วิกิพีเดีย:ไอพีก็เป็นคนเหมือนกัน

ผู้ใช้หลายคนเชื่อว่าผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนที่เข้ามีส่วนร่วมวิกิพีเดียโดยลำพัง ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อบทความ และเชื่อว่าพวกเขามีสิทธิในฐานะผู้แก้ไขน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใช้ที่ลงทะเบียน จากการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2550 พบว่า ในขณะที่การก่อกวนส่วนมาก (80%) เกิดจากผู้แก้ไขประเภทไอพี แต่การแก้ไขของผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนมากกว่า 80% ก็ไม่ได้เป็นการก่อกวน [1] เนื่องด้วยนโยบายปัจจุบันยังยืนหยัดอยู่ ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนจึงมีสิทธิต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมในงานเขียนของวิกิพีเดีย เช่นเดียวกับผู้ใช้ที่ลงทะเบียนอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุความเข้าใจผิดเหล่านี้ การแก้ไขโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนจึงถูกย้อนอย่างหลงผิด และการมีส่วนร่วมของพวกเขาในหน้าอภิปรายก็ถูกลดคุณค่า การปฏิบัตินี้เป็นการขัดต่อหลักปรัชญาของวิกิพีเดียและหลักการก่อตั้งของทุกโครงการวิกิมีเดีย เมื่อต้องรับมือกับผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ลงทะเบียน กฎที่ต้องจำคือ ไอพีก็เป็นคนเหมือนกัน

คุณก็เป็นไอพีเหมือนกัน แก้

คุณก็เป็นไอพีเหมือนกัน คลิกที่นี่หากคุณไม่ได้คิดเช่นนั้น ข้อแตกต่างเพียงประการเดียวระหว่างคุณกับผู้มีส่วนร่วมประเภทไอพีคือ เลขที่อยู่ไอพีของคุณถูกซ่อนไว้ เมื่อคุณลงทะเบียนกับวิกิพีเดีย เลขที่อยู่ไอพีของคุณก็จะแฝงอยู่เบื้องหลังชื่อผู้ใช้ชื่อหนึ่ง ส่วนผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนมักจะถูกเรียกว่า ผู้แก้ไขนิรนามหรือไม่ประสงค์ออกนาม แต่ในความเป็นจริง เนื่องด้วยเลขที่อยู่ไอพีของคุณถูกซ่อนไว้ คุณจึงมีความไม่เป็นที่เปิดเผยมากกว่า (เลขที่อยู่ไอพีของคุณยังคงถูกเก็บบันทึกโดยซอฟต์แวร์ มันเพียงไม่ปรากฏแก่ผู้ใช้ส่วนใหญ่)

โปรดจำสิ่งนี้เมื่อรับมือกับผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้ในประเภทที่ต่ำกว่า พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มย่อยพิเศษที่เรายอมให้เกิดขึ้น พวกเขาไม่ได้เจตนารุมกินโต๊ะทำลายบทความของคุณ พวกเขาเป็นปัจเจกชนเหมือนกับคุณ เพียงแต่พวกเขายังไม่ได้ลงทะเบียนสำหรับบัญชีผู้ใช้ เช่นเดียวกับคุณที่สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพชนและเจตนาดี การแก้ไขของผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนก็สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างสุภาพชนและเจตนาดีจากคุณ และเช่นเดียวกับการเข้ามีส่วนร่วมของคุณในหน้าอภิปรายที่สมควรได้รับฟังและพิจารณาเพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกัน การเข้ามีส่วนร่วมของผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนก็สมควรเป็นอย่างนั้นด้วย

ผู้อ่านของเราก็เป็นไอพีเหมือนกัน แก้

ผู้อ่านของเราก็เป็นไอพีเหมือนกัน โดยแท้จริงแล้วไม่มีผู้อ่านของเราคนใดเป็นผู้ใช้ที่ลงทะเบียน เมื่อผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนคนหนึ่งได้แก้ไขบทความหรือแสดงความคิดเห็นลงในหน้าอภิปราย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นมุมมองหนึ่งจากผู้อ่านของเรา นั่นไม่ได้หมายความว่ามุมมองของพวกเขาควรจะได้รับน้ำหนักมากขึ้น แต่หมายความว่าเราไม่ควรเลือกปฏิบัติกับมุมมองของพวกเขาเพียงเพราะพวกเขาไม่มีบัญชีผู้ใช้

ความเข้าใจผิดทั่วไป แก้

ผู้ใช้หลายคนเข้าใจผิดว่านโยบายและแนวปฏิบัตินำไปใช้เฉพาะกับผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเท่านั้น แต่ไม่เป็นเช่นนั้น นโยบายและแนวปฏิบัติมีผลต่อผู้ใช้ทั้งหมดที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียนอย่างเท่าเทียมกัน

  • ความเห็นโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนในหน้าอภิปรายไม่นับรวม ไม่เป็นเช่นนั้น ความเห็นโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนควรนำมาพิจารณาด้วย วัตถุประสงค์ของการอภิปรายที่หน้าอภิปรายคือการสร้างความเห็นพ้องต้องกัน การเข้ามีส่วนร่วมจากผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนก็เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาลงมติพอ ๆ กับการเข้ามีส่วนร่วมจากผู้ใช้ที่ลงทะเบียน ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนก็แก้ไขที่นี่ด้วย ผู้อ่านของเราเกือบทั้งหมดก็เป็นผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน จงแสดงความคิดเห็นที่ผลงาน มิใช่ผู้มีส่วนร่วม อย่ามองข้ามผลงานเพียงเพราะมันถูกสร้างโดยใครบางคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนสำหรับบัญชีผู้ใช้
 
ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างการแก้ไข 248 ครั้งในบทความวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ระหว่างเวลา 04:43 ถึง 04:46 UTC ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 (ที่มา)
  • ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนมีแนวโน้มที่จะก่อกวนบทความ สิ่งนี้เป็นจริง แต่ในทางตรงข้าม สัดส่วนของการเข้ามีส่วนร่วมของพวกเขาที่เป็นการแก้ไขที่ไม่ก่อกวนมีมากกว่า จากการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 พบว่า 80.2% ของการก่อกวนทั้งหมดกระทำโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน แต่การแก้ไขโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน 81.9% มิได้เป็นการก่อกวน การแก้ไขโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนที่ไม่ก่อกวนคิดเป็น 29.4% จากการแก้ไขบทความทั้งหมด และการแก้ไขโดยผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนที่ก่อกวนมีเพียง 6.5% เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนช่วยย้อนบทความที่ถูกก่อกวนมากกว่าหนึ่งในสี่ (28.5%) การแก้ไขบทความวิกิพีเดีย 91.5% เป็นการแก้ไขที่สร้างสรรค์ ในจำนวนนี้การแก้ไขของผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนมีอยู่ประมาณเกือบถึงหนึ่งในสาม [1] การศึกษาที่ดำเนินการโดยไอบีเอ็มก็พบว่า "ไม่มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสภาวะนิรนามกับการก่อกวน" นอกจากนี้กลุ่มวิจัยพบว่าผู้ใช้ที่ไม่ประสงค์ออกนามให้ผลงานในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญและมีแก่นสาร [2]
  • ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนมีแนวโน้มที่จะเป็นหุ่นเชิด สิ่งนี้ไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนไม่สามารถเป็นหุ่นเชิด คุณจำเป็นต้องลงทะเบียนสำหรับบัญชีผู้ใช้จึงจะมีบัญชีหุ่นเชิดได้ ผู้ใช้ที่ลงทะเบียนที่ไม่น่าไว้วางใจสามารถออกจากระบบบัญชีของตนและเข้ามีส่วนร่วมภายใต้เลขที่อยู่ไอพีของพวกเขาเพื่อสร้างความยุ่งเหยิงหรือการฉ้อฉล (เช่นการปั๊มการลงคะแนน) ในกรณีเช่นว่านี้ มันไม่ได้เป็นพฤติกรรมแตกแยกของผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน แต่เป็นของผู้ใช้ที่ลงทะเบียน ถ้าคุณไม่เห็นสัญญาณของความเป็นหุ่นเชิด ให้เชื่อว่ามีเจตนาดี หรือมิฉะนั้นก็ร้องขอให้ผู้ตรวจสอบผู้ใช้ ยืนยันว่าพวกเขาเป็นหุ่นเชิดจริงหรือไม่
  • ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนไม่ทราบหรือไม่เข้าใจนโยบาย บางคนก็อาจจะเป็นเช่นนั้น และบ่อยครั้งผู้ใช้ที่ลงทะเบียนก็เป็นเหมือนกัน ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนคนหนึ่งอาจมีส่วนร่วมครั้งเดียวแล้วก็จากไป หรือเป็นผู้แก้ไขครั้งแรกในวิกิพีเดีย (มันก็ยากที่จะบอกได้) ให้ระลึกและจดจำไว้ในใจว่า อย่าทำตัวงี่เง่า และอย่ากัดผู้ใช้ใหม่
  • พวกเขาควรลงทะเบียนสำหรับบัญชีผู้ใช้ (ถ้าพวกเขาต้องการเข้าร่วมเป็นต้น) ไม่เลย คุณจำเป็นต้องรับผลงานของพวกเขา รับฟังข้อเสนอแนะของพวกเขา และมีส่วนร่วมสร้างความเห็นพ้องต้องกันกับพวกเขา ไม่มีข้อกำหนดว่าใคร ๆ ต้องลงทะเบียนสำหรับบัญชีผู้ใช้ก่อนที่พวกเขาจะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสารานุกรมนี้ มีแต่ข้อกำหนดว่าคุณต้องประพฤติอย่างไร

สิ่งที่ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนทำไม่ได้ แก้

ในฐานะกฎทั่วไป ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนสามารถทำทุกอย่างดังผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกระทำ ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนสามารถแก้ไขบทความ มีส่วนร่วมอภิปรายในหน้าอภิปราย เข้ามีส่วนร่วมในการร่างข้อเสนอนโยบาย และทำอย่างอื่น (เกือบ) ทุกอย่างที่ผู้ใช้ลงทะเบียนสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อจำกัดเฉพาะเจาะจงบางประการเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนสามารถกระทำได้ โดยไม่มีความช่วยเหลือจากผู้ใช้ที่ลงทะเบียน

  • สร้างบทความใหม่ ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนไม่อาจสร้างบทความใหม่ได้ ข้อจำกัดนี้มีผลบังคับต่อผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนอันเนื่องมาจากอุบัติการณ์ Seigenthaler อย่างไรก็ดี พวกเขาอาจฝากหัวข้อบทความไว้ที่บทความที่ต้องการ จากนั้นบทความก็จะสามารถสร้างขึ้นโดยผู้ใช้ที่ลงทะเบียนคนใดก็ได้ ในทำนองเดียวกัน พวกเขาสามารถเข้าร่วมการอภิปรายการลบได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2548
  • แก้ไขหน้าที่ถูกกึ่งล็อก บทความบางบทความ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่ หรือบทความตามฤดูกาลเช่นสงกรานต์) เป็นตัวดึงดูดการก่อกวนและการละเมิดนโยบายอย่างไม่ลดละจากผู้แก้ไขขาจร ไม่ว่าจะลงทะเบียนหรือไม่ลงทะเบียน เพื่อรับมือกับเหตุการณ์นี้ บทความจึงถูกกึ่งล็อก การกึ่งล็อกมิได้เป็นวิธีการป้องกันการก่อกวนจากผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน แต่จากผู้ใช้ที่ลงทะเบียนมาแล้วน้อยกว่า 4 วันและแก้ไขน้อยกว่า 10 ครั้ง แต่เนื่องด้วยไม่มีวิธีพิจารณาระยะเวลาในระหว่างที่ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนได้เข้ามีส่วนร่วม (เพราะบุคคลต่าง ๆ หลายคนอาจร่วมใช้เลขที่อยู่ไอพีเดียวกัน) การป้องกันนี้จึงมีผลกระทบต่อผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนด้วย สิ่งนี้มิได้หมายความว่าผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนมีสถานะเทียบเท่าผู้ใช้มือใหม่ หรือว่าพวกเขาถูกพิจารณาว่ามีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า
  • แก้ไขจากเลขหรือช่วงเลขที่อยู่ไอพีที่ถูกบล็อก ผู้ใช้ที่ลงทะเบียนที่พยายามก่อกวนหรือแก้ไขให้เกิดความยุ่งยาก สามารถถูกสกัดกั้นโดยผู้ดูแลระบบมิให้แก้ไขได้ ส่วนผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนที่พยายามก่อกวนหรือสร้างความยุ่งยากในการแก้ไข ก็สามารถถูกสกัดกั้นมิให้แก้ไขได้ในทำนองเดียวกัน โดยใช้มาตรการการบล็อกที่คล้ายกันจากเลขหรือช่วงเลขที่อยู่ไอพีของพวกเขา ถ้าคุณเห็นคำเตือนการบล็อกในหน้าผู้ใช้ของผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน โปรดจำไว้ว่าบุคคลที่เข้ามีส่วนร่วมในวันนี้จากเลขที่อยู่ไอพีดังกล่าว ก็อาจไม่ได้เป็นคนเดียวกันกับคนที่ถูกบล็อก ผู้ใช้ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ (ที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียน) ก็อาจถูกบล็อกจากการเข้ามีส่วนร่วม เนื่องจากการบล็อกเลขหรือช่วงเลขที่อยู่ไอพียังมีผลอยู่เช่นเดียวกัน
  • อัปโหลดรูปภาพและเปลี่ยนชื่อหน้า ผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งลงทะเบียนและผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนไม่สามารถอัปโหลดไฟล์ใหม่หรือเปลี่ยนชื่อบทความโดยตรง เหมือนกับการกึ่งล็อก ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนและผู้ใช้ที่ยังไม่ได้ยืนยันก็อาจฝากให้ผู้ใช้ลงทะเบียนขาประจำอัปโหลดไฟล์ หรือร้องขอการย้ายหน้ากับผู้ดูแลระบบ
  • เป็นผู้ดูแลระบบ (หรืออื่น ๆ ที่คล้ายกัน) วิกิพีเดียได้ยับยั้งการใช้งาน "ปุ่ม" บางอย่างจากผู้ใช้ส่วนมาก "ปุ่ม" เหล่านี้ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการลบบทความหรือการบล็อกผู้ใช้ ในกรณีเกือบทั้งหมด มันเป็นเรื่องของชุมชนวิกิพีเดียที่จะตัดสินใจว่าใครจะสามารถเข้าถึง "ปุ่ม" เหล่านี้ ชุมชนเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ใช้คนใดคนหนึ่งจะได้สิทธิพิเศษเหล่านี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่แสดงว่าพวกเขามีความน่าเชื่อถือและมีการตัดสินใจที่ดี เนื่องด้วยบุคคลหลายคนอาจเข้ามีส่วนร่วมโดยใช้เลขที่อยู่ไอพีเดียวกัน หากสิทธิเหล่านี้ถูกมอบให้แก่ผู้ใช้ไม่ลงทะเบียน มันจะไม่มีวิธีรับประกันได้ว่าเฉพาะผู้ใช้แค่คนนั้นที่ได้รับสิทธิเข้าถึง "ปุ่ม" และด้วยเหตุผลเดียวกัน ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนจะไม่สามารถได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ เช่นคณะอนุญาโตตุลาการ
  • ออกเสียงลงคะแนน การตัดสินใจในวิกิพีเดียในบางโอกาสที่มีน้อยกระทำด้วยวิถีประชาธิปไตย (เช่นการเสนอชื่อเพื่อเป็นผู้ดูแลระบบ การเลือกตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ) ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนไม่อาจออกเสียงลงคะแนน แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังมีส่วนร่วมในการอภิปรายได้ สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงเนื่องจากความไม่ไว้วางใจต่อผู้ใช้ที่ลงทะเบียน มากกว่าที่จะเป็นความไม่ไว้วางใจต่อผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียน ถ้าให้ผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนสามารถลงคะแนนเสียงได้ ผู้ใช้ที่ลงทะเบียนที่ทุจริตก็อาจล็อกเอาต์จากบัญชีผู้ใช้ของพวกเขามาลงคะแนนเสียงซ้ำ

เนื่องด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ การเป็นผู้ใช้ที่ลงทะเบียนจึงมีข้อได้เปรียบเฉพาะเจาะจงบางข้อ นอกจากนี้ผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่งลงทะเบียนก็มีข้อจำกัดอื่นบางส่วนที่ถูกใช้น้อยกว่า ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ที่ไม่ลงทะเบียนด้วย (เช่นความสามารถในการทำเครื่องหมายหน้าใหม่ว่าตรวจตราแล้ว)

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ดูที่ การศึกษาของ Opabinia regalis, กุมภาพันธ์ 2550.
  2. Viégas, F. B.; Wattenberg, M.; Dave, K (April 2004). "history flow: results" [executive summary], and "Studying Cooperation and Conflict between Authors with history flow Visualizations" (871 KB PDF). IBM Collaborative User Experience Research group.