วัดป่าแดงมหาวิหาร
วัดป่าแดงมหาวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดป่าแดง” ที่ได้ชื่อว่าวัดป่าแดงเนื่องจากในอดีตบริเวณวัดมีต้นไม้แดงอยู่มาก วัดป่าแดงมหาวิหารตั้งอยู่เลขที่ 71 หมู่ 14 ซอย 4 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันพระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์เป็นเจ้าอาวาส[1]
วัดป่าแดงมหาวิหาร | |
---|---|
วัดป่าแดงมหาวิหาร | |
ชื่อสามัญ | วัดป่าแดง |
ที่ตั้ง | 71 หมู่ 14 ซอย 4 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200 |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล พระพุทธสิริมงคลชัย |
เจ้าอาวาส | พระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์ (เจ้าคณะตำบลสุเทพเขต 1) |
พระจำพรรษา | จำนวนภิกษุ 6 รูป สามเณร 14 รูป |
จุดสนใจ | พระอุโบสถ พระวิหาร เจดีย์ บันไดนาค |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ
แก้วัดป่าแดงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1974 โดยพระเจ้าติโลกราช[2] กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายเพื่อเป็นที่พำนักของพระญาณคัมภีร์และคณะสงฆ์ที่เดินทางกลับมาจากลังกา[3]เพื่อเผยแผ่ลัทธินิกายลังกาวงค์ใหม่หรือนิกายสิงหลในขณะนั้นพระญาณคัมภีร์ได้อัญเชิญพระไตรปิฏก พระพุทธรูป และต้นโพธิ์มาไว้ในวัดแห่งนี้ ในสมัยพระเจ้าติโลกราชพระองค์ทรงเลื่อมใสและทำนุบำรุงพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ใหม่อีกทั้งทรงผนวชที่วัดป่าแดงมหาวิหาร การสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสีหลทำให้พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ใหม่เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากเป็นที่เลื่อมใสของผู้คน วัดป่าแดงจึงเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ใหม่ พระเจ้าติโลกราชได้ถวายพระเพลิงพระศพพระราชบิดาและพระราชมารดาที่วัดแห่งนี้ทั้งยังได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดาและพระรามารดาซึ่งยังคงมีหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ใหม่[3]หรือนิกายสีหล เป็นพุทธศาสนานิกายใหม่ที่เข้ามาเผยแผ่ในล้านนาโดยมีพระญาณคัมภีร์เป็นผู้นำในการเผยแผ่ นำเข้ามาในเชียงใหม่ในสมัยพญาสามฝั่งแกน(พ.ศ. 1973) สาเหตุที่ทำให้พระญาณคัมภีร์ตั้งนิกายลังกาวงศ์ใหม่ขึ้นเนื่องจาก การเผยแผ่ลัทธิลังกาวงศ์เก่าของพระสุมนเถระซึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวทางพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางนำไปสู่แนวความคิดที่ต้องการพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระญาณคัมภีร์และคณะจึงเดินทางไปศึกษาและอุปสมบทที่ลังกาโดยตรง จึงเดินทางกลับมาเผยแผ่หลักการและแนวปฏิบัติใหม่ออกไปอย่างกว้างขวางจนเกิดความขัดแย้งและแตกแยกกับนิกายลังกาวงศ์เก่าหรือนิกายรามัญ (วัดสวนดอก) คณะสงฆ์ฝ่ายป่าแดงกล่าวหาสงฆ์ฝ่ายสวนดอกว่าไม่เป็นภิกษุเพราะไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดในสมัยพญาสามฝั่งแกน(พ.ศ. 1945-1984) จึงโปรดให้จัดเวทีโต้แย้งกันจนในที่สุดสงฆ์ฝ่ายป่าแดงชนะ หลังจากนั้นพระสงฆ์ทั้งสองนิกายยังเกิดการทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้งพญาสามฝั่งแกนจึงโปรดให้สงฆ์ฝ่ายป่าแดงออกจากเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1977 ทำให้นิกายปาแดงไปเจริญรุ่งเรืองที่ เชียงราย เชียงแสน พะเยา ลำปาง เชียงตุง[2]จนกระทั่งสมัยพระเจ้าติโลกราช(พ.ศ. 1984-2030) ทรงเลื่อมใสในนิกายวัดป่าแดงจึงทรงอุปถัมภ์จนนิกายวัดป่าแดงกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
ปูชนียวัตถุ
แก้พระพุทธสิริธัมมจักกสัติโลกราช
แก้พระพุทธสิริธัมมจักกสัติโลกราชเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนทรงเครื่อง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว สูง 34 นิ้ว ในยอดพระเกตุโมลีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ้งได้ประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551[4]
พระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล
แก้พระพุทธพิชิตชัยอดิสัยป่าแดงมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 55 นิ้ว สูง 72 นิ้ว จำลองมาจากพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอกพระอารารมหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยมีนายณรงค์ ภูอิทธิวงศ์ เป็นเจ้าภาพจัดสร้างในสมัยพระบัญชา ฐิตสีโล ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าแดงมหาวิหาร สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศน์วิหารกรุงเทพมหานคร ขณะดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระญาณสังวร ได้ประทานนามให้[5]
พระพุทธสิริมงคลชัย
แก้พระพุทธสิริมงคลชัยเป็นพุทธศิลปะแบบญี่ปุ่นประดิษฐานใต้ต้นโพธิ์ลังกา ขนาดหน้าตักกว้าง2.85 เมตร สูง 3.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 โดยพระธุดงค์รูปหนึ่งได้รับการสมโภชเมื่อ พ.ศ. 2524 บริเวณลานพระพุทธสิริมงคลชัยจะมีการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้เป็นข่วงธรรม[6]
สมเด็จพระโลกนาถศาสดาบรมบพิตรสถิตรัตตวัน
แก้สมเด็จพระโลกนาถศาสดาบรมบพิตรสถิตรัตตวันเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ขนาดหน้าตักหว้าง 72นิ้ว สูง90นิ้ว สร้างเมื่อพ.ศ. 2543 ประดิษฐานในศาลาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 โดยความอุปถัมภ์ของพระวิสุทธิสุนทร วัดอมรคีรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2545 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการเถรสมาคมวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ได้เดินทางมาเยี่ยมชมวัดป่าแดงมหาวิหาร และประธานนามว่าสมเด็จพระโลกนาถศาสดาบรมบพิตรสถิตรัตตวัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 72 พรรษา[7]
พระพุทธมณีศรีอุดม
แก้พระพุทธมณีศรีอุดมเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐด้วยปูน ขนาดหน้าตักกว้าง 1.35 เมตร สูง 1.53 เมตร ประดิษฐานในซุ้มโขงหลังพระประธาน ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2543[8]
ช้างไม้มงคลคู่
แก้ช้างไม้มงคลคู่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 15 มกราคม 2553 เวลา 14.30 น. นายธัญศักดิ์ ศรีจันทร์ ปลัด อบต.สุเทพ(ในขณะนั้น) ได้อัญเชิญช้างไม้มงคลคู่พระราชทานมาประดิษฐานในวัดป่าแดงมหาวิหาร โดยช้างไม้มงคลคู่นี้มีความสูง 2.97 เมตร ฐานกว้าง 95 เมตร ยาว 2.90 เมตร น้ำหนัก 1,200 กิโลกรัม[9]
โบราณสถาน
แก้เจดีย์วัดป่าแดงหลวง(ร้าง)
แก้เจดีย์วัดป่าแดงหลวงร้างเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บริเวณทางด้านตะวันออกของวัดในส่วนที่มีพระสงฆ์จำพรรษา[10] เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 1990 โดยพญาติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิพระราชมารดาและพระบิดาของพระองค์ ลักษณะประกอบของเจดีย์มีความสัมพันธ์กับเจดีย์ช้างล้อมศรีสัชชนาลัย ประกอบด้วยฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้นแล้วเคยปรากฏรูปปั้นช้างล้อมองค์เจดีย์ ลำตัวของช้างเหล่านั้นติดกับติดกับฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยมแต่ปัจจุบันชำรุดหลุดร่วงไปหมดแล้ว ถัดจากฐานช้างล้อมเป็นฐานทรงแท่งรูปสี่เหลี่ยมยกสูง เจาะเป็นช่องซุ้มจระนำเป็นกรอบวงโค้งลักษณะคล้ายกรอบซุ้มหน้านางในศิลปะสุโขทัย โดยที่ช่องซุ้มนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 5ซุ้ม รวม 20 ซุ้ม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกรอบซุ้มหน้านางในศิลปะสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกาซึ่งอิทธิพลของเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย อาจเข้ามาในล้านนาตั้งแต่การเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระสุมนเถระ พ.ศ. 1912 [11]
วิหารวัดป่าแดงหลวง
แก้วิหารวัดป่าแดงหลวงตั้งหน้าไปทางด้านทางตะวันออก ตามสภาพในปัจจุบันได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ. 2523 เช่น การก่อผนังและหน้าต่างใหม่ การมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง แต่ในส่วนศิลปกรรมตามสภาพเดิม เช่น หน้าบัน คันทวย รองรับเชิงชาย และลวดลายปูนปั้นประดับมณฑปปราสาทภายในวิหารมีลักษณะค่อนข้างสมบรูณ์[12]รวมถึงตัวผังพื้นของอาคารเป้นแบบดั้งเดิมของล้านนา ลักษณะตัววิหารเป็นอาคารเครื่องไม้ขนาดกว้าง 3 ห้อง ยาว 6 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นวิหารแบบปิดโดยมีการ ก่ออิฐฉาบปูนเป็นผนังทึบรอบตัวอาคาร มีการเจาะช่องหน้าต่าง ระหว่างห้องวิหารทุกห้อง สำหรับห้องท้ายวิหารเป็นผนังก่อทึบและเจาะช่องเพื่อทะลุถึง องค์มณฑปปราสาทที่สร้างท้ายวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำริด แผนผังของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสัมพันธ์กับหลังคาที่มี 2 ชั้น เป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำตาล[13]
อุโบสถวัดป่าแดง
แก้อุโบสถวัดป่าแดง ตั้งแยกอยู่ในบริเวณตอนล่าง ห่างจากบันไดนาคราวหนึ่งร้อยเมตร ทางด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันอยู่ติดโรงแรมฟลอรัลอยาตนะเชียงใหม่[14] ตัวอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กตั้งอยู่บนเนินดิน[15] บริเวณหน้าบันตกแต่งด้วยลายแกะสลักไม้ โดยลายหน้าบันด้านทิศตะวันตกปรากฏลายแกะไม้ประดับกระจก เป็นภาพยักษ์ประกอบเถาวายก้านขด ป้านลมทั้งสองด้านเป็นรูปพญานาคประดับกระจก อุโบสถวัดป่าแดง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแต่จากรูปแบบศิลปกรรมน่าจะสร้างหลังจากวิหาร[16]
เจดีย์ทรงระฆัง
แก้ด้านหลังวิหารวัดป่าแดงปรากฏเจดีย์ทรงระฆัง ที่ตัวระฆังได้ปรับรูปแบบอยู่ในผังแปดเหลี่ยม บนฐานปัทม์ อันเป็นเจดีย์ศิลปะล้านนา[17] แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง[18] โดยร่องรอยที่ปรากฏในปัจจุบันได้ถูกปฏิสังขรณ์ไปมากแล้วเจดีดังกล่าวสันนิษฐานว่าอาจสร้างหรือปฏิสังขรณ์ในช่วงเวลาที่ครูบาศรีวิชัยมาพำนักที่วัดป่าแดง ตามเอกสารล้านนาราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ได้กล่าวว่าครูบาศรีวิชัยได้ บรูณะซ่อมแซมในช่วงหลังที่ท่านได้มาปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก รวมทั้งให้สร้างหอไตรขึ้นระหว่างซุ้มพระหลังวิหารกับเจดีย์[19]
เจดีย์ทรงปราสาท
แก้เจดีย์ทรงปราสาทบนฐานปัทม์ มียอดเป็นทรงระฆังกลม ภายในองค์ธาตุเรือนธาตุนั้นเป็นห้องขนาดเล็กโดยปัจจุบันเป็นอาคารที่ใช้เป็นหอธรรม[20]หรือเก็บคัมภีร์ใบลาน เจดีย์ดังกล่าวไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง[21]แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรมเจดีย์ในปัจจุบันแม้จะได้ถูกปฏิสังขรณ์ไปมากแต่จากร่องรอยบางประการ เช่น การปรากฏการตกแต่งด้วยปูนปั้นประดับกระจกบริเวณองค์ระฆังเหนือเรือนธาตุด้วยลานศิลปะพม่า และยอดเจดีย์ที่ปราศจากบัลลังก์ ก็เป็นลักษณะของเจดีย์ศิลปะพม่า ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการปฏิสังขรณ์โดยผสมผสานกับศิลปะพม่า เพราะเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยนั้น[22]
สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ
แก้- ศาลาอเนกประสงค์และศูนย์การเรียนรู้ติโลกราช เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว กว้าง 9 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่เรียนของศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของวัดป่าแดงมหาวิหาร ซึ่งเริ่มเปิดสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน
- ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ศาลาโตแสงชัย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518
- ศาลาบำเพ็ญบุญ
- ศาลาหมอชีวกโกมารภัจจ์ สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2518
- ศาลาแก้วสืบตระกูล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2532
- หอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2538
- อาคารสำนักงานวัดป่าแดงมหาวิหาร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2541 และปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2546
- ศาลาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาฯ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 มีสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาบรมบพิตรสถิตรัตตวันเป็นพระประธาน และเป็นที่ประดิษฐานของช้างไม้มงคลคู่ ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางพระบรมราชินีนาถ
รายนามเจ้าอาวาส
แก้รายนามเจ้าอาวาสวัดป่าแดงมหาวิหารรูปแรกจนถึงปัจจุบันมีดังนี้[1]
ลำดับที่ | รายนาม | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระมหาญาณคัมภีร์ | พ.ศ. 1973 - ไม่ปรากฏ |
2 | พระมหาสวามีญาณโพธิ | พ.ศ. 2031 - พ.ศ. 2035 |
3 | พระมหาสัทธัมมสัณฐิกะ | ไม่ปรากฏ |
4 | พระมหาสารภังคะเถระ | ไม่ปรากฏ |
5 | ครูบามณีวรรณ | ไม่ปรากฏ |
6 | ครูบาเสาร์ | ไม่ปรากฏ |
7 | พระคำตั๋น | ไม่ปรากฏ |
8 | พระหล้า | ไม่ปรากฏ |
9 | พระอธิการอิ่นแก้ว อรินฺโท | พ.ศ. 2487 - พ.ศ. 2516 |
10 | พระบัญชา ฐิตสีโล | พ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2526 |
11 | พระครูสุนทรธรรมคุณ | พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2530 |
12 | พระสายันห์ ยสปาโล | พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2532 |
13 | พระครูฤทธิเดช ฐานวโร | พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2540 |
14 | พระมหาไสว เทวปุญฺโญ | พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2542 |
15 | พระมหาธีรพงษ์ สิรินฺธโร พระครูธรรมธรธีรพงษ์ สิรินฺธโร พระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์ |
พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2544 พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2549 พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน |
อาณาเขต
แก้- ทิศเหนือ จรดสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง
- ทิศใต้ จรดเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย
- ทิศตะวันออก จรดที่ดินของเอกชน
- ทิศตะวันตก จรดเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย
ประมวลภาพบรรยากาศภายในวัดป่าแดงมหาวิหาร
แก้-
บันไดนาค
-
วิหารวัดป่าแดงหลวง
-
เจดีย์ทรงระฆัง
-
เจดีย์ทรงปราสาท
-
อุโบสถวัดป่าแดง
-
พระสิริมงคลชัย
-
ต้นโพธิ์เก่าแก่
-
บรรรยากาศภายวัด
-
ป้ายธรรมะ
-
รูปปั้นเทวดา
การเดินทาง
แก้จากสี่แยกตลาดต้นพยอมตรงมาตามถนนสุเทพ ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 400 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอย 4 ก่อนถึงวัดอุโมงค์จะมีทางแยกเลี้ยวขวาแล้วตรงไปจนสุดทาง
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 125.
- ↑ 2.0 2.1 สรัสวดี อ๋องสกุล. (2557). ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 162.
- ↑ 3.0 3.1 อุษณีย์ ธงไชย. (2556). เอกสารประกอบการสอนประวัติศาสตร์ไทยจากสมัยสุโขทัยถึงสมัยรัตนโกสินทร์. หน้า 83.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 128.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 127.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 129.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 130.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 126.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 131.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 82.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2552). โครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหารอย่างยั่งยืน. หน้า 29.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 133.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2552). โครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหารอย่างยั่งยืน. หน้า 32.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 117.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 132.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2552). โครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหารอย่างยั่งยืน. หน้า 44.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 135.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 115.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2552). โครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหารอย่างยั่งยืน. หน้า 43.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 134.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2554). วัดป่าแดงมหาวิหาร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. หน้า 114.
- ↑ สมโชติ อ๋องสกุล และคณะ. (2552). โครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหารอย่างยั่งยืน. หน้า 42.