ประวัติศาสตร์เอเชียกลาง

ประวัติศาสตร์เอเชียกลาง คือ ประวัติศาสตร์ของดินแดนเอเชียกลาง ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำการเกษตรได้ยากและอยู่ห่างไกลจากทะเล ทำให้ถูกตัดขาดจากเส้นทางการค้า เมืองใหญ่ๆจึงเกิดขึ้นน้อย ชนร่อนเร่ที่เชี่ยวชาญการขี่ม้าเป็นกลุ่มชนหลักในทุ่งหญ้าสเตปป์ และความสัมพันธ์ระหว่างชนร่อนเร่และกลุ่มชนอื่นๆในเอเชียกลางเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทักษะในการขี่ม้าของพวกเขาทำให้กลายเป็นนักรบที่มีประสิทธิภาพกลุ่มหนึ่งของโลก ผู้นำเผ่าจะเป็นผู้จัดการนำเผ่าย่อย ๆ มารวมกันเป็นกองทัพ ตัวอย่างของกลุ่มชนเหล่านี้ เช่น ชาวฮันที่เข้ารุกรานยุโรป กลุ่มชนเตอร์กิกที่อพยพเข้าสู่ทรานโซเซียนา(Transoxiana) พวกหูทั้ง 5 ชนกลุ่ม(Five Barbarians)ที่โจมตีจักรวรรดิฮั่น และชาวมองโกลที่มีอิทธิพลในเอเชียและยุโรป

แผนที่เอเชียกลางแสดงเขตแดนตามคำนิยามที่ต่างกัน 3 แบบ
Equus przewalskii หรือม้าป่ามองโกเลีย, หรือทาคี, อาจเป็นบรรพบุรุษของม้าบ้าน.

ความโดดเด่นของชนร่อนเร่สิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่ออาวุธสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในสงคราม จักรวรรดิรัสเซีย ราชวงศ์หมิงของจีน และมหาอำนาจอื่นเข้าครอบครองเอเชียกลางทั้งหมดในพุทธศตวรรษที่ 24 หลังการปฏิวัติรัสเซีย พ.ศ. 2460 รัสเซียเข้าครอบครองเอชียกลางเกือบทั้งหมด เหลือแต่มองโกเลียและอัฟกานิสถานที่เป็นรัฐเอกราช แต่มองโกเลียก็เป็นรัฐบริวารรัฐหนึ่งของโซเวียต และโซเวียตพยายามเข้าครอบงำอัฟกานิสถานแต่ไม่สำเร็จ ส่วนที่ถูกโซเวียตยึดครองได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมแต่วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกกดขี่ เมื่อ โซเวียตสลายตัวไปเมื่อ พ.ศ. 2534 รัฐของโซเวียตในเอเชียกลาง 5 รัฐได้เป็นรัฐเอกราช คือ คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แก้

หลักฐานทางพันธุศาสตร์กล่าวว่ามนุษย์โฮโมเซเปียนส์เข้าสู่เอเชียกลางเมื่อ 40,000 - 50,000 ปีมาแล้ว ถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่เก่าแก่ของมนุษย์แห่งหนึ่งของโลกแหล่งนี้อาจเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนก่อนอพยพเข้าสู่ยุโรป ไซบีเรียและอเมริกาเหนือ[1] คาดว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดของตระกูลภาษาอินโด-ยุโรเปียนในช่วงต้นราว 4,000 ปีก่อนพุทธศักราช มีชุมชนเล็กๆ พัฒนาการสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวรและเริ่มทำการเกษตร รวมทั้งเริ่มเลี้ยงม้าสำหรับเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวในระยะแรก และเริ่มใช้เป็นพาหนะในอีก 500 ปีต่อมา กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ชนร่อนเร่

ชานิยมเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน อาศัยอยู่ในเตนท์หรือค่ายพักที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย มีการตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองเล็ก ๆ ในบริเวณที่ชุ่มชื้นของเอเชียกลาง เช่นการเกิดอารยธรรมแบ็กเตรีย-มาร์เกียนา(Bactria–Margiana) ที่มีการปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์และมีการประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้ บักเตรีย-มาร์เกียนาอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอันโดรโนโว(Andronovo culture) ในช่วงยุคสำริดที่เป็นแหล่งกำเนิดของการใช้รถม้าซึ่งอยู่ทางเหนือของไซบีเรียตะวันตก รัสเซีย และบางส่วนของคาซัคสถาน คงอยู่มาจนถึง 457 ปีก่อนพุทธศักราช บักเตรีย-มาร์เกียนาอาจจะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอารยันที่เป็นบรรพบุรุษของผู้พูดภาษากลุ่มอินโด-อิเรเนียน และอาจจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมยูราลิกและอัลไตอิกด้วย

รวา พ.ศ. 443 นครซอกเดีย(Sogdia) กลายเป็นเมืองสำคัญและเป็นที่พักของพ่อค้าบนเส้นทางสายไหม มีประชากรที่หลากหลายเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ กลุ่มของชาวนอร์มาดิกในเอเชียกลาง รวมทั้งชาวฮันและกลุ่มชนเตอร์กิกกลุ่มอื่นๆ ของโตคาเรีย ชาวเปอร์เซีย ชาวไซเทีย(Scythians) และกลุ่มผู้พูดภาษากลุ่มอินโด-ยุโรเปียนอื่นๆ และชาวมองโกลอีกจำนวนหนึ่ง

ยุคโบราณ แก้

 
เหรียญกษาปณ์กรีกที่ทำจากเงิน มูลค่า 4 ดรักมา (Tetradrachm) ในสมัยของกษัตริย์ยูเครติเดสที่ 1 (Eucratides I) แห่งอาณาจักรเกรโก-แบ็คเตรีย(Greco-Bactrian Kingdom) เมื่อประมาณ 171-145 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ตั้งแต่ 2,000-1,000 ปีก่อนคริสตกาล ทางใต้ของเอเชียกลางประกอบด้วยรัฐขนาดใหญ่และเกรียงไกร พยายามแผ่อำนาจเข้ามาพิชิตชนร่อนเร่ในเอเชียกลาง แต่ไม่สามารถพิชิตได้ทั้งหมด จักรวรรดิเมเดีย(Media)และจักรวรรดิอะคีเมนิด เคยครอบครองบางส่วนของเอเชียกลาง จักรวรรดิซฺยงหนู(ราว 209 ปีก่อนคริสต์ศักราช)เป็นจักรวรรดิแห่งแรกในเอเชียกลาง ตามมาด้วยจักรวรรดิกอกเติร์ก(Göktürk)และจักรวรรดิมองโกลในเวลาต่อมา หลังจากชัยชนะของจักรวรรดิฮั่นในสงครามฮั่น-ซฺยงหนู (Han–Xiongnu War) ในช่วงระหว่าง 133 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึงคริสต์ศักราชที่ 89 จักรวรรดิฮั่นเริ่มแผ่อำนาจมาทางตะวันตก จักรวรรดิเปอร์เซียและมาซีโดเนียเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียกลางโดยเข้ามาก่อตั้งเมืองและควบคุมเส้นทางการค้า

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้นำวัฒนธรรมกรีกเข้ามาและสร้างเมืองอเล็กซานเดรียเอสคาเท เมื่อ พ.ศ. 214 ในบริเวณที่เป็นทาจิกิสถานในปัจจุบันนี้ หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 220 บริเวณที่เป็นเอเชียกลางรวมอยู่ในจักรวรรดิเซเลซูอิด(Seleucid Empire) ใน พ.ศ. 293 เอเชียกลางมีการตั้งอาณาจักรแบ็กเตรีย(Bactria)หรืออาณาจักรกรีก-บักเตรียที่มีการขยายอำนาจไปสู่อินเดียและจีน จนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจลงไปเมื่อ พ.ศ. 418 อาณาจักรอินโด-กรีก(Indo-Greek Kingdom)ที่มีฐานที่มั่นในปัญจาบและควบคุมเขตอิทธิพลไปถึงอัฟกานิสถาน ได้พัฒนามาเป็นอาณาจักรพุทธแบบกรีก อาณาจักรกุษาณเป็นอาณาจักรที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-9 และสืบทอดวัฒนธรรมแบบพุทธและแบบกรีก อาณาจักรเหล่านี้มีอำนาจควบคุมเส้นทางสายไหมที่เชื่อมจีนกับยุโรปซึ่งต่อมาอำนาจจากภายนอก เช่น จักรวรรดิซาสซานิยะห์พยายามเข้ามาครอบครองเส้นทางสายนี้

ในบรรดาอำนาจที่แผ่ขยายมาเหล่านี้ จักรวรรดิพาร์เทีย(Parthian Empire)เป็นจักรวรรดิที่มีต้นกำเนิดในเอเชียกลาง แต่ได้ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมเปอร์เซียซึ่งเป็นตัวอย่างแรกๆของการขยายตัวของชนเผ่าในเอเชียกลางขึ้นมาเป็นอาณาจักรและจักรวรรดิ จากนั้นได้ปรับตัวให้เข้ากับวฒนธรรมภายนอกที่อยู่รอบๆได้รวดเร็ว ในยุคนี้เอเชียกลางเป็นบริเวณที่มีการผสมผสานทั้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา โดยศาสนาพุทธยังเป็นที่นับถือโดยส่วนใหญ่ แต่แพร่หลายเฉพาะทางตะวันออกบริเวณใกล้กับเปอร์เซียเท่านั้น ศาสนาโซโรอัสเตอร์จึงถูกให้ความสำคัญแทน ศาสนาคริสต์นิกายเนสโทเรีย(Nestorian Christianity)ได้แพร่หลายมาถึงบริเวณนี้ แต่เป็นเพียงความเชื่อกลุ่มเล็กๆ ศาสนาที่แพร่หลายเป็นอันดับสามคือศาสนามาณีกี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือมากกว่า 1 ศาสนา และผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้าไปด้วย การแพร่ขยายของชาวเติร์กเริ่มขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 11 และกลายเป็นจักรวรรดิกอกเติร์กในที่สุด ชาวเติร์กได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วจนทั่วเอเชียกลาง ชาวเติร์กที่พูดภาษาอุยกูร์เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีวัฒนธรรมหลากหลายควบคุมเส้นทางสายไหมที่เมืองตูร์ฟาน(Turpan)ในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเมืองอยู่ในอาณาเขตของสาธารณรัฐประชาชนจีนปัจจุบัน ชนร่อนเร่ชาวอุยกูร์เหล่านี้นับถือศาสนามาณิกี ศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์นิกายเนสโตเรีย

ยุคกลาง แก้

อิทธิพลศาสนาอิสลาม แก้

ในพุทธศตวรรษที่ 13 ศาสนาอิสลามได้แพร่หลายเข้ามาและกลายเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ ยกเว้นทางตะวันออกที่ศาสนาพุทธยังเข้มแข็ง กองทหารของชาวอาหรับได้รุกรานเข้ามาและเข้ากันได้กับชาวพื้นเมืองในเอเชียกลาง จักรวรรดิของชาวอาหรับยุคแรกๆจึงแผ่เข้ามาถึงเอเชียกลาง การเข้ามาของชาวอาหรับ ทำให้อิทธิพลของจีนในเอเชียกลางฝั่งตะวันตกหมดไป

จักรวรรดิภายในทุ่งหญ้าสเตปป์ แก้

 
แผนที่แสดงเส้นทางการค้าผ่านเอเชียกลางเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

เมื่อเทคโนโลยีใหม่ได้แพร่หลายเข้ามา ชาวพื้นเมืองที่เชี่ยวชาญในการขี่ม้าเริ่มมีอำนาจมากขึ้นและกลายเป็นชนส่วนใหญ่ในเอเชียกลาง มีการสร้างบ้านเมืองและสถาปนาเป็นอาณาจักรขึ้น ชนกลุ่มนี้ ขาดโครงสร้างทางการเมืองที่ซับซ้อน เป็นการรวมกลุ่มของเผ่าต่างๆเข้าด้วยกัน โดยมีผู้นำที่เรียก"ข่าน" เมื่อข่านเสียชีวิต ดินแดนของข่านจะถูกแบ่งให้ทายาทแต่ละคน ทำให้จักรวรรดิเหล่านี้เสื่อมลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่ก่อตั้งขึ้นมา การพัฒนาของอำนาจในเอเชียกลางพัฒนาขึ้นเมื่อเจงกีสข่านได้รวบรวมเผ่าของมองโกล ด้วยเทคนิคทางทหารที่เหนือกว่า จักรวรรดิมองโกลได้แพร่หลายเข้ามาในเอเชียกลางและเข้าสู่ดินแดนของจีน รัสเซียและตะวันออกกลางบางส่วน หลังจากเจงกีสข่านสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 1770 เอเชียกลางส่วนใหญ่ถูกปกครองโดยจักรวรรดิข่านจักกาไท ต่อมา ใน พ.ศ. 1912 ติมูร์ ผู้นำชาวเติร์กในกองทหารมองโกลได้เข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่

เนื่องจากพื้นที่ในเอเชียกลางเป็นพื้นที่ที่ถูกรุกรานได้ง่าย การจัดตั้งอำนาจรัฐจึงทำได้ยาก โครงสร้างทางการเมืองที่ซับซ้อนของชนเผ่าในทุ่งหญ้าสเตปป์ยากแก่การตั้งเป็นรัฐ นอกจากนั้นกองทัพของชนร่อนเร่มีพื้นฐานที่สำคัญคือมีม้าจำนวนมาก การบำรุงรักษากองทัพจึงต้องใช้พื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงม้าเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งพบเฉพาะในภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าสเตปป์ นอกจากนี้ กองทัพยังไม่สามารถฝ่าเข้าไปในพื้นที่ป่าตอนเหนือซึ่งมีรัฐนอฟโกรอคและรัฐมัสโกวีครองอำนาจอยู่

ในพุทธศตวรรษที่ 19 พื้นที่แถบเอเชียกลางและพื้นที่ใกล้เคียงถูกปกครองโดยติมูร์ ที่ชาวตะวันตกเรียกว่าติเมอร์เลน ในช่วงที่ติมูร์ปกครองนี้เองที่วัฒนธรรมของชนร่อนเร่ได้รวมเข้ากับวัฒนธรรมการตั้งถิ่นฐานของชาวอิหร่าน


อ้างอิง แก้