เกรฟแอกเซนต์
เกรฟแอกเซนต์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
◌̀ | |||||
ตัวอย่าง | |||||
Àà | Èè | Ìì | Òò | Ùù | Ỳỳ |
เกรฟแอกเซนต์ (อังกฤษ: grave accent) เรียกย่อว่า เกรฟ (อังกฤษ: grave /greɪv/) เป็นเครื่องหมายเสริมสัทอักษรชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นขีดเล็ก ๆ เฉียงลงขวาอยู่เหนืออักษร ( ` ) ใช้เขียนกำกับอักษรละตินเพื่อใช้ในภาษาต่าง ๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอิตาลี ภาษาดัตช์ ภาษาโปรตุเกส ภาษานอร์เวย์ ภาษาเวียดนาม ฯลฯ กำกับอักษรกรีกในภาษากรีก (ใช้จนถึง ค.ศ. 1982) หรือใช้กำกับอักษรอื่น ๆ ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ทั้งการเปลี่ยนระดับเสียง การแปรเสียง การเน้นเสียง หรือการแยกแยะคำ เป็นต้น
คำว่า grave มาจากภาษาละติน gravis แปลว่า หนัก ในภาษาอังกฤษมีการอ่านว่า /ɡrɑːv/ กราฟ เพิ่มเข้ามาเพื่อให้แตกต่างจากคำว่า grave เกรฟ ที่แปลว่า ร้ายแรง หรือหลุมศพ ซึ่งเลียนแบบมาจากภาษาฝรั่งเศส accent grave [aksɑ̃ ɡʁav] อักซอง กราฟ
แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์มีแป้นเกรฟอยู่บริเวณมุมบนซ้ายของผัง บางภูมิภาคใช้ร่วมกับแป้นตาย (dead key) เพื่อประสมกับอักษร บางภูมิภาคใช้เพื่อสลับภาษาป้อนเข้า (คนไทยเรียก "ปุ่มตัวหนอน" ซึ่งเป็นปุ่มเดียวกับทิลเดอ) วงการโปรแกรมเมอร์เรียกเครื่องหมายนี้ว่า แบ็กโควต[1] (back quote) หรือแบ็กทิก[2][3] (backtick) ในยูนิโคดมีทั้งรูปแบบเดี่ยว (U+0060 ` ) และตัวผสาน (U+0300 ◌̀ )
ระดับเสียง
แก้เกรฟแอกเซนต์มีใช้ครั้งแรกในอักขรวิธีแบบหลายเสียง (polytonic orthography) ของภาษากรีกโบราณ ปรากฏเฉพาะตำแหน่งพยางค์สุดท้ายของคำ ในกรณีระดับเสียงกลางหรือสูง (ซึ่งแสดงโดยอะคิวต์แอกเซนต์) ถูกลดระดับลงโดยคำที่ตามหลังในประโยคเดียวกัน แต่ต่อมาภาษากรีกสมัยใหม่มีเครื่องหมายเน้นเสียงใช้แทนเครื่องหมายระดับเสียง เกรฟก็ถูกแทนที่ด้วยอะคิวต์ในอักขรวิธีแบบเสียงเดียว (monotonic orthography)
ตามหลักสัทศาสตร์ เดิมเกรฟใช้กำกับเสียงที่หนักแน่นและดังขึ้น ตรงข้ามกับอะคิวต์ที่ใช้กำกับเสียงแหลมสูง ซึ่งเครื่องหมายทั้งสองมีลักษณะตรงข้ามเหมือนเงาในกระจก เกรฟแอกเซนต์ในฟอนต์ส่วนใหญ่มีสัณฐานคล้ายรูปสามเหลี่ยม ข้างบนเน้นหนัก และข้างล่างเป็นปลายแหลมค่อนไปทางขวา
การเน้นเสียง
แก้เกรฟแอกเซนต์เป็นเครื่องหมายกำกับการเน้นเสียงสระของคำในภาษากาตาลาและภาษาอิตาลี ตัวอย่างคำในภาษาอิตาลีเช่น città เมือง, morì [เขา/หล่อน]ตาย, virtù คุณธรรม, Mosè โมเสส, portò [เขา/หล่อน]นำมา เป็นต้น เมื่อต้องการเน้นเสียงกับอักษรตัวใหญ่ หรือเมื่อแป้นพิมพ์ไม่สามารถพิมพ์เกรฟกำกับได้ บางครั้งอะพอสทรอฟีก็ถูกนำมาใช้แทน เช่น E’ แทนคำว่า È [เขา/หล่อน/มัน]เป็น แม้ว่าการกระทำเช่นนี้อาจถูกพิจารณาว่าไม่ถูกต้องนัก ตัวอย่างวลี un po’ ซึ่งย่อมาจาก un poco แปลว่า เล็กน้อย จะไม่สะกดเป็น un pò แต่อย่างใด
นอกจากนี้ในภาษาอิตาลี คำที่กำกับเกรฟแอกเซนต์หรือไม่กำกับ อาจอ่านออกเสียงและมีความหมายแตกต่างกัน อาทิ pero แพร์ กับ però แต่, papa พระสันตปาปา กับ papà พ่อ เป็นต้น (ตัวอย่างหลังสุดก็สามารถใช้ได้กับภาษากาตาลาเช่นกัน)
ความสูงของเสียงสระ
แก้เกรฟแอกเซนต์ใช้กำกับบนสระ ทำให้เสียงสระต่ำลงหรือเปิดออก นั่นคือขากรรไกรและลิ้นลดตัวต่ำลง ช่องปากกว้างขึ้น เสียงสระจึงเปลี่ยนไป เช่นกำกับบน e และ o จะได้ è [ɛ] แอ (ตรงข้ามกับ é [e] เอ) และ ò [ɔ] ออ (ตรงข้ามกับ ó [o] โอ) พบได้ในภาษากลุ่มโรมานซ์หลายภาษาเช่น ภาษากาตาลา ใช้กำกับ a, e, o ภาษาฝรั่งเศส ใช้กำกับ a, e, u (เฉพาะ è เท่านั้นที่ให้เสียงเปลี่ยนไป) ภาษาอิตาลี ภาษาอุตซิตา เป็นต้น
การแยกแยะ
แก้เกรฟแอกเซนต์ใช้แยกแยะคำพ้องเสียงในหลายภาษา
- ภาษากาตาลา ตัวอย่างเช่น ma ของฉัน กับ mà มือ
- ภาษาฝรั่งเศส เกรฟที่กำกับ a และ u ไม่ให้ผลในการออกเสียง เพียงแต่ใช้แยกแยะคำพ้องเสียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น
- คำบุพบท à ถึง กับคำกริยา a มี (รูปกาลปัจจุบันเอกพจน์บุรุษที่สามของ avoir)
- คำกริยาวิเศษณ์ là ที่นั่น กับคำนำหน้านามชี้เฉพาะสตรีลิงค์ la
- มีใช้ในวลี déjà vu หรือวลี çà et là ทางนี้และทางนั้น (หากไม่มีเกรฟจะแปลว่า มันและ the)
- ใช้กำกับบน u เฉพาะคำว่า où ที่ไหน กับ ou หรือ
- è เพื่อแยกแยะคำพ้องเสียงพบได้น้อย เช่น dès ตั้งแต่ กับ des บาง, ès ใน กับ es เป็น, lès ใกล้ กับ les (คำนำหน้านาม)
- ภาษาอิตาลี ตัวอย่างเช่นคำสันธาน e และ กับคำกริยา è [เขา/หล่อน/มัน]เป็น หรือ la กับ là (เหมือนภาษาฝรั่งเศส)
- ภาษานอร์เวย์ (ทั้งบุ๊กมอลและนือนอสก์) ใช้แยกแยะความหมายของคำที่เขียนเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น og และ กับ òg เช่นกัน แต่จากความนิยมใช้เกรฟ มักนำไปสู่การใช้เกรฟแทนที่อะคิวต์ ซึ่งภาษานอร์เวย์ไม่ใช้เครื่องหมายเสริมสัทอักษรบ่อยนัก
- ภาษารูมันช์ (ภาษาท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์) ตัวอย่างเช่น e กับ è (เหมือนภาษาอิตาลี), en ใน กับ èn พวกเขาเป็น เกรฟยังใช้เป็นตัวแยกแยะการเน้นเสียงเช่น gia เรียบร้อยแล้ว กับ gìa ไวโอลิน และการแปรสระเช่น letg เตียง กับ lètg การแต่งงาน
ความยาว
แก้ในภาษาเวลส์ เกรฟแอกเซนต์ใช้กำกับสระเพื่อแสดงสระเสียงสั้น หากไม่กำกับจะเป็นสระเสียงยาว ตัวอย่างเช่น mẁg /mʊɡ/ ถ้วยน้ำ กับ mwg /muːɡ/ ควัน
ในภาษากาลิกสกอตแลนด์ เกรฟแอกเซนต์ใช้กำกับสระเพื่อแสดงสระเสียงยาว
วรรณยุกต์
แก้ภาษามีวรรณยุกต์บางภาษา อาทิ ภาษาเวียดนาม ภาษาจีนกลาง (เมื่อเขียนด้วยพินอินหรือจู้อิน) เกรฟแอกเซนต์ใช้แสดงถึงเสียงวรรณยุกต์ตกลง (falling tone) คล้ายเสียงโทในภาษาไทย อีกรูปแบบหนึ่งของเกรฟในภาษาจีนกลางคือใช้เลข 4 ตามหลังพยางค์ เช่น pà = pa4
ภาษาในแอฟริกา เกรฟแอกเซนต์มักใช้แสดงถึงเสียงวรรณยุกต์ต่ำ เช่น ภาษาโนบีน jàkkàr เบ็ดตกปลา, ภาษาโยรูบา àgbọ̀n คาง, ภาษาเฮาซา màcè ผู้หญิง เกรฟมีใช้ในภาษาโมฮอกในอเมริกาเหนือด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
แก้- ↑ Back quote, Computer Hope
- ↑ Execution Operators, PHP Manual
- ↑ Schema Object Names, MySQL 5.0 Reference Manual