นารถ โพธิประสาท
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
นารถ โพธิประสาท (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 – 18 มิถุนายน พ.ศ. 2497) เป็นสถาปนิก อาจารย์ชาวไทย เขาคือผู้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ระดับปริญญาแห่งแรกของประเทศไทย ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ร่วมสถาปนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศ
นารถ โพธิประสาท | |
---|---|
เกิด | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 18 มิถุนายน พ.ศ. 2497 (52 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า |
|
คู่สมรส | สกุลตลา (นิวาสนันท์) โพธิประสาท |
ผลงานสำคัญ |
|
โครงการสำคัญ | บ้านอาจารย์นารถ โพธิประสาท |
นารถยังเป็นผู้แต่งหนังสือ สถาปัตยกรรมในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูล ลักษณะ ที่มาที่ไป ข้อมูลรังวัดของสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงยุครัตนโกสินทร์ เป็นเล่มแรกๆ และถือเป็นหนังสือเรียนเล่มแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย
ประวัติ
แก้ชีวิตเยาว์วัยและการศึกษาเบื้องต้น
แก้อาจารย์นารถ โพธิประสาท เกิดที่บ้านเลขที่ 2328 หลังตลาดบ้านขมิ้น ตำบลสวนอนันต์ อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี บุตรนายเปรี้ยง และ นางไหว โพธิประสาท เป็นหลานตาของหลวงสถานพะละกรรม ซึ่งเป็นนายช่างก่อสร้างที่ได้เคยบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลวงในพระนคร ตลอดจนศาลาว่าการและบ้านพักข้าราชการในมณฑลต่างๆ ภาคใต้ เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนโฆสิตสโมสร และชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
การทำงานในช่วงแรก
แก้อาจารย์นารถจบการศึกษาขั้นมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2461 อายุเพียง 17 ปี ก็ได้เริ่มทำงานเป็นครูประจำชั้นโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้เงินเดือน 60 บาท เป็นครูช่วยสอนภาษาอังกฤษตอนบ่ายโรงเรียนสตรีวิทยา และต่อมาได้เป็นครูถวายพระอักษรภาษาไทยและคำนวณแด่พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต พ.ศ. 2462 อาจารย์นารถได้ขอเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นครูฝึกหัดโรงเรียนสวนกุหลาบเพื่อรับการคัดเลือกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ โดยต้องลดเงินเดือนลงมาเหลือเพียงเดือนละ 30 บาท
การศึกษาต่างประเทศ
แก้เมื่ออายุได้ 20 ปี (พ.ศ. 2464) ได้รับทุนเล่าเรียนกระทรวงธรรมการไปศึกษาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอังกฤษ ปีแรกเรียนกับครูพิเศษก่อน แล้วจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนศิลปกรรมปอร์ตสมัธซึ่งเป็นวิชาเบื้องต้นสำหรับเตรียมเข้าศึกษาสถาปัตยกรรม สามารถเรียนจบภายใน 3 ปี
ในปี พ.ศ. 2467 ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายหมู่ลูกเสือไทยไปร่วมประชุมนานาชาติ ณ กรุงโคเปนเฮเกน เสร็จประชุมแล้วเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ผ่านประเทศเยอรมนี เบลเยียมและฝรั่งเศส ได้แวะศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมแบบภาคพื้นยุโรปด้วยการเห็นของจริง ปีต่อมา (พ.ศ. 2468) เมื่ออายุ 25 ปีได้เลือกเข้าศึกษาสถาปัตยกรรมหลักสูตร 5 ปี ณ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล มีผลการเรียนดีมาก ในเวลาเย็นได้ไปเรียนวิชาพิเศษเพิ่มเติมวิชาผังเมืองและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผังเมือง ระหว่างเรียน ได้รับรางวัลชมเชยในงานออกแบบอยู่เป็นนิตย์ การเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเสมอ
ระหว่างปิดภาคเรียน (พ.ศ. 2470) ได้เดินทางไปศึกษาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอิตาลี และในปี พ.ศ. 2471ชนะการประกวดแบบสถาปัตยกรรมที่ชาวต่างประเทศน้อยคนจะได้รับและต้องเป็นนักเรียนดีที่สุด ทำให้อาจารย์นารถได้รางวัลไปดูงานและฝึกงานซึ่งเป็นรายวิชาภาคปฏิบัติวิชาหนึ่ง ที่เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 เดือน ได้มีโอกาสร่วมออกแบบและควบคุมงานโรงภาพยนตร์ นิว ฟอกซ์ ดีทรอยท์
ระหว่างเรียน ศาสตราจารย์เรลลี แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลได้เขียนรายงานผลการเรียนต่อผู้ดูแลนักเรียนไทยเป็นภาษาอังกฤษไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม ว่าเป็นนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดเท่าที่มหาวิทยาลัยเคยให้มา และว่าหากเป็นคนอังกฤษแล้ว จะต้องได้รางวัล Rome Scholarship ซึ่งเป็นรางวัลชั้นสูงสุดแต่ให้เฉพาะคนอังกฤษ
อาจารย์นารถ จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2472 ขณะอายุ 28 ปี โดยได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 แขนงการก่อสร้างและได้เป็นอับดับหนึ่ง (Bachelor of Architecture With 1st class Honours in Architectural Construction 1st place) และได้สมัครสอบปฏิบัติวิชาชีพจากสถาบันวิชาชีพ 3 แขนงและเข้าเป็นสมาชิกในสถาบันวิชาชีพต่างๆ ดังนี้
- ประกาศนียบัตรสมทบแห่งราชบัณฑิตยสภาสถาปนิกอังกฤษ (A.R.I.B. Qual.)
- ประกาศนียบัตรสมาชิกสมทบแห่งสภาวิศวกรรมก่อสร้าง (A.I.Struct.E.)
- ประกาศนียบัตรสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสภาสุขาภิบาล (M.R.San.I.)
อาจารย์นารถได้ใช้เวลาที่เหลือจากการศึกษาใฝึกงานในประเทศอังกฤษ 6 เดือน และเดินทางท่องยุโรปอีก 2เดือนแล้วจึงเดินทางกลับถึงประเทศไทย
การทำงาน
แก้หลังจากกลับจากต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2473 เมื่อมีอายุ 29 ปีเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โท โรงเรียนเพาะช่างซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเฉพาะวิชาช่างสาขาต่างๆ แต่ยังไม่มีสาขาสถาปัตยกรรม จึงได้วางหลักสูตรวิชาสถาปัตยกรรมเป็นการทดลองเพื่อนำผลทดสอบมาใช้สำหรับแผ้วถางทางเปิดเป็นหลักสูตรโดยตรงในมหาวิทยาลัยต่อไป
เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2475 กระทรวงธรรมการมีคำสั่งให้โอนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมในโรงเรียนเพาะช่างไปเป็นแผนกวิชาสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเปิดสอนที่บ้านพักผู้บัญชาการมหาวิทยาลัย (เรือนพระรตราชา) เป็นการชั่วคราว ทำให้อาจารย์นารถต้องทำงานอย่างหนักทั้งทางด้านการบริหารและวิชาการ เชิญสถาปนิกจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสอน เช่น หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์สถาปนิกกรมรถไฟและผู้อื่นอีกหลายท่าน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้แผนกสถาปัตยกรรมมีฐานะเป็นแผนกวิชาอิสระขึ้นตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิชาชีพ
แก้เมื่อ พ.ศ. 2477 อายุ 33 ปี อาจารย์นารถได้ร่วมสถาปนิกที่ยังมีจำนวนน้อยในขณะนั้นก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น และในปีเดียวกัน เมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม ด้วยความจำเป็น กรมโยธาเทศบาลจึงขอโอนอาจารย์นารถไปเป็นนายช่างสถาปนิก หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ในกรมโยธาเทศบาลเนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นได้เร่งรัดพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง จึงต้องหาผู้มีความรู้ความสามารถโดยตรงมาวางรากฐาน
ผลงานในกรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน)
แก้อาจารย์นารถได้วางระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการโดยใช้หลักวิชาครูในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการถ่ายทอดทั้งความรู้ ความละเอียดรอบคอบและความมีหลักการ การออกแบบอาคารเน้นความเรียบง่าย ประหยัด ประโยชน์ใช้สอยมาก่อนความสวยงาม มีอาคารที่ออกแบบและคำนวณโครงสร้างเอง คือ อาคารที่ทำการสถานีตำรวจพลับพลาไชย สูง 5 ชั้น ในระหว่างที่อยู่กรมโยธาเทศบาลอาจารย์นารถก็ยังไปสอนเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา และเมื่อ พ.ศ. 2487 ได้เรียบเรียงหนังสือ "สถาปัตยกรรมในประเทศไทย" ตีพิมพ์เผยแพร่โดยกรมโยธาเทศบาลและใช้สอนทั้งในโรงเรียนช่างโยธาของกรมฯ เองและที่มหาวิทยาลัย
บั้นปลายชีวิต
แก้อาจารย์นารถ โพธิประสาทได้สมรสกับนางสาวสกุล (สกุนตลา) นิวาศนันท์ วิทยาศาสตร์บัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2484 แต่ไม่มีทายาท ในปี พ.ศ. 2485 (30 กันยายน) เมื่ออายุได้ 41 ปีได้รับพระราชโองการแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตในสาขาวิชาสถาปัตยศิลป์
เนื่อจากการขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน ในปี พ.ศ. 2494 เมื่ออายุ 50 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เจรจาขอโอนตัวกลับไปรับตำแหน่งอาจารย์เอกตามเดิม ซึ่งอาจารย์นารถได้ทุ่มเทให้กับการบริหารและการสอนอย่างหนักทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2497 หลังจากกลับจากการประชุมปรับปรุงหลักสูตรสถาปัตยกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมฯ เพียง 3-4 ชั่วโมง อาจารย์นารถ โพธิประสาทก็ถึงแก่กรรมจากโรคปอดซึ่งเป็นโรคที่ยังรักษาไม่ได้ในขณะนั้น
ปัจจุบันคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดวางรูปปั้นครึ่งตัวของอาจารย์นารถ โพธิประสาทไว้ ณ โถงทางเข้าอาคารเรียนหลังเดิมเพื่อเป็นการระลึกถึงคูณูปการที่ท่านอาจารย์ได้มีต่อการศึกษาและวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทยโดยจะมีพิธีสักการะทุกวันที่ 23 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันเกิดคณะทุกปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2483 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[2]
- พ.ศ. 2480 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[3]
- พ.ศ. 2489 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ นารถ โพธิประสาท, สถาปัตยกรรมในไทย, หน้า 308-310, 319-320 (โดย ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๖๑, ๗ ตุลาคม ๒๔๘๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๖๘๘, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๘๐ ง หน้า ๑๙๖๔, ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๙
- เรียบเรียงโดย สกุนตลา โพธิประสาท และ ศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ. จุลสารรณรงค์ เงินทุน 100 ปีอาจารย์นารถ โพธิประสาท'. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540.
- หนังสือประวัติครู ๑๖ มกราคม ๒๕๐๕. [ม.ป.ท.] : คุรุสภา, พ.ศ. 2505.
- เอกสารประวัติคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย