ขนมปังขิง
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ในภาษาไทย อาจเรียก ขนมขิง ว่า ขนมปังขิง ตามความคุ้นเคย เนื่องจากแปลตรงตัวมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Ginger bread (ginger หมายถึง ขิง และ bread หมายถึง ขนมปัง แปลเป็นภาษาไทยจึงได้คำรวมว่า ขนมปังขิง) แต่ขนมขิงเองมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากขนมปังที่เรารู้จักกันทั่วไปโดยสิ้นเชิง โดยเป็นขนมอบคนละรูปแบบกับขนมปัง (bread)
ขนมขิง หรือที่เรียกว่า ขนมขิงพริกไทย ขนมขิงเครื่องเทศ หรือขนมขิงน้ำผึ้ง เป็นขนมอบที่มีรูปแบบหลากหลาย และมักอบรับประทานกันโดยเฉพาะในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเทศกาลคริสต์มาสและในเทศกาลคริสต์มาส
ส่วนผสม
แก้นอกจากจะใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานและมีเครื่องเทศจากโลกตะวันออกเป็นส่วนผสมแล้ว (โดยมากคือ อบเชย กานพลู โป๊ยกั๊ก หรือน้อยครั้งที่ใช้กระวาน ผักชี ขิง ลูกจันทน์เทศ) ขนมขิงยังแตกต่างจากขนมปังอื่น ๆ ตรงที่ไม่มียีสต์เป็นส่วนผสมเลย การอบขนมขิงจะใช้เกลือจากเขากวางแดง (Hirschhornsalz) หรือสารโพแทสเซียม (หรืออาจใช้ทั้งสองอย่าง) แทนผงฟู ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้แป้งดิบที่ยังไม่ได้อบนั้นมีรสขมเล็กน้อย บ่อยครั้งที่มีการตกแต่งขนมขิงด้วยอัลมอนด์ ถั่ว ผงเปลือกส้ม ผงเปลือกมะนาว หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ช็อกโกแลต แป้งเป็นส่วนผสมหนึ่งที่ไม่ได้ใช้กับขนมขิงทุกประเภทเสมอไป ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งตามเกณฑ์คุณภาพแล้วจะไม่ใช้แป้งเลย หากแต่ใช้น้ำมันเมล็ดพืชแทน
สูตรขนมขิงส่วนใหญ่จะมีปริมาณแป้งน้อยมาก ประมาณร้อยละ 10 ถึง 50 ของส่วนผสมเท่านั้น ตำรับอาหารเยอรมันส่วนมากมักประกอบด้วยแป้งสาลี ในขณะที่ตำรับอาหารฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรปตะวันออกกลับใช้ข้าวไรย์แทน ในปัจจุบันมีการนำเครื่องเทศหลักที่ใช้ในการอบขนมขิงมาผสมสำเร็จรูปโดยเรียกว่า เครื่องเทศขนมขิง
ในเยอรมนีมีข้อกำหนดขั้นต่ำทางกฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพและคุณลักษณะของขนมขิง โดยมีการกำหนดสูตรต้นตำรับเฉพาะต่าง ๆ เช่น ขนมขิงตำรับเอลิเซ (Elisenlebkuchen) ตามที่กฎหมายอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารสัตว์ของเยอรมนีกำหนด ขนมขิงที่จะใช้ชื่อตำรับนี้ได้จะต้องมีอัลมอนด์ และ/หรือถั่วชนิดอื่น ๆ รวมกันอย่างน้อยร้อยละ 25 ของส่วนผสมทั้งหมด มวลรวมของส่วนผสมจะต้องประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากธัญพืชไม่เกินร้อยละ 10 หรือมีความเข้มข้นของธัญพืชเพียงแค่ร้อยละ 7.5 เท่านั้น ด้วยรายละเอียดอันพิถีพิถันทำให้ขนมขิงตำรับเอลิเซเป็นขนมอบชั้นเลิศตามมาตรฐานของกฎหมายอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และอาหารสัตว์ของเยอรมนี และอนุญาตให้ใช้เพียงช็อกโกแลตที่มีคุณภาพสูงในการผลิต ห้ามใช้เนยโกโก้เทียมคุณภาพต่ำโดยเด็ดขาด
ชื่อเรียกต่าง ๆ ของขนมขิง
แก้ขนมขิงเองก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค ในทางตอนใต้ ตะวันตก และตอนเหนือของเยอรมนีจะใช้คำว่า เลบคูเคน (Lebkuchen) ขณะเดียวกันในภูมิภาคทางใต้และตะวันตกของเยอรมนีก็อาจพบชื่อเรียกขนมขิงที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ลาเบอคูเคน (Labekuchen) เล็คคูเคน (Leckkuchen) หรือ เลเบนส์คูเคน (Lebenskuchen) ในบางพื้นที่ของรัฐบาวาเรียและรัฐบาเดน-เวิร์ทเทมเบิร์กเรียกขนมขิงว่า มาเก็นโบรท (Magenbrot) แม้ว่าโดยรวมแล้วจะหมายถึงขนมอบรูปแบบที่ต่างออกไปก็ตาม ตรงกันข้ามกับทางตะวันออกของเยอรมนีที่เรียกขนมขิงกันว่า เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย
การวิจัยถึงที่มาและความหมายของคำว่า เลบคูเคน (Lebkuchen) ซึ่งแปลว่าขนมขิงในภาษาเยอรมันนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แม้ว่าคำว่า เลบคูเคน จะมีการออกเสียงคล้ายกับคำว่า เลเบน (Leben) ที่หมายถึงชีวิต แต่ก็น่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย เพราะคาดว่าคำว่า เลบคูเคน มาจากคำภาษาละตินที่ว่า ลิบุม (libum) ซึ่งหมายถึง ขนมอบรูปร่างแบน หรือขนมเซ่นไหว้ มีการตีความทางศัพทมูลวิทยา (ศาสตร์แห่งที่มาของคำศัพท์) ว่าที่มาของคำดังกล่าวมาจากคำว่า ไลบ์ (Laib) ในภาษาชนเผ่าเจอร์มานิคโบราณ ซึ่งหมายถึงก้อนขนมปัง
ชื่อเรียก เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย มีที่มาจากยุคกลาง ในยุคที่เรียกเครื่องเทศจากต่างประเทศซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในการอบขนมรวมกันว่า พริกไทย คำเรียกขนมขิงในภาษาอังกฤษที่ว่า จินเจอร์เบรด (gingerbread) หรือในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า แปง เด ปีส (pain d’épices) รวมถึงคำว่า อิงแกวร์โบรท (Ingwerbrot : ขนมปังขิง) หรือ เกเวิร์ซโบรท (Gewürzbrot : ขนมปังเครื่องเทศ) ในภาษาเยอรมัน ล้วนสื่อความหมายที่บ่งถึงเครื่องเทศแห่งโลกตะวันออกได้อย่างชัดเจน ส่วนคำว่า โฮนิกโบรท (Honigbrot : ขนมปังน้ำผึ้ง) ในภาษาเยอรมัน นั้นก็สื่อถึงส่วนผสมหลักอย่างต่อไปของขนมขิงซึ่งก็คือ น้ำผึ้ง นั่นเอง
ประวัติ
แก้หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรก ๆ ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับขนมขิงน้ำผึ้งที่ผสมเครื่องเทศ นั้นมีอายุราว ๆ 350 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์โบราณมีขนมอบที่ใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวาน และเป็นขนมที่ต้องใช้ในพิธีศพ ชาวโรมันมีขนมที่เรียกว่า พานุส เมลลิทุส (panus mellitus) ซึ่งก็คือขนมที่ทาหน้าด้วยน้ำผึ้ง แล้วนำไปอบ ในสมัยก่อนนั้นต่างจากปัจจุบันคือ การรับประทานขนมขิงไม่เพียงเป็นที่นิยมเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น แต่รวมไปถึงในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ (เทศกาลฉลองการคืนชีพของพระเยซู) หรือช่วงเวลาอื่น ๆ ด้วย ขนมขิงนั้นจัดเป็นหนึ่งในอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเวลาถือศีลอด และอาจเสิร์ฟพร้อมกับเบียร์ดีกรีสูง เป็นต้น
ขนมขิงในรูปแบบที่รู้จักกันในปัจจุบันมีต้นกำเนิดจากเมืองดิแนนท์ในเบลเยี่ยม จากนั้นชาวเมืองอาคเคนได้รับมาดัดแปลง (อ้างอิงจากประวัติขนมขิงตำรับเมืองอาคเคน หรือ Aachener Printen) และท้ายที่สุดคณะนักบวชในฝรั่งเศสก็รับขนมชนิดนี้มา และดัดแปลงอีกเล็กน้อย คณะแม่ชีในสมัยนั้นจะอบขนมขิงเพื่อใช้เป็นของหวาน
ชื่อเรียกว่า เฟฟเฟอร์คูเคน หรือขนมขิงพริกไทยนั้นมีมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1296 ที่เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี และในศตวรรษที่ 14 ขนมอบชนิดนี้ก็เป็นที่รู้จักในเมืองนูเรมเบิร์กและบริเวณใกล้เคียง โดยผู้รับมาคือคณะพระนักบวช ต้นตำรับของเมืองนูเรมเบิร์กนี้มีที่มาจากอารามคริสตจักรที่เมืองไฮลส์บรอนน์ซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไป ขนมขิงนั้นเป็นที่นิยมเนื่องจากไม่เสียง่ายและสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน เหล่านักบวชมักจะนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในช่วงเวลาอดอยากแร้นแค้น
เนื่องจากการอบขนมขิงจำเป็นต้องใช้เครื่องเทศหายากจากแดนไกล เมืองต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญจึงมีประเพณีการทำขนมขิงที่มีประวัติอันยาวนาน นอกจากเมืองนูเรมเบิร์กและพุลสนิทซ์แล้ว ยังรวมไปถึงเมืองเอาก์สบูร์ก โคโลญจน์ และบาเซลด้วย ที่เมืองมิวนิกมีรายชื่ออาชีพ “เลบเซลเทอร์ (Lebzelter)” ในทะเบียนภาษีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1370 ซึ่งก็คือ คนทำขนมขิงนั่นเอง ที่เมืองนี้จะมีการทำขนมขิงให้เป็นรูปร่างต่างๆกัน และแต่งหน้าด้วยน้ำตาลหลากสี ในขณะที่ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์กจะตกแต่งด้วยอัลมอนด์และผงเปลือกมะนาว
ขนมขิงตำรับเมืองธอร์นหรือที่รู้จักกันในชื่อ ธอร์นเนอร์ ฟลาสเตอร์ชไตน์เนอ (Thorner Pflastersteine) ก็มีชื่อเสียงเช่นกัน ขนมขิงตำรับนี้มาจากเมืองทางอาณาเขต ปรัสเซียตะวันตกที่ชื่อ ธอร์น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเมืองโตรัน (Toruń) ของโปแลนด์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 ขนมขิงตำรับนี้ยังมีอีกสองฉายา คือ คาทรินเช็น (Kathrinchen) ซึ่งมีที่มาจากชื่อโบสถ์ของนักบุญคาธารินาแห่ง อเล็กซานเดรีย และฉายาว่า ไนซ์เซอร์ คอนเฟคท์ (Neisser Konfekt) ซึ่งมีที่มาจากชื่อเมืองไนซ์เซ ในเขตซิเลเซียที่ถูกเยอรมนียึดครองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16
ในสมัยก่อนขนมขิงซึ่งเรียกว่า เลบคัวเค (Lebkuoche) ในภาษาเยอรมันยุคกลาง จะอบโดยวางบนแป้นพิมพ์ในโรงอบขนมปังของโบสถ์ ซึ่งเป็นสถานที่อบขนมปังกลมที่เรียกว่า แผ่นศีล อยู่แล้ว ในตอนใต้ของเยอรมนีและประเทศออสเตรียจะเรียกขนมปังนี้ว่า เซลเทอ (Zelte) และเรียกคนอบขนมปังว่า เลบเซลเทอร์ (Lebzelter) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนทำขนมขิง หรือ เลบเซลเทอร์ ก็จัดอยู่ในกลุ่มสายอาชีพเดียวกันนั่นเอง
การคิดค้นผงฟูในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีบทบาทต่อวิวัฒนาการของขนมขิง ผงฟูทำให้ส่วนฐานที่เป็นแป้งนั้นพองฟูขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดขนมอบขึ้นหลายชนิดที่มีรสชาติและความเหนียวทั้งเหมือนและไม่เหมือนกับขนมขิงต้นแบบ ตัวอย่างเช่น ขนมขิงน้ำผึ้งและขนมขิงเครื่องเทศในรูปแบบต่าง ๆ หลายชนิด
ขนมขิงรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลก
แก้ทุกวันนี้ขนมขิงจัดเป็นขนมอบยอดนิยมสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสโดยมีชื่อเรียกและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมายตามแต่ละภูมิภาค มีทั้งขนมขิงทั้งแบบที่เคลือบและไม่เคลือบช็อกโกแลต ทั้งแบบที่มีถั่วต่าง ๆ และอัลมอนด์ มากหรือน้อยแตกต่างกันไป หรือแบบที่สอดไส้แยม เป็นต้น
ขนมขิงลายภาพ
แก้ขนมขิงลายภาพก็คือขนมขิงที่มีการตัดหรือกดทับให้เป็นลาย ขนมขิงรูปแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 มีทั้งแบบดั้งเดิมที่มีรูปภาพทางศาสนา และหลังจากนั้นก็เริ่มมีแบบที่เป็นรูปภาพทั่วไป ในปัจจุบันขนมขิงลายภาพเหล่านี้เป็นที่แพร่หลายในนานาประเทศ และไม่ได้ผลิตเพียงแค่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสอีกต่อไป ขนมขิงรูปหัวใจที่ตกแต่งด้วยน้ำตาลไอซิ่งนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี และซื้อหาได้ทั่วไปในงานรื่นเริง งานประจำปี และแม้กระทั่งบนแผงขายขนมในตลาดคริสต์มาส
หนึ่งในขนมขิงลายภาพซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกก็คือ “มนุษย์ขนมขิง หรือ จินเจอร์เบรดแมน (Gingerbread Man)” จากประเทศแถบที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรูปร่างเป็นคนแบบปั้นง่าย ๆ โดยไม่มีรายละเอียดของมือและเท้า เจ้ามนุษย์ขนมขิงมีชื่อเรียกว่า “เพ็พพาร์คาคอร์ (pepparkakor)” ในภาษาสวีเดน และ “เซแวร์นิเย โคซูลี (северные козули)” ในภาษารัสเซีย เชื่อกันว่าเจ้ามนุษย์ขนมขิงนี้นำมาซึ่งโชคดีและความร่ำรวย
บ้านขนมขิง
แก้ในภาษาเยอรมัน สิ่งที่เรียกว่า บ้านขนมขิงพริกไทย หรือ เฟฟเฟอร์คูเคนฮอยส์เช็น (Pfefferkuchenhäuschen) ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า บ้านขนมปังกรอบ หรือ คนุสเปอร์ฮอยส์เช็น (Knusperhäuschen) ในนิทานเรื่องบ้านขนมปัง (นิทานเรื่องแฮนเซลกับเกรเทล) ก็ทำมาจากขนมขิงเช่นกัน บ้านขนมขิงเหล่านี้นอกจากจะเป็นที่แพร่หลายในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันแล้ว ยังหาซื้อได้ในแถบยุโรปตะวันออกและประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วย
ขนมขิงสูตรเฉพาะของเยอรมนี
แก้ขนมขิงสูตรเฉพาะของเยอรมนีหลายตำรับเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์กและขนมขิงตำรับเมืองอาคเคน สูตรขนมขิงเฉพาะตามภูมิภาคต่าง ๆ ยังได้แก่ ขนมขิงตำรับรอสเนอร์ (Rosner Lebkuchen) จากเมืองวาลด์ซาสเซน (Waldsassen) ขนมขิงตำรับเบนท์ไฮม์เมอร์ มอพเพ็น (Bentheimer Moppen) ขนมขิงพริกไทยตำรับเมืองพุลสนิทซ์ หรือ พุลสนิทเซอร์ เฟฟเฟอร์คูเคน (Pulsnitzer Pfefferkuchen) ไนซ์เซอร์ คอนเฟคท์ (Neisser Konfekt) และ ขนมขิงถั่วพริกไทยแห่งรัฐเม็คเลนบูร์ก หรือ เม็คเลนบูร์กเกอร์ เฟฟเฟอร์นึซเซอ (Mecklenburger Pfeffernüsse)
ขนมขิงในรัสเซีย
แก้ขนมขิงตำรับรัสเซียที่มีชื่อในภาษารัสเซียว่า ปริยานิกี (ปริยานิกี หรือ Пряники เป็นคำเรียกแบบพหูพจน์ หากเป็นชิ้นเดียวจะเรียกว่า ปริยานิก หรือ Пряник) ประกอบด้วย แป้งสาลี น้ำตาล มาร์การีน เนย น้ำมัน น้ำ นม และเกลือ บางครั้งอาจใส่น้ำผึ้งและเครื่องเทศลงไปด้วยก็ได้ ขนมขิงตำรับนี้มักเสิร์ฟคู่กับชารัสเซีย
ที่เมืองตูลาได้พบว่ามีการนำขนมขิงปริยานิกีมาทำเป็นรูปร่างต่าง ๆ และเติมรสชาติที่แตกต่างกันออกไปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างช้า ในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ขนมขิงตั้งอยู่ที่เมืองนี้ด้วย ผู้เข้าชมจะมีโอกาสได้ลิ้มรสขนมขิงปริยานิกีที่อบมาสด ๆ ใหม่ ๆ
ขนมขิงในเขตเทือกเขาแอลป์
แก้ในสวิตเซอร์แลนด์ ขนมขิงรูปซานตาคลอสเป็นที่นิยมแพร่หลาย บนชิ้นขนมขิงจะมีกระดาษรูปซานตาคลอสแปะอยู่โดยใช้น้ำยางกัมอารบิกซึ่งเป็นยางไม้ธรรมชาติเป็นกาวติด ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่19 ขนมขิงตำรับสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือ ขนมขิงตำรับบาสเลอร์ เล็คเคอลี (Basler Leckerli) จากเมืองบาเซล และขนมขิงตำรับบิเบอร์ลี (Biberli) จากเทือกเขาแอพเพ็นเซล ขนมขิงที่มีความหลากหลายคล้าย ๆ กันนี้ก็เป็นที่แพร่หลายไปทั่วในออสเตรียเช่นเดียวกับในเยอรมนี
ขนมขิงชนิดอื่น ๆ ในยุโรป
แก้ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็มีขนมขิงตำรับเฉพาะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับฝรั่งเศสแห่งเมืองดิโจ (Dijon) ขนมขิงตำรับคริสเตียนส์เฟลด์ (Christiansfeld) ของเดนมาร์ก หรือ ขนมขิงตำรับธอร์นเนอร์ คาทรินเช็น (Thorner Kathrinchen) จากเมืองธอร์นซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโตรันของโปแลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1919 ตุ๊กตาขนมขิงและบ้านขนมขิงที่มาจากเมืองพาร์ดูบิซในสาธารณรัฐเช็กนั้นจะแต่งหน้าด้วยน้ำตาลไอซิ่งจำนวนมากเป็นพิเศษ
ขนมขิงที่ใช้ทำน้ำซอส
แก้ขนมขิงที่ใช้ทำน้ำซอส ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า โซเซนคูเคน (Soßenkuchen) หรือ โซเซนเลบคูเคน (Soßenlebkuchen) เป็นขนมขิงธรรมดา ๆ ชนิดหนึ่ง มีอยู่ในบางภูมิภาคของเยอรมนี โดยจะมีการผลิตขนมขิงชนิดนี้ในทุกฤดูกาลเพื่อใช้ในการทำน้ำซอส
รายละเอียดอื่น ๆ
แก้- คำเรียกขนมขิงในภาษาอังกฤษที่ว่า จินเจอร์เบรด (Gingerbread) นั้นใช้เป็นชื่อเรียกระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รูปแบบหนึ่งของบริษัทกูเกิล
- ในพิพิธภัณฑ์เครื่องเทศเก่าแก่ที่ใช้ในครัวเรือน (Museum Alte Pfefferküchlerei) ในเมืองไวซ์เซนแบร์ก (Weißenberg) รัฐแซ็กโซนีในเยอรมนี มีการจัดแสดงเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตขนมขิง
- ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ที่เมืองเอสลิงเกน (Esslingen) ริมฝั่งแม่น้ำเนคคาร์ (Neckar) ได้มีการอบขนมขิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้น ขนมขิงนี้เป็นรูปซานตาคลอส มีขนาดความยาว 10 เมตร และความกว้าง 4 เมตร ส่วนผสมที่ใช้คือแป้งขนมปัง 350 ก.ก. น้ำเชื่อม 180 ก.ก. และเครื่องเทศสำหรับทำขนมขิงทั้งหมด 8 ก.ก. และแต่งหน้าด้วยมาร์ซิพาน (อัลมอนด์และน้ำตาลบดรวมกันเป็นของเหลวเหนียว ๆ) และน้ำตาลไอซิ่งชนิดหนืดหรือที่เรียกว่า ฟันเดินท์ (Fondant) ซึ่งทำให้ขนมขิงชิ้นนี้มีน้ำหนักรวมถึง 650 ก.ก. เลยทีเดียว
บ้านขนมขิงในประเทศไทย
แก้ในเมืองไทย มีบ้านโบราณหลายแห่งที่ตกแต่งด้วยลายขนมปังขิง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเป็นแหล่งสถาปัตยกรรมอันหลากหลาย ก็มีบ้านขนมปังขิง ใกล้กับเสาชิงช้า เยื้อง ๆ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีบ้านหลังหนึ่ง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบดังกล่าว และเขียนชื่อเอาไว้ว่า บ้านขนมปังขิง ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเอาไว้
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- Torkild Hinrichsen: Im Knusperhaus. Lebkuchen aus Europa. Husum Druck- und Verlagsgesellschaft, Husum 2008, ISBN 978-3-89876-420-9
- Torkild Hinrichsen: Das Kuchenherz. Lebkuchen aus Deutschland. Husum Druck- und Verlagsgesellschaft, Husum 2009, ISBN 978-3-89876-463-6
- Kleines Lebkuchen-Gewürze-Lexikon เก็บถาวร 2012-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- 'Internationale Geschichte und Esskultur des Lebkuchens เก็บถาวร 2013-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ตำรับขนมปังขิง Godecookery.com
- ตำรับขนมปังขิงโบราณ เก็บถาวร 2008-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ขนมปังขิง Nürnberg Gingerbread เก็บถาวร 2007-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตำนานและนิทานพื้นบ้าน
- ภาพบ้านขนมปังขิงในกรุงเทพมหานคร เก็บถาวร 2004-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ถาพฉลุไม้ลายขนมปังขิง[ลิงก์เสีย]