เดซีเร คลารี สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
เดซีเร คลารี หรือ แบร์นาร์ดีน เออเฌนี เดซีเร คลารี (ฝรั่งเศส:Bernardine Eugénie Désirée Clary; 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777 - 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ โดยทรงเป็นพระมเหสีในพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน อดีตนายพลชาวฝรั่งเศสและเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ และครั้งหนึ่งพระนางทรงเคยเป็นคู่หมั้นในนโปเลียน โบนาปาร์ต พระนางทรงเปลี่ยนพระนามอย่างเป็นทางการเป็น เดซีเดอเรีย (Desideria) พระนามในภาษาละติน[1] ซึ่งพระนางก็ไม่ทรงเคยใช้แทนพระองค์เอง[2]
เดซีเร คลารี | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระสาทิสลักษณ์ของพระนางเดซีเร ใน ค.ศ. 1830 | |||||
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ | |||||
สถาปนา | 5 กุมภาพันธ์ 1718 - 8 มีนาคม 1844 | ||||
ราชาภิเษก | 21 สิงหาคม 1719 | ||||
ก่อนหน้า | เฮดวิด เอลิซาเบธ ชาร์ล็อต | ||||
ถัดไป | โฌเซฟีน มักซีมีเลียน เดอ โบอาร์แน | ||||
พระราชสมภพ | 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777 มาร์แซย์, ฝรั่งเศส | ||||
สวรรคต | 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860 สต็อกโฮล์ม, สวีเดนและนอร์เวย์ | (83 ปี)||||
ฝังพระศพ | ริดดาร์โฮล์ม, สต็อกโฮล์ม, สวีเดน | ||||
พระราชสวามี | พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮัน แห่งสวีเดน | ||||
พระราชโอรส | พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ตระกูลคลารี แบร์นาด็อต (โดยการอภิเษกสมรส) | ||||
พระราชบิดา | ฟร็องซัว คลารี | ||||
พระราชมารดา | ฟร็องซวซ โรซ โซมี | ||||
ลายพระอภิไธย |
พระราชประวัติ
แก้ช่วงต้นพระชนม์ชีพและครอบครัว
แก้เดซีเร คลารีประสูติที่ มาร์แซย์ ฝรั่งเศส เป็นบุตรีของฟรองซัวส์ คลารี (เกิดที่มาร์แซย์, แวงต์เฟร์เรออล, 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1725 - เสียชีวิตที่มาร์แซย์, 20 มกราคม ค.ศ. 1794) เป็นพ่อค้าและผู้ผลิต ผ้าไหมที่มั่งคั้ง กับภริยาคนที่สองของเขา (สมรสกันเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1759) ฟรองซัวส์ โรเซ โซมิส (เกิดที่มาร์แซย์, แวงต์เฟร์เรออล, 30 สิงหาคม ค.ศ. 1737 - เสียชีวิตที่ปารีส, 28 มกราคม ค.ศ. 1815) ซึ่งเขาเคยสมรสมาก่อนที่มาร์แซย์ ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1751 กับกาเบรียล เฟลชง (เกิดค.ศ. 1732 - เสียชีวิต 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1758) โดยไม่มีทายาท พี่สาวของเธอคือ จูลี คลารีได้สมรสกับโจเซฟ โบนาปาร์ต และหลังจากนั้นได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเนเปิลส์และสเปน น้องชายของเดซีเรคือ นิโกลัส โจเซฟ คลารี ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงเตคลารีที่ 1 (1st Comte Clary) และสมรสกับแอนน์ ฌานน์ โรแยร์ ซึ่งมีธิดาหนึ่งคนคือ ซีไนเด ฟรองซัวส์ คลารี (เกิดที่ปารีส 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1812 - เสียชีวืตที่ปารีส 27 เมษายน ค.ศ. 1884) เป็นภริยาของนโปเลียน เบอติเอร์ เดอ วากรัม ดยุกที่ 2 แห่งวากรัม (เกิด 10 กันยายน ค.ศ. 1810 - เสียชีวิต 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1887) เป็นบุตรชายในนายพลหลุยส์-อาแล็กซ็องดร์ แบร์ตีเย และมีทายาท (ซึ่งเชื้อสายนี้มีคนหนึ่งเป็นภริยาคนแรกของฌออากีม เจ้าชายมูว์ราที่ 4)
เดซีเรได้รับการศึกษาจากคอนแวนต์ซึ่งมักจะเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรสาวของตระกูลชนชั้นสูงในฝรั่งเศสยุคก่อนการปฏิวัติ แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 คอนแวนต์ได้ถูกปิด[3] และเดซีเรเดินทางกลับไปอยู่กับบิดามารดา การศึกษาของเดซีเรได้ถูกบรรยายว่าตื้นเขิน[4] เธออุทิศให้กับครอบครัวของเธอตลอดทั้งชีวิต ในปีค.ศ. 1794 บิดาของเธอเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นานมีการค้นพบว่าเขาได้ขอร้องให้สถานะของครอบครัวสูงขึ้นก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ (คำขอถูกปฏิเสธ) ด้วยเหตุนี้ เอเตียง พี่ชายของเธอ ซึ่งเป็นหัวหน้าของครอบครัวและเป็นผู้ปกครองของเธอ ได้ถูกจับกุมที่บ้านของบิดาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิวัติ ตามเรื่องราวเดิม เธอพร้อมกับซูซาน พี่สะใภ้ได้เดินทางไปพบหัวหน้ากรมตำรวจ อัลบิตเต เพื่อร้องขอให้ปล่อยตัวพี่ชายของเธอ ในห้องรับรอง เธอได้เผลอหลับไปและได้ถูกลืมโดยผู้คนได้ยกย่องซูซานที่ทำความตั้งใจได้สำเร็จ เธอพบกับโจเซฟ โบนาปาร์ตซึ่งเดินทางมายังบ้านของเธอ โจเซฟได้แนะนำตัวกับครอบครัวของเธอ และปนะนำให้มีการหมั้นระหว่างโจเซฟและเดซีเร และนโปเลียน โบนาปาร์ตก็ได้แนะนำตัวกับครอบครัว มีรายงานว่านโปเลียนได้แนะนำโจเซฟว่า โจเซฟควรหมั้นกับพี่สาวของเธอคือ จูลี คลารี ในขณะที่เขาจะหมั้นกับเดซีเร ข้อเสนอนี้ได้รับการตกลงจากคนสี่คนที่เกี่ยวข้อง โจเซฟสมรสกับจูลี และเดซีเรหมั้นกับนโปเลียน โบนาปาร์ต ในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1795 ในระหว่างปีค.ศ. 1795 - 1797 เดซีเรอยู่อาศัยกับมารดาที่เจนัว อิตาลี ที่ซึ่งโจเซฟ พี่เขยของเธอได้มาปฏิบัติภารกิจทางการทูต พวกเขาจึงมาร่วมกับตระกูลโบนาปาร์ต ในปีค.ศ. 1795 นโปเลียนได้มีความสัมพันธ์กับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน เขาได้ถอนหมั้นเดซีเรในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งทำให้เธอเป็นอิสระจากคำสัญญาในการแต่งงานและเขาสมรสกับโฌเซฟีนในปีค.ศ. 1796
ในปีค.ศ. 1797 เดซีเรเดินทางไปยังโรม พักอาศัยกับจูลี พี่สาวของเธอและโจเซฟ พี่เขย ซึ่งเป็นทูตฝรั่งเศสประจำรัฐสันตะปาปา ความสัมพันธ์ของเธอกับจูลียังคงแนบแน่นและลึกซึ้ง เธอได้หมั้นช่วงสั้นๆกับมาทูแรง-ลีโอนาร์ด ดูโปต์ นายพลชาวฝรั่งเศส การหมั้นได้รับการจัดการโดยนโปเลียนไม่มากก็น้อย ซึ่งต้องการชดเชยเธอด้วยการจัดการแต่งงาน และดูโปต์ก็สนใจสินสอดและสถานะที่เป็นน้องสะใภ้ในนโปเลียนของเธอ เธอตกลงที่จะหมั้นอย่างไม่เต็มใจ เพราะเป็นที่รู้กันว่าดูโปต์มีคู่รักที่คบหาอย่างยาวนานและมีบุตรชาย ในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1807 ในวันก่อนวันแต่งงานของพวกเขา ดูโปต์ได้ถูกสังหารในการจลาจลต่อต้านฝรั่งเศสนอกสถานพำนักปาลาซโซคอร์ซินีในโรม[4]
มาดามเบอร์นาดอตต์
แก้หลังจากที่เดินทางกลับฝรั่งเศส เดซีเรได้พำนักกับจูลีและโจเซฟที่ปารีส ในกรุงปารีส เธอพำนักอยู่กับตระกูลโบนาปาร์ตซึ่งต่อต้านโฌเซฟีน หลังจากที่นโปเลียนถอนหมั้นเธอและหันมาสนับสนุนเธอแทน เธอเองก็ไม่ชอบโฌเซฟีนเช่นกัน ซึ่งเธอได้เรียกโฌเซฟีนว่าโสเภณีสูงอายุซึ่งมีชื่อเสียงที่ไม่ดีไม่งาม แต่เธอก็ไม่ได้แสดงตนเป็นศัตรูกับโฌเซฟีนเช่นเดียวกับสมาชิกในตระกูลโบนาปาร์ต เธอตอบรับการขอแต่งงานจากนายพลฌ็อง-อันดอเช ฌูโนต์ แต่ข้อเสนอก็ถูกปฏิเสธไปเมื่อมันถูกส่งผ่านไปยังออกุสต์ เดอ มาร์มงต์[5] เดซีเรได้พบกับสามีในอนาคตคือ ฌ็อง-บาติสต์ ฌูลส์ เบอร์นาดอตต์ นายพลและนักการเมืองชาวฝรั่งเศส ทั้งคู่สมรสกันโดยพิธีทางฆราวาสที่โซในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798[5] ในสัญญาสมรส เดซีเรมีอิสระทางการเงิน[4] ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1799 เธอได้ให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนคือ โจเซฟ ฟรองซัวส์ ออสการ์ เบอร์นาดอตต์
ในช่วงการรัฐประหารปีค.ศ. 1799 เมื่อนโปเลียนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ เดซีเรได้ถูกจัดการให้เป็นเครื่องมือของทั้งตระกูลโบนาปาร์ต ซึ่งต้องการให้เบอร์นาดอตต์สนับสนุนนโปเลียน และฝ่ายเบอร์นาดอตต์ที่ต้องการให้เขาดำเนินการด้วยตัวเอง ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้อิทธิพลของเธอเหนือเบอร์นาดอตต์และพยายามล้วงข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของเขา ด้วยการตระหนักถึงเรื่องนี้ เขาจึงไม่บอกแผนการของเขาแก่เธอ แต่เขาก็ได้พูดในภายหลังว่าเป็นเพราะอิทธิพลของครอบครัวซึ่งทำให้เขาไม่ตอบโต้อะไรในช่วงการรัฐประหาร ในระหว่างรัฐประหาร ทั้งคู่ถูกบังคับให้ลี้ภัยที่วิลลาชานเมืองของนายพลซาร์ราแซงที่วิลเลนิวแซงต์จอร์จ เดซีเรปลอมตัวเป็นผู้ชายในระหว่างการหลบหนี เธอยังคงติดต่อกับจูลีตลอดเวลา และนโปเลียนได้ยอมรับในตัวเบอร์นาดอตต์ก็เพราะเธอ
ในปีค.ศ. 1800 เดซีเรได้อยู่ในสถานที่ที่เกิดการลอบสังหารนโปเลียนซึ่งล้มเหลว เมื่อระเบิดได้ระเบิดขึ้นบริเวณระหว่างรถม้าของนโปเลียนกับรถม้าที่เธอและแคโรไลน์ โบนาปาร์ตนั่งมา เดซีเรไม่ได้สนใจการเมือง แต่ด้วยเธอมีสายสัมพันธ์อันดีทำให้ต้องกลายเป็นหุ่นเชิดของสามีและนโปเลียน ซึ่งใช้อิทธิพลที่มีต่อเธอซึ่งกันและกันในการส่งผ่านข้อความ[4]ในปีค.ศ. 1801 เบอร์นาดอตต์ได้เข้าแทรกแซงเธอตามความต้องการของนายพลเออร์นูฟโดยผ่านโจเซฟ[5] ในปีค.ศ. 1802 แผนการสมคบคิดต่อต้านนโปเลียนได้ถูกเปิดเผย นโปเลียนได้สงสัยเบอร์นาดอตต์ และได้ทำการสอบปากคำเดซีเร ซึ่งเธอได้บอกเขาอย่างบริสุทธิใจว่าสามีของเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนการ แม้ว่าเขาจะได้พบกับนายพลมอโรที่บ้านและเบอร์นาดอตต์มีการพึมพำถึงชื่อของเขาในตอนนอนหลับ[5] หลังจากเหตุการณ์นี้นโปเลียนได้แต่งตั้งเบอร์นาดอตต์เป็นผู้ว่าการลุยเซียนา ทั้งคู่พร้อมที่จะเดินทางโดยเรือแล้วเมื่อมีคำสั่งเพิกถอนการแต่งตั้ง
ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1804 สามีของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายพลแห่งฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เธอได้รับตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เธอได้ถูกอธิบายว่าเป็นคนที่ไม่สนใจในสถานะทางการเมือง เช่นเดียวกับจูลี พี่สาวของเธอ นโปเลียนได้ให้เบี้ยเลี้ยงแก่เธอ และมอบบ้านในรูดีอองฌูแซงต์-ฮอนอเร ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอพำนักเมื่ออยู่ที่ปารีส ในพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 เธอได้ตามเสด็จจักรพรรดินีโฌเซฟีน ซึ่งขบวนนำโดยพี่สะใภ้ของเธอ และเธอได้ทำหน้าที่ถือผ้าซับพระพักตร์และผ้าคลุมพระพักตร์ของจักรพรรดินีโฌเซฟีนไว้กับหมอน[5]
สามีของเธอเป็นนายพลชั้นแนวหน้าของกองทัพฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนและมักจะไม่ได้อยู่ที่ปารีส เขาชอบให้เธอเป็นสมาชิกของสังคมชั้นสูงและให้เธอมีเวลาเรียนเต้นรำและมารยาทจากอาจารย์มงเตล เดซีเรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชวงศ์โบนาปาร์ต ตามคำขอของสามี เธอจึงไม่ได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์และไม่ได้เข้าร่วมราชสำนัก เธออาศัยอยู่ในแวดวงของราชวงศ์โบนาปาร์ตและตระกูลคลารีและยังเข้าร่วมสังคมชั้นสูง ซึ่งเธอมีความสุขกับดนตรี การละครและการเต้นรำ ในขณะที่เธอใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนไปสปาหรือไปยังวิลลาต่างจังหวัดที่ลาแกรงและออเตอุล เชื่อว่าเธอมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับอังเก ไชป์เป ชายชาวคอร์ซิกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันของเธอ[4][5] เธอถูกบรรยายว่าเป็นคนที่น่ารักและเป็นที่ชื่นชอบและเป็นนักเต้นรำที่มีความสามารถ แต่คำบรรยายนี้ไม่ถูกระบุชื่อว่าเป็นใคร เธอมักจะแยกจากสามีโดยเธอต้องอยู่ในกรุงปารีสในช่วงที่เขาไม่อยู่ เธอเป็นคนบอกเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในปารีสโดยติดต่อถึงกัน[5]
ในระหว่างที่เบอร์นาดอตต์ดำรงเป็นผู้ว่าการกลุ่มเมืองฮันเซียติกและผู้ว่าการฮาโนเวอร์ เดซีเรได้เดินทางไปเยี่ยมเขาที่ฮัมบวร์คพร้อมกับบุตรชายถึงสองสามครั้ง แต่เธอก็ไม่เคยพำนักอยู่นาน ซึ่งต้องกลับปารีสในไม่ช้า เธอไม่มีความสุขที่จะอยู่ที่ใดก็ตามยกเว้นปารีส ในปีค.ศ. 1806 เธอถูกบังคับให้ตามเสด็จจักรพรรดินีโฌเซฟีนไปยังไมนทซ์ เมื่อสามีของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โวในปีค.ศ. 1806 เดซีเรถามอย่างกังวลใจถึงการจะต้องถูกบังคับให้ออกจากปารีส แต่เธอก็มีความสุขเมื่อเธอมั่นใจว่าไม่ต้องออกไปจากปารีส[4] ในปีค.ศ. 1807 เธอได้เดินทางไปเยี่ยมเบอร์นาดอตต์ในสปานเดาและในมาเรียนบูร์กที่ปรัสเซียตะวันออก ซึ่งเธอได้เดินทางไปดูแลสามีซึ่งกำลังเจ็บป่วย
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1810 เบอร์นาดอตต์ได้ถูกเลือกให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์สวีเดน ในตอนแรกเดซีเรคิดว่ากรณีนี้คล้ายกับกรณีตำแหน่งเจ้าชายแห่งปงเตคอร์โว และไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องเดินทางไปสวีเดนมากไปกว่าการที่ถูกบังคับให้ไปปงเตคอร์โว เธอกล่าวว่า "ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เหมือนกับปงเตคอร์โว สถานที่ที่ซึ่งเราได้ตำแหน่ง"[5] ในภายหลังเธอยอมรับว่า เธอไม่เคยสนใจประเทศอื่นใดไปนอกจากฝรั่งเศสเลยและเธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับต่างประเทศดังเช่นที่เธอพยายามไม่สนใจประเทศเหล่านั้น และนั่นทำให้เธอสิ้นหวังเมื่อเธอคาดว่าในเวลานี้ต้องเดินทางออกจากปารีส เดซีเรเดินทางล่าช้าและไม่ได้ออกไปพร้อมสามีของเธอ เธอยินดีกับสถานะที่เธอได้รับจากราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อเธอได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารี (เธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานของราชสำนักทุกสัปดาห์) และเธอได้หวั่นกลัวเรื่องราวของคนรับใช้ชาวฝรั่งเศส ซึ่งพยายามทำให้เธอหมดกำลังใจที่จะเดินทางไปโดยบอกว่าสวีเดนเป็นประเทศที่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและเต็มไปด้วยหมีขาว[5] ในที่สุดเธอได้ออกจากปารีสและเดินทางผ่านฮัมบวร์คและโครนบอร์กในเดนมาร์ก ข้ามออเรซุนด์ไปยังเฮลซิงบอร์กในสวีเดน (หัวข้อต่อจากนี้จะมีการใช้ราชาศัพท์เนื่องจากเดซีเรได้รับการเลื่อนสถานะเป็นมกุฎราชกุมารี)
มกุฎราชกุมารี
แก้ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1810 มกุฎราชกุมารีเดซีเรเสด็จมาพร้อมเจ้าชายออสการ์ พระโอรสที่เฮลซิงบอร์กในสวีเดน และในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1811 พระนางทรงได้รับการแนะนำต่อราชสำนักสวีเดนที่พระราชวังหลวงในสต็อกโฮล์ม ที่เฮลซิงบอร์กพระนางทรงพบกับแคโรไลน์ เลเวนฮุปต์ นางสนองพระโอษฐ์ประจำห้องฉลองพระองค์และมาเรียนา คอสคูล นางพระกำนัลที่ได้รับการแต่งตั้ง สภาพอากาศของสวีเดนเป็นสิ่งที่ทำให้พระนางตกพระทัยมาก พระนางเสด็จมาถึงในช่วงฤดูหนาวและทรงเกลียดหิมะมากจนถึงขนาดที่ทรงร่ำไห้[4] พระสวามีของพระนางทรงเปลี่ยนศาสนาทันทีที่ได้รับการเลือกให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์สวีเดน และเมื่อเสด็จมาถึงพระโอรสของพระนางก็ทรงเปลี่ยนศาสนาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องแยกพระโอรสออกมาจากพระนางเพื่อให้ทรงได้รับการอภิบาลในฐานะนิกายลูเธอรัน แต่ก็ไม่มีข้อเรียกร้องให้พระนางเปลี่ยนศาสนา และได้มีการจัดโบสถ์คาทอลิกสำหรับพระนางโดยเฉพาะ[5] พระนางเดซีเรไม่ทรงเคร่งในศาสนา[5] แต่การทำพิธีมิสซาแบบคาทอลิกเป็นสิ่งที่ทำให้ทรงระลึกถึงฝรั่งเศส และพระนางทรงเฉลิมฉลองการประสูติของพระโอรสในจักรพรรดินโปเลียน กษัตริย์แห่งโรม โดยทรงทำพิธีเพลงสรรเสริญพระเจ้าแสดงความกตัญญูภายในโบสถ์ของพระนาง
มกุฎราชกุมารีเดซีเรไม่ทรงสามารถปรับพระองค์เข้ากับมารยาททางราชสำนักหรือการมีส่วนร่วมในพระกรณียกิจได้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารี คณะผู้ติดตามชาวฝรั่งเศสของพระนางเดซีเร โดยเฉพาะเอลีซ ลา ฟลอเต ทำให้พระนางไม่ทรงได้รับความนิยมในระหว่างที่ประทับในสวีเดนโดยทรงสนับสนุนให้เอลีซวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง[2] มกุฎราชกุมารีเดซีเรทรงกล่าวว่าพระนางทรงได้รับการปฏิบัติอย่างเย่อหยิ่งจากราชสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมเด็จพระราชินีเฮดวิก เอลิซาเบธ ชาร์ล็อต แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโซเฟีย มักดาลีนาทรงมีพระเมตตาต่อพระนาง สมเด็จพระราชินีได้บรรยายถึงมกุฎราชกุมารีในพระอนุทินที่มีชื่อเสียงของพระนางไว้ว่า มกุฎราชกุมารีเป็นคนที่จิตใจดี ในกว้างและมีความสุขในสิ่งที่เธอเลือกที่จะเป็นและเป็นคนที่ไม่มีเล่ห์เพทุบาย แต่เธอยังคงอยู่ในวัยกำดัด เป็น"เด็กนิสัยเสีย" ซึ่งเกลียดคำขอร้องทุกอย่างและไม่สามารถควบคุมอากัปกิริยาท่าทางได้ สมเด็จพระราชินีทรงบรรยายว่าพระนางเดซีเรเป็น "ผู้หญิงฝรั่งเศสทุกกระเบียดนิ้ว" ซึ่งเกลียดและจะวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เป็นฝรั่งเศส และ "เพราะเหตุนี้ เธอจึงไม่เป็นที่ชื่นชอบ"[6]
พระนางเดซีเรเสด็จออกจากสวีเดนในฤดูร้อน ปีค.ศ. 1811 โดยทรงใช้พระนามว่าเคานท์เตสแห่งกอตลันด์ ทรงเสด็จอย่างเป็นทางการจากปัญหาด้านสุขภาพ และทรงเสด็จกลับปารีส โดยที่พระสวามีและพระโอรสยังคงประทับอยู่ที่สวีเดน พระนางทรงกล่าวว่าชนชั้นสูงในสวีเดนได้ปฏิบัติต่อพระนางราวกับน้ำแข็ง ทรงตรัสว่า "อย่าพูดคุยกับฉันที่สต็อกโฮล์ม มันทำให้ฉันจะเป็นไข้พอๆกับที่ฉันได้ยินคำพูดเหล่านั้น"[7] ที่สวีเดน พระสวามีของพระนางทรงมีพระสนมคือ มาเรียนา โคสกูล
ภายใต้พระนาม เคานท์เตสแห่งกอตลันด์ พระนางเดซีเรทรงพำนักอย่างเป็นทางการที่กรุงปารีสโดยไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเมือง แต่ที่พำนักของพระนางที่รูดีอองฌูได้ถูกจับตามองโดยตำรวจลับและลายพระหัตถ์ของพระนางได้ถูกเปิดอ่านโดยตำรวจลับ พระนางไม่ทรงมีราชสำนัก ทรงมีเพียงแต่พระสหายหญิง เอลีซ ลา ฟลอเต ที่ให้ความช่วยเหลือพระนางในฐานะเจ้าภาพในการรับรองแขก และโดยส่วนใหญ่แล้วพระนางทรงอยู่ในแวดวงของพระสหายสนิทและครอบครัว พระนางทรงต้อนรับตาแลร็องและโจเซฟ ฟูเชบ่อยๆซึ่งได้มาตามคำสั่งของจักรพรรดินโปเลียนซึ่งต้องการแทรกแซงอิทธิพลของพระสวามีของพระนางโดยผ่านพระนาง[5] ในปีค.ศ. 1812 พระนางทรงทำหน้าที่เป็นคนกลางเมื่อจักรพรรดินโปเลียนทรงเจรจากับพระสวามีของพระนางโดยผ่านดยุกแห่งบาซซาโน พระสวามีของพระนางทรงโปรดให้พระนางประทับในปารีส ซึ่งพระนางสามารถสงบพระอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของจักรพรรดินโปเลียนต่อการเมืองของสวีเดนและจะทำให้พระองค์ทราบถึงเหตุการณ์การเมืองยุโรป แต่การติดต่อกันได้สูญหายซึ่งไม่ได้รู้จักวิธีทางการเมืองอย่างที่ควรเป็น[5] ในระหว่างการพบกันระหว่างพระสวามีของพระนางกับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียในอาโบในปีค.ศ. 1812 พระเจ้าซาร์ทรงแนะนำให้พระสวามีของพระนางหย่ากับพระนางและเสกสมรสกับหนึ่งในพระขนิษฐาของพระองค์ แต่พระสวามีของพระนางทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้[5]
ก่อนที่จักรพรรดินโปเลียนจะบุกรัสเซีย พระองค์ได้ขอให้พระนางเดซีเรเสด็จออกไปจากฝรั่งเศส พระนางทรงจัดการเตรียมพร้อมที่จะเสด็จออกแต่ทรงพยายามหลีกเลี่ยง ในฐานะที่พระนางทรงพำนักอย่างเป็นทางการโดยไม่ระบุตัวตน พระนางสามารถหลีกเลี่ยงจากการเมืองได้เมื่อสวีเดนและฝรั่งเศสทำสงครามกันในปีค.ศ. 1813 ในฤดูร้อนปีค.ศ. 1813 พระนางทรงถอนพระองค์จากสิทธิในทรัพย์สินของพระนางจูลี มอร์เตฟงแตนและเจ้าหญิงคาทารีนาแห่งเวือร์ทเทิมแบร์คเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจก่อนที่จะทรงกลับไปยังปารีสในวันส่งท้ายปีเก่าปีค.ศ. 1814 ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1814 การมาถึงของกองทัพพันธมิตรในกรุงปารีสหลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ ที่พำนักของพระนางได้กลายเป็นที่ลี้ภัยของพระนางจูลี พระเชษฐภคินี พระนางเดซีเรทรงพบกับพระสวามีของพระนาง ผู้ซึ่งอยู่ในกลุ่มนายพลพันธมิตรที่เดินทางมาถึงปารีส พระนางไม่ทรงเสด็จกลับสวีเดนพร้อมพระสวามี แต่เป็นที่ดึงดูดความสนใจ เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่เสด็จกลับโดยเคานท์ยาค็อบ เดอ ลา การ์ดี ชาวสวีเดนที่มอร์เตฟงแตน พระนางทรงตอบว่าทรงเกรงว่าถ้าพระนางเสด็จกลับจะทรงถูกหย่า[5]
ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1814 พระนางทรงได้รับการแนะนำให้รู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งพระนางได้เสด็จไปเยี่ยมราชสำนักทุกๆปีและเป็นผู้ซึ่งพระนางทรงชื่นชอบ หลังจากสมัยร้อยวันในปีค.ศ. 1815 เชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศส รวมถึงพระนางจูลี พระเชษฐภคินีของพระนางด้วย และเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงโปรดปรานพระนาง พระนางก็ทรงขอร้องพระองค์บ่อยครั้งให้ทรงยกเว้นโทษของพระนางจูลีและอนุญาตให้พระนางประทับในปารีสได้ ในปีค.ศ. 1816 มกุฎราชกุมารีเดซีเรทรงตั้งพระทัยจะเสด็จกลับสวีเดน แต่ทรงปรารถนาที่จะพาพระนางจูลี พระเชษฐภคินีโดยเสด็จด้วย พระสวามีของพระนางเห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่ฉลาด เพราะพระนางจูลีเป็นพระมเหสีของเชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตและและการปรากฏของพระนางอาจจะเป็นการแสดงสัญญาณว่าพระองค์อยู่ฝ่ายเดียวกับอดีตจักรพรรดินโปเลียนซึ่งทรงถูกปลดจากราชบัลลังก์ และในที่สุดเรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้น[8] ในจุดนี้ มกุฎราชกุมารีเดซีเรมักจะทรงใช้เวลากับเฌอแมน เดอ สตอลและจูเลียต เรกามิเยร์ ในปีค.ศ. 1817 พระสวามีของพระนางเดซีเรได้ตั้งให้เคานท์เดอมงตรีชาร์ดไปเป็นสายลับในที่พำนักของพระนางเพื่อรายงานว่าพระนางกระทำอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อพระองค์[4]
สมเด็จพระราชินี
แก้ในปีค.ศ. 1818 พระสวามีของพระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน ซึ่งทำให้พระนางเดซีเรกลายเป็นสมเด็จพระราชินี แต่พระนางยังคงประทับอยู่ในฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่เป็นทางการคือปัญหาสุขภาพ ซึ่งทำให้พระนางเป็นจุดสนใจของสื่อในปารีสและผู้มาเยี่ยมเยือนพระนาง หลังจากที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งสวีเดนทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระนาง ทรงแนะนำให้พระนางรับนางสนองพระโอษฐ์ชาวสวีเดน แต่พระนางทรงตอบกลับไปว่าไม่จำเป็นที่พระนางจะมีข้าราชสำนักเพราะว่าพระนางยังทรงพำนักอยู่โดยไม่เปิดเผยนาม สมเด็จพระราชินีเดซีเรยังไม่ทรงเปิดเผยพระองค์อย่างเป็นทางการและไม่ทรงจัดตั้งราชสำนัก แต่พระนางก็ยังทรงติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตสวีเดน พระนางเสด็จในราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 บ่อยครั้ง และทรงมักต้อนรับชาวสวีเดนในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ โดยที่ไม่ทรงใช้พระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีอย่างเป็นทางการ แต่ทรงใช้พระอิสริยยศ เคานท์เตส แทน
ในช่วงนี้ พระนางทรงมีจิตปฏิพัทธ์กับนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ดยุกแห่งรีเชอลีเยอ ผู้ซึ่งมีเสน่ห์น่าดึงดูดใจ[5] ตามเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า พระนางทรงตกหลุมรักเขาหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ได้มอบหมายให้เขาปฏิเสธคำอุทธรณ์ที่พระนางทรงวิงวอนให้กับพระนางจูลี พระเชษฐภคินี โดยทรงมองว่าเข้าเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ที่สุด จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่พระนาทรงตกหลุมรักเขา แต่ความรักนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรีเชอลีเยอ ซึ่งเขามักจะกล่าวถึงพระนางว่าเป็น "พระราชินีผู้บ้าคลั่ง" ของเขา[5] ตามบันทึกของลอเร ฌูโนต์ ดัชเชสแห่งอบรานเตส์กล่าวว่า พระนางไม่ทรงกล้าที่จะตรัสกับเขาหรือเข้าใกล้เขา แต่พระนางเสด็จตามเขาไปทุกแห่ง และพยายามตรัสกับเขา ทรงติดตามเขาไปยังสปาและทรงวางช่อดอกไม้ที่ห้องของเขา[5] พระนางทรงตามเขาไปทั่วจนเมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ. 1822[4] อีกเรื่องราวของพฤติกรรมของพระนางที่มีต่อเขา คือ การที่พระสวามีของพระนางได้ทรงมอบหมายพระราชกิจให้พระนางติดต่อกับรีเชอลีเยอด้วยเหตุทางการเมือง แต่อากัปกิริยาของเขาทำให้พระนางทรงเขินอายเกินไปที่จะทำเช่นนั้น[5]
ในช่วงฤดูร้อน ปีค.ศ. 1822 พระราชโอรสของพระนาง เจ้าชายออสการ์ได้เสด็จประพาสไปทั่วยุโรปเพื่อพบพระชายาในอนาคต และตัดสินพระทัยว่าต้องทรงมาพบกัน การพบกันที่ประเทศฝรั่งเศสถือว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นเจ้าชายออสการ์และพระมารดาได้พบกันที่เมืองอาเคินและทรงพบกันครั้งที่สองที่สวิตเซอร์แลนด์ ในปีค.ศ. 1823 สมเด็จพระราชินีเดซีเรได้เสด็จกลับสวีเดนพร้อมกับพระชายาในพระโอรสคือ เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก ซึ่งเดิมพระนางทรงตั้งพระทัยเพียงแค่เสด็จเยือน แต่กลายเป็นว่าพระนางทรงประทับอยู่ในสวีเดนตราบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สมเด็จพระราชินีเดซีเรและเจ้าหญิงโจเซฟีนเสด็จถึงสต็อกโฮล์มในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1823 สามวันต่อมา ราชสำนักและรัฐบาลได้ถวายบังคมต่อสมเด็จพระราชินีเดซีเร และวันที่ 19 มิถุนายน พระนางทรงต้อนรับเจ้าหญิงโจเซฟีนอย่างเป็นทางการและทรงร่วมพิธีเสกสมรส
ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1829 พระนางได้ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนที่สตอร์คีร์กานในสต็อกโฮล์ม พระราชพิธีราชาภิเษกของพระนางเป็นการแสดงถึงการเสด็จกลับมาของพระนาง แต่พระสวามีของพระนางทรงเลื่อนออกไปเพราะทรงเกรงว่าจะเกิดความยากลำบากทางศาสนา มีข้อเสนอจริงๆว่าพระนางควรเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนามาเป็นลูเธอรันก่อนที่จะราชาภิเษก แต่ท้ายที่สุด ปัญหานี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญมากพอที่จะสามารถกดดันได้ และพระนางทรงได้สวมมงกุฎในที่สุด พระนางทรงได้รับการสวมมงกุฎตามคำขอของพระนาง หลังจากที่ทรงกดดันพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันด้วยความปรารถนาที่ว่า พระนางต้องได้สวมมงกุฎ "มิฉะนั้นพระนางจะไม่ได้ทรงเป็นพระราชินีที่ถูกต้องตามกฎหมาย"[9] เหตุผลนี้เชื่อว่าพระนางทรงเล็งเห็นว่าวิธีนี้สามารถป้องกันพระนางจากการหย่าร้างได้[10] ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระนางทรงบรรยายว่าทรงรู้สึกประทับใจมากในระหว่างพระราชพิธีราชาภิเษกของพระนาง[5] อย่างไรก็ตามพระนางไม่ทรงเคยได้สวมมงกุฎในนอร์เวย์เนื่องจากทรงเป็นคาทอลิก สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงปรารถนาที่จะสวมมงกุฎสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์เช่นกัน และได้มีการตั้งงบประมาณสำหรับเป็นเงินทุนในการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในนอร์เวย์ในปีค.ศ. 1830 แต่ท้ายที่สุดกลับเป็นไปไม่ได้ พระนางเดซีเรทรงเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีคาริน แมนสด็อทเทอร์ ในปีค.ศ. 1568
ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางกับพระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันค่อนข้างจะห่างเหิน แต่ทรงเป็นมิตรกัน พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงปฏิบัติต่อพระนางอย่างฉุนเฉียวบ้าง ในขณะที่พระนางทรงประพฤติพระองค์อย่างง่ายๆและไม่ทรงมีพิธีรีตองกับพระสวามี ราชสำนักประหลาดใจจากพฤติกรรมของพระนาง พระนางทรงสามารถเสด็จเข้าห้องบรรทมของกษัตริย์และทรงประทับอยู่ที่นั่นจนเวลากลางคืน แม้ว่าพระสวามีจะทรงตรัสเปรยเป็นนัยกับพระนางว่า พระองค์ประสงค์ที่จะประทับตามลำพังกับเคานท์แมกนัส บราเฮ คนโปรดของพระองค์[5] ทุกๆเช้า พระนางจะเสด็จไปพบพระสวามีของพระนางในฉลองพระองค์ชุดบรรทม ซึ่งถูกมองว่ากลายเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะพระสวามีของพระนางมักจะทรงประชุมกับเหล่ามาชิกสภาของรัฐในห้องบรรทมเวลานั้น เนื่องจากพระอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ทำให้มักจะเห็นทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ด้วยกันนานๆครั้ง เนื่องจากสมเด็จพระราชินีมักจะเสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำสาย ตัวอย่างเช่น พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงหยุดเสวยพระกระยาหารกับพระนางและพระองค์ทรงโปรดที่จะเสวยพระกระยาหารเพียงพระองค์เดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับขุนนางในราชสำนักที่จะนั่งที่โต๊ะรับประทานอาหารเพียงคนเดียว โดยที่ไม่มีกษัตริย์และพระราชินีร่วมประทับด้วย[4]
ไม่มีอะไรชี้ให้เห็นว่าพระนางทรงเคยมีอิทธิพลทางการเมืองใดๆเลย และพระนางทรงได้รับการยกย่องจากการที่ไม่ทรงเข้าแทรกแซงทางการเมือง เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าคาร์ล โยฮันทรงกระวนกระวาย พระนางทรงเป็นที่รู้จักโดยทรงสามารถทำให้พระสวามีสงบลงได้ โดยจะทรงเรียก "เบอร์นาดอตต์!"[5] อีกหนึ่งเกร็ดเล็กๆน้อยๆ เมื่อพระเจ้าคาร์ล โยฮัน ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักในฐานะทรงมีพระอารมณ์ร้อน โดยจะทรงหาวิธีการลงโทษที่ปรึกษาด้านการเมืองบางคนในวิธีต่างๆเพื่อระบายพระอารมณ์ โดยทุกการลงทัณฑ์ที่พระองค์ทรงบัญชา พระนางจะทรงตีพัดของพระนางลงบนโต๊ะและตรัสกับข้าราชบริพารโดยรอบว่า "พระองค์ทำร้ายแมวไม่ได้หรอก!"[5] ซึ่งทั้งราชสำนักก็เริ่มหัวเราะ พระนางยังทรงตรัสอีกว่า "โอ้ ข้าชอบที่จะได้ยินพระองค์พูดเช่นนั้น พระองค์ผู้ซึ่งไม่มีใจที่จะบีบคอแมวได้!"[5]
ในช่วงทศวรรษที่ 1830 เป็นช่วงเวลาที่พระนางทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชินีอย่างกระตือรือร้นที่สุด ซึ่งเป็นสถานะที่พระนางไม่ทรงอยากเป็น ทศวรรษนี้ถูกบรรยายว่าเป็นช่วงเวลาของงานรื่นเริงและงานเลี้ยง มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในราชสำนักสวีเดนนับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แต่สมเด็จพระราชนีเดซีเรมักจะทรงเหน็ดเหนื่อยกับพระราชสถานะของพระนางและมีพระประสงค์ที่จะเสด็จกลับฝรั่งเศส แต่พระสวามีของพระนางไม่ทรงอนุญาต ในฐานะพระราชินี พระนางเดซีเรทรงเป็นที่รู้จีกมากในพระอุปนิสัยที่แปลกพิสดาร พระนางไม่ทรงตรงต่อเวลา พระนางมักจะทรงเสด็จช้าบ่อยๆ เป็นผลให้แขกที่มาเข้าเฝ้าต้องรอ บางทีอาจเป็นการที่ทรงพยายามยั่วยุพระสวามี โดยปกติพระนางจะเข้าบรรทมเวลา 4 นาฬิกาในตอนเช้าและตื่นขึ้นมาเวลาบ่ายสองโมง ก่อนที่จะบรรทม พระนางมักจะทรง "ประทับรถม้า" ตลอดการดำเนิน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติเพราะเป็นเวลากลางคืน เมื่อสภาพอากาศไม่ดี พระนางจะทรงแล่นรถไปรอบสนามพระราชวังเป็นปกติ มันเป็นเรื่องปกติเมื่อพระนางเสด็จถึงการเข้าชมละครโอเปรา โดยการแสดงได้จบลงแล้ว
สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงสนพระทัยในแฟชั่น ทรงสนพระทัยและภาคภูมิในพระเกศาของพระนางและฉลองพระองค์ชุดตัดต่ำจวบจนกระทั่งทรงสูงวัย พระนางทรงโปรดการเต้นรำ ปัญหาพื้นฐานของพระนางในราชสำนักคือถ้าหญิงสาวซึ่งออกงานสังคมครั้งแรกชื่นชอบการเต้นรำ พระนางก็จะทรงเต้นรำด้วยและทรงเต้นรำได้ดีจนกระทั่งในวัยชรา บทสนทนาของพระนางมักจะเกี่ยวกับพระชนม์ชีพเดิมของพระนางในฝรั่งเศส มาร์แซล ตาเช เดอ ลา ปาเฌอรี พระนัดดาของพระนาง ซึ่งเป็นพนักงานผ้าพระภูษาของพระนางในช่วงที่พระนางเดซีเรทรงเป็นพระราชินีปีแรก ได้กล่าวว่า พระนางมักจะทรงตรัสถึงเรื่องราวเก่าๆของพระนาง หลังจากที่พระนัดดาเดินทางกลับฝรั่งเศส พระราชินีมักจะทรงพบปะกับคาร์ล อัร์ฟเวดสัน พ่อค้าผู้ร่ำรวย ซึ่งขึ้นหนึ่งเคยเป็นแขกที่มาเยี่ยมเยียนบ้านของพระนางเมื่อทรงพระเยาว์[5] พระนางไม่ทรงเคยเป็นที่นิยมในราชสำนักเลย ซึ่งพระนางถูกมองว่าทรงเป็นพวกเย่อหยิ่งเพราะที่ผ่านมาพระนางทรงเป็นธิดาของพ่อค้าและเป็นพวกสาธารณรัฐนิยม พระนางไม่ทรงเคยเรียนรู้ที่จะตรัสภาษาสวีเดน และถึงแม้ว่ามีเรื่องราวเล็กๆน้อยๆว่าพระนางทรงพยายามตรัสภาษานี้ก็ตาม
สมเด็จพระราชินีเดซีเรทรงเป็นคาทอลิก แต่ก็แตกต่างจากมกุฎราชกุมารีโจเซฟีน ผู้เป็นพระสุณิสา ซึ่งทรงเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นคาทอลิกสายปฏิบัติ ในขณะที่พระนางเดซีเรไม่ได้ทรงศรัทธาทางศาสนามากนัก[5] พระสุณิสาผู้ศรัทธาในคาทอลิกมักจะรบเร้าให้พระราชินีเข้าร่วมพิธีมิสซาและสารภาพบาป[4] พระนางทรงเข้าร่วมมิสซาเพื่อให้มกุฎราชกุมารีโจเซฟีนพอพระทัย แต่พระนางก็ทรงยืนยันว่าไม่ทรงมีบาปให่สารภาพ เมื่อบาทหลวงเริ่มเทศนาและติติงพระนาง พระนางจะทรงมีรับสั่งให้เขาเงียบและกล่าวว่าคำพูดพวกนั้นทำให้พระนางขุ่นเคือง[5]
พระตำหนักฤดูร้อนที่พระนางทรงโปรดคือ พระราชวังโรเซอส์เบิร์ก ที่ซึ่งพระนางทรงเลี้ยงไก่เป็นสัตว์ทรงเลี้ยง แต่เนื่องจากพระราชวังโรเซอสืเบิร์กอยู่ห่างไกลมาก พระนางจึงมักจะประทับที่พระราชวังดรอทนิงโฮล์ม หรือ พระราชวังฮากา พระนางมักจะเสด็จเยือนสปาของสวีเดน เช่น สปารามโลซา พระนางทรงมีนางสนองพระโอษฐ์ชาวนอร์เวย์ อาทิเช่น คาทินกา ฟัลเบ และจานา ฟัลเบ เนื่องจากพระนางเดซีเรทรงมีพระอุปนิสัยที่ประหลาด ทำให้เป็นที่รู้จักในนามว่า "Strapatsfröknarna" (มีความหมายประมาณว่า "มาดมัวแซลภัยพิบัติ")[4] ระหว่างที่ทรงประทับที่โรเซอส์เบิร์กและทั้งๆที่พระนางทรงเป็นคนกลัวความมืด แต่พระนางมักจะทรงพระดำเนินเล่นในสวนตอนกลางคืนและมักจะทรงสั่งให้นางสนองพระโอษฐ์คนหนึ่งเดินนำหน้าพระนางซึ่งทรงฉลองพระองค์ชุดขาว เพื่อทำการไล่ค้างคาวออกไป[2]
พระนางเดซีเรยังทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ด้วย พระนางเสด็จเยือนนอร์เวย์สองครั้ง ครั้งแรกในปีค.ศ. 1825[4] ในนอร์เวย์ พระนางมักจะทรงเป้นที่รู้จักในฐานะผู้อุปถัมภ์ Eugenia stiftelse (มูลนิธิยูจีเนีย) เพื่อเด็กสาวผู้ยากไร้ในออสโล ซึ่งเป็นมูลนิธิของมาเรีย สชานดอร์ฟ ซึ่งพระนางทรงให้การอุปถัมภ์และทรงเสด็จเยือนบ่อยๆตั้งแต่ค.ศ. 1828 ถึงค.ศ. 1847
สมเด็จพระพันปีหลวง
แก้ในปีค.ศ. 1844 พระเจ้าคาร์ลที่ 14 โยฮันเสด็จสวรรคต และพระนางทรงกลายเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง หลังจากที่พระสวามีสวรรคต พระโอรสของพระนางได้ขึ้นครองราชย์เป็น พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน ทรงมีพระราชานุญาตให้พระนางทรงใช้พื้นที่ในพระราชวังหลวงและราชสำนักของพระนางเช่นเดิม ซึ่งหมายความว่าพระนางไม่ต้องทรงย้ายที่ประทับ เมื่อสมเด็จพระราชินีโจเซฟีน พระสุณิสาทรงโน้มน้าวให้ลดข้าราชสำนักลงเพื่อพระนางเองจะได้เป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่ที่จะมีราชสำนักขนาดใหญ่ในขณะที่ทรงเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง พระนางทรงตอบว่า "เป็นเรื่องจริง ที่ฉันไม่ได้ต้องการพวกเขาทั้งหมด แต่พวกเขาทั้งหมดนั่นต่างหากที่ต้องการฉัน"[5] พระนางทรงเป็นนายจ้างที่มีน้ำพระทัยและทรงเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ข้ารับใช้
สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงมีส่วนร่วมในงานการกุศล แต่ก็ทรงกระทำอย่างรอบคอบ และมีการพูดถึงว่า "พระนางทรงงานการกุศลมากมายแต่มักจะทรงกระทำอย่างเงียบเชียบ" ตัวอย่างหนึ่งคือ พระนางทรงสนับสนุนผู้หญิงชนชั้นสูงที่ยากจนโดยให้พวกเขาทำงานเย็บผ้า ในปีเดียวกับที่ทรงเป็นม่าย พระนางทรงได้รับการบรรยายจากทูตฝรั่งเศส บาโกต์ ว่า "พระยศที่สูงส่งไม่ได้ทำให้พระนางเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในการสร้างพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระนางยังคงเป็นแม่ค้าธรรมดาๆและจะยังทรงเป็นต่อไป ซึ่งน่าประหลาดใจในพระอิสริยยศของพระนาง และน่าแปลกใจที่พบลักษณะเช่นนี้ในหมู่ราชวงศ์"[5] เขายังคงกล่าวต่อไปว่าพระนางทรงเป็นสตรีที่มีพระทัยดียิ่ง
หลังจากเสด็จกลับสวีเดน พระนางทรงเก็บรักษาบ้านรูดีอองฌู ที่พำนักในปารีส โดยทรงรอคอยที่จะได้กลับไป ซึ่งที่นั่นได้รับการจัดการโดยวิลเลเนิฟ พระขนิษฐาของพระนางและข้ารับใช้เก่าแก่ชาวฝรั่งเศสของพระนาง ในขณะที่ธุรกิจของพระนางในฝรั่งเศสได้รับการจัดการจาก วิกอมเต เดอ คลารี พระนัดดาของพระนาง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1853 หลังจากนโปเลียนที่ 3 ตั้งตนเป็นจักรพรรดิฝรั่งเศส พระนางทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับปารีส และเมื่อทุกสิ่งพร้อมหมดแล้ว พระนางได้รับการส่งเสด็จไปยังเรือพระที่นั่งในคาร์ลสกรูนาโดยเจ้าชายออสการ์ พระราชนัดดาทรงเป็นผู้นำเสด็จ พระนางทรงกลัวการเดินทางทางทะเล แต่ก็เป็นหนทางเดียวที่พระนางจะเสด็จไปได้[5]
ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระนางทรงกังวลถึงบ้านที่พำนักของพระนางในปารีสอันเนื่องจากแผนการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเมืองปารีสของฌอร์ฌ-เออแชน ฮุสมานน์ แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงกำหนดการยกเว้นให้พระนางและรับรองว่าที่พำนักของพระนางยังคงอยู่จนกระทั่งหนึ่งปีหลังจากพระนางสิ้นพระชนม์[5] สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับพระสุณิสา และทรงเห็นพระทัย เจ้าหญิงหลุยส์แห่งเนเธอร์แลนด์ พระชายาในพระราชนัดดา
หลังจากที่ทรงตกพุ่มหม้าย พระนางทรงมีพระอุปนิสัยที่แปลกยิ่งขึ้น ทรงเข้าบรรทมในตอนเช้า และทรงตื่นขึ้นมาในตอนเย็น ทรงเสวยพระกระยาหารเช้าในตอนกลางคืน และทรงนั่งรถม้าออกไปบนถนน บนสนาม หรือทรงพระดำเนินไปรอบๆทางเดินของพระราชวังด้วยแสงเทียน[4] มีเรื่องราวเกร็ดเล็กน้องบรรยายถึงเรื่องนี้ ในปีค.ศ. 1843 (ก่อนพระเจ้าคาร์ล โยฮันสวรรคตหนึ่งปี) เจ้าหน้าที่รักษาพระราชวังได้พบเห็นสมเด็จพระราชินีทรงฉลองพระองค์เต็มยศบนเฉลียงพระราชวังในตอนกลางคืน เมื่อเขากลับบ้านจึงไปพูดกับภรรยา โดยติเตียนภรรยาว่า เธอขี้เกียจมากเมื่อเทียบกับพระราชินี พระนางทรงตื่นบรรทมก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นเสียอีก[2] เขาคิดว่าพระนางทรงตื่นบรรทมเร็วกว่าใครทุกคนในเมือง แต่ในความเป้นจริงแล้ว พระนางยังไม่ได้ทรงเข้าบรรทม พระนางมักจะทรงตื่นบรรทมเวลาบ่ายสามโมงหรือบ่ายสี่โมง
สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรทรงโปรดที่จะเสด็จเยือนโดยที่ไม่แจ้งล่วงหน้ามาก่อน และบางครั้งพระนางจะมีทรงพาเด็กๆบนท้องถนนกลับมายังพระราชวัง และทรงประทานขนมนมเนยแก่เด็กเหล่านั้น พระนางมักไม่ทรงตรัสกับเด็กเหล่านั้นอย่างจริงจัง แต่ทรงตรัสแต่เพียง "Kom, kom!" (ภาษาสวีเดน แปลว่า "มา มาสิ!")[4]
มีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่ต้องตื่นขึ้นมาเพราะรถม้าของพระนางเมื่อทรงประทับผ่านในเวลากลางคืน รถม้าพระที่นั่งบางครั้งก็หยุด ซึ่งพระนางจะทรงงีบบรรทมเพียงชั่วครู่และเมื่อทรงตื่นขึ้นมา รถม้าก็วิ่งต่อไป บางครั้งรถม้าของพระนางได้ขับผ่านวงเวียนรอบพระราชวัง ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นที่รู้จักว่า "Kring Kring" (ภาษาสวีเดน แปลว่า "วนไปรอบๆ"; ซึ่งเป็นคำภาษาสวีเดนเพียงไม่กี่คำที่พระนางทรงทราบ)[2]
ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระนางได้เสด็จไปชมการแสดงที่โรงละครโอเปราหลวงสวีเดนเพียงหลังจากที่การแสดงจบลง สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเรได้สวรรคตในสต็อกโฮล์ม วันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา ในรัชกาลของพระเจ้าคาร์ลที่ 15 แห่งสวีเดน พระราชนัดดา พระบรมศพได้ฝังที่โบสถ์ริดดาร์โฮล์ม
พระโอรส
แก้พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน | ค.ศ. 1799 |
4 กรกฎาคมค.ศ. 1859 |
8 กรกฎาคมอภิเษกสมรส วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1823 กับ เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าคาร์ลที่ 15 แห่งสวีเดน เจ้าชายกุสตาฟ ดยุกแห่งอุปป์ลันด์ พระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน เจ้าหญิงยูจีนีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ เจ้าชายออกัส ดยุกแห่งดาลาร์นา |
พระอิสริยยศ
แก้- 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777 - 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798 : มาดมัวแซล เบอร์นาร์ดีน เออเฌนี เดซีเร คลารี
- 17 สิงหาคม ค.ศ. 1798 - ค.ศ. 1806 : มาดามเบอร์นาดอตต์
- ค.ศ. 1806 - ค.ศ. 1810 : เจ้าหญิงแห่งปงเตคอร์โว
- ค.ศ. 1810 - ค.ศ. 1814 : มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน
- ในฝรั่งเศส ฤดูร้อน ค.ศ. 1811 - 13 มิถุนายน ค.ศ. 1823 : กงเตสเดอกอตลันด์ (เคานท์เตสแห่งกอตลันด์)
- ค.ศ. 1814 - 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 : มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
- 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 - 8 มีนาคม ค.ศ. 1844 : สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
- 8 มีนาคม ค.ศ. 1844 - 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1859 : สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
- 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1859 - 17 ธันวาคม ค.ศ. 1860 : สมเด็จพระพันปีหลวงเดซีเดอเรียแห่งสวีเดนและนอร์เวย์
ธรรมเนียมพระยศของ เดซิเรแห่งสวีเดน | |
---|---|
ธงประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | Her Majesty (ใต้ฝ่าละอองพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า' |
การขานรับ | Your Majesry (พระพุทธเจ้าค่ะ/เพคะ) |
เดซีเร คลารีในแวดวงวรรณกรรม
แก้เดซีเร คลารีทรงมีบทบาทในเรื่องราววรรณกรรมและภาพยนตร์หลายเรื่อง[11]
- Désirée (1951) โดยแอนน์มารี เซลินโก นวนิยายจากอัตชีวประวัติจำลอง ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาเยอรมัน โดย คีเปนฮอยเออและวิตช์ และกลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก ได้รับการแปลหลายภาษา รวมทั้ง ภาษาจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี กรีก ฮังการี สเปน เปอร์เซียและตุรกี
- Le Destin fabuleux de Désirée Clary (หรือ มาดมัวแซล เดซีเร) (1942) ภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศส โดย ซาชา กีทรี
- Désirée (1954) ภาพยนตร์อเมริกันซึ่งพื้นเรื่องมาจากหนังสือของเซลินโก แสดงนำโดยจีน ซิมมอนส์และมาร์ลอน แบรนโด
- The Bernadotte Album (1918) เป็น"กระบวนการรักษาภาพ"โดยจอห์น บี. แลนแกน ในภาพชีวิตของคลารีและโฌเซฟีน (หรือ มารี ตาเช) ซึ่งอ้างถึงการ "ตั้งอยู่บนบันทึกความทรงจำของมารี ตาเชและเดซีเร คลารี"
เชิงอรรถ
แก้- ↑ "Desideria - Meaning of the name". www.babynamespedia.com.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Lars Elgklou (1995). Familjen Bernadotte. En släktkrönika. (The Bernadotte family. A family chronicle.) (ภาษาสวีเดน). Skogs Boktryckeri Trelleborg. p. 21. ISBN 91-7054-755-6.
- ↑ Revue politique et littéraire: revue bleue. p. 576 (French).
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 Lars O. Lagerqvist (1979). Bernadotternas drottningar (The queens of the Bernadotte dynasty) (ภาษาสวีเดน). Albert Bonniers Förlag AB. ISBN 91-0-042916-3.
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 5.16 5.17 5.18 5.19 5.20 5.21 5.22 5.23 5.24 5.25 5.26 5.27 5.28 5.29 5.30 Lindwall, Lilly: (Swedish) Desideria. Bernadotternas anmoder.[Desideria. The Ancestral Mother of the Bernadottes] Stockholm. Åhlén och Åkerlunds Förlag A.-B. (1919)
- ↑ Cecilia af Klercker (1939). Hedvig Elisabeth Charlottas dagbok IX 1807-1811 (The diaries of Hedvig Elizabeth Charlotte IX 1807-1811) (ภาษาสวีเดน). P.A. Norstedt & Söners förlag. pp. 636–637, 654–655, 705.
- ↑ Lars Elgklou (1978). Bernadotte. Historien - eller historier - om en familjen. Stockholm: Askild & Kärnekull Förlag AB.
- ↑ Cecilia af Klercker (översättning och redigering) (1942). Hedvig Elisabeth Charlottas dagbok IX (The diaries of Hedwig Elizabeth Charlotte IX) (ภาษาสวีเดน). P.A. Norstedt & Söners förlag.
- ↑ Anne-Marie Riiber (1959). Drottning Sophia. (Queen Sophia) Uppsala: J. A. Lindblads Förlag. page 149. ISBN (Swedish)
- ↑ Robert Braun (1950). Silvertronen, En bok om drottning Josefine av Sverige-Norge. (The Silver Throne. A Book about Queen Josefine of Sweden-Norway) Stockholm: Norlin Förlag AB. ISBN (Swedish) page 145
- ↑ "Michael Sibalis (2014). Napoleon's Fiancée: The Fabulous Destiny of Désirée Clary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-10. สืบค้นเมื่อ 2015-05-05.
อ้างอิง
แก้- Désirée Clary d'après sa correspondance inédite avec Bonaparte, Bernadotte et sa famille, Gabriel Girod de l'Ain, Paris: Hachette (1959).
- Herman Lindqvist, Historien om alla Sveriges drottningar (The Histories of the queens of Sweden) (In Swedish)
- Lars O. Lagerqvist (1979). Bernadotternas drottningar (The queens of the Bernadotte dynasty) (ภาษาสวีเดน). Albert Bonniers Förlag AB. ISBN 91-0-042916-3.
- Cecilia af Klercker (översättning och redigering) (1942). Hedvig Elisabeth Charlottas dagbok IX (The diaries of Hedwig Elizabeth Charlotte IX) (ภาษาสวีเดน). P.A. Norstedt & Söners förlag.
- Lars Elgklou (1995). Familjen Bernadotte. En släktkrönika. (The Bernadotte family. A family chronicle.) (ภาษาสวีเดน). Skogs Boktryckeri Trelleborg. ISBN 91-7054-755-6.
- Lindwall, Lilly: (Swedish) Desideria. Bernadotternas anmoder.[Desideria. The Ancestral Mother of the Bernadottes] Stockholm. Åhlén och Åkerlunds Förlag A.-B. (1919)
- Desideria, Svenskt biografiskt lexikon (SBL)
- Desideria, Norsk biografisk leksikon
เว็บไซต์อ้างอิง
แก้ก่อนหน้า | เดซีเร คลารี สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าหญิงเฮดวิก เอลิซาเบธ ชาร์ล็อตแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อตท็อป | สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนและนอร์เวย์ (ราชวงศ์เบอร์นาดอตต์) (2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 – 8 มีนาคม ค.ศ. 1844) |
เจ้าหญิงโจเซฟีนแห่งเลาช์เทนเบิร์ก |