อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง มีพื้นที่อยู่ในอำเภอนาทวี และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยจุดเด่นที่น่าสนใจสวยงาม เช่น น้ำตกจำนวนหลายแห่ง ทั้งยังเป็นพื้นที่ ประวัติศาสตร์ฐานที่มั่นและของการสู้รบกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ที่เป็นหลักฐานให้ศึกษาถึงสถานที่และวัตถุทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบอันยาวนานได้

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง
ตำแหน่งที่ตั้งอุทยานในประเทศไทย
ที่ตั้งอำเภอนาทวีและอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  ไทย
พิกัด6°33′23″N 100°35′45″E / 6.55639°N 100.59583°E / 6.55639; 100.59583
พื้นที่220.42 ตารางกิโลเมตร (137,760.17 ไร่)[1]
จัดตั้ง23 กรกฎาคม 2534
ผู้เยี่ยมชม3,784 คน[2] (ปีงบประมาณ 2559)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 137,800 ไร่ หรือ (220 ตารางกิโลเมตร) ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 โดยมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป

ประวัติ แก้

เขาน้ำค้างเป็นยอดเขาสูง มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี สมัยโบราณคนที่เคยขึ้นไปบนยอดเขาจะเห็นมีน้ำค้าง เป็นเกล็ดอยู่ตามยอดหญ้า ลักษณะเป็นใยแมงมุมแม้แต่ตอนเที่ยงวันก็มีน้ำค้างประปรายอยู่บนยอดหญ้าซึ่งเป็นสภาพที่แปลกเป็นอย่างยิ่ง จึงเรียกขานกันว่า "เขาน้ำค้าง"

เขาน้ำค้างเป็นเสมือนเขตหวงห้ามเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอยู่ในความยึดครองของผู้ก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์ เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ภูมิประเทศเป็นถิ่นทุรกันดาร ทิวเขาสลับซับซ้อน ทำให้เป็ ฐานปฏิบัติการใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแถบนี้ แต่ในที่สุด จากการปฏิบัติการตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น โดยนำนโยบายการเมืองนำการทหาร กองทัพภาคที่ 4 และหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) ได้นำนโยบายนี้เข้าปฏิบัติการ สามารถเข้ายึดค่ายปฏิบัติการได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2523 ทำให้โจรจีนคอมมิวนิสต์สลายตัวไปในที่สุด

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นแนวยาวไปตลอดจนถึงพรมแดนประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยยอดเขาที่สำคัญ คือ ควนสยา ควนเขาไหม้ โดยมียอดเขาน้ำค้างเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดประมาณ 648 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หลายสาย เช่น คลองนาทวี คลองทับช้าง คลองทรายขาว เป็นต้น ดินจะมีลักษณะเป็นดินร่วน ดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย ส่วนลักษณะหินเป็นพวกหินปูนและหินแกรนิตเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

สภาพภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้ฝนตกชุก พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง เป็นป่าผืนใหญ่ติดต่อกันและที่สำคัญตั้งอยู่ในเขตโซนร้อน ลักษณะลมฟ้าอากาศทั่วไปจึงเป็นแบบมรสุมเมืองร้อนและได้รับมรสุมทั้งปี โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้มีฝนตกชุกและมีลักษณะลมฟ้าอากาศคล้ายคลึงกันเกือบตลอดปี ซึ่งมีฤดูฝนอันยาวนานและฝนตกกระจายตลอดทั้งปี ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – มกราคม และฤดูร้อน ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน

ทรัพยากรป่าไม้ แก้

พื้นที่ป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าดงดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นอุดมสมบูรณ์ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้หลุมพอ ตะเคียน กะบากดำยาง จำปา สยาแดง ไข่เขียว เปรียง ขานาง แต้ม มังคะ พิกุลป่า มะม่วงป่า เป็นต้น และมีไม้พื้นล่างได้แก่ หมากชนิดต่างๆ หวาย ไผ่ ระกำ กล้วยไม้ เฟิร์น มอสส์ เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า แก้

สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ หมูป่า หมี เก้ง เลียงผา ลิงหางสั้น ชะนี สมเสร็จ เสือดำ กระจง อีเห็น เต่า และนกนานาชนิด เช่น นกเงือก นกหว้า ไก่ฟ้า ไก่ป่า นกกระทาดงแข้งเขียว นกยูง นกขุนทอง นกกางเขน เป็นต้น

จุดเด่นที่น่าสนใจ แก้

  • น้ำตกโตนลาด มีลักษณะเป็นพื้นลาดระยะยาวสวยงาม มีน้ำไหลตลอดปี บนพื้นหินมีตะไคร่น้ำสีเขียวขึ้นอยู่ เต็มทั่วพื้นที่ เป็นน้ำตกที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวไปใช้บริการมากนักสภาพจึงยังคงเป็นธรรมชาติ อยู่ห่างจากหมู่บ้านนาปรัง ประมาณ 5 กิโลเมตร กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก
  • น้ำตกโตนดาดฟ้า

มีลักษณะเป็นน้ำตกสูงเหมือนดาดฟ้า มีหินยื่นเหมือนหลังคาสูงประมาณ 20 เมตร น้ำไหลแรง สองข้างทางเต็มไปด้วยตะไคร่น้ำ มีบรรยากาศธรรมชาติที่ร่มรื่นสวยงาม ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ตามทางเดินจะได้ยินเสียงนกและชะนีร้องอยู่เป็นระยะ กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก

  • วังหลวงพรม

มีลักษณะเป็นน้ำตกเล็ก ๆ เตี้ย ๆ มีหินใหญ่อยู่ตรงกลาง ทำให้ลักษณะน้ำตกแยกเป็น 2 สายเล็ก ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำหรือวังน้ำ ที่ใหญ่และลึก เต็มไปด้วยสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาจะมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพราะยังไม่มีผู้ใดมารบกวน กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก

  • เมืองลูกหนึ่ง

อยู่บริเวณใกล้ยอดเขาน้ำค้าง มีก้อนหินโต ลักษณะคล้ายกำแพงเมืองโบราณ ซากหินคล้ายมีเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง กิจกรรม : - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

  • น้ำตกโตนไม้ปีก

สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงโดยมีไม้ปักอยู่ตรงกลาง จนเป็นที่มาของชื่อน้ำตก น้ำตกโตนไม้ปีก ตั้งอยู่กลางป่าลึก ต้องใช้เวลาเดิน 1 วัน การเข้าไปท่องเที่ยวต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยในการนำทางก่อน สามารถติดต่อได้ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ กิจกรรม : - เที่ยวน้ำตก - เดินป่าระยะไกล

  • น้ำตกพรุชิง

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 4 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอุทยานฯ สายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูง การเดินทางสู่น้ำตกต้องไปตามเส้นทางเดินป่า โดยต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่ช่วยนำทาง กิจกรรม : - เดินป่าระยะไกล - เที่ยวน้ำตก

  • ค่ายพักโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 (อุโมงค์)

อุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง หรือหมู่บ้านปิยมิตร 5 อยู่บริเวณเขาน้ำค้าง หมู่ที่ 1 ตำบลคลองกวาง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร ถนนเป็นทางลาดยางเดินทางสะดวก สองข้างทางเป็นป่าที่ยังสมบูรณ์ เป็นฐานที่มั่นหรือฐานปฏิบัติการใหญ่ที่สุดของโจรจีนคอมมิวนิสต์ในแถบนี้ มีลักษณะเป็นถ้ำหรืออุโมงค์ธรรมชาติที่ใหญ่ และมีความวิจิตรพิสดารของธรรมชาติ เป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารที่สำคัญ และทางทิศตะวันออกของอุโมงค์ มีน้ำตกพรุชิงที่สวยงามด้วยด้านหน้าก่อนเดินเข้าไปชมภายในอุโมงค์จะมีนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา ข้อมูล และภาพถ่ายให้ได้ชมกัน บริเวณอุโมงค์ในอดีตเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ หลังจากการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลเกือบ 40 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศยุติการสู้ เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2530 อุโมงค์นี้เป็นอุโมงค์ดินเหนียวมีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย ขุดด้วยกำลังคนใช้เวลาประมาณ 2 ปี ภายในแบ่งเป็น 3 ช่องทาง ลึก 3 ชั้น มีมีช่องทางเข้า-ออก 16 ช่อง มีบันไดเชื่อมระหว่างชั้น ความยาวคดเคี้ยวขึ้นลงภายในอุโมงค์ยาว 1 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์แบ่งเป็นห้อง ๆ เช่น ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องวิทยุ ห้องครัว สนามซ้อมยิงปืน เป็นต้น และยังมียาสมุนไพรจำหน่าย เสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท

สถานที่ติดต่อและการเดินทาง แก้

อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างสำนักงานป่าไม้จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา การเดินทางรถยนต์สามารถเข้าถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างได้ 2 เส้นทาง จากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4113 (นาทวี-บ้านประกอบ) ถึงบ้านสะท้อนจะมีทางแยกขวาตามเส้นทางบ้านสะท้อน-สะเดา ไปอีก 19 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทาง 27 กิโลเมตร จากอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4243 ผ่านบ้านม่วง ตำบลสำนักแต้ว บ้านเกาะหมี ถึงอุทยานแห่งชาติ ระยะทาง 27 กิโลเมตร เส้นทางด้านนี้ต้องขึ้นเขาบางช่วง

อ้างอิง แก้

  1. ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.
  2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "ตารางที่ 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555–2559." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dnp.go.th/statistics/2559/ตาราง 10 จำนวนผู้เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยาน ปี 2555-2559 (1ก.พ.60).xls 2560. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้