ไทยรัฐ
ไทยรัฐ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย นำเสนอข่าวทั่วไป ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในประเทศไทย จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2523 ก่อตั้งโดยกำพล วัชรพล ปัจจุบันมี บริษัท วัชรพล จำกัด เป็นเจ้าของ, ยิ่งลักษณ์ วัชรพล เป็นผู้อำนวยการ และสราวุธ วัชรพล เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ มีจำนวนพิมพ์ปัจจุบันที่ 1,000,000 ฉบับ ราคาจำหน่าย 10.00 บาท
หนังสือพิมพ์เช้า ภาพข่าวสดประจำบ้าน | |
ประเภท | หนังสือพิมพ์รายวัน |
---|---|
รูปแบบ | หนังสือพิมพ์มวลชน (Mass Newspaper) |
เจ้าของ | บริษัท วัชรพล จำกัด |
หัวหน้าบรรณาธิการ | ยิ่งลักษณ์ วัชรพล |
บรรณาธิการบริหาร | สราวุธ วัชรพล |
คอลัมนิสต์ | ซูม ซอกแซก ศักดา แซ่เอียว (เซีย) แถมสิน รัตนพันธุ์ (ลัดดา) |
ก่อตั้งเมื่อ | ชื่อปัจจุบัน"ไทยรัฐ" 25 ธันวาคม พ.ศ. 2505 ในชื่อ"ข่าวภาพ" 5 มกราคม พ.ศ. 2493 |
ภาษา | ไทย |
สำนักงานใหญ่ | 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 |
ยอดจำหน่าย | 1,000,000 ฉบับ |
เว็บไซต์ | www.thairath.co.th |
ประวัติ
แก้ข่าวภาพ 2493-2501
แก้27 ธันวาคม 2492 บริษัท ข่าวภาพบริการ จำกัด ยื่นคำขอจดทะเบียน เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพถือเป็นขึ้นรอบปีหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ที่กำพลเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ต่อมาจึงออกวางแผงเป็นรายสัปดาห์ 9 มกราคม 2493 - 5 ตุลาคม 2494 กำพล วัชรพล, เลิศ อัศเวศน์, วสันต์ ชูสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งข่าวภาพปรับเวลาออกหนังสือพิมพ์ให้เร็วขึ้นรายสัปดาห์สามวัน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2495 หนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายวันฉบับปฐมฤกษ์ออกจำหน่ายแทนที่ข่าวภาพรายวัน 3,000 ฉบับ บจก.ข่าวภาพบริการ ขยายกิจการไปออกนิตยสารข่าวภาพรายเดือนปฐมฤกษ์ มกราคม 2496 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 สั่งปิดหนังสือพิมพ์ข่าวภาพด้วยรวมถึงหลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงพิมพ์ซ้ำเข้ามาอีก
อ่างทอง 2502-2505
แก้หลังจากนั้น กำพลก็ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ในการออกหนังสือพิมพ์ใหม่อีกครั้งโดยตลอด คณะปฏิวัติในขณะนั้นไม่อนุญาตให้ออกหัวหนังสือพิมพ์ใหม่ กำพลจึงเช่าซื้อหัวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เสียงอ่างทอง ซึ่งปกติออกในจังหวัดอ่างทอง มาพิมพ์จำหน่าย เป็นรายวันในส่วนกลาง ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2502[1] ด้วยยอดพิมพ์ในครั้งแรก 7,000 ฉบับ แต่ละฉบับมีจำนวน 10 หน้า ราคาฉบับละ 0.50 บาท และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง เพิ่มขึ้นสูงถึง 45,000 ฉบับ[2] กำพลจึงเริ่มใช้ระบบตีด่วน โดยตั้งฝ่ายจัดจำหน่ายขึ้นในแต่ละภูมิภาค[3]
ไทยรัฐ 2505-ปัจจุบัน
แก้เมื่อวันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2505 หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ออกวางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์ โดยกองบรรณาธิการชุดเดิมของเสียงอ่างทอง หนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองถูกสั่งปิดอีกครั้ง ผลกระทบจากการเสนอข่าวการเมือง จึงทำให้หนึ่งในเบื้องหลังผู้บริหารขณะนั้น ต้องทำการขอเปิดหนังสือพิมพ์ในหัวใหม่ [1]เปลี่ยนสถานที่จัดพิมพ์ เปลี่ยนบรรณาธิการบริหาร[3] โดยใช้คำขวัญในยุคแรกว่า หนังสือพิมพ์เช้า ภาพข่าวสดประจำบ้าน มีจำนวนพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ฉบับ แต่ละฉบับมีจำนวน 16 หน้า ราคาฉบับละ 1.00 บาท[4] ต่อมา ในราวปลายปี พ.ศ. 2508 ไทยรัฐเริ่มจัดพิมพ์ฉบับพิเศษในวันอาทิตย์ ให้ชื่อว่า ไทยรัฐสารพัดสี จำนวน 20 หน้า ราคาเท่าเดิม ส่งผลให้ยอดพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 140,000 ฉบับ
ต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 เพิ่มจำนวนเป็น 20 หน้าต่อฉบับในทุกวัน ส่งผลให้ยอดพิมพ์เพิ่มขึ้นอีกเป็น 200,000 ฉบับ จากนั้นในปี พ.ศ. 2515 พนักงานของไทยรัฐพากันลาออกพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จนเกือบทำให้ต้องปิดกิจการ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อมา[5] ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ไทยรัฐประกาศปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 50 สตางค์ (เป็น 1.50 บาท) ในช่วงเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ยอดพิมพ์ไทยรัฐปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะวันที่ 16 เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,181,470 ฉบับ
เกิดเหตุลอบยิงสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ด้วยระเบิดเอ็ม-79 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2519[6][7] ไทยรัฐได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2520 ด้วยการเช่าเครื่องบินเหมาลำ จากจังหวัดเชียงใหม่ กลับสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นห้องล้างฟิล์มชั่วคราวกลางอากาศ ที่บันทึกภาพข่าว การชกมวยป้องกันตำแหน่งของแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ที่ชนะน็อกมอนโร บรูกส์ ในยกที่ 15 โดยเมื่อถึงกรุงเทพฯ จึงนำภาพลงหนังสือพิมพ์ได้เพียงฉบับเดียว
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ไทยรัฐเริ่มใช้เครื่องเฮลล์ (Hell) ในระบบรับ-ส่งภาพขาวดำระยะไกล (Telephoto Receiver & Facsimile Transmitter) ทั้งนี้ ไทยรัฐยังเพิ่มยอดพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2522 เป็นจำนวน 1,000,742 ฉบับ นอกจากนี้ ไทยรัฐประกาศปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 50 สตางค์ (เป็น 2.00 บาท) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 และปรับขึ้นอีก 1 บาท (เป็น 3.00 บาท) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2523
จากนั้น ไทยรัฐได้สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พาดหัวข่าวตัวใหญ่ถึงครึ่งหน้ากระดาษ โดยดำริของกำพลเองว่า “สั่งปลด...อาทิตย์” ส่งผลให้ยอดจำหน่ายขึ้นสูงไปถึงเลข 7 หลัก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปกติถึงร้อยละ 30[7][8] และไทยรัฐเริ่มพิมพ์ภาพสี่สีบนปกเป็นฉบับแรก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2531 โดยตีพิมพ์ภาพข่าว นางสาวภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก รับตำแหน่งนางงามจักรวาลที่ไต้หวัน และวันถัดมา เชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงยกช่อฟ้า พระอุโบสถวัดปรินายกวรวิหาร ตีพิมพ์บนหน้า 1 ของไทยรัฐด้วย[8]
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ไทยรัฐประกาศปรับขึ้นราคาหนังสือพิมพ์อีก 2 บาท (เป็น 5.00 บาท) และวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ไทยรัฐเริ่มใช้เครื่องเฮลล์ ในระบบรับส่งภาพสีระยะไกล ไทยรัฐสร้างปรากฏการณ์พิเศษ ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นพิเศษ จำนวน 108 หน้า เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และครบรอบวันเกิด 70 ปี ของนายกำพล ในฐานะผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ไทยรัฐมียอดพิมพ์อยู่ในระดับ 1,000,000 ฉบับเศษ โดยเฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคม เพิ่มสูงขึ้นถึง 1,428,624 ฉบับ
เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2537 ไทยรัฐนำเครื่องรับส่งภาพระยะไกล ลีแฟกซ์ (Leafax) จากบริษัท เอพี จำกัด เข้ามาใช้ต่อพ่วง และแสดงภาพบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้งานได้ทันที รวมทั้งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ศูนย์ข่าวภูมิภาคใน 17 จังหวัด ก็ได้นำระบบรับส่งภาพดังกล่าวไปใช้ ในการส่งภาพกลับเข้ามายังสำนักงานส่วนกลางที่กรุงเทพฯ อีกด้วย ต่อมาเพิ่มอีก 9 จังหวัด ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และเพิ่มอีก 4 จังหวัด ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 30 จังหวัด
ในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2539 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเพิ่มเป็น 40 หน้าทุกวัน ตามที่ได้เตรียมการมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมประกาศปรับราคาจำหน่ายอีก 3 บาท (เป็น 8.00 บาท) จากนั้นจึงประกาศปรับราคาอีก 2 บาท (เป็น 10.00 บาท) เมื่อปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) มีบริษัท วัชรพล จำกัด เป็นเจ้าของ, ยิ่งลักษณ์ วัชรพล เป็นผู้อำนวยการ และสราวุธ วัชรพล เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ซึ่งทั้งสองเป็นบุตรีและบุตรของกำพล มีจำนวนพิมพ์ปัจจุบัน 1,000,000 ฉบับ ราคาจำหน่าย 10.00 บาท ในหนึ่งฉบับมีประมาณ 28-40 หน้า
กิจการบริษัท
แก้ราวปลายปี พ.ศ. 2492 กำพล วัชรพล, เลิศ อัศเวศน์ และวสันต์ ชูสกุล ร่วมกันจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ข่าวภาพบริการ จำกัด ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 9 ถนนกระออม ย่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร เพื่อเป็นเจ้าของกิจการ หนังสือพิมพ์และนิตยสารข่าวภาพ[9]
จากนั้นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2518 กำพลจดทะเบียนก่อตั้งนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดขึ้น ในชื่อบริษัท วัชรพล จำกัด (อังกฤษ: Vacharaphol Company Limited) เพื่อเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเป็นผู้บริจาคทุนทรัพย์ในการก่อสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 101 แห่ง[10] โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ภริยาของกำพล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท มีพนักงานทั้งสิ้น 1,800 คน (เมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552) เฉพาะกองบรรณาธิการ 262 คน (เมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552)[10] อาคารทั้งหมด 13 หลัง บนพื้นที่ 39 ไร่ 9 ตารางวา และศูนย์ข่าวในส่วนภูมิภาค 35 แห่ง[10] ทั้งนี้ บจก.วัชรพล มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท จากนั้น มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกหลายครั้ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- 18 ธันวาคม 2535 500 ล้านบาท
- 29 ตุลาคม 2536 2,000 ล้านบาท
- 4 สิงหาคม 2538 3,000 ล้านบาท
- 13 มกราคม 2539 4,000 ล้านบาท
ต่อมาในวันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 บจก.วัชรพล ก่อตั้งบริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด ขึ้นเป็นกิจการในเครือ สำหรับดำเนินธุรกิจสื่อประสม ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คือเว็บไซต์ ไทยรัฐออนไลน์ (www.thairath.co.th), บริการข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่, สื่อดิจิตอลหลายรูปแบบ รวมถึงให้บริการรับส่งข้อมูลภาพและเสียง, บริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลัก[11] และมีการจัดทำแอปพลิเคชัน สำหรับระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์พกพาได้แก่ ไอโอเอส แอนดรอยด์ แบล็คเบอร์รี โอเอส วินโดวส์โฟน รวมถึงวินโดวส์ 8 และวินโดวส์ อาร์ทีอีกด้วย โดยแอปพลิเคชันไทยรัฐในอุปกรณ์ไอแพด ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากการประกาศผลรางวัลสื่อดิจิตอลยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย ครั้งที่ 3 ในการสัมมนาสื่อดิจิตอลแห่งเอเชีย ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์และผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์โลก
รายนามผู้อำนวยการและหัวหน้ากองบรรณาธิการไทยรัฐ
แก้- ผู้อำนวยการ
- กำพล วัชรพล 25 ธันวาคม 2505-21 กุมภาพันธ์ 2539
- ประณีต วัชรพล 21 กุมภาพันธ์ 2539-24 เมษายน 2539
- ยิ่งลักษณ์ วัชรพล 25 เมษายน 2539-ปัจจุบัน
- บรรณาธิการ
- กำพล วัชรพล 25 ธันวาคม 2505-2 กรกฎาคม 2531
- สราวุธ วัชรพล 3 กรกฎาคม 2531-ปัจจุบัน
อาคารสถานที่
แก้ในราวกลางปี พ.ศ. 2511 บจก.วัชรพล ได้เริ่มซื้อที่ดินขนาด 11 ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา ริมถนนวิภาวดีรังสิตไปพร้อมกันด้วย[4] จากนั้น ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2512 บจก.วัชรพล ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงาน บนที่ดินดังกล่าว จำนวน 7 หลัง ได้แก่ อาคารอำนวยการ 3 ชั้น[12], อาคารโรงพิมพ์, อาคารสโมสร 2 ชั้น, อาคารเก็บกระดาษ 1, อาคารพัสดุ 3 ชั้น, อาคารเครื่องปั่นไฟ และ บ้านพักพนักงาน 2 ชั้น
โดยในระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2512 กองบรรณาธิการไทยรัฐ ยังคงทำงานอยู่ที่สำนักงานซอยวรพงษ์ แต่ย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิตแล้ว จึงต้องใช้จักรยานยนต์ ลำเลียงแผ่นเพลตที่ทำเสร็จแล้ว จากสำนักงานมายังโรงพิมพ์ จนกระทั่งวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 บจก.วัชรพล จึงย้ายสำนักงานจากซอยวรพงษ์ มาอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต อย่างสมบูรณ์แบบ[12]
จากนั้น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2516 บจก.วัชรพล ซื้อที่ดินส่วนหลัง ติดซอยร่วมศิริมิตร บริเวณข้างที่ทำการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เพิ่มเติมอีก 11 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารเก็บกระดาษ 2 และโรงซ่อมบำรุงรถขนส่ง เพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง ต่อมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 บจก.วัชรพล ซื้อที่ดินส่วนหน้า ติดถนนวิภาวดีรังสิต เพิ่มอีก 3 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 บจก.วัชรพล สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 3 หลัง คือ อาคารโรงพิมพ์และสำนักงาน 9 ชั้น, อาคารเก็บกระดาษ 3 และจอดรถ 5 ชั้น และอาคารโรงซ่อมบำรุงรถขนส่ง 2 ชั้น และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2532 บจก.วัชรพล ซื้อที่ดินส่วนหลัง ลึกเข้าไปถึงริมถนนพหลโยธิน เพิ่มอีก 4 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา และวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2536 บจก.วัชรพล ซื้อที่ดินบริเวณเดียวกัน เพิ่มอีก 5 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บจก.วัชรพล ซื้อที่ดินส่วนหน้า ติดถนนวิภาวดีรังสิต เพิ่มอีก 1 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา เพื่อสร้างอาคารบริการธุรกิจโฆษณา 13 ชั้น 1 เมษายน พ.ศ. 2537 บจก.วัชรพล ก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 3 หลัง คือ อาคารโรงพิมพ์ 9 ชั้น, อาคารเก็บกระดาษ 4 จำนวน 3 ชั้น และอาคารเก็บกระดาษ 5 จำนวน 4 ชั้น (โดยรื้อบ้านพักพนักงานออกทั้งหมด และรื้ออาคารพัสดุออกบางส่วน) ปัจจุบัน บริษัท วัชรพล จำกัด มีบริเวณที่ดินทั้งหมด 39 ไร่ 9 ตารางวา หรือ 15,609 ตารางวา และมีอาคารทั้งหมด 13 หลัง
ระบบการพิมพ์
แก้ในยุคข่าวภาพและเสียงอ่างทอง กองบรรณาธิการเป็นผู้จ้างโรงพิมพ์สำหรับการจัดพิมพ์หนังสือมาโดยตลอด จนกระทั่งเริ่มใช้ชื่อไทยรัฐเมื่อปลายปี พ.ศ. 2505 จึงเริ่มใช้เครื่องพิมพ์ระบบ เลตเตอร์ เพรสส์ (Letter Press - ฉับแกระ) ตรา ชิกาวา โอพีไอ (Chikawa OPI) และเรียงพิมพ์ด้วยตัวเรียงตะกั่ว แม่พิมพ์พื้นนูน[4]
ต่อมา เมื่อราวปลายปี พ.ศ. 2508 ไทยรัฐเปลี่ยนไปใช้เครื่องพิมพ์ระบบ โรตารี (Rotary) พิมพ์บนกระดาษม้วน ด้วยแม่พิมพ์พื้นนูน ที่หลอมจากตะกั่ว จากนั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2512 ไทยรัฐติดตั้งเครื่องพิมพ์ระบบ เว็บ ออฟเซ็ต (Web Offset) ตรา ฮามาดา เอโออาร์ (Hamada AOR) จำนวน 2 เครื่อง หมายเลข 175 และ 177 จากประเทศญี่ปุ่น พิมพ์ได้ฉบับละ 16 หน้า (สี่สี 2 หน้า) สามารถพิมพ์ได้ 18,000 ฉบับต่อชั่วโมง[6]
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2513 ไทยรัฐเริ่มใช้เครื่องพิมพ์ระบบ ออฟเซ็ต (Offset) ตรา ฮามาดา เอ็นโออาร์ (Hamada NOR) จำนวน 1 เครื่อง หมายเลข 192 พิมพ์ได้ฉบับละ 16 หน้า (สี่สี 2 หน้า) กำลังการผลิต 30,000 ฉบับต่อชั่วโมง และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2519 ไทยรัฐเปลี่ยนระบบการพิมพ์ จากการเรียงตัวตะกั่ว เป็นระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสง โดยร่วมกับ บริษัท คอมพิวกราฟิก จำกัด พัฒนาเครื่องเรียงพิมพ์ ยูนิเวอร์แซล 4 (Universal 4) ซึ่งทำงานกับภาษาอังกฤษ ให้ใช้งานเป็นภาษาไทยได้สำเร็จ
จากนั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2522 ไทยรัฐเปลี่ยนไปใช้เครื่องพิมพ์ตรา แมน โรแลนด์ ยูนิแมน 2/2 (Man Roland Uniman 2/2) จำนวน 2 เครื่อง หมายเลข 108 และ 113 จากประเทศเยอรมนี พิมพ์ได้ฉบับละ 20 หน้า (สี่สี 4 หน้า) สามารถพิมพ์ได้ 40,000 ฉบับต่อชั่วโมง พร้อมทั้งเลิกใช้เครื่องพิมพ์ตรา ฮามาดา รุ่น เอโออาร์ ทั้งหมด ต่อมา ไทยรัฐติดตั้งเครื่องพิมพ์รุ่นเดียวกัน เพิ่มอีกคราวละ 1 เครื่อง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 (หมายเลขเครื่อง 004) และวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2525 (หมายเลขเครื่อง 037)
ไทยรัฐได้นำเครื่องแยกสี ครอสฟิลด์ (Crosfield) เข้ามาใช้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และเพิ่มอุปกรณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ไทยรัฐเริ่มใช้เครื่องพิมพ์ตรา แมน โรแลนด์ ยูนิแมน 4/2 จำนวน 2 เครื่อง หมายเลข 137 และ 138 พิมพ์ได้ฉบับละ 32 หน้า (สี่สี 4 หน้า) สามารถพิมพ์ได้ 40,000 ฉบับต่อชั่วโมง พร้อมทั้งเลิกใช้เครื่องพิมพ์ ฮามาดา เอ็นโออาร์ 1 เครื่อง
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2531 ไทยรัฐได้นำระบบเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ตรา เอเท็กซ์ (Atex) เข้ามาใช้ในการเรียงพิมพ์ รวมถึงเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534 จึงได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตราเดียวกัน ในการจัดหน้าข่าวด้วย เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2536 ไทยรัฐจัดพิมพ์หน้าสีเพิ่มขึ้น จึงได้นำระบบแยกสีประกอบหน้า ไซน์เทค (Scitex - Color Separation and Pagination System) มาใช้ประกอบโฆษณาสี และหน้าข่าวสี่สี และเพิ่มอุปกรณ์แยกสีดังกล่าว เพื่อประกอบหน้าข่าวสี่สีเพิ่ม เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 และเพื่อรองรับงานพิมพ์ 40 หน้า เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2538 พร้อมกันนั้น ไทยรัฐได้เพิ่มระบบเรียงพิมพ์และประกอบหน้า (Editorial System) ด้วยระบบ พี.อิงค์ (P.Ink)
ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ไทยรัฐสร้างความฮือฮาในวงการพิมพ์ ด้วยการติดตั้งเครื่องพิมพ์ตรา แมน โรแลนด์ จีโอแมน (Man Roland Geoman) จากเยอรมนี จำนวน 6 เครื่อง หมายเลข 006, 007, 008, 009, 010 และ 011 มูลค่ามหาศาลถึง 2,000 ล้านบาท สามารถพิมพ์ได้ฉบับละ 48 หน้า (สี่สี 24 หน้า) สามารถพิมพ์ได้ 40,000 ฉบับต่อชั่วโมง และในวันเกิดของกำพลปีนั้นเอง ที่ตัวเขาเป็นผู้กดปุ่มเดินเครื่องพิมพ์เหล่านี้ด้วยตนเอง[13]
ปัจจุบันไทยรัฐ ใช้เครื่องพิมพ์ตราแมน โรแลนด์ รุ่นจีโอแมน จากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีกำลังในการผลิตชั่วโมงละ 360,000 ฉบับ โดยใช้พิมพ์ฉบับละ 40 หน้า (สี่สี 20 หน้า) ซึ่งในแต่ละวัน ใช้กระดาษทั้งหมด 230 ม้วน คิดเป็นน้ำหนัก 225 ตัน และใช้หมึกสีดำ 1,200 กิโลกรัม, สีแดง 445 กิโลกรัม, สีฟ้า 430 กิโลกรัม, สีเหลือง 630 กิโลกรัม โดยทางบริษัทฯ มักจะนำผู้เข้าเยี่ยมชมกิจการ เข้าชมการผลิตหนังสือพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดังกล่าว จนกระทั่งอุดม แต้พานิช กล่าวถึงการเข้าชมกิจการของ บจก.วัชรพล และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของเขาว่า เป็นการ “เยี่ยมแท่นพิมพ์”
โครงการในอนาคต
แก้ไทยรัฐมีแผนการทำธุรกิจในสื่อโทรทัศน์ และวิทยุอินเทอร์เน็ตในปี 2556 โดยการเปิดเผยของนายวัชร วัชรพล ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด ระบุว่าจะใช้เงินรวมทั้งสิ้น 400 ล้านบาท เพื่อลงทุนทำธุรกิจโทรทัศน์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการสร้างสตูดิโอ การสั่งซื้ออุปกรณ์ การเตรียมบุคลากร สถานที่ และการรองรับการออกอากาศผ่านวิทยุอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
คอลัมน์
แก้ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน
แก้ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน เป็นผลงานการ์ตูน ของ ชัย ราชวัตร ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยเนื้อหาเป็นแนวการเมืองและล้อเลียนข่าวประจำวัน ตีพิมพ์ครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 [14][15] โดยมีตัวละครที่สำคัญคือ
- ผู้ใหญ่มา - ผู้ใหญ่บ้านรูปร่างท้วม มีผ้าขาวม้าคาดพุง
- ไอ้จ่อย - ลูกบ้านตัวผอม นุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว ใส่แว่นตาดำ ถือถุงกระดาษ
ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2523 กำกับโดย สมชาติ รอบกิจ บทภาพยนตร์โดย หยอย บางขุนพรหม (ศรีศักดิ์ นพรัตน์) โดยมี ล้อต๊อก รับบท ผู้ใหญ่มา และ นพดล ดวงพร ในบทบาท ไอ้จ่อย ในปี พ.ศ. 2562 ชัย ราชวัตร ได้ลาออกจากไทยรัฐแล้ว[16]
เปิดฟ้าส่องโลก
แก้เป็นคอลัมน์ประจำหน้าต่างประเทศของนิติภูมิ นวรัตน์ เป็นคอลัมน์แรกๆของเมืองไทย ที่จุดประเด็นการต่อต้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และชี้ให้เห็นด้านดีของประเทศมุสลิม ปัจจุบัน นิติภูมิยุติบทบาทการเขียนคอลัมน์นี้ โดยหันไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ ในนามพรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งมอบหมายให้คุณนิติ นวรัตน์ บุตรชายเป็นผู้เขียนแทน
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "ประวัติความเป็นมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ -- โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๕ เฉลิมพระเกียรติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2014-09-29.
- ↑ "ประวัติในช่วงที่ใช้ชื่อ "เสียงอ่างทอง" (1)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-25. สืบค้นเมื่อ 2012-12-27.
- ↑ 3.0 3.1 "ประวัติในช่วงที่ใช้ชื่อ "เสียงอ่างทอง" (2)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-30. สืบค้นเมื่อ 2012-12-27.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 ประวัติไทยรัฐ ยุคซอยวรพงษ์ (1)
- ↑ ประวัติไทยรัฐ ยุคถนนวิภาวดีฯ (1)
- ↑ 6.0 6.1 ประวัติไทยรัฐ ยุคถนนวิภาวดีฯ (2)
- ↑ 7.0 7.1 ประวัติไทยรัฐ ยุคถนนวิภาวดีฯ (3)
- ↑ 8.0 8.1 ประวัติไทยรัฐ ยุคถนนวิภาวดีฯ (4)
- ↑ ภาพถ่ายแสดงบรรณลักษณ์ของนิตยสารข่าวภาพรายเดือน
- ↑ 10.0 10.1 10.2 ข้อมูลทั่วไป บริษัท วัชรพล จำกัด
- ↑ ข้อมูลบริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด[ลิงก์เสีย]
- ↑ 12.0 12.1 ประวัติไทยรัฐ ยุคซอยวรพงษ์ (2)
- ↑ ประวัติไทยรัฐ ยุคถนนวิภาวดีฯ (6)
- ↑ บ้านเก่าหลังใหม่และถุงสามใบของ ชัย ราชวัตร[ลิงก์เสีย] นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับที่ 357 ประจำเดือน พฤษภาคม 2549
- ↑ หยดหมึกและลายเส้นประชาธิปไตย ใน" การ์ตูน ( ล้อ ) การเมือง "[ลิงก์เสีย] สำเนาจาก ผู้จัดการรายวัน 7 กุมภาพันธ์ 2548
- ↑ หนังสือพิมพ์ออนไลน์กระปุก วันที่ 12 พษภาคม พ.ศ. 2562 ชัย ราชวัตร ยื่นลาออก นสพ.ไทยรัฐฯ
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- ช่องไทยรัฐ ที่ ยูทูบ
- ไทยรัฐ ที่เฟซบุ๊ก
- ไทยรัฐ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์) เพจช่องไทยรัฐทีวี
- ไทยรัฐ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์) เพจข่าวทั่วไป
- ไทยรัฐ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์) เพจข่าวบันเทิง
- ไทยรัฐ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์) เพจข่าวการเมือง
- ไทยรัฐ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์) เพจข่าวต่างประเทศ