ศิลปะล้านนา

ศิลปะไทย

ศิลปะล้านนา หรือ ศิลปะเชียงแสน หมายถึง ศิลปะในเขตภาคเหนือทางตอนบนหรือดินแดนล้านนาของประเทศไทยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19–24[1] คาดว่ามีการสืบทอดต่อเนื่องจากศิลปะทวารวดีและศิลปะลพบุรีมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย ศูนย์กลางของศิลปะล้านนาเดิมอยู่ที่เชียงแสน เรียกว่าอาณาจักรโยนก ต่อมาเมื่อพญามังรายได้ย้ายมาสร้างเมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ งานศิลปะล้านนามีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะนิกายเถรวาท

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
วัดโลกโมฬี
จิตรกรรมที่วัดบวกครกหลวง งานจิตรกรรมแบบไทใหญ่
พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนาที่เรียกว่า แบบสิงห์หนึ่ง หรือ แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20
พระแสนแซ่ทองคำ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ 21

สถาปัตยกรรม แก้

สถาปัตยกรรมยุคแรกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะหริภุญชัยและศิลปะพุกามจากพม่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ต่อมาในศิลปะต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ถือเป็นยุคทอง มีการสร้างวัดและเจดีย์มากมาย ยุคถัดมาในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ถือเป็นยุคเสื่อม[2]

สถาปัตยกรรมในช่วงยุคทองมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเผย แพร่พุทธศาสนาลังกาวงส์ หรือ นิกายรามัญ ได้แรงบันดาลใจทั้งจากงานสถาปัตยกรรมในยุคก่อน อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมภายนอกดังเช่นสุโขทัย พม่าสมัยพุกาม เป็นต้น

เจดีย์ที่สืบทอดรูปแบบในช่วงก่อน ตัวอย่างเช่น เจดีย์วัดพญาวัด เมืองน่าน คงสืบทอดรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทแบบเจดีย์กู่กุดและกู่คำ นอกจากนั้นยังพบกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่เริ่มปรับรูปแบบจากผังกลมไปเป็นผัง หลายเหลี่ยม ดังตัวอย่างของเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นต้นและเจดีย์ทรงปราสาทยอดทรงระฆัง เช่น เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด ที่สร้างในรัชกาลพระเมืองแก้ว และมีเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมสุโขทัย ดังตัวอย่างสำคัญที่เจดีย์วัดป่าแดง เชียงใหม่และวัดป่าแดงบุญนาค พะเยา พระธาตุลำปางหลวง ที่เด่นชัดทางรูปแบบเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย

รูปแบบของวิหารในช่วงยุคทอง ปรากฏหลักฐานอาคารหลังคาคลุม รูปแบบสำคัญของวิหารล้านนาคือ การยกเก็จอันสัมพันธ์กับการซ้อนชั้นหลังคา โครงสร้างหลักของวิหารได้แก่ วิหารแบบเปิดหรือที่เรียกว่า วิหารป๋วย และวิหารแบบปิด โดยวิหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบม้าต่างไหมในส่วนหน้าบัน นอกจากนั้นยังปรากฏวิหารปราสาท คือการก่อรูปปราสาทต่อท้ายวิหาร ใช้ปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เช่นที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่[3]

หลังยุคทอง หลังจากรัชกาลพระเมืองแก้วแล้ว สถาปัตยกรรมในช่วงเวลานี้เป็นการสืบทอดรูปแบบเดิมจากงาน ตัวอย่างสำคัญที่ เจดีย์วัดโลกโมฬี รูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด ยังให้ความสำคัญกับสวนยอดที่เป็นหลังคาเอนลาด ชี้ให้เห็นว่าน่าจะสืบทอดจากเจดีย์ทรงปราสาทในยุคทอง[4]

ล้านนาสมัยพม่าปกครอง ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ตัวอย่างสำคัญ เช่น มณฑปพระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองลำปาง เป็นรูปแบบงานสถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นจากรูปแบบโขงปราสาทหรือที่ชาวล้านนา ทั่วไปเรียกว่า โขงพระเจ้า มีรูปแบบสำคัญคือการใช้ซุ้มจระนำที่มีหางนาคเกี้ยวกระหวัดเป็นยอดกลางซุ้ม และการซ้อนชั้นหลังคาที่ลดหลั่นกัน 3 ชั้น นอกจากนี้ โขงปราสาทยังปรากฏที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ด้วย รูปแบบสถาปัตยกรรมโขง

จิตรกรรม แก้

จิตรกรรมในศิลปะล้านนาพบงานเขียนบนผืนผ้าหรือ พระบฏ เพื่อแขวนไว้ในอาคาร พระบฏที่เก่าที่สุดพบจากกรุวัดเจดีย์สูง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจิตรกรรมบนผนังอาคารเก่าที่สุด คือภาพอดีตพุทธในกรุเจดีย์วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ บ้างว่าเก่าที่สุดอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนบนไม้

จิตรกรรมฝาผนังล้านนา แบ่งผลงานออกได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 เช่น ที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว ระยะที่ 2 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 22–24 พบที่เขตจังหวัดลำปางเท่านั้น ลักษณะภาพจิตรกรรมฝาผนังของทั้ง 2 ระยะ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ระยะที่ 3 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นผลงานในยุคปลาย มีความนิยมรูปแบบภาพเล่าเรื่อง เป็นหลัก เรื่องราวที่เขียนเป็นคตินิยมเฉพาะของชาวล้านนา โครงสีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีแดงและสีน้ำเงิน นิยมเขียนขึ้นภายในวิหารต่างจากจิตรกรรมภาคกลางที่นิยมเขียนในอุโบสถ[5]

ในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 แบ่งออกได้ตามสกุลและฝีมือช่าง ได้แก่ จิตรกรรมสกุลช่างเชียงใหม่ เป็นงานเขียนตามแบบศิลปะกรุงเทพ จิตรกรรมสกุลช่างไทใหญ่มีแบบอย่างเป็นของตนเองโดยมักกำหนดตำแหน่งของภาพให้อยู่ส่วนบน ของผนัง กรอบของภาพเขียนเป็นแถบลายเชิงผ้าคล้ายผ้าปักของพม่า ในรายละเอียดของภาพพบว่ามีการใช้รูปแบบของศิลปะพม่าในส่วนของภาพบุคคลชั้นสูง จิตรกรรมสกุลช่างน่านมีความคิดอ่านของตัวเองในระดับหนึ่งด้วย งานเขียนที่ออกมาจึงมีโครงสีที่ค่อนข้างอ่อนหวานนุ่มนวลกว่า จิตรกรรมที่ลำปาง มีความสัมพันธ์กับศิลปะพม่าเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากผู้อุปถัมภ์ที่เป็นชาวพม่า และจิตรกรรมลายคำ หรือที่เรียกว่าปิดทองล่องชาด ในศิลปะล้านนาที่หลงเหลืออยู่เก่าที่สุดอาจมีอายุการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 23 เท่านั้น และพบมากแถบเมืองลำปาง งานลายคำบางแห่งมีการใช้เทคนิคของงานเครื่องเขินเข้ามาด้วย.[6]

ประติมากรรม แก้

ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูป ศิลปะล้านนา ซึ่งมักเรียกว่า พระพุทธรูปสิงห์แบบเชียงแสน แบ่งออกเป็น พระพุทธรูปสิงห์ 1 มีลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระพักตร์กลม อมยิ้ม ขมวดพระเกศาใหญ่ รัศมีดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน พระพุทธรูปสิงห์ 2 มีลักษณะประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว พระวรกายบอบบาง พระอังสาใหญ่ เอวเล็ก ชายสังฆาฏิ เส้นเล็กยาวมาจนถึงพระนาภีได้รับอิทธิพลสุโขทัย

พระพุทธรูปสิงห์ 1 เป็นพระพุทธรูปที่เก่ามากอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันสันนิษฐานว่าน่าจะเรื่องพร้อมการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 การกำหนด พระพุทธรูปล้านนาทั้งสิงห์ 1 และสิงห์ 2 ทำคู่กันจนหมดยุคล้านนา ส่วนสิงห์ 2 จะเริ่มในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20

นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นที่นิยมในล้านนาเช่นกัน ได้รับอิทธิพลจากปาละ เป็นคติการสร้างเกี่ยวกับปางมหาชมพูบดี ลักษณะเครื่องทรงจะมีตราบเป็นสามเหลี่ยม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ทรงเครื่องครึ่งเดียว มีการสร้างรัศมี มีชายสังฆาฏิ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งทรงเครื่องเต็มองค์ แบบเทวดา แต่จะทำปางมารวิชัย กลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มที่ให้อิทธิพลมายังสุโขทัยและอยุธยา ลักษณะมงกุฎที่เป็นชั้น ๆ ปล่อง ๆ เป็นรูปแบบผสมระหว่างล้านนากับสุโขทัย ส่วนเทริดมีรูปแบบเขมรเข้ามาปน[7]

พระพุทธรูปศิลปะล้านนายังแบ่งได้เป็นหลายสกุลช่างตามเมืองสำคัญ ได้แก่ สกุลช่างเชียงใหม่ สกุลช่างเชียงแสน สกุลช่างเชียงราย สกุลช่างพะเยา สกุลช่างแพร่ สกุลช่างฝาง และสกุลช่างน่าน เป็นต้น[8]

อ้างอิง แก้

  1. ดำริห์กุล, สุรพล (2561). "ประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา". เมืองโบราณ.
  2. สายสิงห์, ศักดิ์ชัย. "เจดีย์ในประเทศไทย". เมืองโบราณ.
  3. "สมัยล้านนายุคทอง". สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  4. "สมัยล้านนาตอนปลาย". สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  5. ภาณุพงษ์ เลาหสม. "จิตรกรรมฝาผนังล้านนา". เมืองโบราณ.
  6. "จิตรกรรม". ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  7. "ศิลปะล้านนา" (PDF). ศักดิ์ชัย สายสิงห์.
  8. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. "พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.