สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย (เกิด 23 เมษายน พ.ศ. 2504) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังหลายสมัย

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
สาทิตย์ ในปี พ.ศ. 2552
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก่อนหน้าสุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
ถัดไปสุรวิทย์ คนสมบูรณ์
กฤษณา สีหลักษณ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 เมษายน พ.ศ. 2504 (63 ปี)
จังหวัดตรัง ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2538—2566)
คู่สมรสสุพร วงศ์หนองเตย

ประวัติ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เกิดวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2504 ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีชื่อเล่นว่า "ตาล" เป็นบุตรของประสิทธิ์ กับสมปอง วงศ์หนองเตย โดยเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนฮากกาหรือแคะ โดยบรรพบุรุษมาจากเมืองหลินชวน มณฑลเจียงซี[1] จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ, ระดับปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ร่วมรุ่นกับ พรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล) เมื่อปีการศึกษา พ.ศ. 2525 และระดับปริญญาโท จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) เมื่อปี พ.ศ. 2535 มีน้องชายชื่อ นายสาวุฒิ วงศ์หนองเตย เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 9 (ฝ่ายนายจ้าง)[2] และนายสาทร วงศ์หนองเตย

การทำงาน

ข้าราชการการเมือง

นายสาทิตย์ เคยดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ในสมัยรัฐบาลชวน 2 (พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2543) ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[3] รับผิดชอบดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)

ในปี พ.ศ. 2552 สื่อมวลชนประจำทำเนียบได้ตั้งฉายาให้รัฐบาลและรัฐมนตรี โดยนายสาทิตย์ ได้รับฉายาว่า "กริ๊ง...สิงสื่อ" อันเนื่องมาจากการโทรศัพท์ถึงสื่อมวลชนเพื่อชี้นำทิศทางการนำเสนอข่าวหลายครั้ง[4]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นายสาทิตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังหลายสมัย ในปี พ.ศ. 2538, 2539, 2544, 2548, 2550, 2554 และ 2562

กรรมการพรรคการเมือง

นายสาทิตย์ เคยดำรงตำแหน่ง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ช่วง ปี พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2544 และในปี พ.ศ. 2554 ได้ดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์[5] ต่อมาเขาได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556[6] เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.

ตำแหน่งอื่น

นายสาทิตย์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประธานวิปฝ่ายค้าน) ปี พ.ศ. 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมาภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้ง รัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเงา[7]

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557

ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 นายสาทิตย์เป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรค และเข้าเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) โดยมีบทบาทเป็นผู้ดูแลเรื่องการจัดการชุมนุมและการบริหารเวทีปราศรัยทั้งหมด จนถูกเรียกขานว่าเป็น "ผู้ใหญ่บ้านราชดำเนิน" หรือ "ผู้ใหญ่สาทิตย์" เช่นเดียวกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งถูกเรียกขานว่า "กำนันสุเทพ" หรือ "ลุงกำนัน" อีกทั้งเมื่อมีการเคลื่อนไหวผู้ชุมนุมไปตามที่ต่าง ๆ นายสาทิตย์ไม่เคยไปเลยซึ่งต่างจากแกนนำคนอื่น ๆ เนื่องจากต้องดูแลสถานที่ชุมนุมหลัก[8]

ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากการชุมนุมในครั้งนี้ ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย โดยนายสาทิตย์เป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 2[9][10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. "Big Picture คิดต่างระหว่างบรรทัด 30 11 60 เบรก 1". ฟ้าวันใหม่. 2017-11-30. สืบค้นเมื่อ 2017-12-01.
  2. เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 9
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
  4. ฉายานักการเมืองปี 53
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (จำนวน ๑๙ คน), เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๕๑ง หน้า ๕๓ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๔
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (จำนวน ๑๙ ราย), เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๑ง หน้า ๑๗๗ วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๗
  7. "เว็บไซต์ ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-30.
  8. หน้า 064-065, เวทีชีวิต'ผู้ใหญ่สาทิตย์'แห่งราชดำเนิน. นิตยสาร ฅ คน Magazine ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (97): มกราคม 2557
  9. "ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 30 แกนนำ กปปส. ที่เหลือยกคำร้อง". Thairath.co.th. 14 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-17. สืบค้นเมื่อ 17 May 2014.
  10. "ศาลอนุมัติออกหมายจับแกนนำ กปปส. 30 ราย-ยกคำร้อง 13". Posttoday.com. 14 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-15. สืบค้นเมื่อ 17 May 2014.
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ถัดไป
สุขุมพงศ์ โง่นคำ
สุพล ฟองงาม
   
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม. 59)
(20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554)
  สุรวิทย์ คนสมบูรณ์
กฤษณา สีหลักษณ์