ภาษารูมันช์
ภาษารูมันช์ (รูมันช์: rumantsch, rumàntsch, romauntsch, romontsch) เป็นภาษา (หรือกลุ่มของภาษา) โรมานซ์ที่ใช้พูดกันอย่างแพร่หลายในรัฐเกราบึนเดินทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาษารูมันช์ได้รับการรับรองให้เป็นภาษาประจำชาติของสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1938 และเป็นภาษาทางการในการติดต่อกับประชาชนที่พูดภาษารูมันช์ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ร่วมกับภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาลี[3] นอกจากนี้ยังมีสถานะทางการร่วมกับภาษาเยอรมันและภาษาอิตาลีในรัฐเกราบึนเดิน และใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนในพื้นที่ที่พูดภาษารูมันช์
ภาษารูมันช์ | |
---|---|
rumantsch, romontsch, rumauntsch, rumàntsch, romauntsch | |
จากซ้ายบนไปขวาล่าง: อักขรวิธีแบบซุตซิลวันบนผนังบ้านในอันเดร์, อักขรวิธีแบบซูร์เซลวาบนผนังบ้านในซาโกเกิน, อักขรวิธีแบบเกราบึนเดินบนป้ายในอุทยานแห่งชาติสวิส, อักขรวิธีแบบวาลาแดร์บนภาพผนังขูดในกวาร์ดา | |
ออกเสียง | [rʊˈmantʃ] ( ฟังเสียง), [ʁoˈmɔntʃ] ( ฟังเสียง), [rʊˈmɛntʃ] ( ฟังเสียง), [rʊˈmaʊ̯ntʃ], [rʊˈmœntʃ] |
ประเทศที่มีการพูด | สวิตเซอร์แลนด์ |
ภูมิภาค | รัฐเกราบึนเดิน |
ชาติพันธุ์ | ชาวรูมันช์ |
จำนวนผู้พูด | 44,354 คน (ภาษาหลัก) (2017)[1] 60,000 คน (ผู้พูดเป็นประจำ) (2000)[2] |
ตระกูลภาษา | |
รูปแบบมาตรฐาน | รูมันช์แบบเกราบึนเดิน
ซูร์เซลวา
วาลาแดร์
ซูร์เมย์รา
ปูเตร์
ซุตซิลวัน |
ภาษาถิ่น | |
ระบบการเขียน | อักษรละติน |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | สวิตเซอร์แลนด์ |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | rm |
ISO 639-2 | roh |
ISO 639-3 | roh |
Linguasphere | 51-AAA-k |
พื้นที่ดั้งเดิมที่ใช้ภาษารูมันช์ในสวิตเซอร์แลนด์ (สีเขียวเข้ม) | |
ภาษารูมันช์เป็นหนึ่งในภาษาที่สืบเชื้อสายมาจากภาษาละตินสามัญของจักรวรรดิโรมันซึ่งเมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ได้เข้ามาแทนที่ภาษากลุ่มเคลต์และไรติอาที่ใช้พูดกันก่อนหน้านี้ในพื้นที่ ภาษารูมันช์ยังคงรักษาคำศัพท์จำนวนไม่มากนักจากภาษาเหล่านี้ โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาเยอรมันในด้านวงศัพท์และไวยากรณ์ งานเขียนที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการระบุว่าเป็นภาษารูมันช์มีอายุย้อนไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 หรือ 11 แต่งานชิ้นสำคัญยังไม่ปรากฏจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อวิธภาษาเขียนระดับภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอบเขตการใช้ภาษารูมันช์ค่อย ๆ ถอยร่นสู่พื้นที่ปัจจุบันตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยถูกแทนที่ด้วยภาษาถิ่นกลุ่มอะเลมันนีและไบเอิร์นในพื้นที่อื่น
จากสำมะโนประชากรของสวิตเซอร์แลนด์ใน ค.ศ. 2000 มีชาวสวิส 35,095 คน (27,038 คนในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในรัฐเกราบึนเดิน) ระบุว่าภาษารูมันช์เป็นภาษาที่ตนเอง "ใช้การได้ดีที่สุด" และมีชาวสวิส 61,815 คนระบุว่าภาษารูมันช์เป็นภาษาที่ตนเอง "พูดเป็นประจำ"[4] ใน ค.ศ. 2010 สวิตเซอร์แลนด์เปลี่ยนมาใช้ระบบการประเมินรายปีซึ่งนำทะเบียนราษฎรรายเทศบาลมารวมกับการสำรวจในจำนวนจำกัด[5] ณ ค.ศ. 2017 มีผู้พูดภาษารูมันช์จำนวน 44,354 คนในสวิตเซอร์แลนด์ หรือร้อยละ 0.85 ของประชากรสวิสทั้งหมด และมีผู้พูดภาษานี้จำนวน 28,698 คนในรัฐเกราบึนเดิน หรือร้อยละ 14.7 ของประชากรรัฐเกราบึนเดินทั้งหมด[1][6]
ภาษารูมันช์ประกอบด้วยภาษาถิ่นหลัก 5 ภาษา ได้แก่ ซูร์เซลวา, ซุตซิลวัน, ซูร์เมย์รา, ปูเตร์ และวาลาแดร์ แต่ละภาษาถิ่นมีภาษาเขียนที่ได้รับการวางมาตรฐานเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการเสนอภาษาเขียนเพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางที่มีชื่อว่า ภาษารูมันช์แบบเกราบึนเดิน (Rumantsch Grischun) ใน ค.ศ. 1982 แต่ไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไรนักในหมู่ผู้พูดภาษารูมันช์[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Ständige Wohnbevölkerung nach Hauptsprachen in der Schweiz" (XLS) (official site) (ภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส และ อิตาลี). Neuchâtel, Switzerland: Federal Statistical Office. 21 February 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-07-11.
- ↑ Furer (2005)
- ↑ "Amtssprachen und Landessprachen der Schweiz" (official site) (ภาษาเยอรมัน). Berne, Switzerland: Swiss National Library (NL). 27 August 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 April 2016. สืบค้นเมื่อ 2019-07-11.
- ↑ "Linguistic geography". Lia Rumantscha. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 3, 2007.
- ↑ Swiss Federal Statistical Office – Die neue Volkszählung – Das System (เยอรมัน) (ฝรั่งเศส) accessed 14 August 2014
- ↑ "Ständige Wohnbevölkerung nach Hauptsprachen und Kanton" (XLS) (official site) (ภาษาเยอรมัน, ฝรั่งเศส และ อิตาลี). Neuchâtel, Switzerland: Federal Statistical Office. 21 February 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-07-11.
- ↑ swissinfo.ch, Terence MacNamee. "Romansh speakers rebel against standard language". SWI swissinfo.ch (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-11-08.