. 2530
ผู้ดำเนินการตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร  กรุงเทพมหานคร
สถานะ05.00 - 19.00 น. ทุกวัน
ขนส่งมวลชน สวนหลวง ร.9

ในอนาคต สวนหลวง ร.9 จะเชื่อมต่อกับศูนย์กีฬาทางน้ำบึงหนองบอน เป็นสวนสาธารณะระดับมหานครพื้นที่รวมมากกว่า 1,144 ไร่ ในชื่อ สวนหลวง ร.10 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567[3][4]

ภายในสวน

แก้

บริเวณเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยหอรัชมงคล และอุทยานมหาราช ภายในหอรัชมงคลจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และเครื่องใช้ส่วนพระองค์ สวนพฤกษศาสตร์ เป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดสร้างสวนหลวง ร.9 แห่งนี้ เนื้อที่รวม 150 ไร่ มีการจัดพันธุ์ไม้หลักอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา และยังเป็นที่รวบรวมไม้พันธุ์ต่างๆ ของไทย รวมทั้งไม้ที่หายาก และสมุนไพรต่างๆ พร้อมทั้งสวนนานาชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ บริเวณนี้มีอาคารต่าง ๆ ดังนี้

  • หอพฤกษศาสตร์ เป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้และเอกสารเกี่ยวกับพันธุ์ไม้
  • อาคารถกลพระเกียรติ เป็นที่ประชุม สัมมนาทางวิชาการ และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดปี
  • อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย (จิโอเดสิกโดม) และภายนอกอาคารเป็นที่รวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • อาคารพันธุ์ไม้ในร่ม ภายในอาคารปลูกประดับด้วยไม้ในร่มนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีเรือนเฟิร์นและกล้วยไม้ สำหรับรวบรวมพันธุ์เฟิร์นและกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
  • ตระพังแก้วเก็บน้ำ มีเนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่พักเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณเมืองชั้นใน ใช้ประโยชน์เพื่อการกีฬาทางน้ำ ตลอดจนอนุรักษ์สัตว์น้ำ มีบริการเรือพาย และจักรยานน้ำ
  • สวนรมณีย์ เนื้อที่ 50 ไร่ เป็นการจัดสวนเพื่อเลียนแบบธรรมชาติท้องถิ่น มีน้ำตก ลำธาร ตกแต่งด้วยวัสดุ พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และสัญลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นนั้น ๆ บริเวณนี้ยังมีสวนจีน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสวนเชิงผา
  • สวนน้ำ เนื้อที่ 40 ไร่ เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้น้ำสวยงามหลากชนิดปลูกไว้ในลำธาร และบริเวณริมสองฝั่ง
  • สนามราษฎร์ และ ลานอเนกประสงค์ เนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ลานสนามกว้าง และเวทีกลางแจ้ง เป็นสถานที่จัดการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีและประกวดผลิตผลทางการเกษตร
  • อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ทะเลทราย และไม้อวบน้ำทั้งของไทย และต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม ของทุกปี จะมีการจัดงาน งานพรรณไม้อร่ามสวนหลวง ร.9 จัดโดยมูลนิธิสวนหลวง ร.9 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Thelist.group สวนหลวง ร.9
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-27. สืบค้นเมื่อ 2011-08-08.
  3. "เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ ยกระดับ 'สวนหลวง ร.9-บึงหนองบอน' เป็นสวนสาธารณะระดับมหานคร". มติชน. 18 กรกฎาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "ขอพระราชทาน ชื่อสวนหลวง ร.10 เฉลิมมหามงคล 6 รอบ รัฐบาลจัด "10 โครงการ"". ไทยรัฐ. 10 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°41′11″N 100°39′46″E / 13.686394°N 100.662661°E / 13.686394; 100.662661