สถานีท่าพระ

สถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

สถานีท่าพระ (อังกฤษ: Tha Phra Station, รหัส BL01) เป็นสถานีรถไฟฟ้าแบบยกระดับ ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยเป็นสถานีแรกที่เชื่อมต่อเส้นทางในสายเดียวกัน ก่อให้เกิดเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าวงแหวนภายในเขตกรุงเทพมหานครชั้นกลางและชั้นใน ยกระดับเหนือแยกท่าพระ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนเพชรเกษม และถนนรัชดาภิเษกฝั่งใต้ ในพื้นที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ท่าพระ
BL01

Tha Phra
สถานีมุมมองจากถนนจรัญสนิทวงศ์
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°43′46″N 100°28′27″E / 13.72938°N 100.47421°E / 13.72938; 100.47421
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ผู้ให้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
สาย     สายสีน้ำเงิน
ชานชาลาชานชาลาด้านข้าง(ล่าง) และ ชานชาลาเกาะกลาง(บน)
ราง4
โครงสร้าง
ประเภทโครงสร้างยกระดับ
ข้อมูลอื่น
รหัสสถานีBL01
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 (ชานชาลาล่าง)
23 ธันวาคม พ.ศ. 2562 (ชานชาลาบน)
ผู้โดยสาร
25641,629,852
การเชื่อมต่อ
สถานีก่อนหน้า รถไฟฟ้ามหานคร สถานีต่อไป
บางไผ่
มุ่งหน้า หลักสอง
สายสีน้ำเงิน
ชานชาลาล่าง
อิสรภาพ
มุ่งหน้า ท่าพระ ผ่าน บางซื่อ
จรัญฯ 13
มุ่งหน้า หลักสอง ผ่าน บางซื่อ
สายสีน้ำเงิน
ชานชาลาบน
สถานีปลายทาง
ที่ตั้ง
แผนที่

การออกแบบ แก้

สถานีท่าพระเป็นสถานีเดียวของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ที่มีลักษณะพิเศษสำคัญหลายจุด อาทิ เป็นสถานีที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นทางในสายเดียวกัน, เป็นสถานีที่ยกระดับคร่อมอุโมงค์ลอดแยกของถนนจรัญสนิทวงศ์และสะพานข้ามแยกของถนนเพชรเกษม และเป็นสถานีเชื่อมต่อที่สำคัญของฝั่งธนบุรี เช่นเดียวกับสถานีบางหว้าที่มีลักษณะการเชื่อมต่อที่ไม่ต่างจากกัน ทำให้การก่อสร้างสถานีต้องใช้ลักษณะเชิงวิศวกรรมชั้นสูง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรทั้งบนท้องถนนและบนสะพานข้ามแยก[1]

สถานีนี้ถูกออกแบบให้มีลักษณะโปร่ง โล่ง ทันสมัย โดยมีการติดตั้งกำแพงกันตก (Parapet) ด้วยวัสดุโปร่งแสงแทนแผงคอนกรีต เนื่องจากสถานีตัดผ่านชุมชน[2]

แผนผังสถานี แก้

U4
ชั้นชานชาลาบน
(เส้นจรัญสนิทวงศ์)
ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย
ชานชาลา 3 (จอดส่งผู้โดยสารเฉพาะขบวนรถที่กลับศูนย์ซ่อมบำรุง)
ชานชาลา 4 สายสีน้ำเงิน มุ่งหน้า หลักสอง (ผ่าน บางขุนนนท์-สิรินธร-บางอ้อ)
ประตูรถจะเปิดทางด้านขวา
U3
ชั้นชานชาลาล่าง
(เส้นเพชรเกษม)
ชานชาลาด้านข้าง, ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย
ชานชาลา 2 สายสีน้ำเงิน มุ่งหน้า ท่าพระ (ผ่าน สนามไชย-วัดมังกร-สีลม
ชานชาลา 1 สายสีน้ำเงิน มุ่งหน้า หลักสอง (ผ่าน บางหว้า-ภาษีเจริญ-หลักสอง)
ชานชาลาด้านข้าง, ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย
U2
ชั้นขายบัตรโดยสาร
ทางออก 1-4, ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร, เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร, ร้านค้า
G
ระดับถนน
ป้ายรถประจำทาง, แยกท่าพระ, ถนนจรัญสนิทวงศ์, ถนนเพชรเกษม

เนื่องจากเป็นสถานีปลายทาง ขบวนรถจากสถานีจรัญฯ 13 จะกลับทิศก่อนบริเวณจุดสับรางก่อนเข้าถึงสถานีแล้วค่อยมาจอดเทียบที่ชานชาลาที่ 4 บริเวณชั้น 4 ของสถานี ผู้โดยสารที่มาจากสถานีรายทางจะต้องลงจากขบวนรถทั้งหมด และเนื่องจากที่ชั้น 4 เป็นชานชาลาเกาะกลาง ผู้โดยสารที่จะโดยสารไปยังสถานีจรัญฯ 13 - สถานีบางซื่อ - สถานีหลักสอง จะใช้ชานชาลาร่วมกับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสถานีรายทาง โดยผู้โดยสารที่จะโดยสารไปยังสถานีดังกล่าวจะต้องรอจนกว่าผู้โดยสารที่มาจากสถานีรายทางออกจากขบวนรถทั้งหมด และรอให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบสภาพรถไฟฟ้าให้เรียบร้อยเสียก่อน สำหรับชานชาลาที่ 3 โดยปกติจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดพักขบวนรถเพื่อเตรียมให้บริการเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน และเป็นชานชาลาสำหรับส่งผู้โดยสารออกจากขบวนรถเท่านั้น โดยขบวนรถที่ใช้ชานชาลานี้ จะไม่รับผู้โดยสารมุ่งหน้าสถานีจรัญฯ 13 แต่จะกลับเข้าสู่ศูนย์ซ่อมบำรุงกัลปพฤกษ์ต่อไป

อนึ่ง ผู้โดยสารจากสถานีเตาปูน-สถานีจรัญฯ 13 ที่ต้องการเดินทางไปสถานีบางไผ่-สถานีหลักสอง หรือ สถานีอิสรภาพ-สถานีหัวลำโพง สามารถลัดเส้นทางด้วยการเปลี่ยนขบวนรถที่ชานชาลาหมายเลข 1 (มุ่งหน้า สถานีหลักสอง) หรือชานชาลาหมายเลข 2 (มุ่งหน้า สถานีอิสรภาพ - สถานีบางซื่อ - สถานีท่าพระ) โดยใช้บันไดทางลงจากชั้น 4 มายังชั้น 3 ได้ทันที ไม่ต้องโดยสารย้อนกลับไปทางสถานีบางซื่อตามเส้นทางเดิม และเช่นกันกับผู้โดยสารที่มาจากสถานีหลักสอง-สถานีบางไผ่ หรือจากสถานีหัวลำโพง-สถานีอิสรภาพ ที่ต้องการเดินทางไปสถานีจรัญฯ 13-สถานีเตาปูน สามารถลัดเส้นทางด้วยการเปลี่ยนขบวนรถที่ชานชาลาหมาย 4 (มุ่งหน้า สถานีจรัญฯ 13 - สถานีบางซื่อ - สถานีหลักสอง) โดยใช้บันไดทางขึ้นไปชั้น 4 จากชานชาลาหมายเลข 1 หรือชานชาลาหมายเลข 2 ได้ทันที โดยไม่ต้องโดยสารย้อนกลับไปทางสถานีหัวลำโพงตามเส้นทางเดิม

รายละเอียดสถานี แก้

สัญลักษณ์ของสถานี แก้

ใช้สีน้ำเงินตกแต่งบริเวณเสาสถานี ประตูกั้นชานชาลา ทางขึ้น-ลงสถานี และป้ายบอกทางต่าง ๆ ในสถานี เพื่อบ่งบอกว่าเป็นสถานีในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนหลังคาใช้สีเทาเพื่อสื่อว่าเป็นสถานีรายทาง กรณีนี้จะแตกต่างจากสถานีบางหว้าและสถานีบางขุนนนท์ที่ใช้หลังคาสีน้ำเงิน เนื่องจากสถานีท่าพระเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายทางในเส้นทางเดียวกัน จึงไม่ถือว่าเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสาย

รูปแบบของสถานี แก้

เป็นสถานียกระดับและใช้ชานชาลารูปแบบต่างกัน ชานชาลาส่วนใต้ (เส้นเพชรเกษม) เป็นชานชาลาด้านข้าง (Station with Side Platform) และชานชาลาส่วนเหนือ (เส้นจรัญสนิทวงศ์) เป็นชานชาลาแบบกลาง (Station with Central Platform)

ทางเข้า-ออกสถานี แก้

  • 1 ซอยเพชรเกษม 10/2, ตลาดท่าพระรุ่งเรือง (ลิฟต์) (บันไดเลื่อนขึ้น)
  • 2A ซอยเพชรเกษม 11, โรงเรียนสายประสิทธิ์วิทยา, วิทยาลัยเทคโนโลยีสายประสิทธิ์บริหารธุรกิจ, สมาคมชาวบางแค
  • 2B สำนักงานเขตบางกอกใหญ่, ซอยรัชดาภิเษก 25, วัดประดู่ในทรงธรรม, ตลาดท่าพระ (บันไดเลื่อนขึ้น)
  • 3 ซอยเพชรเกษม 12 (ลิฟต์) (บันไดเลื่อนขึ้นและลง)
  • 4 ซอยคริสตจักร, ซอยจรัญสนิทวงศ์ 1, วัดท่าพระ (ลิฟต์) (บันไดเลื่อนขึ้นและลง)

การจัดพื้นที่ในตัวสถานี แก้

แบ่งเป็น 4 ชั้น ประกอบด้วย

  • 4 ชั้นชานชาลาบน (Upper platform level) ได้แก่ ชานชาลา 3, 4 มุ่งหน้าสถานีจรัญฯ 13-บางซื่อ-หลักสอง
  • 3 ชั้นชานชาลาล่าง (Lower platform level) ได้แก่ ชานชาลา 1 มุ่งหน้าสถานีหลักสอง และชานชาลา 2 มุ่งหน้าสถานีอิสรภาพ-บางซื่อ-ท่าพระ
  • 2 ชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร, เหรียญโดยสารและห้องประชาสัมพันธ์ (Concourse Level)
  • 1 ชั้นระดับถนน (Ground Level) ทางออก 1-4

เวลาให้บริการ แก้

ปลายทาง วัน ขบวนแรก ขบวนสุดท้าย
สายสีน้ำเงิน[3]
ชานชาลาที่ 1
BL38 หลักสอง จันทร์ – ศุกร์ 05.43 00.18
เสาร์ – อาทิตย์ นักขัตฤกษ์ 05.59 00.18
ชานชาลาที่ 2
BL01 ท่าพระ
(ผ่านบางซื่อ)
จันทร์ – ศุกร์ 05.43 23.19
เสาร์ – อาทิตย์ นักขัตฤกษ์ 05.59 23.19
ขบวนสุดท้ายเชื่อมต่อสายสีม่วง 22.33
ชานชาลาที่ 3 และ 4
BL38 หลักสอง
(ผ่านบางซื่อ)
จันทร์ – ศุกร์ 05.43 00.18
เสาร์ – อาทิตย์ นักขัตฤกษ์ 05.59 00.18
ขบวนสุดท้ายเชื่อมต่อสายสีม่วง 23.02

รถโดยสารประจำทาง แก้

  • ถนนรัชดาภิเษก (มุ่งหน้าสำนักงานเขตบางกอกใหญ่) รถ ขสมก. สาย 80ก, 91ก(รถเสริม), 165
  • ถนนรัชดาภิเษก (มุ่งหน้าตลาดพลู) รถ ขสมก. สาย 68, 101 และรถเอกชน สาย 57, 108, 147, 547, 1-32E
  • ถนนจรัญสนิทวงศ์ รถ ขสมก. สาย 68, 80, 91, 91ก, 189, 509 และรถเอกชน สาย 42, 57, 108, 146, 175
  • ถนนเพชรเกษม (มุ่งหน้าวงเวียนใหญ่) รถ ขสมก. สาย 7ก, 84, 84ก, 208 และรถเอกชน สาย 7, 42, 84, 89, 165, 175, 1-32E
  • ถนนเพชรเกษม (มุ่งหน้าบางหว้า) รถ ขสมก. สาย 7ก, 80, 80ก, 84, 84ก, 91, 91ก, 101, 165, 189, 208, 509 และรถเอกชน สาย 7, 84, 89, 146, 147, 165, 547

อนึ่ง ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากถนนเพชรเกษม (บางแค) โปรดสังเกตปลายทางของรถสาย 91ก และรถสาย 165 ก่อนใช้บริการ เนื่องจากรถสาย 91ก บางคันจะสุดเส้นทางที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ส่วนรถสาย 165 ของเอกชน (TSB) จะสุดเส้นทางที่สถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี ไม่ใช่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่เหมือนกับรถ ขสมก.

สถานที่สำคัญใกล้เคียง แก้

  • วัดท่าพระ
  • คลองบางหลวง, บ้านศิลปิน
  • วัดประดู่ในทรงธรรม
  • ตลาดท่าพระ
  • ตลาดท่าพระรุ่งเรือง
  • ธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ
  • ธนาคารกรุงไทย สาขาท่าพระ
  • สำนักงานเขตบางกอกใหญ่

การเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าในอนาคต แก้

แม้สถานีท่าพระจะไม่ได้ถูกกำหนดในแผนแม่บทว่าเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างระบบ อันมีผลทำให้หลังคาสถานีใช้เป็นสีเทา แทนสีน้ำเงินเหมือนสถานีบางหว้า หรือสถานีบางขุนนนท์ แต่ในอนาคต สถานีท่าพระแห่งนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทาส่วนใต้ ช่วงพระโขนง-ลุมพินี-ท่าพระ ที่จะตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางข้ามไปย่านธุรกิจใจกลางเมืองตามแนวถนนสาทร ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนพระรามที่ 3 ได้อย่างรวดเร็ว

อุบัติเหตุ แก้

  • วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 10:57 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางพลัดได้รับแจ้งเหตุชายวัย 62 ปี พลัดตกจากชั้น 3 (ชั้นชานชาลาล่าง) ของสถานีท่าพระ เมื่อเดินทางมาถึงทราบชื่อคือนายเกษม ประกอบอาชีพเภสัชกรและผู้จัดการฝ่ายวิจัยการตลาดบริษัทยาแห่งหนึ่ง พลัดตกจากสถานีและอาการอยู่ในขั้นวิกฤต ก่อนเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา จากการสอบสวนและการเปิดกล้องวงจรปิดภายในสถานี พบว่าผู้เสียชีวิตเดินทางด้วยขบวนรถไฟฟ้าเข้าเทียบสถานีในเวลา 10:52 น. ก่อนเดินลงชั้น 3 และปีนรั้วบริเวณลานจอดรถใต้สถานีแล้วกระโดดลงมาเองในเวลา 10:55 น. โดยระหว่างนั้น นายสุทธิพงษ์ อายุ 21 ปี ผู้เห็นเหตุการณ์ กำลังนั่งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่าเห็นผู้ตายตกลงมาจากด้านบนต่อหน้าต่อตา ตนจึงรีบโทรแจ้งรถพยาบาล ซึ่งตนตกใจมากและเห็นผู้ตายนอนแน่นิ่งไป จากการสอบสวนญาติผู้ตาย เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะเกิดจากภาวะเครียด เนื่องจากภรรยาผู้ตายกำลังเข้ารับการผ่าตัดอยู่ เลยทำให้คิดสั้นและลงมือก่อเหตุ[4]

อ้างอิง แก้

  1. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย. "เอกสารการประชุมชี้แจงข้อมูล และรับฟังความคิดเห็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ", 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551.
  2. "เผยโฉมสถานีร่วมท่าพระ". ไทยรัฐ. 13 สิงหาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตารางเดินรถไฟฟ้า". www.mrta.co.th.
  4. ช็อก เภสัชกร เครียดเมียกำลังผ่าตัด ตกชั้น 3 สถานีรถไฟฟ้าเสียชีวิต