วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

วัดและสถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่
(เปลี่ยนทางจาก วัดพระธาตุดอยสุเทพ)

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (ไทยถิ่นเหนือ: ) พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย วัดมีความสูงจากระดับที่ราบเชียงใหม่ราว 689 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,046 เมตร เป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งหมด

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารในปี พ.ศ. 2565
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยสุเทพ ดอยสุเทพ
ที่ตั้งถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

พ.ศ. 1912 พญากือนาได้นิมนต์พระสุมนเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ พระสุมนเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบ ณ เมืองปางจา (บางขลัง) มาด้วย แต่พญากือนาให้พำนักที่วัดพระยืนก่อน เมื่อสร้างวัดสวนดอก เสร็จใน พ.ศ. 1914 จึงนิมนต์พระสุมนเถระมาจำพรรษาที่วัดสวนดอก พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์แยกเป็น 2 องค์ จึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุหนึ่งองค์บรรจุในพระเจดีย์วัดสวนดอก

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์ พญากือนากับพระสุมนเถระได้เชิญขึ้นประดิษฐานในสัปคับบนหลังช้างมงคล อธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน ช้างออกจากประตูหัวเวียงแล้วเดินขึ้นดอยสุเทพ ช้างหยุดอยู่ที่แห่งหนึ่ง เพื่อหนุนหยุดพัก พญากือนากับพระสุมนเถระอาราธนาไปต่อ ดอยลูกนั้นได้ชื่อว่าดอยหมากขนุน (ดอยหมากหนุน) ช้างมงคลเดินต่อจนไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ราบเพียงงาม พญากือนากับพระสุมนเถระคิดจะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่นั่น แต่ช้างมงคลยังเดินต่อไป ที่นั้นได้ชื่อว่าสนามยอดดอยงาม ภายหลังเพี้ยนเป็นสามยอด (คือวัดสามยอดร้าง) พอช้างมงคลไต่ราวดอยเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องแส่นสะเทือน 3 ครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณ 3 รอบ แล้วคุกเข่าอยู่เหนือยอดดอย พญากือนาจึงให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากหลังช้าง ช้างมงคลก็ล้มไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดดินลึก 3 ศอก เอาแท่นหินใหญ่ 7 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น แต่บางตำนานว่าพญากือนาเอาพระบรมสารีริกธาตุบูชาก่อน แล้วบรรจุใน พ.ศ. 1927

พ.ศ. 2081 พระเมืองเกษเกล้า ได้โปรดฯ นิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม (วัดรมณียาราม) เมืองลำพูน ให้สร้างเสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 12 ศอก สูง 44 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ ต่อมาท้าวซายคำ โปรดฯ ให้ตีทองคำเป็นทองจังโกหุ้มองค์พระเจดีย์

พ.ศ. 2085 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูน สร้างพระวิหารทิศตะวันตกตะวันออกพร้อมระเบียงล้อมพระธาตุ และ พ.ศ. 2090 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ได้สร้างขั้นได (บ้นได) นาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น อุบาสกชื่อมังคลสีลาได้สร้างพระอุโบสถ โดยมีราชครูเจ้าสวนดอกไม้เป็นประธาน[1]

 
บันไดนาค วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2453 - 2463

พ.ศ. 2331 พระเจ้ากาวิละ เจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) พร้อมกันสร้างฉัตร และยกฉัตรพระธาตุดอยสุเทพ

พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละสร้างพระวิหารทิศตะวันตกขึ้นใหม่ พร้อมยกฉัตรพระธาตุดอยสุเทพขึ้นใหม่ ต่อมาฟ้าผ่าใส่ฉัตรพระธาตุ ใส่ลูกแก้วยอดฉัตรใหม่ พ.ศ. 2349 ได้สร้างพระวิหารทิศตะวันออกขึ้นใหม่ มีการฉลองอบรมสมโภช

พ.ศ. 2370 พระยาพุทธวงศ์ได้ถวายฉัตรหลวงรายพระเจดีย์ทั้ง 4 มุม[2]

พ.ศ. 2403 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ได้ถวายเดงหลวง (ระฆังใหญ่) ไว้กับพระธาตุดอยสุเทพ

พ.ศ. 2416 พระเจ้าอินทวิชยานนท์สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ฉลองเบิกบายเมื่อ พ.ศ. 2419

พ.ศ. 2437 วันเพ็ญ เดือน 8 (เหนือ) พระเจ้าอินทวิชยานนท์ตั้งตำแหน่งสังฆราชาทั้ง 7 ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตั้งครูบาวัดฝายหิน (อุ่นเรือน โสภโณ) เป็นปฐมสังฆราชานายก ตั้งครูบาญาณโพธิ วัดสันคะยอมเป็นทุติยะ ตั้งครูบาอริยะ วัดหนองโขงเป็นตติยะ ตั้งครูบากาวิละวงษ์ วัดพวกแต้มเป็นจตุตถะ ตั้งครูบาคันธา (จันทร์แก้ว คนฺธาโร) วัดเชตุพนเป็นปัญจมะ ครูบาปินตา (อินตา) วัดป่ากล้วยเป็นฉัฏฐะ ครูบาเทพวงศ์ (เทพวงศ์ เทววํโส) วัดนันทรามเป็นสัตตะ

พ.ศ. 2463 ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพ หมดเงินทั้งสิ้น 221 รูเปีย และได้บูรณะพระอุโบสถ[3]

พ.ศ. 2473 พระอภัยสารทะ (ก้อนแก้ว อินฺทจกฺโก) เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา หลวงอนุสารสุนทรกิจ (สุ่นฮี้ ชุติมา) ได้ทำการหล่อซ่อมแซมเดงหลวง (ระฆังใหญ่) สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ใหม่ มีการเพิ่มจารึกภาษาล้านนา ไทย จีน ลายธาตุประจำปีเกิด ลายชะตาประจำปีเกิด

พ.ศ. 2475 เจ้าแก้วนวรัฐได้นิมนต์ครูบาเถิ้ม (โสภา โสภโณ) วัดแสนฝาง ให้ขึ้นไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีขะโยม (เด็กวัด) เพียง 2 คนตามไปดูแล ตอนนั้นการเดินทางขึ้นเขาลำบาก เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่างๆ นานา เวลาจะดื่มน้ำต้องเดินเท้าไปตักจากดอยปุย ต่อมาครูบาเถิ้มได้ทำรางน้ำเชื่อมลงมาจากดอยปุยเป็นท่อไม้ไผ่ให้น้ำไหลลงมาวัดพระธาตุดอยสุเทพ คณะสงฆ์ได้ถวายเงินให้ 1,000 รูเปีย เพื่อใช้จ่ายในการบูรณะปฏิสังขรณ์[4]

พ.ศ. 2477-2478 ครูบาศรีวิชัย ได้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งภายหลังเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย

พ.ศ. 2484 เจ้าแก้วนวรัฐบูรณะวิหารทิศตะวันตก (พระพุทธชินสีห์สุวรรณเจดีย์) พ.ศ. 2496 บูรณะวิหารทิศตะวันออก (พระพฤหัส)

พ.ศ. 2497 บูรณะซุ้มประตู พระธาตุ แนวกำแพงแก้ว

พ.ศ. 2547-2553 วัดพระธาตุดอยสุเทพและกรมศิลปากรได้ร่วมกันบูรณะครั้งใหญ่ทั้งองค์พระธาตุและปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งหมด

ลักษณะสถาปัตยกรรม แก้

ส่วนฐานเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมรองรับฐานเขียงย่อเก็จ 3 ชั้น ซึ่งรองรับบัวคว่ำบัวลูกแก้วและบัวหงาย ต่อจากนั้นจะเป็นหน้ากระดานที่รองรับบัวถลาอีกทอดหนึ่ง ส่วนกลางองค์ระฆังเป็นบัวถลา 4 ชั้น วางเรียงลดหลั่นกันไปจากบัวใหญ่ไปถึงบัวน้อยซึ่งเป็นฐานรองรับองค์ระฆัง 12 เหลี่ยม ส่วนยอดมีรัตนบัลลังก์ที่คอระฆัง ต่อจากนั้นเป็นเสาหานรองรับบัวฝาละมี รองรับปล้องไฉน 12 ปล้อง ใหญ่น้อยเรียงลดหลั่นตามลำดับเหนือปล้องไฉนเป็นปลียอด

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แก้

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [5]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าหญิงจามรีวงศ์. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. 2472.
  2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538.
  3. สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๒ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. ISBN 978-616-93082-0-1
  4. สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๑ : สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. 470 หน้า. ISBN 978-616-93082-0-1
  5. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 18°48′19″N 98°55′18″E / 18.8052°N 98.9216°E / 18.8052; 98.9216