นกหว้า
ตัวผู้
ตัวเมีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Galliformes
วงศ์: Phasianidae
สกุล: Argusianus
Rafinesque, 1815[2]
สปีชีส์: A.  argus
ชื่อทวินาม
Argusianus argus
(Linnaeus, 1766)
ชนิดย่อย[2]
  • A. a. argus (Linnaeus, 1766)
  • A. a. grayi (Elliot, 1865)
ชื่อพ้อง[3]
  • Phasianus argus Linnaeus, 1766
  • Argusianus bipunctatus Wood, 1871
  • Argus bipunctatus Wood, 1871

นกหว้า (อังกฤษ: Great argus, Double-banded argus) เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ขนสีน้ำตาล หัวและคอเป็นสีฟ้า พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกหว้าตั้งโดยคาโรลัส ลินเนียสซึ่งโยงถึงจุดคล้ายตาบนปีกจำนวนมาก โดยตั้งตามชื่อ อาร์กัส ยักษ์ร้อยตาในเทพปกรณัมกรีก [4]

เดิมทีนกหว้าเคยถูกให้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด โดยอีกชนิดหนึ่งนั้นใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Argusianus bipunctatus แต่ปัจจุบันได้ถูกรวมกันเป็นชนิดเดียวกัน ดังนั้นชื่อนี้จึงกลายเป็นชื่อพ้องไป[3]

เพราะการสูญเสียที่อยู่และถูกล่าเป็นอาหาร นกหว้าจึงจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามความเสี่ยงต่ำ (NT) ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และจัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ของ CITES

ลักษณะ

แก้

เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเด่นชัด สีขนตามตัวส่วนใหญ่ออกเป็นสีน้ำตาล ไม่มีเดือยที่ขา ตัวผู้มีขนาดตัวยาว 170-200 เซนติเมตร ขนาดของตัวเมียยาว 74-76 เซนติเมตร มีส่วนของหัวและลำคอเป็นหนังเกลี้ยงสีฟ้าคราม แต่มีแถบขนแคบๆ สีดำ พาดตามยาวจากเหนือจะงอยปากไปตลอดแนวสันคด แถบขนบนหัวของนกหว้าตัวผู้ จะมีลักษณะเป็นแผงขนหนาสีดำเข้มกว่าของตัวเมีย และตรงส่วนท้ายของกระหม่อม แผงขนจะยาวกว่าส่วนอื่น มีลักษณะเป็นขนหงอนตั้งเป็นสันขวานขึ้นมา ไม่เป็นพู่หงอนอย่างไก่ฟ้าและนกยูง แต่นกหว้าตัวเมียจะมีแถบขนบริเวณท้ายทอยลงมาเป็นเส้นขนยาวไม่เป็นระเบียบ สีขนไม่ดำเข้ม และเป็นแผงขนหนาอย่างตัวผู้ นอกจากนี้นกหว้าตัวผู้ยังมีขนปีกบินและขนหางใหญ่ยาวเป็นลักษณะเฉพาะเด่นสะดุดตา ขนปีกบินชุดในมีปลายเส้นขนแผ่กว้างเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม แถบเส้นขนด้านในมีลวดลายเป็นดอกดวงขนาดใหญ่ ขอบนอกเป็นสีน้ำตาลดำเข้ม ข้างในเป็นสีเหลือบออกเหลืองแกมน้ำตาลเรียงเป็นแถวจากโคนถึงปลายทุกอัน ดอกลายนี้ปกติจะมองไม่เห็น แต่จะเห็นได้เวลาที่นกหว้าแพนปีกออกเต็มที่ สำหรับขนหางเฉพาะขนหางคู่กลางจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าขนหางถัดออกไปมาก ถึงประมาณ 4 เท่าลำตัว และมีลวดลายเป็นแต้มจุดประเล็ก ขอบสีน้ำตาลเข้มตรงกลางสีขาว กระจายอยู่ทั่วไป[5] ร้องดัง “ว้าว ว้าว”

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

แก้

พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปตลอดแหลมมลายู เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบและป่าลึก ในระดับเชิงเขาจนกระทั่งถึงระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

พฤติกรรม

แก้

นกหว้าเป็นนกขี้อาย ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยวนอกจากในฤดูผสมพันธุ์ หากินช่วงเช้าและก่อนค่ำ กินเมล็ดพืช ผลไม้ที่หล่นตามพื้นดิน แมลงและตัวหนอน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกหว้าตัวผู้จะทำลานไว้สำหรับรำแพนขนปีกอวดตัวเมีย เรียกว่า “ ลานนกหว้า” ที่ลานนั้นมันจะรักษาความสะอาดอย่างดี เก็บกิ่งไม้ใบไม้ออกหมดตลอดเวลา หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะร้องเรียกตัวเมีย เมื่อพบตัวเมีย ตัวผู้จะรำแพนขนปีกเพื่อดึงดูดใจตัวเมียก่อนผสมพันธุ์ เมื่อพ้นฤดูผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะแยกออกไปทำรังออกไข่ ตัวเมียจะสร้างรังหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กบนพื้นดินใต้พุ่มไม้ทึบ ปูพื้นรังด้วยใบไม้ วางไข่เพียง 2 ฟองเท่านั้นโดยห่างกัน 2 วัน ไข่มีสีครีมหรือขาว ระยะฟักไข่ 26 วัน ลูกนกแรกเกิดสามารถลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัวและสามารถเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันที

อ้างอิง

แก้
  1. BirdLife International (2004). Argusianus argus. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006.
  2. 2.0 2.1 "Argusianus argus (Linnaeus, 1766)". itis. สืบค้นเมื่อ 5 May 2014.
  3. 3.0 3.1 Davison, G. W. H. and McGowan, Phil (2009). "Asian enigma: Is the Double-banded Argus Argusianus bipunctatus a valid species?". BirdingASIA. 12: 94.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Parkes', K. S. (1992). "Distribution and taxonomy of birds of the world, in "Recent Literature"". Journal of Field Ornithology. 63 (2): 228–235.
  5. นกหว้า[ลิงก์เสีย] MyFirstBrain.com

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้