ศิลปะลพบุรี คือศิลปะในพุทธศตวรรษที่ 16–18 ทางภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีศิลปกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมแบบหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับศิลปะสถาปัตยกรรมของขอม ศิลปะสกุลช่างลพบุรีเป็นศิลปะที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะศาสนาพุทธแบบลัทธิมหายาน ศิลปะสมัยนี้ส่วนมากเป็นภาพจำหลักด้วยศิลาและสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะการปั้นหล่อสัมฤทธิ์มีความเจริญมาก ท่วงทำนองในการปั้นหุ่นมีความชำนาญยิ่งทำให้กิริยาท่าทางไม่แข็งกร้าวแบบศิลปะขอมในประเทศกัมพูชา

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
พระปรางค์วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย
พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี

ชื่อ แก้

ชื่อเรียก ศิลปะลพบุรี มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรก ๆ โดยการค้นคว้าของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. 2469 ในหนังสือ ตำนานพระพุทธเจดีย์ และหนังสือ โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งพิมพ์ในปี พ.ศ. 2471 ก็ปรากฏในหนังสือโดยสรุปนิยามอย่างกว้าง ๆ

ต่อมาราว พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงใช้ชื่อเรียกนี้เพื่ออธิบายว่า "หมายถึงโบราณวัตถุสถานขอมที่ค้นพบในประเทศไทย รวมทั้งโบราณวัตถุสถาน ที่ทำ ขึ้นในประเทศไทย แต่ทำเลียนแบบศิลปะขอมในประเทศกัมพูชา ฉะนั้น ศิลปะสมัยลพบุรีในที่นี้จึงมีทั้งที่เป็นแบบขอมอย่างแท้จริง และที่ทำขึ้นเลียนแบบขอมอันมีลักษณะของตนเองผิดแปลกออกไปบ้าง"[1]

เหตุผลการเรียกว่า ศิลปะลพบุรี คือ ประการแรก เมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองสำคัญมาก่อนการเกิดกรุงศรีอยุธยาและมีหลักฐานโบราณวัตถุสถานแบบขอม/เขมรมากมาย ประการสอง เมืองลพบุรีถูกหยิบยืมมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบก่อนสยามที่ไม่ต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอื่นใด[2] ประการที่สาม เป็นเพราะภัยคุกคามของอาณานิคมฝรั่งเศสที่มีอำนาจยึดครองอินโดจีนเอาไว้ได้ในขณะนั้น

นอกจากนั้นยังมีเสนอชื่อหรือคำเรียกใหม่อยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็น ศิลปะเขมร, ศิลปะขอม/เขมร (ที่พบ) ในประเทศไทย, ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย, สมัยอิทธิพลเขมร, ศิลปะที่มีแม่แบบจากเมืองพระนคร และศิลปะในลัทธิวัชรยานจากกัมพูชา เป็นต้น[3]

ประติมากรรม แก้

พระพุทธรูปสมัยลพบุรีมีพื้นฐานสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมเขมร ทั้งเทคนิคการสร้างที่ใช้วัสดุหินทรายและรูปแบบศิลปกรรม สามารถแบ่งกลุ่มรูปแบบไว้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 มีการผสมระหว่างทวารวดีกับศิลปะเขมร (ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18) กลุ่มที่ 2 รูปแบบที่สืบทอดมาจากศิลปะเขมร (ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 19) และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่พัฒนามาเป็นลักษณะท้องถิ่นอย่างแท้จริง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19)[4]

ลักษณะทีท่าของพระพุทธรูปมีความรู้สึกเสมือนอยู่ในสภาพมีอำนาจแบบเทพเจ้าหรือกษัตริย์ มากกว่าที่จะเป็นสัญลักษณ์ของความหลุดพ้น ตามความเชื่อศรัทธาในคติมหายานแบบศรีวิชัยครั้งราชวงศ์ไศเลนทร์ก็เป็นไปได้ ที่นิยมการสร้างรูปพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ นางปัญญาบารมีและรูปเหวัชระสัตว์

พระพุทธรูปส่วนใหญ่เป็นนาคปรกปางสมาธิ ประทับนั่งเหนือขนดนาคสามชั้น พระชงฆ์มีสันเล็กน้อย พระเศียรยังแสดงเครื่องทรงคือมงกุฎทรงสูงที่ทำเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีประดับลายกลีบบัว พระเนตรปิดและเหลือบลงใต้ พระโอษฐ์แบะกว้าง ขอบพระโอษฐ์หนา ทรงแย้มพระโอษฐ์แบบบายน แต่มีลักษณะแตกต่างจากศิลปะบายน ได้แก่ พระพักตร์ยาวเป็นรูปไข่มากกว่า พระวรกายยืดสูงกว่า[5]

พระพุทธรูปสมัยลพบุรียังได้ให้อิทธิพลไปยังกลุ่มพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธรูปหินทรายที่มีพระพักตร์ค่อนข้างยาว และส่วนหนึ่งน่าจะให้อิทธิพลไปยังกลุ่มพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 ที่เชื่อว่าเป็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยด้วย

สถาปัตยกรรม แก้

สถาปัตยกรรมสร้างด้วยอิฐและหิน มีทั้งที่สร้างในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมมียอดเป็นชั้น ๆ ซ้อนกันขึ้นไปจนแหลมมนที่มุมของอาคารนี้จะย่อมุม ทำเป็นลดมุมแบบย่อเหลี่ยมลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ปรางค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมอินเดียที่เรียกว่า ศิขร

การตกแต่งสถาปัตยกรรมไม่นิยมพื้นที่ว่าง มักตกแต่งลวดลายดอกไม้ ใบไม้และลายประดิษฐ์ ตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ผังอาคารเป็นแบบง่าย ๆ แบบกากบาท มักมีการสร้างระเบียงคดล้อมรอบ สถาปัตยกรรมนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปนิยมสร้างเป็น 3 องค์ อันหมายถึงธรรมกาย ได้แก่พระธรรม สัมโภคกาย และนิรมาณกาย[6]

พุทธสถานที่สำคัญมักจะสร้างในพุทธศตวรรษที่ 17–18 เช่นปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมวัน วัดพระพายหลวง พระปรางค์สามยอด ปราสาทหินกำแพงแลง และปราสาทเมืองสิงห์

แผนผังของสถาปัตยกรรมในศิลปะลพบุรีได้กลายเป็นต้นแบบการวางแผนผังวัดในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ที่เห็นได้ชัดเจนคือแผนผังของกลุ่มวัดขนาดใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนต้น[7]

อ้างอิง แก้

  1. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสมัยลพบุรี. พระนคร : กรมศิลปากร, 2510.
  2. "ลพบุรีสมัยพระนารายณ์: ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ประวัติ แนวความคิด และวิธีค้นคว้าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2551), 134-181
  4. "พระพุทธรูปนาคปรกในพิพิธภัณฑ์ฯ สมเด็จพระนารายณ์ เป็นพุทธศิลป์แบบศิลปะลพบุรีที่แท้จริง?". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน.
  5. "พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย".
  6. "ศิลปะสมัยลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘". หน้าจั่ว.
  7. อานนท์ เรืองกาญจนวิทย์. "การออกแบบพระอุโบสถและพระวิหารแบบไทยประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2173-2310)" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 44.