ศิลปะหริภุญชัย บ้างเขียน ศิลปะหริภุญไชย เป็นศิลปะในอาณาจักรหริภุญชัย มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) งานช่างของเมืองนี้ เกี่ยวข้องกับงานช่างที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนของราชธานีพุกาม ประเทศพม่า มีวิวัฒนาการงานศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอื่น ๆ จนเกิดการผสมผสานเข้าด้วยกัน และคลี่คลายเป็นศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง

เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี
เจดีย์เชียงยัน ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ด้านทิศเหนือของพระธาตุหริภุญชัย
พระพุทธรูปบนเจดีย์กู่กุด เป็นปฏิมากรรมนูนสูง

สถาปัตยกรรม แก้

รูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์อันเป็นเอกลักษณ์ของหริภุญชัย เกี่ยวเนื่องกับ "รูปแบบทรงปราสาท" นอกจากได้รับอิทธิพลจากพม่าแบบพุกาม ยังมีลักษณะบางประการที่เกี่ยวเนื่องกับสถาปัตยกรรมแบบทวารวดีด้วย

สถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์กู่กุด ซึ่งเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมและรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมในวัดเดียวกัน คือ วัดจามเทวี เจดีย์ทั้งสององค์นี้ก่อเป็นทรงปราสาท คำว่า "กู่กุด" หมายถึงเจดีย์ที่ยอดหัก[1] เดิมเคยมียอดแหลม อยู่ประเภทเรือนยอด หรือ กุฎาคาร ในเมืองลำพูนยังพบหลักฐานเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอดคือเจดีย์วัดเชียงยืน (หรือเรียกว่า เชียงยัน) และปรากฏเจดีย์ทรงลอมฟาง คือเจดีย์กู่ช้าง ที่นักวิชาการกล่าวว่าน่าจะเป็นรูปแบบที่รับจากสถาปัตยกรรมแบบพม่าสมัยพุกาม

เจดีย์ของวัดหนองดู่ใช้เทคนิคการก่อโดยใช้เสารับน้ำหนักส่วนยอดกลางอันเป็นรูปแบบและเทคนิคที่นิยมอยู่ในสถาปัตยกรรมแบบพม่าสมัยพุกาม อย่างไรก็ตามเจดีย์ของวัดหนองดู่และเจดีย์เชียงยืนยังมีปัญหาทางด้านกำหนดอายุการสร้าง ว่าควรเป็นรูปแบบของศิลปะหริภุญไชยตอนปลาย หรือเป็นรูปแบบของล้านนาตอนต้น

สำหรับเจดีย์วัดกู่คำ หรือวัดเจดีย์เหลี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะรูปแบบเดียวกับเจดีย์กู่กุดในเมืองหริภุญไชย ข้อแตกรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะทางศิลปะของพระพุทธรูป ลวดลายประดับซุ้มพระ ซึ่งที่เจดีย์เหลี่ยมได้ถูกเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นลักษณะของศิลปะพม่าเมื่อตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลักษณะโครงสร้างโดยส่วนรวมแล้วมีลักษณะเป็นแบบเดียวกับเจดีย์กู่กุด[2]

สำหรับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น วิหาร อุโบสถ หอไตร หรือบ้านเรือน ย่อมล้วนมีโครงหลังคาเครื่องไม้ น่าจะมุงด้วยแป้นเกล็ด (แผ่นไม้แทนกระเบื้อง) หรือมุงด้วยกระเบื้องดินเผา จึงชำรุดเสียหายไปหมด ไม่เหลือหลักฐานให้ศึกษาได้แล้วในสภาพปัจจุบัน[3]

ประติมากรรม แก้

พระพุทธรูป แก้

งานประติมากรรมในศิลปะหริภุญไชย โดยเฉพาะพระพุทธรูปส่วนใหญ่นิยมสร้างขึ้นจากดินเผา ศิลา สำริด และปูนปั้น[4] ดังนั้นจึงไม่ใช่ประติมากรรมลอยตัว แต่เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นประดับศาสนสถาน[5] และงานส่วนใหญ่สร้างขึ้น เนื่องในพุทธศาสนาแบบเถรวาท

พระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 13–15 อิทธิพลศิลปะทวารวดีจากภาคกลางของประเทศไทย ระยะที่ 2 พุทธศตวรรษที่ 15–16 อิทธิพลศิลปะเขมร และระยะที่ 3 พุทธศตวรรษที่ 17–18 อิทธิพลศิลปะพุกาม และมีลักษณะที่เป็นศิลปะหริภุญไชยอย่างแท้จริง

คำว่าพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยอย่างแท้จริง คือ พระพุทธรูปที่สร้างจากดินเผาและ ปูนปั้น ที่แม้จะได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวารวดี ศิลปะเขมร และศิลปะพุกาม แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นตัวอย่าง ประติมากรรมพระเศียรพระพุทธรูปดินเผาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน และพระเศียรพระพุทธรูปดินเผาที่จัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ พระเศียรพระพุทธรูปนี้มีลักษณะค่อนข้างแบน พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระพักตร์เคร่งขรึม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นสันนูนต่อกัน และมีเส้นขีดซ้อนกันขนานอยู่เบื้องใต้ พระเนตรโปน ถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะอย่างแท้จริง มีความแตกต่างจากพระพุทธรูปหริภุญไชย ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษ 17–18 และลักษณะของ พระนาสิกแบนใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างแบบทวารวดี และมีขอบพระโอษฐ์หนา พระมัสสุเป็นเส้นขีดอยู่เหนือพระโอษฐ์

รูปแบบเฉพาะอย่างแท้จริงของพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชย คือ ขมวดพระเกศาที่เป็นเกลียวยกขึ้นสูงขึ้นมาอย่างมาก และมีอุษณีษะทรงกรวยขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ขมวดพระเกศามักทำจากดินเผา นำไปเผาก่อนแล้วนำมาติดกับพระเศียรในภายหลัง และนิยมทำขอบพระพักตร์เป็นสันแนวตั้งขึ้นมาระหว่างพระนลาฏกับขมวดพระเกศา คล้ายกับที่เรียกว่า ไรพระศก[6]

เครื่องปั้นดินเผา แก้

รูปแบบและลวดลายของเศษเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ เครื่องถ้วยหริภุญไชย บางท่านกำหนดว่า มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14–19 ส่วนนักวิชาการบางท่าน ได้กำหนดอายุของศิลปะหริภุญไชยเก่าขึ้นไปอีกว่า น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13–19 เครื่องปั้นดินเผาหริภุญไชยนี้มีรูปแบบของหม้อน้ำที่มีรูปกลม เชิงกว้าง หรือรูปแบบของคนโท ซึ่งมีรูปกลมคอเรียวสูง และตกแต่งด้วยการเขียนสีแดง ทั้งเป็นเส้นธรรมดาที่ส่วนคอ ไหล่ และตัวคนโท และบางใบก็เขียนเป็นลวดลาย ที่ตัวคนโทอย่างสวยงาม[7]

อ้างอิง แก้

  1. "เจดีย์แบบหริภุญชัย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘)". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  2. "เวียงกุมกามกับลักษณะทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับหริภุญไชย". สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่.
  3. "สมัยก่อนล้านนา". สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  4. สงวน รอดบุญ. (2528). ศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 69.
  5. "ทำไมช่างที่ลำพูน ปั้นพระพุทธรูป "มีหนวด" ?!?". ศิลปวัฒนธรรม.
  6. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2556). พระพุทธรูปในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และความเชื่อของคนไทย. กรุงทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  7. "เครื่องปั้นดินเผาหริภุญไชย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.