สุทธิชัย หยุ่น

นักหนังสือพิมพ์ พิธีกรชาวไทย

สุทธิชัย แซ่หยุ่น หรือที่รู้จักทั่วไปว่า สุทธิชัย หยุ่น (เกิด 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489) เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจชาวไทย และอดีตประธานกรรมการ เนชั่น กรุ๊ป, บรรณาธิการอำนวยการ เครือเนชั่น, ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น, กรุงเทพธุรกิจ, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี, เนชั่นทีวี[1][2][3] และเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ชีพจรโลก และ ชีพจรโลกวันนี้ ทางเนชั่นแชนแนล

สุทธิชัย หยุ่น
สุทธิชัย หยุ่นใน พ.ศ. 2555
เกิดสุทธิชัย แซ่หยุ่น
24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 (77 ปี)
จังหวัดสงขลา ประเทศไทย
ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ
อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นักธุรกิจ พิธีกร ยูทูบเบอร์
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2511 –ปัจจุบัน
ผลงานเด่น
  • กรุงเทพธุรกิจ
  • เดอะเนชั่น
โทรทัศน์ชีพจรโลก
กรรมการในเนชั่น กรุ๊ป
คู่สมรสนันทวัน หยุ่น
บุตร
รางวัลรางวัลศรีบูรพา (พ.ศ. 2551)

ประวัติ

แก้

สุทธิชัยเกิดในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่ยากจน ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มารดาชื่อซุ่ยจั่น แซ่ฟุ่ง เป็นพี่ชายของเทพชัย หย่อง[4] กรรมการบริหาร เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป และอดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย จบการเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ ต่อมาเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเรียนมีผลงานเขียน กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และสยามรัฐรายวัน[5]

การทำงาน

แก้

หลังจากนั้น เข้าทำงานที่บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด อยู่สามเดือน จึงเปลี่ยนมาเป็นล่าม ให้กับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน ที่เข้ามาสร้างเขื่อนผามอง จังหวัดหนองคาย เสร็จจากงานชั่วคราวนี้ จึงเข้าศึกษาต่อที่ แผนกอิสระสื่อสารมวลชน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะนิเทศศาสตร์) ขณะเรียนก็เป็นพนักงานพิสูจน์อักษร ที่บางกอกโพสต์ เมื่อ พ.ศ. 2511 แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรียนไม่จบ เพราะเวลาเรียนกับเวลาทำงานตรงกัน จึงตัดสินใจเลือกทำงาน[6] หลังจากนั้นเลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวที่บางกอกโพสต์ โดยมีหัวหน้าข่าว นาย เท่ห์ จงคดีกิจ เป็นเจ้านายคนแรก และต่อมา หลังจากทำงานได้เพียง 5 เดือน ก็เลื่อนขึ้นเป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ ทั้งที่อายุยังน้อย และไม่มีปริญญาบัตร[7] เขาได้รางวัลศรีบูรพาส่วนหนึ่งเนื่องจากข่าว พันเอก ณรงค์ กิตติขจร พังป้อมตำรวจ เนื่องจากเมาสุรา[8]

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2514 บางกอกโพสต์ซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ซึ่งสุทธิชัยเห็นว่า เป็นการผูกขาดวงการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ จึงร่วมกับหม่อมราชวงศ์หญิงสุนิดา กิติยากร, ธรรมนูญ มหาเปารยะ และเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ โดยประกาศขายหุ้นแก่ประชาชนเพื่อระดมทุน จนได้เป็นเงินราว 2 ล้านบาท ในการก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรก ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ให้ชื่อว่า เดอะ วอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น (อังกฤษ: The Voice of The Nation; คำแปล: เสียงแห่งประชาชาติ) ในวันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[9]

ในปี พ.ศ. 2517 เขาทำงานกับวิทยุแห่งประเทศไทยต่อมา เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามมาด้วยคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยทุกฉบับ สุทธิชัยจึงนำใบอนุญาตที่ตนเคยทำสำรองไว้ก่อนหน้านั้น ออกหนังสือพิมพ์ชื่อใหม่ว่า เดอะ เนชั่น รีวิว (อังกฤษ: The Nation Review) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงเปลี่ยนเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

สุทธิชัยยังเป็นผู้ก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันฉบับแรกของประเทศไทย คือกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2530 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มวิทยุเนชั่น เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากการเล่าข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3และเป็นหนึ่งในคณะผู้ร่วมดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อปี พ.ศ. 2538, ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 จึงมาก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล ยุคต่อมา เขามีชื่อเสียงจากการเป็นคอลัมนิสต์ และผู้ดำเนินรายการสนทนาเชิงข่าว รายการที่สร้างชื่อคือ การรายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2534 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ต่อมาเครือเนชั่นจึงเริ่มผลิตรายการโทรทัศน์ครั้งแรก เนชั่น นิวส์ ทอล์ก ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าตรวจสอบบัญชีธนาคาร และการชำระภาษีย้อนหลัง ของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งในจำนวนนั้น มีสุทธิชัยรวมอยู่ด้วย[10]

สุทธิชัย หยุ่น เป็นที่รู้จักในฐานะนักข่าว เช่น กรณีที่ญาตินักการเมืองแกนนำในรัฐบาลซื้อหุ้นในกิจการสื่อมวลชน[11] อย่างไรก็ตามเขาวิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนหลายครั้งเช่นกรณี การเสนอข่าวการเจ็บป่วยของ ทฤษฎี สหวงษ์[12]

หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[13]

ชีวิตส่วนตัว

แก้

สุทธิชัยสมรสกับนันทวัน หยุ่น อดีตบรรณาธิการนิตยสารลลนา มีบุตรชายเป็นที่รู้จักคือ ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งตั้งชื่อล้อกับชื่อของหนังสือพิมพ์ ปราฟด้า (Pravda) ของประเทศรัสเซีย และบุตรสาวคือ ชิมบุญ หยุ่น ซึ่งตั้งชื่อล้อกับชื่อของหนังสือพิมพ์ โยมิอูริ ชิมบุน (Yomiuri Shimbun) ของประเทศญี่ปุ่น

ผลงาน

แก้

หนังสือ[7]

แก้
  • หมาเฝ้าบ้าน (พ.ศ. 2537)
  • คนบ้าข่าว (พ.ศ. 2543)
  • นักข่าวนอกคอก (พ.ศ. 2545)
  • วิ่งหาก็หนีหาย (พ.ศ. 2545)
  • เลือกอยู่กับรัก (พ.ศ. 2545)
  • ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา (พ.ศ. 2550)
  • อนาคตของข่าว (พ.ศ. 2555)
  • AI:เทพหรือปีศาจ? 77/27มองเอไอจากคน 2 เจน (พ.ศ. 2567)

พิธีกร

แก้
  • พ.ศ. 2561-2564 : รายการ "กาแฟดำ ค่ำนี้" ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30
  • พ.ศ. 2561-2564 : รายการ "เจาะอนาคตตอบโจทย์" ทาง MCOT Radio FM 100.5 MHz ร่วมกับ วีระ ธีรภัทร
  • พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน : รายการ "คุยให้คิด" ทาง Thai PBS หมายเลข 3 ร่วมกับ วีระ ธีรภัทร และวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์
  • พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน : รายการ "เข้มข่าวค่ำ" (เสาร์-อาทิตย์; ช่วงวิเคราะห์ข่าว) ทาง PPTV HD หมายเลข 36
  • พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน : รายการ "กาแฟดำ" ทาง PPTV HD หมายเลข 36
  • พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน : รายการ "Suthichai Live" ทาง YouTube:suthichai live, Facebook:Suthichai Live
  • พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน : รายการ "Coffee Club" ทาง YouTube:PPTV HD 36, Facebook:PPTV HD 36, Line:PPTV Online
  • พ.ศ. 2567-ปัจจุบัน : รายการ "สมมุติว่า!" ทาง YouTube: Thai PBS, Facebook:Thai PBS คู่กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์

ภาพยนตร์

แก้

รางวัล

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. “สิ่งที่สร้างมาตลอด ทำไมถึงกลายเป็นอย่างนี้” สุทธิชัย หยุ่น กรณีเนชั่นทีวีนำเสนอคลิปเสียง
  2. “สุทธิชัย หยุ่น” ไม่จำเป็น สำหรับเนชั่นแล้ว?
  3. ทำไมสุทธิชัย หยุ่น ถึงขยัน Live? คำตอบซ่อนอยู่ในเตียงนอน
  4. "ชีวประวัติ สุทธิชัย หยุ่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2021-01-11.
  5. ทางรอดสื่อ!! “สุทธิชัย หยุ่น” แนะยึดความถูกต้อง-จริยธรรม ทิ้งท้ายวันอำลา “เนชั่น”
  6. ประวัติและพัฒนาการหนังสือพิมพ์ไทย สุรชัยหยุ่น
  7. 7.0 7.1 7.2 จินตกรรม. คอลัมน์สโมสรวรรณกรรม. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2551 หน้า 24-25
  8. สุทธิชัย หยุ่น อดีตผู้บริหาร เนชั่น ซัดกรณีคลิปทักษิณ - ธนาธร ไม่จะอยากเชื่อ
  9. ปิดฉาก 48 ปี หนังสือพิมพ์ “เดอะ เนชั่น” วันนี้วางแผงฉบับสุดท้าย
  10. "สุรชัยหยุ่น ถูกตรวจสอบบัญชีธนาคาร และการชำระภาษีย้อนหลัง ของสื่อมวลชน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-12. สืบค้นเมื่อ 2016-05-26.
  11. สุรชัยหยุ่น ในกรณีที่ญาตินักการเมืองแกนนำในรัฐบาลซื้อหุ้นในกิจการสื่อมวลชน[ลิงก์เสีย]
  12. ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ชำแหละสื่อไทย ยกเคส ‘ปอ ทฤษฎี’-ราชภักดิ์’
  13. ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  14. สุทธิชัย หยุ่น ๑ ใน ๙ บุคคล รับรางวัล "๑๐๐ ปี ชาตกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก"

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้