สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497

สะพานข้ามแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานี

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 หรือ สะพานข้ามแม่น้ำมูล อุบลราชธานี เป็นสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี เชื่อมต่อระหว่างเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ ถนนบนตัวสะพานเป็นเส้นทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 หรือ ถนนอุปราช (เรียกกันในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี) ซึ่งสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 จะตั้งอยู่คู่กับสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปีในด้านทิศตะวันออก โดยสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 จะเป็นสะพานฝั่งขาเข้าเมืองอุบลราชธานี ส่วนสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปีจะเป็นฝั่งขาออกเมืองอุบลราชธานี

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497
สะพานข้ามแม่น้ำมูลอุบลฯ
พิกัด15°13′22″N 104°51′26″E / 15.2227°N 104.8573°E / 15.2227; 104.8573
เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24,
ถนนอุปราช
ข้ามแม่น้ำมูล
ที่ตั้งต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ประเทศไทย
ชื่อทางการสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497
สถานะเปิดใช้งาน
เหนือน้ำสะพานข้ามแม่น้ำมูล ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี
ท้ายน้ำสะพาน 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานแบบคาน
วัสดุคอนกรีตอัดแรง
ความยาว450 เมตร
ความกว้าง9 เมตร
จำนวนตอม่อ19
ประวัติ
ผู้ออกแบบกรมโยธาเทศบาล
วันเริ่มสร้างพ.ศ. 2496
วันสร้างเสร็จพ.ศ. 2497
วันเปิด24 มิถุนายน(สันนิษฐาน) พ.ศ. 2497
  • สะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยในสมัยหนึ่ง
ที่ตั้ง
แผนที่
แผนที่
พิกัดที่ตั้งของสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เคยเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2497

ประวัติ แก้

ก่อนเริ่มสร้างสะพาน (ก่อน พ.ศ. 2496) แก้

ในอดีตการเดินทางข้ามแม่น้ำมูลระหว่างฝั่งเมืองอุบลราชธานี และเมืองวารินชำราบนั้น อาศัยการสัญจรทางเรือเป็นหลัก นิยมใช้เรือแจว และแพขนานยนต์ ล่องไปมาระหว่างหาดสวนยา ฝั่งเมืองวารินชำราบ และท่าจวน หรือ ท่าวังใหม่ ฝั่งเมืองอุบลราชธานี ไม่มีสะพานข้ามเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อปี พ.ศ. 2473 มีการเปิดใช้สถานีรถไฟวารินทร์ (สถานีรถไฟอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งเมืองวารินชำราบ เป็นครั้งแรกที่มีการเดินรถไฟมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีการสัญจรระหว่างสองฝั่งแม่น้ำมูลเพิ่มมากขึ้น จึงมีความคิดริเริ่มในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมูลขึ้นมา[1]

ก่อสร้างสะพาน ตั้งชื่อ และเปิดใช้งาน (พ.ศ. 2496-2535) แก้

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เริ่มการก่อสร้างใน พ.ศ. 2496 ใช้ค่าก่อสร้างจากงบประมาณแผ่นดินประมาณแปดล้านบาทเศษ โดยมีกรมโยธาเทศบาล (ปัจจุบัน คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง) เป็นหน่วยงานหลักในการออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง มีวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างสะพานคือ คุณประสิทธิ์ สุทัศน์กุล และบริษัทผู้รับเหมาสร้างสะพาน คือ บริษัท กำจรก่อสร้าง

สะพานที่ก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีต ไม่มีโครงเหล็กยึดโยงเชื่อมกัน มีความยาว 450 เมตร กว้าง 9 เมตร มีเสา 3 ต้นเป็นตอม่อคอยรับน้ำหนักตัวสะพาน คานของสะพานสร้างด้วยคอนกรีตโปร่งรูปเหลี่ยม ลักษณะคล้ายลูกกรงระเบียง ทางเดินเท้าเป็นทางเท้าลอย ยื่นออกมาจากตัวสะพาน ไม่มีเสารองรับ ด้วยลักษณะโครงสร้างดังกล่าวทำให้ระหว่างการก่อสร้างมีการวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงว่าวิตกกังวลในหมู่ประชาชนชาวอุบลราชธานีว่า สะพานดูไม่มีความแข็งแรง ไม่น่าจะรองรับน้ำหนักอะไรได้ ดูไม่เหมือนสะพานที่ข้ามแม่น้ำสำคัญ ๆ อย่างเช่น สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กรุงเทพฯ หรือ สะพานนวรัฐ ข้ามแม่น้ำปิง ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่กลับเหมือนสะพานข้ามคลองเล็ก ๆ มากกว่า หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับตัวแบบสะพาน ทางราชการก็ได้มีการชี้แจงโต้กลับว่า โครงสร้างของสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 นั้นมีการออกแบบสอดคล้องตามหลักวิชาการสมัยใหม่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการชี้แจงดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่สามารถคลายความวิตกกังวลของชาวอุบลราชธานีได้

เมื่อการก่อสร้างสะพานใกล้จะแล้วเสร็จ จึงต้องมีการตั้งชื่อสะพานเพื่อใช้ในพิธีเปิด และกำหนดให้เป็นชื่อสะพานอย่างเป็นทางการ จึงมีการเปืดให้มีการแสดงความคิดเห็นในการตั้งชื่อสะพาน มีความคิดเห็นต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับชื่อสะพานถูกเสนอขึ้นมา ทั้งจากกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนชาวอุบลราชธานี ซึ่งสามารถแยกความคิดเห็นได้เป็น 3 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 เสนอจากกลุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี (หนึ่งในนั้น คือ นายยงยุทธ พึ่งภพ ส.ส. อุบลราชธานี ชุดที่ 7) ว่าควรตั้งชื่อสะพานนี้ว่า สะพานบูรกรมโกวิท หรือ สะพานบูรกรมเนรมิต โดยมาจากชื่อของ พันเอกหลวงบูรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาล หนึ่งในบุคคลสำคัญในการก่อสร้างสะพานนี้ โดยเป็นผู้สรรหางบประมาณมาก่อสร้าง ด้วยการแปรญัตติจากโครงการต่าง ๆ พร้อมออกใบปลิวแจ้งเพื่อหาเสียงสนับสนุน อย่างไรก็ตามประชาชนชาวอุบลราชธานีโดยทั่วไปไม่เห็นด้วยกับชื่อนี้ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล มิใช่ส่วนรวม

แนวทางที่ 2 เสนอจากกลุ่มข้าราชการบำนาญเมืองอุบลราชธานี (ประกอบด้วย ขุนสาธก ศุภกิจ อดีตสรรพากรจังหวัด, ขุนวรเวธวรรณกิจ อดีตศุภมาตราจังหวัด, ขุนวรวาทพิสุทธิ์ อดีตศึกษาธิการจังหวัด, ขุนอุทารระบิล อดีตปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี และขุนวิเลขกิจโกศล อดีตสมุหบัญชีเทศบาลเมืองอุบลราชธานี) ได้แสดงความคิดเห็นว่า สมควรขอพระราชทานนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ โดยใช้ชื่อว่า สะพานอุบลรัตน์ โดยให้เหตุผลว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงกรมนั้น จะนำชื่อจังหวัดต่าง ๆ มาตั้งพระนามบรรดาศักดิ์หรือราชทินนาม เช่น จังหวัดสุโขทัย ใน กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7), จังหวัดสงขลา ใน กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนกฯ) แต่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ เป็นหัวเมืองเอก ยังไม่มีการนำชื่อจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งพระนามาบรรดาศักดิ์ หรือราชทินนาม พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเลย แต่ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกว่า อุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ชาวอุบลราชธานีต่างก็มีความปราบปลื้ม ภาคภูมิใจ เป็นอย่างมาก จึงสมควรขอพระราชทานนาม อุบลรัตน์ มาเป็นชื่อสะพานแห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคล

แนวทางที่ 3 เสนอจากกลุ่มคณะกรรมการหาทุนสร้างอนุสาวรีย์ "พระวอ-พระตา" และแนวร่วม แสดงความคิดเห็นว่า ควรตั้งชื่อสะพานนี้ว่า สะพานพระวอ-พระตา เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี เช่นเดียวกับ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่ตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้สร้างกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่ได้มีการเสนอชื่อสะพานจากทั้ง 3 แนวทาง ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้เถียงกันเป็นวงกว้าง จนเมื่อใกล้กำหนดการเปิดสะพานก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงได้มีการรวบรวมความคิดเห็นทั้ง 3 แนวทาง เสนอให้รัฐบาลเป็นคนตัดสินชี้ขาด รัฐบาลสมัยนั้นมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และกำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็เรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วเป็นการปกครองระบอบเผด็จการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมุ่งหมายรณรงค์ให้โลกรู้ว่า การปกครองของประเทศไทยนั้นเป็นการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย (Free-Democracy) ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศไทย จะต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย มิใช่ประชาธิปไตยในรูปแบบที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กล่าวอ้าง จึงให้ตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งนี้ว่า สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 และชื่อนี้ก็ได้เป็นชื่อที่ใช้เรียกชื่อสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งนี้นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งมีการติดตั้งแผ่นป้ายชื่อสลักว่า "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗" ที่จุดขึ้นลงทั้งสองฝั่งของสะพาน[2][3]

สำหรับวันเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการของสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 นั้นไม่ได้มีข้อมูลบันทึกไว้แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาหลังจากวันที่ 1 พฤกษภาคม พ.ศ. 2497 เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันที่มีพิธีเปิดศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี (ศ.อ.ศ.อ.) โดยมีพลเอก มังกร พรหมโยธี เดินทางมาเป็นประธาน มีวิดีโอบันทึกไว้ว่า "พลเอก มังกร ต้องเดินทางด้วยแพขนานยนต์ข้ามไปฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำมูลยังก่อสร้างไม่เสร็จ" จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าวันที่เปิดสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 น่าจะเป็นเวลาหลังจากนั้น บ้างสันนิษฐานว่าคือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 เนื่องจากตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 สอดคล้องกับชื่อเสรีประชาธิปไตยของสะพาน[1]

หลังจากเปิดใช้งานสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 สะพานแห่งนี้ก็ได้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นสะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยในสมัยนั้น (ช่วง พ.ศ. 2497) (ปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) สะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทยคือ สะพานติณสูลานนท์) โดยเป็นสะพานสำหรับการคมนาคมที่มีช่องจราจร 2 ช่องจราจร เดินรถได้สองทาง และมีทางเท้าขนาบยาวทั้งสองข้างของสะพาน[2]

รื้อถอน และสร้างสะพานใหม่ (พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน) แก้

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เปิดใช้งาน และตั้งอยู่คู่เมืองอุบลราชธานีเป็นเวลา 36 ปี จึงเริ่มชำรุด และหมดอายุการใช้งาน ในปี พ.ศ. 2535 จึงได้มีการรื้อถอน และสร้างสะพานขึ้นใหม่ที่จุดตำแหน่งของสะพานเดิม โดยยังใช้ชื่อ สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เช่นเดิม พร้อมทั้งสร้างสะพานใหม่อีกหนึ่งสะพานขนานทางด้านข้างทางทิศตะวันออก ตั้งชื่อว่า สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี รวมมี 4 ช่องจราจร ได้กำหนดให้ช่องจราจรบนสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เป็นช่องจราจรที่ใช้สำหรับเข้าเมืองอุบลราชธานี ส่วนช่องจราจรบนสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นช่องจราจรที่ใช้สำหรับออกจากเมืองอุบลราชธานี

ส่วนแผ่นป้ายชื่อบนสะพานถูกเปลี่ยนใหม่เป็นป้าย "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗ (สร้างใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕)" และนำไปตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางสะพาน ตรงขอบราวด้านข้างสะพาน สำหรับแผ่นป้ายชื่อเก่า "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗" แรกเริ่มจะถูกทำลายทิ้ง แต่นายลำดวน สุขพันธ์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ในสมัยนั้น ได้ขอให้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี[4][5]

รายละเอียดของสะพาน แก้

เป็นสะพานแบบคาน สร้างด้วยคอนกรีตอัดแรง ความยาวรวม 450 เมตร โดยประมาณแล้ว เป็นระยะทางลาดฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี 60 เมตร ระยะทางลาดฝั่งอำเภอวารินชำราบ 200 เมตร และระยะทางเหนือน้ำ 190 เมตร ความกว้างสะพาน 9 เมตร มีช่องจราจรบนสะพาน 2 ช่อง เป็นแบบเดินรถทางเดียวไปทางทิศเหนือ (เข้าเมืองอุบลราชธานี) ปัจจุบันเป็นเส้นทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 หรือช่วงหนึ่งของ ถนนอุปราช ด้านข้างมีทางเดินเท้าพร้อมราวคอนกรีตกั้นทั้งสองฝั่งซ้ายขวา บริเวณกลางสะพานมีป้ายสลักชื่อ "สะพานเสรีประชาธิปไตย ๒๔๙๗ (สร้างใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕)" ด้วยตัวอักษรสีทอง พื้นหลังสีขาว ขนาบข้างทั้งสองเลนถนน

ปลายสะพานฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี (ด้านทิศเหนือ) จะเชื่อมต่อกับถนนอุปราช และตัดกับถนนพรหมเทพที่วงเวียนน้ำพุ ฝั่งทิศตะวันออกติดตลาดสดเทศบาล 3 เมืองอุบลราชธานี (ตลาดใหญ่) ฝั่งทิศตะวันตกอยู่ใกล้กับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนปลายสะพานฝั่งอำเภอวารินชำราบ (ด้านทิศใต้) เชื่อมกับบถนนสถิตนิมานการ[6][7]

เหตุการณ์สำคัญ แก้

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี

การชุมนุมปิดสะพานของ นปช. พ.ศ. 2553 แก้

วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มชักธงรบ พร้อมมวลชนประมาณ 300 คน นำรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ขึ้นไปปิดสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 และสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยอ้างสาเหตุของการปิดสะพาน เพื่อเป็นการประท้วงตอบโต้รัฐบาลที่เริ่มใช้ความรุนแรงกดดันผู้ชุมนุมในการชุมนุมของแนวร่วมที่กรุงเทพมหานคร[8]

การชุมนุมของกลุ่มราษฎร คณะประชาชนปลดแอก และแนวร่วม พ.ศ. 2563-64 แก้

สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญในการประท้วงของแนวร่วมกลุ่มราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ใน พ.ศ. 2563-64 มีฐานะเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยอันสมบูรณ์สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้ชุมนุม การประท้วงถูกจัดบนสะพานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอ่านแถลงการณ์ พร้อมชูป้ายขับไล่รัฐบาลของกลุ่มเสรีประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561[9], การรวมตัวของกลุ่มวิ่งไล่ลุง ชูป้ายรุปภาพคณะราษฎร พร้อมทั้งอ่านประกาศคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563[10], กิจกรรม "ดันเพดาน" ของกลุ่มราษฎรอุบลราชธานี พร้อมแนวร่วมสี่ภาค รวมตัว ปราศัย พร้อมอ่านประกาศคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564[11], การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยอุบลราชธานี ปิดสะพาน แสดงกิจกรรมโบกธงประจำกลุ่ม พร้อมชูป้ายผ้าเขียนข้อความโจมตีรัฐบาล และปราศรัยเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแยกตัวไม่สนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564[12]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ไทอีสาน, ภาพเก่าเล่าเรื่อง : สะพานเสรีประชาธิปไตย พ.ศ. 2497 จังหวัดอุบลราชธานี, สืบค้นเมื่อ 2021-09-03
  2. 2.0 2.1 สุวิช คูณผล, "สะพานเสรีประชาธิปไตย สะพานข้ามแม่น้ำมูลแห่งแรกของอุบล". ไกด์อุบล. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03
  3. งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2015-10-26). "สะพานเสรีประชาธิปไตย | ภาพเก่าเล่าเรื่อง..เมืองอุบลราชธานี". esanpedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-08-03.
  4. ตัก อริโย, "บันทึกการเดินทาง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี". www.gotoknow.org.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์) สืบคนเมื่อ 2021-09-03
  5. Phaholtap, Hathairat (2020-08-07). "10 ปีชายคาเรื่องสั้น : วารสารเพื่อเสรีชน". เดอะอีสานเรคคอร์ด. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03
  6. กรมทางหลวง. "ระบบสารสนเทศโครงข่ายทางหลวง". central road database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.
  7. ทีมข่าวเฉพาะกิจ (2019-10-26). "[สาระ+ภาพ] เข้า Google Maps ตามหาอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "แดงอุบลฯปิดสะพานข้ามน้ำมูล". posttoday. 2010-06-14. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. ประชาไท (2018-03-01). "กลุ่มเสรีประชาธิปไตยแถลงฯ 4 ล้มเหลว 4 เลวร้าย ไล่ คสช". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. matichon (2020-06-24). "อุบลฯ ชูภาพ 'คณะราษฎร' กลางสะพานเสรีประชาธิปไตย ชี้ 'ปากกา' เปลี่ยนการเมือง". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. ไทยรัฐ (2021-06-24). "กลุ่มราษฎรที่อุบลราชธานี ร่วมกิจกรรม "ดันเพดาน" พร้อมเครือข่าย 4 ภาค". www.thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. เนชั่นทีวี (2021-08-15). "สามนิ้วชุมนุมสี ครม.บาป เรียกร้อง ตร.ทหาร เลิกหนุนเผด็จการ". NationTV. สืบค้นเมื่อ 2021-09-03.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
สะพานข้ามแม่น้ำมูลในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานข้ามแม่น้ำมูล ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี
 
สะพานเสรีประชาธิปไตย 2497
 
ท้ายน้ำ
สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี