วัดพระพิเรนทร์

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดพระพิเรนทร์ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

วัดพระพิเรนทร์
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 326 ถนนวรจักร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูภัทรกิตติสุนทร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2300 สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2379 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ตั้งนามวัดว่า วัดขำเขมการาม จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแปลงนามวัดว่า วัดขำโคราช ใช้มาถึงปี พ.ศ. 2430[1] จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระพิเรนทร์" ตามชื่อบรรดาศักดิ์ผู้บูรณปฏิสังขรณ์

ปี พ.ศ. 2480 ได้ประกอบพิธียกป้ายวัดขึ้นสู่ซุ้มประตูด้านติดกับถนนวรจักร ในยุคเจ้าอาวาส พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) เป็นยุครุ่งเรืองของวัด มีพระสงฆ์สามเณรในวัดประมาณ 50–60 รูป ยังมีกิจนิมนต์นอกวัดในวันเสาร์อาทิตย์ ศาลาวัดมี 45 ศาลา มีพิธีสงฆ์เกือบทุกศาลา วัดแห่งนี้ยังผลิตนักปราชญ์อย่าง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)[2]ที่พำนักจำพรรษา เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปีพ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2519 และได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ในราชทินนามที่ พระศรีวิสุทธิโมลี สถิต ณ วัดพระเรนทร์ กรุงเทพมหานคร

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

ปูชนียวัตถุของวัด คือ อุโบสถที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและตะวันออก อุโบสถยกพื้นสูง อุโบสถไม่มีเสาหาร คันทวย แต่ดัดแปลงเป็นซุ้ม แบบศิลปะตะวันตก หรือแบบกอทิก รับพาไล ส่วนช่อฟ้าลักษณะ เป็นหัวพญานาคอ้าปากเห็นเขี้ยว ภายในประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 เมตร มีพระพุทธรูปยืน ปางห้ามญาติ 2 องค์ ปางห้ามสมุทร 2 องค์ ปางประทานพร 1 องค์ ปางอุ้มบาตร 1 องค์ พระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ 5 องค์ ซุ้มด้านหน้าพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปปางลีลา 1 องค์ ซุ้มด้านหลังมีพระพุทธรูปปางรำพึง บานประตูไม้แกะสลักลายใบเทศ เป็นฝีมือช่างจีน

ระหว่างอุโบสถกับวิหารเป็นที่ตั้งมณฑป ประดิษฐาน รูปหล่อพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตโต) และรูปอดีตเจ้าอาวาส หลายรูป ด้านหน้าวิหารจีน เป็นศาลาคอนกรีต วิหารมีทั้งวิหารไทยและวิหารจีน มีพระเจดีย์ทรงลังกา ติดกับเจดีย์ทรงลังกาคือศาลาประชาอุทิศ[3]

ทำเนียบเจ้าอาวาส แก้

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระอธิการไกร - - ไม่ชัดเจน
2 พระอธิการเอี่ยม - - ลาสิกขา
3 พระอธิการเทศ - - ทุพพลภาพ
4 พระอธิการเหม - 2457 มรณภาพ
5 พระอธิการปอ ธมฺมกถิโก 2458 2472 มรณภาพ
พระมหาปูขุ่น (ผล ชินปุตฺโต) ป.ธ.4 2473 2476 รักษาการ
6 พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ป.ธ.4 2476 2512 มรณภาพ
พระครูวินัยธร ใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ 2512 2515 รักษาการ
7 พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ป.ธ.9 2515 2521 ลาออก
8 พระครูปลัด สมัย กิตฺติทตฺโต 2521 2522 มรณภาพ
9 พระครูวรกิจวิจารณ์ (ใช้เลี้ยง จารุวณฺโณ) 2522 2526 มรณภาพ
10 พระครูกิตติญาณประยุต (ประสม กิตฺติญาโณ) 2526 2531 มรณภาพ
11 พระเทพวิสุทธิโมลี (อุทัย อุทโย) ป.ธ.9 2532 2555 มรณภาพ
12 พระครูภัทรกิตติสุนทร (แถม กิตฺติภทฺโท) ป.ธ.4 2555 - ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "วัดพระพิเรนทร์".[ลิงก์เสีย]
  2. "วัดพระพิเรนทร์ วัดเล็กๆ แต่ผลิตบัณฑิตมาก". โพสต์ทูเดย์. 8 ตุลาคม 2560.
  3. "ทำไมจึงได้ชื่อว่าวัดพระพิเรนทร์". โพสต์ทูเดย์. 17 มิถุนายน 2555.