พระที่นั่งวิมานเมฆ

พระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังดุสิต

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งในพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังฤดูร้อน พระจุฑาธุชราชฐาน ในอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2435 จนเมื่อหลังเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จึงได้ทำการย้ายพระที่นั่งแห่งนี้ไปยังพระราชวังดุสิตแทน ในปี พ.ศ. 2443 ซึ่งปัจจุบันบริเวณฐานคอนรากคอนกรีตเสริมเหล็กเดิม ยังคงหลงเหลืออยู่ที่พระจุฑาธุชราชฐาน

พระที่นั่งวิมานเมฆ
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต
ก่อนการบูรณะในปี 2561
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะปรับปรุง
ประเภทพระที่นั่ง
สถาปัตยกรรมวิกตอเรีย
ไทยประยุกต์
ที่ตั้งแขวงดุสิต เขตดุสิต
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2443
แล้วเสร็จพ.ศ. 2445
พิธีเปิด27 มีนาคม พ.ศ. 2445
ปรับปรุงพ.ศ. 2525
พ.ศ. 2561
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ปรับปรุงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในกำกับดูแลของสำนักพระราชวัง
ความสูง20 เมตร
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
วัสดุไม้สักทอง
จำนวนชั้น4 ชั้น
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เป็นที่รู้จักจากเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพระที่นั่งวิมานเมฆและหมู่พระตำหนัก
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005392
ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆ ได้ทำการปิดถาวร[1]

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต ได้รับการออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ด้วยรูปแบบตะวันตกผสมผสานรูปแบบไทย ที่เรียกว่า วิกตอเรีย อาคารได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับชมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2528 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2559 ได้ทำการปิดพระที่นั่งชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุง แต่เมื่อปี พ.ศ. 2561 อ้างอิงจากภาพถ่ายทางอากาศของกูเกิล แผนที่ พบว่าพระที่นั่งแห่งนี้ได้ถูกรื้อออกไป ซึ่งในโครงการปรับปรุงของกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่าเป็นเพราะจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างชั้นใต้ดิน เนื่องจากพระที่นั่งฯนั้นมีอายุการใช้งานเป็นเวลานาน เกิดการทรุดตัวของอาคารทำให้ได้รับความเสียหาย [2] [3] เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ทางสำนักข่าวบีบีซีประเทศไทย ได้เผยแพร่คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง ว่าขณะนี้พระที่นั่งวิมานเมฆไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือบุคคลภายนอกเข้าชมแล้ว[1]

ประวัติ

แก้
 
ภาพถ่ายทางอากาศในบริเวณที่ตั้งพระที่นั่งวิมานเมฆ ที่พบว่าอยู่ระหว่างการรื้อถอนเพื่อสร้างโครงสร้างใต้ดินใหม่

ครั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสทวีปยุโรปในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดซื้อที่สวนและนาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจรดคลองสามเสนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างเป็นอุทยานสถานและพระราชทานนามอุทยานสถานแห่งนี้ว่า "สวนดุสิต" โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชัง เมื่อ พ.ศ. 2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโยธาเทพ (กร หงสกุล ต่อมาเป็นพระยาราชสงคราม) เป็นนายงานรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ"[4] และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2443[5] โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2445[6]

พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2444 และได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2445 สร้างเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการถาวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงเป็นสถานที่ประทับของเจ้านายจนกระทั่งสิ้นรัชกาล เจ้านายฝ่ายในและข้าราชบริพารจึงได้กลับมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ. 2468 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชายา ก็ทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ และจากนั้นมา พระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายอีก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง

ใน พ.ศ. 2561 เนื่องจากพระที่นั่งวิมานเมฆ มีอายุใช้งานเป็นเวลานานเกิดการทรุดตัวของอาคารทำให้ได้รับความเสียหายจึงได้มีงานปรับปรุงโครงสร้างชั้นใต้ดินพระที่นั่งวิมานเมฆ โดยได้รื้อถอนโครงสร้างเดิมและจัดโครงสร้างใหม่[7]

ลักษณะขององค์พระที่นั่ง

แก้

พระที่นั่งองค์นี้ เป็นอาคารแบบวิกตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง

สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้จะแบ่งเป็นห้องชุดต่าง ๆ 5 สีด้วยกัน คือสีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม) แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามเป็นห้องบรรทม ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆคือห้องท้องพระโรง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 พระที่นั่งวิมานเมฆ ปิดไม่ให้สาธารณชนเยี่ยมชมแล้ว หลังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มานานกว่า 3 ทศวรรษ, website:https://www.bbc.com/ .วันที่ 5 สิงหาคม 2019
  2. https://pantip.com/topic/38899294
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-24. สืบค้นเมื่อ 2019-07-24.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระบรมราชโองการสร้างพระที่นั่งวิมาณเมฆ, เล่ม ๑๗, ตอน ๒๔, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๑๙๐๐, หน้า ๓๐๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, การก่อฤกษ์สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆ, เล่ม ๑๗, ตอน ๒๔, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๑๙๐๐, หน้า ๓๐๒
  6. ราชกิจจานุเบกษา, การเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ, เล่ม ๑๙, ตอน ๒, ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕, หน้า ๒๕

.7https://pantip.com/topic/38899294

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°46′27″N 100°30′45″E / 13.774061°N 100.512398°E / 13.774061; 100.512398