นกขุนทอง
นกขุนทอง | |
---|---|
นกขุนทองในที่เลี้ยง | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
วงศ์: | Sturnidae |
สกุล: | Gracula |
สปีชีส์: | G. religiosa |
ชื่อทวินาม | |
Gracula religiosa (Linnaeus, 1758) | |
ชนิดย่อย | |
| |
ชื่อพ้อง | |
|
นกขุนทอง หรือ นกเอี้ยงคำ (คำเมือง)[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gracula religiosa) เป็นนกในวงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง (Sturnidae) มีถิ่นอาศัยอยู่ทั่วไปในเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ มีความสามารถเลียนเสียงมนุษย์ได้เหมือนนกแก้ว จึงนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงกันสูง
ชนิดย่อย
แก้นกขุนทองมีชนิดย่อยทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่
- G. r. andamanensis (Beavan, 1867) พบในเทือกเขาอันดามัน หมู่เกาะอันดามัน บริเวณตรงกลางของหมู่เกาะนิโคบาร์
- G. r. batuensis พบในเกาะบาตูและเกาะมันตาวี
- G. r. halibrecta (Oberholser, 1926) พบในส่วนอื่นของหมู่เกาะนิโคบาร์
- G. r. intermedia ภาคเหนือและภาคตะวันตกของอินโดนีเซียและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและจีนตอนใต้ (นกขุนทองเหนือ)
- G. r. palawanensis พบในเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์
- G. r. peninsularis พบในภาคกลางของอินเดีย
- G. r. religiosa พบในภูมิภาคซุนดา (ยกเว้นเกาะซูลาเวซี) และมาเลเซียตะวันตก (นกขุนทองใต้)
- G. r. venerata พบในภาคตะวันตกของภูมิภาคซุนดา
ลักษณะทั่วไป
แก้นกขุนทองมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 29 เซนติเมตร ลำตัวป้อมสีดำ หางสั้น ปีกแหลมยาว เท้าแข็งแรง มีเหนียง คือ แผ่นหนังสีเหลืองอมส้มคลุมทั่วท้ายทอยและเหนียงสีเหลืองแดงสดใต้ตา ขนสีดำเหลือบเขียว มีเงาสีม่วงบริเวณหัวและคอ มีสีขาวแซมใต้ปีก ปากสีแดงส้ม ขาสีเหลืองสด ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
แก้ถิ่นแพร่พันธุ์หลักของนกขุนทองพบได้ในบริเวณโคนเทือกเขาหิมาลัย ใกล้เขตแดนอินเดีย, เนปาล, และภูฏาน แต่สามารถพบได้ในศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, จังหวัดปาลาวันของฟิลิปปินส์, ตอนเหนือของอินโดนีเซีย, และถูกนำเข้าไปในสหรัฐอเมริกา รวมถึงปวยร์โตรีโกด้วย
นกขุนทองชอบอาศัยอยู่ในป่าที่มีความชื้น ที่ระดับความสูง 0-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยจะพบทุกภาคยกเว้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ในประเทศไทยพบได้ 2 ชนิดย่อย คือ G. r. intermedia ที่พบในพื้นที่ภาคเหนือ และ G. r. religiosa ที่ตัวใหญ่กว่าชนิดแรก พบในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "นกขุนทองควาย"[2]
พฤติกรรม
แก้ชอบร้องเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ ร้องเป็นเสียหวีดสูงตามด้วยเสียงอื่น ๆ เคลื่อนไหวบนกิ่งโดยเน้นการกระโดดข้างแทนการเดินต่างจากนกเอี้ยงทั่วไป นกขุนทองเป็นนกที่รักความสะอาดเพราะ มักชอบอาบน้ำ ไซร้ขนหรือตกแต่งขนอยู่ตลอดเวลา ชอบทำรังอยู่บริเวณโพรงไม้เก่า ๆ สูงระหว่าง 3-5 เมตร อาศัยอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 6 ตัวขึ้นไป วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง นกขุนทองกินทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ เช่นผลไม้, ลูกไม้, น้ำดอกไม้ และแมลงต่าง ๆ
นกขุนทองนั้นมีชื่อเสียงเรื่องเสียงร้องหลากหลายชนิด ทั้งหวีด กรีดร้อง กลั้ว ร้องเป็นทำนอง รวมถึงเลียนแบบเสียงมนุษย์ ซึ่งทำได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย นกหนึ่งตัวจะมีเสียงร้องตั้งแต่ 3 ถึง 13 แบบ มีการเลียนแบบเสียงร้องกันโดยเฉพาะในเพศเดียวกัน แต่รัศมีในการเรียนรู้นี้ส่วนใหญ่น้อยกว่า 15 กิโลเมตรลงไป มีความเข้าใจผิดทั่วไปว่านกขุนทองนั้นชอบเลียนแบบเสียงร้องนกพันธุ์อื่น ๆ แต่ที่จริงแล้วพฤติกรรมนี้ไม่มีโดยธรรมชาติ แต่เฉพาะในสัตว์เลี้ยงเท่านั้น
สถานะภาพ
แก้ในประเทศไทย นกขุนทองจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
อ้างอิง
แก้- ↑ BirdLife International (2012). "Gracula religiosa". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
- ↑ 2.0 2.1 [https://web.archive.org/web/20120414232001/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-2-search.asp เก็บถาวร 2012-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ขุนทอง น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
- นกขุนทอง เก็บถาวร 2012-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- นกขุนทอง เก็บถาวร 2007-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Gracula religiosa ที่วิกิสปีชีส์