ออน ในพระองค์เจ้าเรณู

ออน หรือชื่อต่อมาว่า เอม เป็นอดีตพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในราชวงศ์จักรี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู[1] ต่อมาได้ใช้ชีวิตนอกพระราชวังด้วยการสมรสกับสามัญชน ปลอมตัวเป็นไพร่ และขายตัวเป็นทาส เนื่องจากประสบปัญหาการเงิน[2] โดยไม่มีใครในราชสำนักให้ความสนใจ ทว่าภายหลังเธอพยายามใช้ความเป็นเจ้าเป็นเครื่องมือช่วยให้ตนและบุตรสาวพ้นจากการเป็นทาส แต่การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อราชสำนัก บรรดาเสนาบดีต่างลงความเห็นให้ถอดเธอออกจากการเป็นหม่อมเจ้าไปเป็นไพร่[3]

ออน
คู่สมรสแสง
บุตรแพ
บิดามารดา

ประวัติ

แก้

ออน หรือ เอม มียศเดิมว่าหม่อมเจ้าออน เกิดช่วง พ.ศ. 2375 เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู กับหม่อมราชวงศ์อิ่ม[3] พระบิดาเป็นต้นราชสกุลเรณุนันท์ (หรือ เรณุนันทน์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาบุนนาค[4][5] ส่วนหม่อมมารดาเป็นน้องสาวของหม่อมราชวงศ์แสงภรรยาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ออนมีน้องสาวร่วมบิดามารดาคือหม่อมเจ้าขรลี[3]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเรณู พระบิดา สิ้นพระชนม์ขณะที่ออนมีชันษาเพียง 9 ปี จึงย้ายเข้าไปอาศัยกับหม่อมเจ้าประสงค์สรร พระธิดาในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์กับหม่อมราชวงศ์แสง ณ พระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้ย้ายไปอาศัยกับหม่อมเจ้าไพบูลย์ พี่ชายต่างมารดา แม้ออนจะมีสถานะเป็นหม่อมเจ้า แต่ก็เป็นเจ้านายระดับล่าง ใช้ชีวิตอย่างคนรับใช้และไร้ตัวตนในวังหลวง เธอเริ่มสนิทสนมกับทาสในเรือนของหม่อมเจ้าไพบูลย์ หนึ่งในนั้นเป็นชายชื่อแสง แสงมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อเอม (ต่อมาเสียชีวิต) และมีพี่สะใภ้ชื่อเอม ต่อมาแสงและเอมพี่สะใภ้ถ่ายตัวออกจากหม่อมเจ้าไพบูลย์ ออนซึ่งรักใคร่อยู่กับแสงจึงหนีไปอยู่กับเอมพี่สะใภ้แถบบ้านลาววัดพระพิเรนทร์ แสงและออนมีลูกสาวด้วยกันคนหนึ่งชื่อแพ[3] แต่ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินมาตลอด[2] หลังเอมพี่สะใภ้เสียชีวิต ออนจึงสวมรอยใช้ชื่อเอมแทนและผูกดอกเบี้ยเป็นทาสเรื่อยมา[3]

เรื่อยมายาวนานจนถึงประมาณ พ.ศ. 2435 ออนในวัย 60 ปี กับชีวิตนอกกำแพงวังหลวง 35 ปี คงทนกับสภาวะความฝืดเคืองไม่ไหว และพยายามใช้ความเป็นเจ้าเป็นเครื่องมือในการปลดพันธนาการจากการเป็นทาสของเธอและบุตรสาววัย 25 ปี ออนหลบหนีออกจากเรือนเถ้าแก่ปริกซึ่งเป็นนายเงินไปอยู่กับหม่อมเจ้าเจริญเนตร น้องสาว ณ วังกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรเพื่อให้ช่วยยืนยันว่าเธอเป็นเจ้าจริง ๆ จะได้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของนายเงินและกลับไปใช้ชีวิตในวังหลวง[6] ทว่าเถ้าแก่ปริกนำเรื่องราวของออน ขึ้นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฟ้องว่าเธอหลบหนี เรื่องเจ้าหญิงมีสามีเป็นไพร่ของออนจึงแดงขึ้น[3]

การที่ออนมีสามีเป็นไพร่ ขายตัวเป็นทาส ถือเป็นความผิดต่อราชสำนัก เรื่องราวของเธอถูกนำเข้าที่ประชุมเสนาบดี ประกอบด้วยสมาชิก 10 คน ได้แก่ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย, พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต), พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ทุกคนต่างลงความเห็นให้ถอดออนออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นไพร่ โดยให้เหตุผลว่า[3]

  1. ไม่รักอิสรภาพหรือเกียรติยศของการเป็นเจ้า โดยปลอมตัวเป็นไพร่และขายตัวเป็นทาส ซึ่งถือเป็นความชั่วช้าที่จะเกิดเป็นมนุษย์แล้วไม่รู้จักรักษาตัวไปเป็นทาส
  2. ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของราชตระกูล โดยเป็นหญิงมีตระกูลแต่กลับไปคบชายชั้นต่ำเป็นสามีจนกระทั่งมีบุตรด้วยกัน จึงควรให้ถอดออกจากเจ้าไปเป็นไพร่

ในการพิจารณาคดี มีเพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยทรงเห็นปัญหาของออน ทรงกล่าวว่า "หม่อมเจ้าหญิงบางองค์เท่านั้นที่ได้รับเบี้ยหวัดพอเลี้ยงตัว หากอีกหลายพระองค์ประสบความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ"[3] และทรงมีความเห็นให้ "ถอดหม่อมเจ้าออนออกจากการเป็นเจ้า แล้วให้รับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อที่จะไม่ออกไปทำเรื่องเสื่อมเสียได้อีก"[3] หลังพิจารณาคดีลงโทษแสงด้วยการเฆี่ยน 30 ครั้ง โทษฐานที่เป็นสามัญชนบังอาจรักใคร่หญิงสูงศักดิ์[7]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า 78. ISBN 974-221-818-8
  2. 2.0 2.1 วีระยุทธ ปีสาลี (8 มิถุนายน 2559). "บันทึกรักท่านหญิง : ความรักและการแต่งงานของเจ้านายสตรีหลัง พ.ศ. 2475". ศิลปวัฒนธรรม (37:8), หน้า 78
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 ภาวิณี บุนนาค (มกราคม–ธันวาคม 2557). เพศวิถีของผู้หญิงในคดีความ สมัยรัชกาลที่ 5 (PDF). วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (8:1). p. 83-85.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  4. สมประสงค์ ทรัพย์พาลี. สายใยในราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560, หน้า 74
  5. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 262
  6. "หม่อมเจ้าหญิงที่รักกับไพร่และสามัญชนจนขายตัวเป็นทาส สุดท้ายต้องถูกถอดยศ". ศิลปวัฒนธรรม. 20 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล. หญิงร้าย. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 262, หน้า 203