อาณาจักรน่านเจ้า

อาณาจักรน่านเจ้า หรือเจ้าทางใต้ (จีน: 南詔 Nánzhào; อี๋: ꂷꏂꌅ ma shy nzy) หรือจีนเรียกว่า สานสานโกวะ ตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 1192 โดยพระเจ้าสีนุโล แห่งเหม่งแซ ต่อมาพระเจ้าพีล่อโก๊ะได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ ที่แยกกันตั้งอยู่เป็นอิสระ 6 แคว้นคือ เหม่งแซ (Mengshe;蒙舍) ม่งซุย (Mengsui;蒙嶲) ลางเซียง (Langqiong;浪穹) เต็งตัน (Dengtan;邆賧) ซีล่าง (Shilang;施浪) และ ยู่ซี (Yuexi;越析) เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเหม่งแซได้สำเร็จ ตั้งเป็นอาณาจักรใหม่ขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้า ในยุคแรก ๆ นั้น น่านเจ้าก็มีสัมพันธ์กับรัฐรอบ ๆ ทั้งราชวงศ์ฝ่ายใต้ของจีน และแคว้นเล็กๆในสุวรรณภูมิ

น่านเจ้า

พ.ศ. 1281–พ.ศ. 1445
ที่ตั้งของน้านเจ้า
เมืองหลวงเอี๊ยงจูมี
การปกครองราชาธิปไตย
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
พ.ศ. 1281
• สิ้นสุด
พ.ศ. 1445
ก่อนหน้า
ถัดไป
เหม่งแซ
ม่งซุย
ลางเซียง
เต็งตัน
ซีล่าง
ยู่ซี
อาณาจักรต้าฉางเหอ

ในรัชกาลของจักรพรรดิถังเสวียนจง (พ.ศ. 1255–1299) ราชสำนักถังพยายามขยายอำนาจลงใต้ และมีการส่งกองทัพมาพิชิตอาณาจักรน่านเจ้า 2 ครั้งใหญ่ ๆ แต่กองทัพถังก็พ่ายแพ้ยับเยินกลับไป

พ.ศ. 1291 พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ก็ทรงส่งกองทัพไปโจมตีราชวงศ์ถังบ้าง เพื่อขยายอำนาจ กองทัพน่านเจ้าประสบชัยชนะใหญ่ ๆ หลายครั้ง เพราะราชสำนักถังเริ่มอ่อนแอลง จวบจนเมื่อเกิดกบฏอันลู่ซานในช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิถังเสวียนจง กองทัพถังก็ต้องเจรจาและยอมรับอำนาจของพระเจ้าโก๊ะล่อฝงในแดนใต้

พ.ศ. 1372 กองทัพน่านเจ้าสามารถบุกลึกเข้าไปถึงใจกลางมณฑลเสฉวน และยึดเอาเฉิงตูเมืองหลวงของมณฑลมาได้ สร้างความพรั่นพรึงให้ราชสำนักถังมาก ภายหลังจากรัชสมัยของพระเจ้าโก๊ะล่อฝง น่านเจ้าก็ค่อย ๆ อ่อนแอลง แต่ก็ยังมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ ทว่ากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มามักตกอยู่ในวังวนของการชิงอำนาจระหว่างชนเผ่าต่าง ๆ ในอาณาจักร รวมถึงการแย่งชิงอำนาจของตระกูลขุนนาง จวบจนถึงปี พ.ศ. 1445 อาณาจักรน่านเจ้าก็ล่มสลายลง จากการก่อกบฏของชนเผ่าต่าง ๆ ในอาณาจักร ดินแดนยูนนานจึงกลายเป็นสุญญากาศทางอำนาจไปอีกหลายปี ก่อนที่ ต้วนซีผิง จะนำชาวเผ่าไป๋และเผ่าพันธมิตรลุกขึ้นรวบรวมดินแดนในยูนนานเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง และก่อตั้งอาณาจักรใหม่ที่ชื่อว่า อาณาจักรต้าหลี่ ขึ้นมาแทนในปี พ.ศ. 1480

ในยุครุ่งเรืองนั้นอาณาจักรน่านเจ้า มีอาณาเขตกว้างขวาง คือเขตมณฑลยูนนานทั้งหมด รวมแคว้นสิบสองปันนาด้วย กล่าวคือ ทิศเหนือจดมณฑลเสฉวน ทิศใต้ จดพม่า ญวน ทิศตะวันออกจดดินแดนไกวเจา กวางสี ตังเกี๋ย ทิศตะวันตก จดพม่า ทิเบต มีกษัตริย์ปกครองอย่างเป็นอิสระไม่ขึ้นกับแคว้นใดได้ยาวนานหลายร้อยปี

บรรพบุรุษคนไทย แก้

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยาในอดีต เคยมีแนวความคิดว่า คนในอาณาจักรน่านเจ้านั้นน่าจะเป็นคนไทยหรือบรรพบุรุษของคนไทยในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากอ้างอิงมาจากหลักฐานทางโบราณคดีของจีน อาทิ วิลเลียม เจ.เกดนีย์ นักวิชาการชาวอเมริกัน, ดร.บรรจบ พันธุเมธา และ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักวิชาการชาวไทย ได้ข้อสรุปว่าเป็นถิ่นที่คนไทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้มีการผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์อื่น และอพยพลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิอย่างในปัจจุบัน ซึ่งแนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อคราวไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2518[1]

แต่ก็มีข้อแย้งเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน อาทิ ศ.เฟดเดอริก โมต หรือชาลส์ แบกคัส รวมทั้งนักวิชาการชาวไทย ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร มีความเห็นว่าไม่น่าจะใช่เป็นคนไทย โดยอ้างว่าภาษาที่ใช้ในอาณาจักรน่านเจ้าที่ปรากฏในหนังสือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 มีลักษณะคล้ายภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า มากกว่า และมีส่วนที่คล้ายภาษาไทยซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไทน้อยมาก และวัฒนธรรมการเอาพยางค์สุดท้ายของพ่อมาตั้งเป็นชื่อพยางค์แรกของลูก เช่น พีล่อโก๊ะ เป็น โก๊ะล่อฝง ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า ด้วยเช่นกัน

แต่ในประเด็นนี้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ยังเห็นแย้งว่า ข้อพิสูจน์นี้ยังไม่หนักแน่นพอ เพราะระยะเวลาที่ผ่านไปหลายร้อยปี ธรรมเนียมบางอย่างอาจแปรเปลี่ยนไป โดย ศ.ดร.ประเสริฐ ยังไม่ยอมรับทั้งหมดว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้ามิใช่คนไทย[2]

กษัตริย์น่านเจ้า แก้

อ้างอิง แก้

  1. [ลิงก์เสีย] สุทธิชัย หยุ่น, สารคดีชุด แม่น้ำโขง สายน้ำพยศ ตอนที่ 4 โดย เนชั่น แชนแนล: วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ทางช่อง 9
  2. ณรงค์ พ่วงพิศ, วุฒิชัย มูลศิลป์ และคณะ, ประวัติศาสตร์หนังสือแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หน้า 61-63, บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท.จำกัด (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2546) ISBN 974-408-626-2