ชมพูบดีสูตร

พระสูตรนอกพระไตรปิฎก

ชมพูบดีสูตร เป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก จัดอยู่ในหมวดสุตตสังคหะ คือหนังสือในหมวดสุตตันตปิฎก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชทรมานท้าวมหาชมพูผู้เป็นมิจฉาทิฐิจนท้าวมหาชมพูเลื่อมใสออกผนวชเป็นพระอรหันต์[1] สันนิษฐานว่าน่าจะมีต้นเค้ามาจากคัมภีร์ฝ่ายมหายานและนํามาแต่งเป็นภาษาบาลีในภายหลัง พบต้นฉบับในประเทศไทย ประเทศพม่า[2] ประเทศกัมพูชา[3] และประเทศลาว[4]

พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระประธานภายในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในยุครัชกาลที่ 3 ล้อกันกับภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ ที่เขียนเรื่องการปราบท้าวชมพูบดี

นักวิชาการพม่าสันนิษฐานว่า เรื่องชมพูบดีน่าจะแพร่หลายจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศลาวโดยพระสงฆ์นิกายเถรวาทที่เป็นชาวมอญ มีการค้นพบการสวดมนต์โดยพระสงฆ์ 3 รูป แทนพระพุทธเจ้า พระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าชมพูบดี[5] ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานปรากฏในสมัยอยุธยาตอนกลาง คือ พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย และปรากฏหลักฐานว่าในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งส่งหนังสือชมพูบดีวัตถุไปให้แก่พระเจ้าเกียรติศิริกษัตริย์ลังกาผ่านพระสงฆ์ซึ่งเดินทางมาสืบพระพุทธศาสนา ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือของประเทศไทย และที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาวในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24–25 เท่านั้น ไม่พบในที่อื่นเช่น พม่า ตัวอย่างสถานที่พบ เช่น วัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จังหวัดสมุทรปราการ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น[6]

ที่มา

แก้

พระสูตรเรื่องชมพูบดีสูตร น่าจะมาจากพระสูตรชื่อ พระเจ้ากัปผิณะ (มหากปินะ)[7] ที่เก่าสุดอยู่ในคัมภีร์อวทาน-ศตกะ (พุทธศตวรรษที่ 3) เรื่องมหากปินะมีการแปลเป็นภาษาอื่นโดยแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สายแรกผ่านจากอินเดียในสมัยปาละเข้าสู่ประเทศพม่าในสมัยพุกาม เมื่อเข้าสู่พม่าแล้วน่าจะแปลจากต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสกฤตเป็นภาษาบาลี เนื่องจากปรากฏการแปลคัมภีร์อีกหลายฉบับที่มักแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาบาลี ต่อมาได้ส่งอิทธิพลเข้ามาในประเทศไทยก่อนจะส่งเข้าไปในประเทศลาวและกัมพูชาต่อไป อีกสายหนึ่งผ่านจากอินเดียเข้าสู่เอเชียกลาง เข้าไปยังทิเบตและจีน ดังปรากฏในทมมูกนิทานสูตรซึ่งแต่งโดยภิกษุ 5 รูปโดยรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ มา โดยมีต้นทางมาจากอินเดีย

แก่นเรื่อง

แก้
 
พระเจ้าชมพูบดีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จิตรกรรมฝาผนังวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร

พระเจ้าชมพูบดีซึ่งประสูติเป็นโอรสแห่งเมืองปัญจาลนครและมีของวิเศษคู่กายคือฉลองพระบาท พระขรรค์และลูกศร ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ครองเมือง มีมเหสีชื่อนางกาญจนเทวีมีโอรสชื่อ ศิริคุตราช กุมาร วันหนึ่งพระเจ้าชมพูบดีเหาะไปเจอปราสาทพระเจ้าพิมพิสารแล้วอิจฉาพยายามจะทําลาย แต่ไม่สามารถทำลายปราสาทได้ จึงส่งของวิเศษทั้งสองมาเพื่อจัดการกับพระเจ้าพิมพิสาร จนพระเจ้าพิมพิสารต้องขอให้พระพุทธเจ้าช่วย

ต่อมาพระพุทธองค์เห็นว่าพระเจ้าชมพูบดีสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้จึงให้พระอินทร์ไปเชิญพระเจ้าชมพูบดีมาเฝ้า ซึ่งต้องใช้กําลังบังคับจนพระเจ้าชมพูบดียอมเดินทางมา พระพุทธเจ้าได้เนรมิตเมืองให้ เมื่อพระเจ้าชมพูบดีเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าก็ให้มาฆสามเณรไปเชิญพระเจ้าชมพูบดีเสด็จพระราชดําเนินเข้าเมืองด้วยเท้า ซึ่งมาฆสามเณรก็ใช้อิทธิฤทธิ์ทําให้พระเจ้าชมพูบดีต้องลงจากหลังช้างและเดินเท้าเข้าเมือง เมื่อเข้าเมืองเห็นว่าเมืองของพระเจ้าราชาธิราช (พระพุทธเจ้า) ยิ่งใหญ่กว่าเมืองของตนจึงลดทิฐิมานะลง เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ได้ปราบพยศของพระเจ้าชมพูบดีจนสุดท้ายยอมบวชเป็นภิกษุพร้อมกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดและเสนาอํามาตย์และได้ส่งคนกลับไปยังเมืองปัญจาลนครเพื่อแจ้งแก่มเหสีและโอรส ซึ่งต่อมาเดินทางมายังเวฬุวนารามของพระพุทธเจ้าและได้บวชเช่นกันและล้วนบรรลุอรหันต์ทั้งสิ้น

ฉบับ

แก้

ต้นฉบับใบลานเรื่องชมพูบดีสูตรที่เก่าแก่ที่สุดที่พบ คือ ใบลาน Bibliothèque Nationale กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจมีอายุเก่าไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ตีพิมพ์ ในชื่อ มหาชมพูปติสูตร เผยแพร่แล้วโดยหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ. 2464 ต่อมาหลวงเสนาราชภักดีศรี สงคราม (เกี้ย บุณยัษฐิติ) ได้นำมาประพันธ์เป็น คำฉันท์เรื่องท้าวมหาชมภู พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2473 ในภาคใต้ของไทยยังพบกลอนสวดเรื่อง ท้าวมหาชมพู[1]

ฉบับล้านนาเรียก ชุมพูปติ หรือ ชุมพูปัตติ เช่นที่วัดป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ คัมภีร์มีจํานวน 3 ผูก รวม 99 หน้าใบลาน

ฉบับล้านช้าง เป็นต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติลาว โดยได้ทําการปริวรรตใหม่ เพราะยังไม่เคยมีการปริวรรตมาก่อน โดยในใบลานได้ระบุจุลศักราช 1268 ตรงกับพุทธศักราช 2449 มีจํานวน 5 ผูก ทั้งหมด 228 หน้าใบลาน เรียกว่า ชมพูปัตติ หรือ ชมพูปติ

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "ชมพูบดีสูตร ฉบับสอบเทียบใบลาน" (PDF).
  2. Thiripyanchai U Mya, The Origin of the Jumbupati Image, Report of the director of archaeology survey for the year ending (30 September 1959): 28-37.
  3. ศานติ ภักดีคํา, จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง "ท้าวมหาชมพู" พระอุโบสถ วัดนางนองวรวิหาร, เมืองโบราณ 32, 3 (กรกฎาคม - กันยายน 2549): 3
  4. ณัฐา คุ้มแก้ว, การศึกษาเชิงวิเคราะห์วรรณกรรมภาคใต้เรื่องพระยาชมพู (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552), 112.
  5. Thiripyanchai U Mya, The Origin of the Jumbupati Image, Report of the director of archaeology survey for the year ending, 71.
  6. 6.0 6.1 ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. "ชมพูบดีสูตรในจิตรกรรมฝาผนังช่วงพุทธศตวรรษที่ 24–25" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  7. สาโรชน์ บัวพันธุ์งาม, การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์อวทาน-ศตกะ (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556), 363.