อาณาจักรรีวกีว
อาณาจักรรีวกีว (ญี่ปุ่น: 琉球王国 Ryūkyū Ōkoku; รีวกีว: 琉球國 Ruuchuu-kuku; จีนตัวเต็ม: 琉球國; จีนตัวย่อ: 琉球国; พินอิน: Liúqiú Guó; ค.ศ. 1429 — 1879) เป็นรัฐเอกราช ครอบครองหมู่เกาะรีวกีว (ญี่ปุ่น: 琉球諸島; โรมาจิ: Ryūkyū Shotō) เกือบทั้งหมดตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 – 19
อาณาจักรรีวกีว 琉球國 | |||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1429–1879 | |||||||||||||||||
สถานะ | รัฐบรรณาการของราชวงศ์หมิง (1429–1644) รัฐบรรณาการของราชวงศ์ชิง (1644–1874) เมืองขึ้นของแคว้นซะสึมะ (1609–1872) เมืองขึ้นของจักรวรรดิญี่ปุ่น (1872–1879) | ||||||||||||||||
เมืองหลวง | ชูริ | ||||||||||||||||
ภาษาทั่วไป | รีวกีว (ภาษาพื้นเมือง), ภาษาจีนคลาสสิก, ภาษาญี่ปุ่นคลาสสิก | ||||||||||||||||
ศาสนา | ศาสนาพื้นเมืองรีวกีว, ศาสนาพุทธ, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิเต๋า | ||||||||||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตย | ||||||||||||||||
พระมหากษัตริย์ (國王) | |||||||||||||||||
• 1429–1439 | โช ฮะชิ | ||||||||||||||||
• 1477–1526 | โช ชิน | ||||||||||||||||
• 1587–1620 | โช เน | ||||||||||||||||
• 1848–1879 | โช ไท | ||||||||||||||||
เซ็สเซ (摂政) | |||||||||||||||||
• 1666–1673 | โช โชเค็ง | ||||||||||||||||
ผู้สำเร็จราชการ (โคะกุชิ) (國師) | |||||||||||||||||
• 1751–1752 | ไซ อง | ||||||||||||||||
สภานิติบัญญัติ | ชุริโอฟุ (首里王府), ซันชิกัง (三司官) | ||||||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||||||
• รวมประเทศ | 1429 | ||||||||||||||||
5 เมษายน 1609 | |||||||||||||||||
• เปลี่ยนเป็นแคว้นรีวกีว | 1875 | ||||||||||||||||
• รวมเข้ากับจักรวรรดิญี่ปุ่น | 11 มีนาคม 1879 | ||||||||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||||||||
2,271 ตารางกิโลเมตร (877 ตารางไมล์) | |||||||||||||||||
| |||||||||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ญี่ปุ่น |
ชื่อของอาณาจักรรีวกีวปรากฏในเอกสารต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่า ลิชี่ว (ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์)[1] หรือ ลิ่วขิ่ว (โคลงภาพคนต่างภาษา)[2]
กษัตริย์ของอาณาจักรรีวกีวได้รวบรวมเกาะโอะกินะวะ (ญี่ปุ่น: 沖縄島; โรมาจิ: Okinawa-jima) ให้เป็นปึกแผ่น และขยายอาณาเขตไปถึงหมู่เกาะอะมะมิ (ญี่ปุ่น: 奄美諸島; โรมาจิ: amami shotō) (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดคะโงะชิมะ (ญี่ปุ่น: 鹿児島県; โรมาจิ: Kagoshima-ken) และหมู่เกาะซะกิชิมะ (ญี่ปุ่น: 先島諸島; โรมาจิ: Sakishima shotō) ใกล้กับเกาะไต้หวัน แม้ว่าจะเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ แต่ก็มีบทบาทสำคัญทางด้านการค้าทางทะเลในยุคกลางของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประวัติศาสตร์
แก้กำเนิดอาณาจักร
แก้ในศตวรรษที่ 14 เมืองเล็ก ๆ ที่กระจายตัวบนเกาะโอะกินะวะได้รวมตัวกันตั้งเป็นแคว้น 3 แคว้น ได้แก่ แคว้นโฮะกุซัน (ญี่ปุ่น: 北山; โรมาจิ: Hokuzan) (แปลว่า เขาตอนเหนือ) แคว้นชูซัน (ญี่ปุ่น: 中山; โรมาจิ: Chūzan) (แปลว่า เขาตอนกลาง) และแคว้นนันซัน (ญี่ปุ่น: 南山; โรมาจิ: Nanzan) (แปลว่า เขาตอนใต้) อันเป็นที่รู้กันในนามยุคสามก๊ก หรือยุคซันซัน (ญี่ปุ่น: 三山; โรมาจิ: Sanzan) (แปลว่า เขาทั้งสาม) แคว้นโฮะกุซันตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะ และเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุด กินเนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของเกาะ แม้ว่าจะมีกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุด แต่ก็มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุด แคว้นนันซันตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะ ส่วนแคว้นชูซันนั้นตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะ และมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุด เป็นที่ตั้งของเมืองชุริ (ญี่ปุ่น: 首里; โรมาจิ: Shuri) อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเมือง ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองนะฮะ (ญี่ปุ่น: 那覇; โรมาจิ: Naha) อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุด (ปัจจุบัน เป็นเมืองหลวงของจังหวัดโอะกินะวะ) และเมืองคุเมะมุระ (ญี่ปุ่น: 久米村; โรมาจิ: Kumemura) อันเป็นเมืองศูนย์รวมสรรพวิชาความรู้ต่างๆจากจีน เหตุนี้เองที่ทำให้แคว้นชูซันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรรีวกีวจนกระทั่งล่มสลาย
ต่อมา เมื่อผู้ครองสามแคว้นใหญ่นี้ได้สู้รบกัน ผู้ครองแคว้นชูซันก็ได้รับชัยชนะ และได้รับการรับรองจากจักรวรรดิจีนให้เป็นกษัตริย์ผู้มีสิทธิเหนือสามแคว้นอย่างชอบธรรม แม้ว่าจะไม่สามารถปราบแคว้นที่เหลือได้อย่างราบคาบก็ตาม จากนั้น ผู้ครองแคว้นชูซันก็ได้ส่งต่อบังลังก์ให้กับฮะชิ ฮะชิสามารถปราบแคว้นโฮะกุซันได้อย่างราบคาบใน ค.ศ. 1416 และแคว้นนันซันได้ในค.ศ. 1429 แล้วรวบรวมเกาะโอะกินะวะให้เป็นปึกแผ่นได้เป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมา ฮะชิได้ก่อตั้ง "ราชวงศ์โช" ขึ้นเป็นราชวงศ์แรก โดย "โช" เป็นแซ่ซึ่งได้รับพระราชทานจากฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงแห่งจักรวรรดิจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1421 และตั้งตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรนามว่า พระเจ้าโชฮะชิ ในค.ศ. 1429 อันเป็นจุดเริ่มแรกของอาณาจักรรีวกีว
พระเจ้าโช ฮะชิ ได้ทรงนำระบบราชสำนักแบบมีลำดับศักดิ์จากจีนมาใช้ ทรงก่อสร้างปราสาทชุริ (ญี่ปุ่น: 首里城; โรมาจิ: Shurijō) ขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครอง และทรงสร้างท่าเรือใหญ่ที่เมืองนะฮะ ต่อมา ในค.ศ. 1469 พระเจ้าโช โทะกุสวรรคตโดยไม่มีโอรสเป็นรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อ้างตัวเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์และยังได้รับอุปถัมภ์จากจักรวรรดิจีนอีกด้วย จากนั้นได้ตั้งตนเองเป็น พระเจ้าโช เอ็ง และตั้งราชวงศ์โชที่สองขึ้นเป็นราชวงศ์ใหม่ของอาณาจักรรีวกีว หลังสิ้นพระเจ้าโช เอ็ง พระเจ้าโช ชินขึ้นครองราชย์ต่อ และยุคของพระองค์นี้เองที่เป็นยุคทองของอาณาจักรรีวกีว พระองค์ครองราชตั้งแต่ ค.ศ. 1487-1526
ในปลายศตวรรษที่ 15 อาณาจักรรีวกีวได้ขยายอาณาเขตไปถึงเกาะใต้สุดของหมู่เกาะรีวกีว และใน ค.ศ. 1571 ได้ขยายอาณาเขตทางเหนือไปถึงเกาะอะมะมิโอชิมะ (ญี่ปุ่น: 奄美大島; โรมาจิ: Amami Ōshima) ใกล้เกาะคีวชู สำหรับการปกครองนั้น พื้นที่เกือบทั้งอาณาจักรตั้งขึ้นตรงกับชุริ อันเป็นเมืองหลวง ยกเว้นเกาะตั้งแต่หมู่เกาะซะกิชิมะลงมา เป็นเพียงแคว้นบรรณาการของอาณาจักรรีวกีว โดยยังมีผู้ครองแคว้นของตัวเองได้แต่ต้องจงรักภักดีกับเมืองชุริ
ยุคทองของการค้าทางทะเล
แก้เป็นเวลาถึงเกือบสองร้อยปีที่อาณาจักรรีวกีวเติบโตได้เพราะเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยบทบาทนี้เอง ทำให้อาณาจักรรีวกีวตั้งมีฐานะเป็นรัฐบรรณาการต่อราชวงศ์หมิงแห่งจักรวรรดิจีนซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยแคว้นชูซันในค.ศ. 1372 การเป็นรัฐบรรณาการของจีนนี้ ทำให้จีนมีอิทธิพลอย่างสูงต่ออาณาจักรรีวกีวตั้งแต่สมัยสามแคว้น โดยจีนได้จัดเรือเดินทะเลเพื่อให้ชาวรีวกีวอันค้าขาย จำกัดจำนวนชาวรีวกีวอันเพื่อให้ไปศึกษาในวิทยาลัยหลวงในเมืองปักกิ่ง รับรองสิทธิชอบธรรมในการครองแคว้นทั้งสามของกษัตริย์แคว้นชูซัน อนุญาตให้เรือของอาณาจักรรีวกีวเข้าไปทำการค้าที่ท่าเรือของจีนได้ พ่อค้าชาวรีวกีวอันใช้เรือสำเภาที่จีนจัดให้ได้เดินเรือไปทั่วภูมิภาค และเข้าไปค้าขายในท่าเรือของเมืองสำคัญต่างๆ เช่น เกาหลี จีน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีมะละกา ชวา สุมาตรา ปาเล็มบัง อันนัม (เวียดนาม) รวมถึงสยาม (อยุธยา) และปัตตานีด้วย
สินค้าญี่ปุ่น อาทิเช่น เครื่องเงิน ดาบ พัด เครื่องเขิน ม่านเบียวบุ เป็นต้น สินค้าจีน อาทิเช่น ยาจีน เหรียญกษาปณ์ เครื่องสังคโลก ผ้าไหม และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันในอาณาจักรเพื่อแลกกับสินค้าจากที่ต่างๆ เช่น เครื่องเทศ เขาแรด ดีบุก น้ำตาล เหล็ก ไขปลาวาฬ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เถาวัลย์จากอินเดีย และกำยานจากอาหรับ ทั้งหมดนี้ มีการบันทึกว่ามีเรือจากรีวกีวแล่นมาทำการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 150 เที่ยว โดยมาที่สยาม 61 เที่ยว มะละกา 10 เที่ยว ปัตตานี 10 เที่ยว และชวา 8 เที่ยว
มาตรการไห่จิน (ภาษาจีน: 海禁, Hai jin แปลว่าข้อห้ามทางทะเล) คือมาตรการที่ราชวงศ์หมิงของจักรวรรดิจีนบังคับให้รัฐบรรณาการของจีนต้องทำการค้ากับจีนและประเทศที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทำให้อาณาจักรรีวกีวได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากจีนมากกว่าประเทศอื่น ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรรีวกีวเป็นอย่างมากมาตลอด 150 ปี แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 การค้าของอาณาจักรรีวกีวตกต่ำ เนื่องจาก โวโค (ภาษาจีน: 倭寇, wōkòu; ภาษาญี่ปุ่น: wakō; ภาษาเกาหลี: 왜구, waegu) หรือโจรสลัดญี่ปุ่นออกอาละวาด ทำให้จีนคุ้มครองการค้าของอาณาจักรรีวกีวน้อยลง นอกจากนี้ อาณาจักรรีวกีวยังต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้ากับประเทศจากยุโรปด้วย
การรุนรานของญี่ปุ่นและถูกยึดครอง
แก้ในค.ศ. 1590 โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ (ญี่ปุ่น: 豊臣 秀吉; โรมาจิ: Toyotomi Hideyoshi) ขุนศึกคนสำคัญของญี่ปุ่น ได้มีการร้องขอให้อาณาจักรรีวกีวเข้าร่วมโจมตีราชวงศ์โชซอนของเกาหลี หากสำเร็จ ฮิเดะโยะชิก็จะสามารถยกทัพสู่จีนต่อได้ ด้วยอาณาจักรรีวกีวในขณะนั้นมีฐานะเป็นรัฐบรรณาการของราชวงศ์หมิงแห่งจักรวรรดิจีน จึงทำให้คำขอร้องนี้ถูกปฏิเสธไป
รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ (ญี่ปุ่น: 徳川幕府; โรมาจิ: Tokugawa bakufu) ได้ขึ้นครองอำนาจหลังจากโค่นขุนศึกฮิเดะโยะชิลงได้ และได้แต่งตั้งตระกูลชิมะซุ (ญี่ปุ่น: 島津氏; โรมาจิ: Shimazu-shi) ตระกูลไดเมียว (ญี่ปุ่น: 大名; โรมาจิ: daimyō) หรือเจ้าเมืองผู้ครองแคว้นซะสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคะโงะชิมะ) ให้ส่งกำลังทหารไปบุกอาณาจักรรีวกีวให้ได้ ในค.ศ. 1609 ด้วยกองทหารเพียงน้อยนิด อาณาจักรรีวกีวถูกยึดสำเร็จเป็นครั้งแรก พระเจ้าโชเน (ญี่ปุ่น: 尚寧; โรมาจิ: Shō Nei) ทรงถูกจับและนำไปขังไว้ที่แคว้นซะสึมะและส่งต่อไปยังเอะโดะ (ญี่ปุ่น: 江戸; โรมาจิ: Edo) เมืองหลวงของญี่ปุ่นในสมัยนั้น (ปัจจุบันคือโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京; โรมาจิ: Tōkyō) 2 ปีต่อมา อาณาจักรรีวกีวกลับรับอิสรภาพอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แคว้นซะสึมะยังคงคุมบางพื้นที่ของอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่เกาะอะมะมิ ซึ่งถูกรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นซะสึมะ และปัจจุบันนี้กลายเป็นจังหวัดคะโงะชิมะพร้อมแคว้นซะสึมะ ไม่ใช่จังหวัดโอะกินะวะเช่นส่วนอื่นของอาณาจักรรีวกีว
หลังได้รับอิสรภาพคืน อาณาจักรรีวกีวต้องอยู่ในภาวะประเทศราชของสองจักรวรรดิพร้อมกัน คือ จีนและญี่ปุ่น ซึ่งอาณาจักรรีวกีวต้องส่งบรรณาการให้กับราชวงศ์หมิงของจักรวรรดิจีน และรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะของญี่ปุ่น เนื่องจากจักรวรรดิจีนประกาศห้ามการค้าขายกับญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะประกาศปิดประเทศ แคว้นซะสึมะซึ่งได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรรีวกีวกับจักรวรรดิจีนเป็นสะพานเชื่อมในการทำการค้ากับจีน รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะได้ใช้นโยบายปิดประเทศของที่ห้ามการค้าขายกับต่างประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะยุโรป ยกเว้นดัตช์ อาจเรียกได้ว่าการที่แคว้นซะสึมะใช้วิธีนี้ในการติดต่อกับต่างประเทศในช่วงปิดประเทศ เป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะถูกโค่นล้มไปในที่สุดในคริสต์ทศวรรษที่ 1860
หลังการได้รับอิสรภาพคืนจนถึงการยึดครองหมู่เกาะอย่างสมบูรณ์ในค.ศ. 1879 อาณาจักรรีวกีวกลายเป็นประเทศราชในปกครองของไดเมียวแห่งแคว้นซะสึมะ แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นแคว้น (ฮัน) หนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งก็ถือว่ายังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น และชาวรีวกีวอันก็ยังไม่นับว่าเป็นชาวญี่ปุ่นด้วย อาณาจักรรีวกีวยังคงมีเอกราชของตนเองอยู่ แต่ต้องคอยรับใช้แคว้นซะสึมะและรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะในด้านการค้ากับจีนตามคำร้องขออยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็เป็นรัฐบรรณาการของจักรวรรดิจีนด้วยเช่นกัน อีกทั้งญี่ปุ่นไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องไม่ให้ทางปักกิ่งรู้ว่าอาณาจักรรีวกีวถูกญี่ปุ่นควบคุมอยู่ ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องวางมาตรการเสมือนวางเฉยต่ออาณาจักรรีวกีว การกระทำเช่นนี้ส่งผลดีทั้งต่อทั้ง 3 ฝ่าย คือ อาณาจักรรีวกีว ไดเมียวแคว้นซะสึมะ และรัฐบาลโชกุน ที่ต้องทำให้รีวกีวอันเหมือนต่างชาติและแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ชาวญี่ปุ่นห้ามเดินทางไปอาณาจักรรีวกีวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโชกุน และชาวรีวกีวอันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่น ใส่เสื้อผ้าแบบญี่ปุ่น และปฏิบัติตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น ห้ามแม้กระทั่งเมื่อชาวรีวกีวจะอันเดินทางไปกรุงเอะโดะพร้อมกับไดเมียวแห่งแคว้นซะสึมะ ก็ห้ามเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นแม้แต่น้อย ตระกูลชิมะซุผู้เป็นไดเมียวแห่งแคว้นซะสึมะได้รับสิทธิพิเศษให้นำกษัตริย์แห่งอาณาจักรรีวกีวไปอยู่ในขบวนอิสริยยศเมื่อเดินทางไปกรุงเอะโดะอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่เป็นแคว้น (ฮัน) เดียวที่มีอาณาจักรเป็นเมืองขึ้น ชาวรีวกีวอันทำให้ขบวนแคว้นซะสึมะดูแปลกและโดดเด่น และมองดูแล้วเหมือนกับไม่ได้มาจากญี่ปุ่นเอง
เมื่อพลเรือจัตวาแมทธิว แคลเบรธ เพร์รี (อังกฤษ: Commodore Matthew Calbraith Perry) เดินเรือถึงญี่ปุ่น เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ในคริสต์ทศวรรษที่ 1850 เขาได้หยุดพักที่หมู่เกาะรีวกีวเป็นที่แรกเช่นเดียวกับนักเดินเรือตะวันตกหลายคนก่อนหน้านี้ เขาได้บีบบังคับให้อาณาจักรรีวกีวยอมเซ็นสัญญาเสียเปรียบทางการค้าเพื่อที่จะให้สหรัฐอเมริกาเปิดการค้ากับอาณาจักรรีวกีวได้ และจุดหมายต่อไปของเขาก็คือเอะโดะ
ระหว่างการปฏิรูปเมจิ (ญี่ปุ่น: 明治維新; โรมาจิ: Meiji Ishin) รัฐบาลโตเกียวในสมัยนั้นได้ล้มล้างอาณาจักรรีวกีวลง โดยถือเป็นการยึดครองหมู่เกาะรีวกีวของจักรวรรดิญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์ และเปลี่ยนเป็นจังหวัดโอะกินะวะในค.ศ. 1879 ส่วนหมู่เกาะอะมะมิที่ถูกแคว้นซะสึมะยึดครองไปก่อนหน้านี้ ก็เปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดคะโงะชิมะ พระเจ้าโช ไท (ญี่ปุ่น: 尚泰; โรมาจิ: Shō Tai) กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรรีวกีว ถูกให้ย้ายไปประทับที่กรุงโตเกียว พร้อมกับได้รับแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ (ญี่ปุ่น: 華族; โรมาจิ: Kazoku) ให้เป็นเจ้าขุนนางชั้นโคชะกุ (ญี่ปุ่น: 侯爵; โรมาจิ: kōshaku) (เทียบเท่ากับเจ้าพระยาของไทย) และได้รับการยกย่องดั่งเช่นตระกูลขุนนางชั้นสูง พระเจ้าโช ไทสวรรคตในค.ศ. 1901 ในช่วงที่อาณาจักรรีวกีวถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นนี้ มีการปราบปรามผู้เรียกร้องอิสรภาพของอาณาจักรรีวกีวจากญี่ปุ่นหรือแคว้นซะสึมะอยู่หลายครั้ง นอกจากนี้ จักรวรรดิจีนยังได้ทำหนังสือทางการทูตประท้วงรัฐบาลเมจิเช่นกัน
รายการอ้างอิง
แก้- Kang, David C. (2010). East Asia Before the West: Five Centuries of Trade and Tribute. New York : Columbia University Press. 13-ISBN 978-0-231-15318-8/10-ISBN 0-231-15318-X; 13-ISBN 978-0-231-52674-6/10-ISBN 0-231-52674-1; OCLC 562768984
- Kerr, George H. (1965). Okinawa, the History of an Island People. Rutland, Vermont: C.E. Tuttle Co. OCLC 39242121
- Matsuda, Mitsugu (2001) The Government of the Kingdom of Ryukyu, 1609–1872: a dissertation submitted to the Graduate School of the University of Hawaii in partial fulfillment of the requirements for the degree of Doctor of Philosophy, January 1967, Gushikawa : Yui Pub., 283 p., ISBN 4-946539-16-6
- Nussbaum, Louis-Frédéric. (2002). Japan Encyclopedia. Cambridge: Harvard University Press. 10-ISBN 0-674-01753-6; 13-ISBN 978-0-674-01753-5; OCLC 48943301
- Smits, Gregory (1999) Visions of Ryukyu: identity and ideology in early-modern thought and politics, Honolulu : University of Hawaii Press, 213 p., ISBN 0-8248-2037-1
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- History of Okinawa
- 沖縄の歴史情報 (ORJ) Many Ryukyu historical texts. (ญี่ปุ่น)
- Brief History of the Uchinanchu (Okinawans) เก็บถาวร 2016-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- National Archives of Japan: Ryukyu Chuzano ryoshisha tojogyoretsu, scroll illustrating procession of Ryukyu emissary to Edo, Hōei 7 (1710) เก็บถาวร 2008-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน