ทฤษฎี (อังกฤษ: theory) คือ สมมติฐานที่ได้รับการตรวจสอบและทดลองหลายครั้งหลายหนจนสามารถอธิบายข้อเท็จจริงสามารถคาดคะเนทำนายเหตุการณ์ทั่วๆไป ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นั้นอย่างถูกต้อง และมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป จึงเป็นผลให้สมมติฐานกลายเป็นทฤษฎี เช่น ทฤษฎีเซลล์ (Cell theory) ทฤษฏีวิวัฒนาการ (the evolution theory) เป็นต้น หรือ คือกลุ่มความสัมพันธ์ของแนวคิดคำนิยาม และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้อธิบายลักษณะของปรากฏการณ์หนึ่ง และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายหรือคาดเดาปรากฏการณ์นั้น

ความหมายในทางวิทยาศาสตร์

แก้

ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ทฤษฎี มีความหมายว่าชุดของความคิดรวบยอด (a set of concepts), ชุดของข้อเสนอ (a set of propositions) และชุดของการสร้าง (a set of construct) ทฤษฎีเป็นข้ออธิบายที่มีรากฐานอยู่บนความรู้ชุดหนึ่ง สามารถพิสูจน์ ทดลองได้ มีความสมเหตุสมผล และสามารถใช้นำมาคาดการณ์ได้ โดยลักษณะสำคัญของทฤษฎีในทางวิทยาศาสตร์มี 5 ข้อ คือ

  • เป็นกฎเกณฑ์ที่มีความเป็นนามธรรม (abstract rule)
  • สามารถอธิบายได้เป็นการทั่วไป (generalized)
  • สามารถพิสูจน์ และทดสอบได้ (testability)
  • ผลที่ได้จากการพิสูจน์ และทดสอบมีความเที่ยงตรง (validity)
  • มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากผ่าน การพิสูจน์และทดสอบมาแล้ว (reliability) [1]

ความหมายในทางสังคมศาสตร์

แก้

ในทางสังคมศาสตร์ไมเคิล โอคชอตต์ (Michael Joseph Oakeshott) นักปรัชญาและทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ ได้พยายามจะทำความเข้าใจคำว่าทฤษฎี โดยการวิเคราะห์ผ่านรากของคำในภาษากรีก โบราณโดย โอคชอตต์กล่าวถึงคำในภาษากรีก 5 คำ คือ θέα (théa), θεορηιν (theorein), θεωρός (theorós), θεωρία (theoría) และ θεώρημα (theórema) โดยโอคชอตต์อธิบายว่า[2]

  • Théa หมายความว่า “สิ่งที่ถูกมองเห็น, การถูกมอง, การปรากฏขึ้น”
  • Theorein หมายความว่า “กริยาอาการของการมอง, กริยาการสำรวจในสิ่งที่เกิดขึ้น (théa)”
  • Theorós หมายความว่า “ผู้พิจารณา ผู้ที่ทำกริยาของการมอง (theorein) และตั้งคำถามกับตนเองเพื่อพยายามเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น (theoría) นั้น”
  • Theoría หมายความว่า “การพยายามเข้าใจในสิ่งนั้นๆ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น”
  • Theórema หมายความว่า “สิ่งที่ผู้มอง (theorós) สรุปขึ้นว่าสิ่งที่ผู้มองมองเห็น (théa) นั้นคืออะไร

อ้างอิง

แก้
  1. ชมรมพัฒนาสังคม. ทฤษฎีสังคม (Social Theory). กรุงเทพฯ : ชมรมพัฒนาสังคม คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2534, น. 7 – 8.
  2. Michael Oakeshott, “What is Political Theory,” in Michael Oakshott. What is History? And Other Essays. (Michael Oakeshott: Selected Writings) (v. 1). Luke O’ Sullivan (ed.) UK : Imprint Academic, 2004, p. 391.