วัดบวกครกหลวง

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดบวกครกหลวงเป็นวัดขนาดเล็กในตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีวิหารแบบล้านนาที่ได้รับบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (พ.ศ. 2454–2482)

วัดบวกครกหลวง

จิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง

แก้
 
ผนังเตมียชาดก ตอนพระเตมีย์นั่งอยู่บนตักพระราชบิดา เมื่อออกว่าราชการ ทอดพระเนตรพระราชบิดา สั่งตัดสินลงโทษ ภาพมุมขวาล่าง แม้พระเตมีย์จะถูกยั่วยวนแต่พระกุมารก็ยังคงนิ่งเฉย ภาพตอนบน นายสุนันต์เพชฌฆาตนำพระเตมีย์ไปประหารชีวิตในป่า

จุดเด่นของวัดบวกครกหลวงที่คนทั่วไปรู้จักอยู่ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดบวกครกหลวง ซึ่งเขียนเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาตหรือ เรื่องทศชาติชาดก จำนวน 14 ห้อง จิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนบนผนังรอบ ๆ วิหารระหว่างช่องเสาเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ภาพแต่ละส่วนจะอยู่ในกรอบซึ่งเขียนเป็นลายล้อมกรอบด้วยลายสีน้ำเงิน แดง และขาว สำหรับเรื่องที่เขียนนั้นทางทิศเหนือเป็นภาพชาดก เรื่องมโหสถชาดก ส่วนทางทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติชาดก (พระเจ้าสิบชาติ) จิตรกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือช่างชาวไทใหญ่ที่ละเอียดประณีต และเป็นที่น่าสังเกตว่าจิตรกรรมฝาผนังในล้านนาจะไม่พบการเขียนภาพเรื่องทศชาติชาดกครบทั้ง 10 ชาติ หากเลือกมาเฉพาะเรื่องที่นิยมกันเท่านั้น ซึ่งที่วัดบวกครกหลวงก็เช่นกัน มีทั้งหมด 6 เรื่อง คือ เตมียชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และเวสสันดรชาดก

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงมีลักษณะของภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิยมของท้องถิ่น ที่มีจุดเด่นที่เป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดจัดจ้าน ท่าทีการเขียนภาพของช่างนิยมใช้พู่กันป้ายแต้มอย่างมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และปาดสีอย่างมันใจเด็ดเดี่ยว โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นฉากธรรมชาติ เช่น เนินเขา โขดหิน และลำน้ำ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีรูปร่างเป็นอิสระ เลื่อนไหล คดเคี้ยว เมื่อผนวกเข้ากับความต้องการของผู้วาดที่ใช้พู่กันและสีแท้ ๆ สดในอย่างอิสระแล้ว นับเป็นฉากธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา ไม่ดูจืดชื้ดยิ่งนัก นอกจากนั้นแล้ว วิธีการเน้นความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงคือ นิยมใช้กรอบรูปคล้ายภูเขา ระบายสีพื้นในด้วยสีดำ ขอบนอกเป็นแถบสีเทาและตัดเส้นด้วยสีดำ ส่วนเส้นนอกกรอบเลื่อนไหลล้อกับรูปนอกของตัวปราสาทด้วย

สำหรับสีที่ใช้ในจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงนี้พอจะจำแนกได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มสีคราม สีแดงชาด สีทอง สีเหลือง – น้ำตาล สีดำ และสีขาว ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงจึงถือเป็นงานฝีมือของช่างไทใหญ่ที่ได้ถ่ายทอดถึงชีวิตพื้นบ้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและการแต่งกายแบบพม่าและไทใหญ่ไว้ด้วย เช่น ถ้าเป็นการแต่งกายของชาวบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบคนพื้นเมือง แต่ถ้าเป็นเจ้าก็จะเป็นการแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้แบบชาวเมืองก็ยังมีให้เห็นอยู่ในภาพด้วย เช่น จุนโอ๊ก, ขันชี่ (ขันเงิน, ขันทอง) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของชาวล้านนา ผ้าซิ่นแบบคนเมือง หรือผ้าห่มคลุมตัวเวลาหนาวที่เรียกว่า ตุ้ม ด้วย ซึ่งลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงนั้นจึงเป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนา โดยอาจมีข้อแตกต่างหรือคล้ายกันกับจิตรกรรมที่ภาคกลางด้วย

ลักษณะพิเศษ

แก้

ลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนาที่วัดบวกครกหลวง กับข้อแตกต่างหรือคล้ายกันกับจิตรกรรมที่ภาคกลางมีดังนี้ [1]

  • จิตรกรรมภาคกลางนั้นเขียนภายในพระอุโบสถและพระวิหารที่มีหน้าต่างเป็นชุด จึงมีผนังระหว่างช่องหน้าต่างให้เขียนเป็นเรื่องราวพุทธประวัติบ้าง ทศชาติชาดกบ้าง ส่วนผนังเหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ หรือมิฉะนั้นก็จะเขียนภาพเทพชุมนุมเป็นแถว ๆ ด้วยพระอุโบสถและพระวิหารทางภาคกลางมีขนาดใหญ่มาก ทั้งความสูงจากเหนือขอบหน้าต่างถึงสุดผนังข้างบนก็มีมาก ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จึงมักเขียนภาพเทพชุมนุมเป็นแถว ๆ ขนาดของเทวดาที่นั่งพนมมือเป็นแถวนั้นมีขนาดใหญ่เท่าคนจริงหรืออาจใหญ่กว่าคนจริงเล็กน้อย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ลงมามิได้เขียนเป็นภาพเทพชุมนุมแต่เขียนเป็นเรื่องราวของชาดกขนาดใหญ่ ภาพปฤศนาธรรม หรือภาพวิวขนาดมหึมา เช่น ภาพสวยสาธารณะ ภาพเรือใบเดินทะเลขนาดใหญ่ มีคลื่นลูกโตสาดซัด ภาพตึกรามบ้านช่อง บางทีก็เป็นภาพศาสนสถานขนาดใหญ่ เป็นต้น ส่วนสถาปัตยกรรมเชียงใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น นิยมใช้เสาไม้รับน้ำหนักเครื่องบนหลังคาดังนี้เมื่อต้องการให้ภายในเป็นอาคารมีฝามิใช้อาคารโถง จึงต้องก่ออิฐเป็นผนัง (ที่จริงอาคารพุทธศาสนารุ่นเก่าของล้านนาเป็นอาคารโถง ซึ่งยังเหลือของเก่าให้เห็นเป็นจำนวนมาก) เหนือผนังด้านข้างตีไม้เป็นระแนงเป็นช่องลมทางยาวขนาดใหญ่ สามารถใช้ระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ประตูด้านข้างเขาทำประตูส่วนบนเป็นยอดแหลมทั้งบานทาด้วยสีดินแดง ที่เสานูนจากผนังทำเป็นลายฉลุปิดทอง ภาพเขียนในวัดบวกครกหลวงนั้น จึงเขียนคาบเกี่ยวกันตั้งแต่สุดผนังด้านข้างทั้ง 2 ข้างและผนังด้านบนจากช่องลมถึงกึ่งกลางหน้าต่างซึ่งไม่สูงเท่าไร เพราะส่วนสัดของพระวิหารวัดบวกครกหลวงผนังด้านข้างไม่สูงนัก
  • ภาพเขียนวัดบวกครกหลวงเขียนเส้นเป็นลายขอบรูปหนา และขอบนั้นล้อมรอบรูปเขียนเป็นสี่เหลี่ยม จึงทำให้เนื้อที่ผนังที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบลงไปอีก
  • การเขียนของบวกครกหลวงใช้ระบบสีฝุ่นบดผสมกาวยางไม้เช่นเดียวกับภาคกลาง แต่เรื่องราวแบบแผนกับวิธีการเขียนไม่เหมือนกัน ดังเช่น รูปเครื่องบนยอดปราสาทในภาพเขียน เขาเขียนโดยใช้ระบบเครื่องบนปราสาทพม่า ซึ่งเหมือนกับภาพเขียนผนังซ้ายมือพระประธานซึ่งเขียนในสไตล์พื้นเมือง นอกจากจะเขียนยอดปราสาทพม่าแล้วเครื่องปรุงปราสาทต่าง ๆ ก็เป็นแบบพม่า เป็นเครื่องสังวรว่าอิทธิพลจิตกรรมพม่าได้เข้าครอบงำจิตรกรรมล้านนา อาจจะเป็นเพราะว่าพม่าเคยมีอำนาจปกครองดินแดนล้านนามาเนิ่นนาน อันเป็นผลอันเป็นผลให้ศิลปะขนบประเพณีของพม่าเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวเชียงใหม่ให้หันไปนิยมพม่าเสียหมด นับตั้งแต่ภาคกลางได้ขยายทางรถไฟให้ยาวขึ้นไปถึงเชียงใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 อิทธิพลวัฒนธรรมไทยภาคกลางได้แพร่เข้าไปถึงอย่างใกล้ชิด แต่ก็หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิรูปถอนรากถอนโคนในดินแดนล้านนาไม่
  • การเขียนเส้นสินเทาคั่นระหว่างภาพก็เหมือนกัน ทว่าที่วัดบวกครกหลวงก็แตกต่างกับภาคกลางอีก คือ เขามิได้ใช้เส้นสินเทาเป็นหยักแหลมรูปฟันปลาอย่างภาคกลาง แต่เขียนเป็นลายตามแบบแผนของเขา ยอดปราสาทก็เขียนแบบเดียวกับยอดปราสาทวัดพม่าที่เห็นทางเหนือทั่วไป
  • โครงสร้างของสีส่วนใหญ่ ถ้าหากนำมาเทียบกับจิตรกรรมฝาผนังภาคกลางคงเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนว่า สีโดยส่วนรวมค่อนข้างสว่างเพราะมีการเขียนในระบบเดียวกับเขียนสมดุลข่อย คือเขียนบนพื้นสีขาวที่เตรียมไว้ ส่วนใดเป็นสีอ่อนก็จะระบายสีอ่อน ๆ คล้ายเทคนิคสีน้ำ ส่วนสีแก่ใช้ล้วงพื้นเอาซึ่งแตกต่างกับภาพเขียนภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์ที่มักจะลงพื้นเข้มเสียก่อน เช่นเขียนภาพพื้นดินภูเขา ต้นไม้ลงพื้นระบายด้วยสีหนัก ๆ แล้วจึงเขียนภาพคนทับลงไปบนภาพที่ลงพื้นไว้เบื้องหลังแล้วด้วยเหตุนี้ ภาพจิตรกรรมที่นี่จึงมีส่วนที่เว้นสีพื้นขาวมาก เช่น ช่องว่างรอยต่อของเรื่องกับส่วนละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ทำให้ภาพดูสว่างตา
  • ภาพการเขียนด้วยคอมโปสิชั่นที่แปลก จิตรกรล้านนาท่านยักเยื้องแง่มุมของรูปให้เห็นมิติแปลก ๆ ลักษณะลวดลายผสมผสานกับท่าทีของการใช้ฝีแปรงอันกล้าหาญ เต็มไปด้วยพลัง เมื่อได้เห็นภาพานี้ผู้สนใจทางศิลปะคงรู้แก่ใจตนเองว่า ที่เขายกย่องกันถึงพื้นพลังสร้างสรรค์ของจิตรกรรมวัดบวกครกหลวงเป็นฉันใด เนื้อหาของภาพได้แสดงตนเองออกมาให้ประจักษ์แล้ว
  • แม้ว่าภาพเขียนวัดบวกครกหลวงจะเป็นจิตรกรรมที่มิใช่งานคลาสสิก แต่คุณค่าของจิตรกรรมในพระวิหารที่นี่อยู่ตรงความเป็นตัวของตัวเอง มิได้ลอกแบบหรือเอาอย่างมาจากใคร แม้เป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่เราก็จะเห็นว่าครูที่เคยเห็นอย่างจำเจในภาคกลางไม่ปรากฏ ณ ที่นี่ แสดงว่าเป็นงานจิตรกรรมบริสุทธิ์ ที่สร้างสรรค์ มาจากจินตนาการอันแท้จริงของชาวล้านนา
  • จิตรกรรมล้านนาไม่ว่าจะเป็นวัดบวกครกหลวง วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ หรือวัดภูมินทร์ น่าน มีลักษณะการเขียนใบหน้าดูชื่อ ๆ ถ้าเป็นคนหมู่มากก็จะยืนเรียงเข้าแถวแนว หรือเรียง

หน้ากันเป็นตับลักษณะเหล่านี้ นักวิชาการศิลปะสามารถวินิจฉัยได้ว่า นั่นคือลักษณะการคลี่คลายตัวของศิลปะในแบบพริมิทีฟ ( primitive ) ซึ่งยังไม่สูงสู่ระดับอาร์เคอิก (Archaic) หรือคลาสสิก (Classic) อย่างไรก็ดี ในการดูคุณค่าทางศิลปะ ท่านมิได้เพ่งเล็งในแง่ระดับต้น ระดับกลาง หรือระดับสูงแต่อย่างไร คุณค่าสำคัญก็คือการแสดงออกของอารมณ์

วิหารวัดบวกครกหลวง

แก้

สร้างครั้งใดไม่ปรากฏประวัติและหลักฐานการสร้าง แต่จากการสืบประวัติภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏพอจะประมาณได้ว่าอายุของวิหารนี้ไม่ต่ำกว่า 300 ปี วิหารนี้ได้มีการซ่อมแซมบูรณะเรื่อยมา จากหลักฐานจารึกที่ปรากฏบนหน้าบันเขียนเลข พ.ศ. 2468 ไว้ ซึ่งคงเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยนั้น รวมทั้งการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาด้วย หลังจากนั้นคงจะมีการบูรณะซ่อมแซมต่อมา เช่น ใน พ.ศ. 2498 มีการราดพื้นวิหารและซ่อมแซมโครงสร้างภายใน เพราะมีหลักฐานบันทึกไว้ที่ฐานวิหาร โครงสร้างของวิหารเป็นไม้ผสมปูน หลังคาเป็นหลังคาจั่วซ้อนสามชั้น ด้านหน้าทำเป็นมุขโถงยื่นออกมาคลุมราวบันได ซึ่งทำเป็นมกรอมนาคที่มีปากลักษณะเหมือนจะงอยปากนกแก้วหรือจะงอยปากครุฑ ทำด้วยปูนปั้นประดับกระจกปิด ภายในวิหารมีธรรมาสน์เทศน์ที่มีอายุเก่าแก่และสวยงามมาก ปั้นลมเป็นนาคลำยอง หางหงส์ทำเป็นหัวนาค ราวโก่งคิ้วด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักปิดทอง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นลายก้านขดปิดทองแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายฝาปะกน นาคลำยองหางหงส์รูปหัวนาคปิดทองประดับกระจกสี มุมวิหารทำเป็นปูนปั้นรูปเทพพนมยืน เครื่องบนของเพดานเปิดให้เป็นโครงสร้างไม้และเสารับน้ำหนักของหลังคา ผนังก่ออิฐถือปูนสูงถึงคอสองวิหารนี้มีประตูด้านข้างทำเป็นมุขยื่นออกมา ด้านหน้าวิหารทำประตูไม้แกะสลักปิดทองลักษณะทั่วไปของวิหารมีสัดส่วนและองค์ประกอบงดงามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้สถิตในบวรพระพุทธศาสนายิ่ง (พระวัชรวีร์ วชิรเมธี. 2550: 11)

จากแผนผังวิหารแห่งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าและด้านหลังมีการลดขนาดความกว้างของห้องเป็น 3 ช่วง เพื่อให้สอดคล้องกับชั้นลดของหลังคา ด้านหลังทำเป็นฐานชุกชีไว้ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูป ด้านข้างเป็นที่ตั้งธรรมาสน์คาดว่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวิหาร ธรรมาสน์มีลักษณะเฉพาะตามแบบล้านนา เป็นรูปทรงปราสาท ประดับตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา และยังมีสิ่งที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะพบได้ในวิหารล้านนาทั่วไปคือ สัตตภัณฑ์ อันเป็นเครื่องสักการบูชาภูเขาทั้ง 14 ในไตรภูมิตามความเชื่อของชาวล้านนา จะใช้กันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาโดยชาวบ้านจะนำเทียนมาจุดบนสัตตภัณฑ์นี้ มีลักษณะสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ตรงกลางทำเป็นรูปเทพนมและมีลายพันธุ์พฤกษา ด้านหลังรูปเทพพนมประดับแก้วอังวะ (กระจกจีน) ด้านข้างทำเป็นรูปมกรคายนาค สัตตภัณฑ์นี้จะตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธานอีกทีหนึ่ง

วิหารวัดบวกครกหลวงเดิมทีเป็นอาคารโถงเช่นเดียวกับอาคารล้านนาทั่วไป ซึ่งสถาปัตยกรรมล้านนาส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นโครงสร้างของไม้และเครื่องบนหลังคาใช้เสาในการรับน้ำหนักของหลังคาทั้งหมด โดยเฉพาะโครงสร้างไม้แบบม้าตั่งไหมซึ่งเป็นการสร้างตามคติดั้งเดิมอันเป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา จึงจะเห็นว่าภายใจวิหารวัดบวกครกหลวงนี้จะมีเสาขนาดใหญ่อยู่กลางวิหารถึง 12 ต้น ภายหลังจึงได้มีการทำผนังทึบขึ้นมา 3 ด้านคือ ด้านข้างและด้านหลัง แต่มิได้เป็นการรับน้ำหนักอาคาร ส่วนด้านหน้าเปิดโล่งไว้ และต่อมาได้มีการสร้างประตูบานใหญ่ขึ้นด้านหน้าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย ประตูนี้มีการแกะสลักเป็นรูปทวารบาลปิดทองอย่างงดงาม

หลังคาวิหารเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นรูปนาคตามคติชาวล้านนาที่เชื่อว่า วิหารเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ต้องมีนาคคอยดูแลอยู่ จึงมีการประดับตกแต่งวารด้วยนาค ส่วนลานทรายที่อยู่รายรอบวิหารหรือศาสนสถานอื่น ๆ ของล้านนาเปรียบเสมือนว่าเป็นน้ำหรือนทีสมุทร ดังนั้นจะเห็นว่า ทางเข้าด้านหน้าวิหารทำเป็นราวบันไดรูปมกรคายนาคด้วยและนาคที่นี่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวคือ เป็นนาคปากนกแก้วซึ่งมีเพียงแห่งเดียว ส่วนมุขโถงด้านหน้าวิหารเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยที่มีการบูรณะ

หน้าบันวิหารเป็นหน้าบันสลักไม้แบ่งเป็นช่องแบบฝาปะกน แต่ละช่องแกะลายประดับกระจกสวยงาม และมีจารึกบอกปี พ.ศ. 2468 สันนิษฐานว่าเป็นปีที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ผนังด้านนอกของตัวอาคารจะมีปูนปั้นรูปเทพพนมประดับอยู่ตามมุม ด้านบนเป็นคันทวยลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ทำด้วยไม้ มีอยู่ 2 ลายคือ คันทวยด้านหน้าทั้งสองข้างทำเป็นรูปหนุมานเหยียบเมฆ ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ จะเป็นลายเมฆไหลท่านั้น

นอกจากวิหารแล้วที่วัดบวกครกหลวงแห่งนี้ยังมีอาคารเสนาสนะอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ อุโบสถที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ศาลาบำเพ็ญกุศล กุฎีสงฆ์ และเจดีย์ทรงปราสาทมีเรือนธาตุ 4 ด้าน บุด้วยทองจังโกซึ่งอยู่ด้านหน้าวิหารด้วย (ประยูร อุลุชาฎะ. 2544: 80-82)

อ้างอิง

แก้
  1. ประยูร อุลุชาฎะ. 2544: 8-10
  • ประยูร อุลุชาฎะ. วัดบวกครกหลวง = Wat Buak Khrok Luang. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544. (12-78)
  • พระวัชรวีร์ วชิรเมธี. ประวัติและตำนานวัดบวกครกหลวง. เชียงใหม่: ดาวคอมพิวกราฟิก, 2550. (18-46)

18°46′46.38441″N 99°2′16.948442″E / 18.7795512250°N 99.03804123389°E / 18.7795512250; 99.03804123389