พระบฏ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา

พระบฏที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

ประวัติ แก้

ต้นกำเนิดของพระบฏยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[1] อาจมีที่มาจากตำนานพระพุทธฉาย กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูทูลขอพระพุทธฉายจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระพุทธฉายประทับบนผืนผ้าผืนหนึ่ง ในประเทศอินเดีย มีการประดับอาคารศาสนสถานด้วยพระบฏซึ่งเป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานและได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่พุทธศาสนามหายานไปถึง เช่น จีน ญี่ปุ่นดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่ราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง (ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12) ยังพบหลักฐานอ้างอิงถึงจิตรกรรมบนผืนผ้าปรากฏในพระสุตตันตปิฎกแปลจากภาษาบาลี ส่วนการทำผ้าพระบฏขนาดใหญ่มาก ๆ ในทิเบต เรียกกันว่า ผ้าทังกา ซึ่งเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงของพุทธศาสนิกชนสายวัชรยาน[1]

ชาวสยามนิยมทำพระบฏถวายเป็นพุทธบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หลักที่ 106 หรือ จารึกวัดช้างล้อม ระบุปีพุทธศักราช 1927 กล่าวถึง นักบวชรูปหนึ่งชื่อว่า พนมไสดำ ได้สร้างพระบฏขนาดใหญ่สูงถึง 7 เมตร เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่พระมหาธรรมราชา จารึกนี้ยังกล่าวถึงพระบฏจีน ที่มีขนาดเล็กกว่าและใช้ในการประดับตกแต่งภายในอาคาร พระบฏที่เก่าแก่ที่สุดที่พบ คือพระบฏที่พบได้จากกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่[2] ขนาดสูง 3.4 เมตร และกว้าง 1.8 เมตร เป็นฝีมือสกุลช่างล้านนา อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช มีตำนานเล่าว่า มีผู้พบผ้าแถบบาว วาดภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ได้ลอยมาทางทะเลและขึ้นฝังที่ชายหาดปากพนัง สมัยที่ยังมีอาณาจักรตามพรลิงก์ ชาวบ้านที่เก็บได้ถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาดเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เรียกว่า "ผ้าพระบฏ"[3]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏมีความหลากหลาย เช่น เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2446 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการำ คือ จากการเขียนภาพลงบนผืนผ้าทีละผืน มาเป็นการเขียนภาพเป็นแบบไว้ แล้วส่งไปถ่ายบล็อกมาพิมพ์ลงบนกระดาษ ทำให้ผลิตได้เร็วขึ้นและครั้งละมาก ๆ[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ภาพพระบฏ". ทางอีศาน.
  2. ""พระบฏ" : พุทธศิลป์เพื่อพุทธบูชา". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. http://www.nakhonsithammarat.go.th/prapanee.php เก็บถาวร 2007-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประเพณีและวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูความเป็นมาประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
  4. จารุณี อินเฉิดฉาย. "พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า". วารสารเมืองโบราณ.