ปรียา ฉิมโฉม (สกุลเดิม เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 16 พฤษภาคม พ.ศ. 245823 กรกฎาคม พ.ศ. 2550) นักผังเมืองและสถาปนิก ผู้บุกเบิกสำคัญผู้หนึ่งด้านการผังเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกองผังเมืองจนถึงระดับกรมโดยได้เป็นผู้อำนวยการ (อธิบดี) คนที่ 3 ของสำนักผังเมือง (ปัจจุบันคือกรมโยธาธิการและผังเมือง) และนับเป็นอธิบดีหญิงคนแรกของกระทรวงมหาดไทย นางปรียา ฉิมโฉมเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น ที่ 1 (พ.ศ. 2476)

ปรียา ฉิมโฉม
เกิด16 พฤษภาคม พ.ศ. 2458
เสียชีวิต23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (92 ปี)
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากนักผังเมืองและสถาปนิก
คู่สมรสสนิท ฉิมโฉม
บุตรณัฐเสกข์ ฉิมโฉม
บิดามารดาเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
แม้น เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ประวัติ

แก้

นางปรียา ฉิมโฉม เป็นบุตรี ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นบุตรีคนที่ 2 ที่เกิดกับหม่อมแม้น มีพี่น้องร่วมมารดา 4 คน และมีพี่น้องร่วมบิดาอีก 14 คน เมื่อวัยเด็กอยู่กับบิดามารดาและพี่น้องส่วนใหญ่ที่บ้านนางเลิ้ง ถนนหลานหลวง ศึกษาชั้นประถมและมัธยมถึงขั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในขณะนั้น ที่โรงเรียนราชินี แล้วจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ท่านบิดากับพี่สาวใหญ่ คือ คุณไฉไล เทพหัสดินฯ ก่อตั้งขึ้นที่ถนนหลานหลวงจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้วจึงสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2476

นางปรียา ฉิมโฉมได้เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์พร้อมกับน้องสาว คือคุณธารี เทพหัสดิน ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะฯ แล้ว ยังนับได้ว่าเป็นนิสิตหญิงสองคนแรกของคณะฯ นี้อีกด้วย นิสิตสถาปัตยกรรมฯ รุ่นแรกมีจำนวนรวมกันทั้งหมด 13 คน ทุกคนจบการศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรขั้นสูงสุดในขณะนั้น ร่างโดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปีเป็นแห่งแรกของประเทศ

นางปรียา ฉิมโฉม ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสถาปนิกที่กรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2483 กรมโยธาเทศบาลตั้งอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของถนนหลานหลวง จึงสะดวกสามารถเดินไปทำงานได้ นางปรียาและน้องสาว คือนางธารีฯ นับเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกของกรมเช่นกัน

นางปรียา ฉิมโฉม สมรสกับนายสนิท ฉิมโฉมสถาปนิก รุ่น 1 เพื่อนร่วมชั้น ที่ได้มาทำงานที่กรมโยธาด้วยกันซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ของกรม มีบุตรชายร่วมกันเพียง 1 คน คือ นายณัฐเสกข์ ฉิมโฉม อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตการทำงาน

แก้

ภายหลังเมื่อ ได้มีการจัดตั้งกองผังเมืองเป็นหน่วยงานภายในกรมโยธาเทศบาล (ชื่อในขณะนั้น) นางปรียาได้ย้ายไปสังกัดและเริ่มทำงานด้านการผังเมืองโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เลื่อนเป็นหัวหน้ากองผังเมืองในเวลาต่อมา และเมื่อแยกออกไปเป็นสำนักซึ่งเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย นางปรียาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักและต่อมาเลื่อนเป็นผู้อำนวยการสำนัก (เทียบเท่าอธิบดี) ที่เป็นสตรีเป็นคนแรก ดูแลด้านการผังเมืองและการจัดทำผังเมืองรวม

การศึกษาดูงานด้านการผังเมือง

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2497 นางปรียา ฉิมโฉมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการผังเมืองเป็นครั้งแรกโดยทุนของกรมโยธาเทศบาล โดยได้ดูงานเมืองใหม่ที่อังกฤษและการการวางผังเมืองในยุโรปและอเมริกาเป็นเวลา 7 เดือน อีก 7 ปีต่อมาได้รับทุน USOM ไปดูงานในสหรัฐฯ เข้าฟังการเรียนด้านการผังเมืองในวิชาการใช้ที่ดินและการขนส่ง กฎหมายและการบริหารและการปฏิบัติวิชาชีพผังเมืองที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จากนั้นได้เข้าฝึกงานในสำนักผังเมืองฟิลาเดลเฟีย สำนักงานอาคารสงเคราะห์และสำนักพัฒนาชุมชนแห่งฟิลาเดลเฟีย และได้รับประกาศนียบัตรรับรองผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาและฝึกงานจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีโอกาสดูวิธีการตัดสินแบบเกี่ยวกับการวางผังเมืองที่สถานบันแพรตต์ (แพรตต์อินสติตูต) ที่นิวยอร์ก และที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย การศึกษาดูงานครั้งนี้มีความเข้มข้นและใช้เวลา 8 เดือน

นอกจากนี้ นางปรียายังได้ไปดูงานเกี่ยวกับกฎหมายอาคารชุดที่ฮาวาย ได้ดูงานสร้างเมืองใหม่ที่อังกฤษอีกครั้งหนึ่ง และได้พบปะเยี่ยมเยือนและดูงานจราจรในเยอรมันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเยอรมันที่มาช่วยเหลือประเทศไทยในขณะนั้น

บทบาทด้านการผังเมือง

แก้

ในฐานะนักผังเมืองและหัวหน้าหน่วยงาน นางปรียา ฉิมโฉมได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งเริ่มผลักดันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 พระราชบัญญัติอาคารชุด และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก ได้มีโอกาสเดินทางไปพื้นที่ในประเทศและได้ไปดูงานด้านการผังเมืองต่างประเทศ รวมทั้งการถูกฟ้องร้องกับ ปปป. และการถวายฎีกาของประชาชนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินเขตเพลิงใหม้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่มักพบบ่อยในงานวางผังเมือง

นอกจากนี้นางปรียา ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลไปประชุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเมืองที่ฮาวาย สหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยไปประชุมที่โตเกียวเพื่อร่วมพิจารณาผังแม่บทสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ลุมพินีวัน ซึ่ง เคนโซะ ตังเกะ สถาปนิกผู้โด่งดังของญี่ปุ่นเป็นผู้วางผังหลักเมื่อ พ.ศ. 2513 และที่ควรกล่าวถึงผลงานอีกชิ้นหนึ่งได้แก่การผลักดันถนนวงแหวนรอบในเป็นผลสำเร็จ นั่นคือถนนรัชดาภิเษกในปัจจุบันซึ่งต้องใช้ทั้งที่ดินการรถไฟและที่ดินเอกชน

บั้นปลายชีวิต

แก้

หลังเกษียณราชการแล้ว นางปรียายังได้ทำประโยชน์แก่สังคมต่อไป อาทิ เป็นกรรมการมูลนิธิมหามงกุฏราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ กรรมการมูลนิธิวัดบวรนิเวศน์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิวัดญาณสังวรารามวรวิหารในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการราชินีมูลนิธิและกรรมการมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยฯ นอกจากนั้น นางปรียาได้มีโอกาสร่วมวางผังและออกแบบวัดสังฆวรารามซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่ง

นางปรียา ฉิมโฉม ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคชรา เมื่ออายุได้ 92 ปี และด้วยคุณงามความดีจากการทำประโยชน์รวมทั้งการน้อมเกล้าถวายที่ดินจำนวน 27 ไร่เพื่อการจัดสร้าง "วิทยาลัยการอาชีพไกลกังวลเฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตชะอำ" พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯ พระราชทานพวงมาลาวางหน้าโกศศพเป็นกรณีพิเศษ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

ลำดับสาแหรก

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๑, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๐๐, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
  • ปรียา ฉิมโฉม สุภาพสตรี ๔ แผ่นดิน วารสารดิฉัน ฉบับ พ.ศ. 2548
  • สมุดประวัติการรับราชการของนางปรียา ฉิมโฉม