มูฮัมหมัด อาลี (อังกฤษ: Muhammad Ali) เป็นอดีตยอดนักมวยชาวอเมริกันในรุ่นเฮฟวี่เวทผู้เป็นตำนาน อาลีมีชื่อจริงแต่กำเนิดว่า เคสเซียส มาเซลลัส เคลย์ จูเนียร์ (Cassius Marcellus Clay Jr.) แต่นิยมเรียกว่า เคสเซียส เคลย์ (Cassius Clay)

มูฮัมหมัด อาลี
ชื่อจริงมูฮัมหมัด อาลี
ฉายาBlack Superman
The Greatest
สิงห์จอมโว (ภาษาไทย)
น้ำหนักไลท์เฮฟวีเวท (มวยสากลสมัครเล่น)​
เฮฟวีเวท
ส่วนสูง191 เซนติเมตร
เกิด17 มกราคม พ.ศ. 2485
ลุยส์วิลล์, สหรัฐอเมริกา,
เสียชีวิต3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (อายุ 74 ปี)
สกอตส์เดล, สหรัฐอเมริกา
ชกทั้งหมด61
ชนะ56
ชนะน็อก37
แพ้5
เสมอ0
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
โอลิมปิกฤดูร้อน
เหรียญทอง - ชนะเลิศ โรม 1960 ไลท์เฮฟวี่เวท

ชีวประวัติและผลงาน แก้

อาลีขึ้นชกมวยครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 12 ปี โดยมีครูฝึกเป็นตำรวจเชื้อสายไอริชชื่อ โจ มาร์ติน จุดประสงค์แรกก็คือให้อาลีใช้เป็นทักษะการต่อสู้เพื่อปกป้องจักรยานราคา 60 ดอลลาร์ของตนจากเด็กละแวกบ้านเดียวกัน อาลีได้พัฒนาฝีมือการชกขึ้นตามลำดับจนกระทั่งคว้าแชมป์มวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลท์เฮฟวี่เวทของเมืองลุยส์วิลล์ จากนั้นได้ครองแชมป์ระดับภูมิภาคของชิคาโก ได้แชมป์มวยสากลสมัครเล่นแห่งชาติ และประสบความสำเร็จสูงสุดจากการได้เหรียญทองในรุ่นไลท์เฮฟวีเวทในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินในครั้งนั้น อาลีกลัวเครื่องบินจะตกมาก ถึงขนาดสวมใส่เสื้อชูชีพไว้ตลอดการเดินทาง[1]

หลังจากนั้นอาลีได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเยี่ยงวีรบุรุษ แต่เมื่อเขาได้เข้าไปที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งเพื่อที่จะเฉลิมฉลอง กลับถูกบริกรในร้านปฏิเสธเพราะมีข้อกำหนดว่าบริการเฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น อาลีจึงตอบโต้ด้วยการเขวี้ยงเหรียญที่ได้รับลงแม่น้ำโอไฮโอเพื่อเป็นการประท้วง แต่เขากลับอ้างว่าไม่ได้เขวี้ยง แต่ลืมทิ้งไว้ไม่รู้หายไปไหน ซึ่งอีกหลายปีต่อมาในโอลิมปิคที่แอตแลนต้า ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้มอบเหรียญรางวัลใหม่เพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขา[1]

อาลีได้ขึ้นชกมวยอาชีพครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2503 โดยมีแองเจโล่ ดันดี เทรนเนอร์ชื่อดังระดับโลกเป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งการชกภายใต้การควบคุมของดันดี ทำให้อาลีพัฒนาสไตล์การชกแตกต่างไปจากนักมวยในรุ่นเฮฟวีเวทคนอื่น ๆ มาก เพราะอาลีแม้จะเป็นมวยรุ่นใหญ่แต่สามารถชกคู่ต่อสู้ขณะเต้นฟุทเวิร์กได้ตลอดเวลาอย่างสวยงามและมีลีลาเหมือนมวยรุ่นเล็ก แต่ก็ยังปล่อยหมัดได้แม่นยำและหนักหน่วง ถึงขนาดสามารถที่จะชกพร้อมกับเต้นถอยหลังได้ จึงทำให้อาลีได้รับนิยามว่า "โบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" (Float like a Butterfly, Sting Like a Bee) จุดนี้ทำให้อาลีนำพู่มาติดที่รองเท้าเป็นรายแรกยามที่พู่สะบัดก็จะยิ่งเพิ่มความงดงามให้กับการชกของตน

อาลีขึ้นชิงแชมป์โลกครั้งแรกกับซอนนี ลิสตัน นักมวยจอมโหดผู้เคยผ่านการติดคุกมาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ในการชกครั้งนี้หลายฝ่ายคาดว่าอาลีคงต้องถูกน็อกอย่างแน่ แต่อาลีกลับเป็นฝ่ายที่สามารถชนะอาร์ทีดี (คู่ต่อสู้ขอยอมแพ้หลังหมดยก) ลิสตันได้ในยก 6 และได้ชื่อเสียงมาในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน

ในปี พ.ศ. 2509 อาลีได้รับหมายเกณฑ์เพื่อเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามเขาถูกจัดให้อยู่ในประเภท A-1 (ดีเยี่ยม) โดยทางการให้สัญญาว่า ตำแหน่งของเขาจะอยู่ห่างจากสมรภูมิหลายร้อยไมล์ แต่อาลีก็ตอบโต้คำสั่งด้วยประโยคที่เป็นอมตะว่า "ผมไม่เคยมีเรื่องราวอะไรกับพวกเวียดกง" (I ain't got no quarrel with them Viet Cong) นั่นทำให้ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2510 อาลีปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าจะไม่เข้าร่วมในกองทัพ อีก 10 วันต่อมาเขาถูกดำเนินคดีที่ฮิวสตันในข้อหาหลีกเลี่ยงทหาร ผู้พิพากษา โจ อิงแกรม ตัดสินให้เขาได้รับโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี และปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์อาลีถูกสั่งห้ามชก

ตัวอย่างของอาลียังทำให้ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ที่ยังลังเลที่จะต่อต้านนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีจอห์นสัน ได้แสดงแนวความต่อต้านสงครามของตนออกมาเป็นครั้งแรก[2]

จากนั้นอาลีได้ทำในสิ่งที่ชาวโลกตะลึง เมื่อจู่ ๆ เขาประกาศว่าเขาหันมานับถือศาสนาอิสลาม โดยคำสอนของศาสนาไม่ให้ไปเข่นฆ่าผู้คน ดังนั้นการเกณฑ์เป็นทหารจึงเป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้ และได้เปลี่ยนชื่อจากเคสเซียส เคลย์ มาเป็น มูฮัมหมัด อาลี อย่างที่รู้จักกันแพร่หลาย ซึ่งชื่อนี้ อีไลจาห์ มูฮัมหมัด ผู้นำมุสลิมในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตั้งให้ โดยมีความหมายว่า "ควรค่าแก่การสรรเสริญ" แต่อย่างไรก็ตาม อาลีเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนแรกทีขึ้นชกมวยเขาเคยใช้ชื่อว่า "เคสเซียส เอ็กซ์" (Cassius X) ตามแบบแมลคัม เอ็กซ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา[1]

คำร้องอุทธรณ์ของอาลีมาประสบความสำเร็จในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2514 คำตัดสินของศาลสูงสุดยกฟ้องด้วยเสียง 8:0 นับเป็นระยะเวลา 3 ปีที่อาลีไม่ได้ขึ้นเวทีชกมวยเลย ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายเห็นว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา น่าจะเป็นช่วงที่อาลีขึ้นถึงจุดสูงสุดในชีวิตการชกมวยได้ แต่กลับต้องเลยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

นักมวยรุ่นเฮฟวีเวทในระยะเวลาเดียวกันนั้นที่นับได้ว่าเป็นคู่ปรับคนสำคัญของอาลีคือ โจ เฟรเซียร์ ทั้งคู่พบกันบนเวทีหลายครั้ง และทุกครั้งก็นับการเป็นการชกครั้งประวัติศาสตร์ ในครั้งแรกเฟรเซียร์สามารถเอาชนะคะแนนอาลีได้ในเวลา 15 ยก แต่กระนั้นเฟรเซียร์ก็ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 10 เดือน ด้วยฤทธิ์หมัดของอาลี ต่อมาทั้งคู่ชกกันอีกที่ฟิลิปปินส์ ในศึกที่มีชื่อว่า "Thrilla in Manila" คราวนี้เฟรเซียร์เป็นฝ่ายแพ้อาร์ทีดีไปในยกที่ 14

อีกครั้งหนึ่งที่นับเป็นการชกครั้งประวัติศาสตร์ของอาลีและของวงการมวยโลก คือ การพบกับ จอร์จ โฟร์แมน ซึ่งขณะนั้นโฟร์แมนเป็นแชมป์โลกอยู่ และเป็นการชิงแชมป์โลกครั้งที่ 3 ในชีวิตของอาลี ในศึกที่มีชื่อว่า "The Rumble in the Jungle" ที่กรุงกินซาซ่า ประเทศซาอีร์ การชกครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการจัดชกมวยระดับโลกเป็นครั้งแรกใจกลางทวีปแอฟริกาด้วย แต่หากยังมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เพราะในขณะนั้นกระแสการเหยียดสีผิวกระเพื่อมรุนแรงมากในทั่วทุกมุมโลก โดยโปรโมเตอร์ผู้จัดครั้งนี้คือ ดอน คิง ซึ่งต่อมาศึกครั้งนี้ได้สร้างชื่อให้กับดอน คิง แจ้งเกิดได้ในวงการมวยระดับโลกมาจนปัจจุบัน

ผลการชก โฟร์แมนเป็นฝ่ายเดินเข้าหาและปล่อยหมัดใส่อาลีตั้งแต่ยกแรก ขณะที่อาลีได้แต่ปัดป้องและถอยพิงเชือก จนกระทั่งถึงยกที่ 8 ขณะที่โฟร์แมนเริ่มหมดแรง อาลีเริ่งระดมปล่อยหมัดจนกระทั่งกรรมการยุติการชก ทำให้อาลีได้กลับมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ได้ในที่สุด ซึ่งในอีกหลายปีต่อมาโฟร์แมนได้เปิดเผยว่า ตนถูกฝ่ายอาลีและดอน คิง เอาเปรียบทุกอย่างและมีการเตรียมเชือกกั้นเวทีให้หย่อนกว่าปกติเพื่อที่อาลีจะได้โยกหลบหมัดของตนได้อย่างเต็มที่

อาลีมาเสียแชมป์โลกเมื่อเป็นฝ่ายแพ้คะแนน 15 ยกแก่ ลีออน สปิงก์ส์ นักมวยรุ่นน้องอดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิคที่มอนทรีออล แม้ต่อมาจะเป็นฝ่ายแก้มือเอาชนะสปิงก์ส์ในครั้งต่อมาได้ ปีต่อมาก็ประกาศแขวนนวม แต่ก็อีกไม่นานก็คัมแบ็คกลับมาด้วยการแพ้อาร์ทีดีในยกที่ 10 ต่อ แลร์รี โฮล์มส์ เมื่อ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ต่อมากลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทที่สามารถป้องกันตำแหน่งได้มากถึง 17 ครั้ง อาลีขึ้นชกมวยครั้งสุดท้ายก็เป็นฝ่าย​แพ้คะแนน ต่อ เทรเวอร์ เบอร์บิก ที่ต่อมากลายเป็นแชมป์โลก WBC รุ่นเฮฟวีเวท โดยสภาพร่างกายของอาลีไม่ไหวแล้ว ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524

สำหรับการชกที่ถือว่าอาลีต้องเจ็บตัวมากที่สุด คือการพ่ายแพ้แก่ เคน นอร์ตัน นักมวยโนเนมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2516 แม้จะเป็นฝ่ายแพ้คะแนน แต่หลังการชกอาลีถูกตรวจพบว่าถึงกับกรามหักจากฤทธิ์หมัดของนอร์ตัน

 
อาลี หลังแขวนนวม

มูฮัมหมัด อาลี ถือว่าเป็นนักมวยผู้เป็นตำนานในหลายด้าน นอกจากบุคลิกที่โดดเด่น กล้าคิด กล้าพูด หลายเรื่องที่อาลีแสดงความเห็นและแสดงออกทางสังคมล้วนแต่มีนัย มีความหมายทั้งสิ้น ประกอบกับกระแสการเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกาและการเมืองโลกขณะนั้นยิ่งทำให้อาลีกลายเป็นบุคคลที่โดดเด่นขึ้นมา ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในมหาวิทยาลัยและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของหลายสถาบัน และได้รับเลือกให้เป็นบุคคลในวงการกีฬาแห่งปี พ.ศ. 2517 ของนิตยสารสปอร์ตอิลลัสเตรด อีกทั้งยังเป็นนักมวยรายแรกที่กล้าทำนายผลการชกของตัวเองล่วงหน้า แม้จะฟังดูว่าอวดตัวเอง แต่อาลีก็สามารถทำได้ในหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้มีจอห์นนี เวกกิน นักดนตรีชาวอังกฤษแต่งเพลงให้แก่อาลีชื่อ "Black Superman" ซึ่งต่อมาคำนี้ได้กลายเป็นฉายาของอาลีในภาษาอังกฤษด้วย และในส่วนของแฟนมวยชาวไทยได้ให้ฉายาแก่อาลีในแบบที่สอดคล้องกับชื่อภาษาอังกฤษว่า "สิงห์จอมโว"

ชีวิตครอบครัว อาลีสมรสทั้งหมด 4 ครั้ง มีบุตรทั้งหมด 9 คน เป็นหญิง 7 คน ชาย 2 คน โดยอาลีสมรสครั้งแรกกับ ซอนจี รอย สาวเสิร์ฟค็อกเทล เมื่อปี พ.ศ. 2507 หลังรู้จักกันได้เพียง 1 เดือนก่อนจะเลิกรากันในอีก 2 ปีถัดมา จากนั้นจึงสมรสเป็นครั้งที่ 2 กับ เบลินดา บอยด์ เมื่อปี พ.ศ. 2510 มีบุตรสาว 3 คน บุตรชาย 1 คน แต่หย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2519 จากนั้นปีถัดมาสมรสใหม่อีกครั้งกับ เวโรนิกา พอร์ช มีบุตรสาวทั้งหมด 4 คน แต่ก็หย่าอีกเมื่อปี พ.ศ. 2529 และปีเดียวกันนั้นเอง อาลีสมรสครั้งสุดท้ายกับ โยลันดา วิลเลียมส์ และรับอุปการะเด็กมาเลี้ยง[3]

หลังแขวนนวม มูฮัมหมัด อาลี ได้ทำงานเกี่ยวกับสาธารณกุศลไปทั่วโลก และในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี พ.ศ. 2533 เมื่ออิรักบุกยึดคูเวตได้แล้ว กองทัพอิรักได้จับกุมตัวประกันชาวอเมริกันได้กว่า 2,000 ราย อาลีได้เสนอตัวเข้าไปเป็นผู้เจรจาปล่อยตัวประกันด้วยตนเองกับประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ถึงกรุงแบกแดก ด้วยคิดว่าชื่อเสียงของเขาและการที่เป็นชาวมุสลิมเหมือนกันจะช่วยให้การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี ปรากฏว่าความพยายามของอาลีเป็นที่สำเร็จ เมื่อทางฮุสเซนยอมปล่อยตัวประกันออกมา 15 ราย หลังจากใช้เวลาเจรจาเพียง 50 นาที [1]

นอกจากนี้แล้ว อาลียังเป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นโรคพาร์กินสันหรือโรคเมาหมัด ซึ่งเป็นผลจากการชกมวย แต่ในพิธีเปิดโอลิมปิคที่แอตแลนต้า อาลีได้รับเกียรติจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ให้เป็นบุคคลสุดท้ายที่จุดคบเพลิงด้วยมือที่สั่นเทา แต่อาลีก็สามารถทำได้ เป็นที่ประทับใจของผู้คนทั่วโลก แม้กระทั่งบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นประธานพิธีเปิดถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้ง[1]

ต่อมาเขาถูกยกย่องให้เป็นแชมป์โลกตลอดกาลในรุ่นเฮฟวีเวทโดยสมาคมมวยโลก ในปี 2554

อาลี เสียชีวิตในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ที่โรงพยาบาลในเมืองสกอตส์เดล รัฐแอริโซนา เวลา 21:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากโรคพาร์กินสันและระบบทางเดินหายใจ ขณะอายุได้ 74 ปี [4] และหลังจากข่าวการเสียชีวิตได้เป็นที่รับรู้กัน ได้มีการแสดงความเสียใจจากบุคคลในวงการมวยระดับโลกหลายคนและอีกหลากหลายวงการ เช่น ดอน คิง, จอร์จ โฟร์แมน, ไมก์ ไทสัน, แมนนี ปาเกียว และฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ รวมถึงบารัก โอบามา[3]

เกียรติ​ประวัติ​ แก้

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

ภาพยนตร์ แก้

ชีวิตของมูฮัมหมัด อาลี ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 กับเรื่อง "When We Were Kings" เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวของศึก Rumble in the Jungle ที่ซาอีร์ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อได้รับรางวัลออสการ์ ประเภทภาพยนตร์สารคดีในปีนั้นด้วย (ในประเทศไทยได้นำมาฉายที่โรงภาพยนตร์ที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในชื่อภาษาไทยว่า "วันเวลาของราชันย์" และต่อมาทางสหมงคลฟิล์มผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้ออกวิดีโอออกมาจัดจำหน่ายและให้เช่า)

อีกครั้งในปี พ.ศ. 2544 ในชื่อ "Ali" (ชื่อภาษาไทย อาลี กำปั้นท้าชนโลก ฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2545) เป็นภาพยนตร์เรื่องราวชีวประวัติของอาลีล้วน ๆ กำกับโดย ไมเคิล แมนน์ นำแสดงเป็นอาลี โดย วิลล์ สมิธ ภาพยนตร์ได้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขารางวัลดารานำชายและดาราประกอบชาย ถึง 2 รางวัลด้วยกัน

มูฮัมหมัด อาลี ยังเคยแสดงภาพยนต์เรื่อง The Greatest ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของตัวเขาเอง เขาได้รับบทเป็นตัวเอง ซึ่งเป็นหนังเรื่องเดียวที่ตัวเขาเล่น

หนังสือการ์ตูน แก้

มูฮัมหมัด อาลี ได้รับเกียรติเป็นตัวละครสำคัญในหนังสือการ์ตูน Superman vs Muhammad Ali ซึ่งวางจำหน่ายช่วงปี พ.ศ. 2521 ซึ่งในฉบับนี้หน้าปกยังมีบุคคลดังในยุคนั้นแฝงอยู่อีกหลายคน เช่น แฟรงก์ ซินาตรา, เดอะแจ็กสันไฟฟ์ หรือแม้กระทั่งบุคคลสมมติเช่น เล็กซ์ ลูเธอร์ และแบทแมน และจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2553

อัลบั้มเพลง แก้

นอกจากนี้แล้ว มูฮัมหมัด อาลี ยังได้เคยออกสตูดิโออัลบั้มกับโคลัมเบียเรเคิดส์ ในปี พ.ศ. 2506 ใช้ชื่อว่า "I Am The Greatest" มีเพลงเด่น คือ Stand by Me ซึ่งคัฟเวอร์มาจากต้นฉบับของเบน อี. คิง[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ฟ้าวันใหม่นิวส์ 05 06 59 เบรก2". ฟ้าวันใหม่. 5 June 2016. สืบค้นเมื่อ 6 June 2016.
  2. "BACKTALK; Today's Athletes Owe Everything to Ali – Page 3 – New York Times". The New York Times. April 30, 2000. สืบค้นเมื่อ September 5, 2011.
  3. 3.0 3.1 หน้า 8 ต่อข่าวหน้า 1, ปิดตำนานนักชก 'อาลี'สิงห์จอมโว. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,342: วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  4. "ฮัมหมัด อาลี อดีตนักมวยดังในตำนาน ชาวอเมริกันเสียชีวิต ด้วยวัย74ปี". โพสต์ทูเดย์. 4 June 2016. สืบค้นเมื่อ 4 June 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้