วงศ์นกแต้วแร้ว
นกแต้วแร้วท้องดำ (Hydrornis gurneyi) (ตัวผู้) ที่เขานอจู้จี้ จังหวัดกระบี่
นกแต้วแร้วท้องดำ (ตัวเมีย) ที่เขานอจู้จี้ จังหวัดกระบี่
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไม่ได้จัดลำดับ: Archosauria
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์ใหญ่: Pittoidea
Swainson, 1831
วงศ์: Pittidae
Swainson, 1831
สกุล

วงศ์นกแต้วแร้ว หรือ วงศ์นกแต้วแล้ว[1] (อังกฤษ: Pittas) เป็นวงศ์ของนกที่มีขนาดเล็กวงศ์หนึ่ง จัดอยู่ในอันดับ Passeriformes เช่นเดียวกับนกกระจอก (Passeridae) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Pittidae

โดยทั่วไปแล้ว นกแต้วแร้วจะมีลำตัวอ้วนสั้น มีสีสันฉูดฉาดสะดุดตาหลายสี เช่น น้ำเงิน, เขียว, แดง, น้ำตาล หรือเหลือง รวมอยู่ในตัวเดียวกัน คอและหางสั้น ขายาว มักกระโดดหรือวิ่งบนพื้นดิน เป็นนกที่ขี้อาย ขี้ตื่นตกใจ มีพฤติกรรมชอบอยู่ลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ หากจะบินก็จะบินเป็นระยะสั้น ๆ หรือเตี้ย ๆ ในบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัย โดยมักจะอาศัยอยู่ในพุ่มไม้

นกแต้วแร้วมักอาศัยอยู่ในป่าที่มีความชุ่มชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ ด้วยหากินที่อยู่ในบริเวณนั้น เช่น หอยทาก, ไส้เดือนดิน หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลาน เป็นอาหาร โดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดลำตัวประมาณ 15–25 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 42–218 กรัม

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปแอฟริกา, อนุทวีปอินเดีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย

วางไข่ครั้งละ 6 ฟองบนต้นไม้หรือพุ่มไม้ หรือบางครั้งก็บนพื้นดิน พ่อแม่นกจะช่วยกันดูแลลูกอ่อน โดยรังจะสานจากกิ่งหรือใบไม้ หรือฟางที่หาได้ มีหลายชนิดที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน[2] ลูกนกเมื่ออยู่รัง พ่อแม่นกจะช่วยกันดูแลและคาบอาหารมาให้ ส่วนมากเป็นแมลง บางครั้งอาจจะเป็นแมง เช่น ตะขาบ หรือสัตว์อย่างอื่น เช่น ไส้เดือนดิน แล้วแต่จะหาได้ ลูกนกเมื่อจะถ่าย จะหันก้นออกนอกรังแล้วขับถ่ายมูลออกมา ซึ่งถูกห่อหุ้มอยู่ในถุงขนาดใหญ่ พ่อแม่นกต้องคาบไปทิ้งให้ไกลจากรัง เพราะกลิ่นจากมูลลูกนกจะเป็นสิ่งที่บอกที่อยู่ให้แก่สัตว์นักล่าได้[3]

เดิมได้รับการอนุกรมวิธานออกเพียงสกุลเดียว คือ Pitta แต่ปัจจุบันได้แยกออกเป็น 3 สกุล (ดูในตาราง) ทั้งหมดราว 31 ชนิด[4]

สำหรับนกแต้วแร้วในประเทศไทยนั้น พบทั้งหมด 12 ชนิด เช่น นกแต้วแร้วธรรมดา หรือนกแต้วแร้วสีฟ้า (Pitta moluccensis), นกแต้วแร้วป่าโกงกาง หรือนกแต้วแร้วป่าชายเลน (P. megarhyncha), นกแต้วแร้วหูยาว (Hydrornis phayrei) [5] โดยมีชนิดที่ได้รับยการยอมรับว่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่สุด คือ นกแต้วแร้วท้องดำ (H. gurneyi) ที่พบได้เฉพาะในป่าชายแดนไทยติดกับพม่าแถบอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เท่านั้น [6]

อ้างอิง แก้

  1. "แต้วแร้ว หรือ แต้วแล้ว". พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มกราคม 2012.
  2. McClure, H. Elliott (1991). Forshaw, Joseph. ed. Encyclopaedia of Animals: Birds. London: Merehurst Press. pp. 159–160. ISBN 1-85391-186-0.
  3. อิสรภาพ. "พินัยกรรมธรรมชาติ". สารคดีทางไทยพีบีเอส. ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556.
  4. Irestedt M, Ohlson JI, Zuccon D, Källersjö M, Ericson PGP (2006). "Nuclear DNA from old collections of avian study skins reveals the evolutionary history of the Old World suboscines (Aves: Passeriformes)" (PDF). Zoologica Scripta. 35: 567–580. doi:10.1111/j.1463-6409.2006.00249.x.
  5. นกแต้วแร้ว. วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ชุด สัตว์น่ารู้ นก (๑). กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2000. OCLC 937411391.
  6. "นกแต้วแล้วท้องดำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มกราคม 2012. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pitta ที่วิกิสปีชีส์

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Pittidae