วนัสธนา สัจจกุล

(เปลี่ยนทางจาก ธวัชชัย สัจจกุล)

วนัสธนา สัจจกุล (ชื่อเดิม ธวัชชัย สัจจกุล) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ บิ๊กหอย อดีตหัวหน้าพรรคพลังคนกีฬา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย และอดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย

วนัสธนา สัจจกุล
หัวหน้าพรรคพลังคนกีฬา
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2553 – 9 มกราคม พ.ศ. 2556
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 (81 ปี)
จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2539-2543)
ไทยรักไทย (2543-2550)
มัชฌิมาธิปไตย (2550-2551)
พลังคนกีฬา (2553-2556)
พลังประชารัฐ (2561-ปัจจุบัน)
คู่สมรสสุพัทรา สัจจกุล (หย่า)

ประวัติ

แก้

นายวนัสธนา สัจจกุล เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นบุตรนายสุเทพและนางชวลิต สัจจกุล มีพี่น้อง 12 คน สมรสกับนางสุพัทรา มีบุตรชาย 2 คนและบุตรสาวคนเล็กอีก 1 คน หนึ่งในนั้นคือนักแสดงที่มีชื่อเสียงคือ ธีรภัทร์ สัจจกุลและชลนสร สัจจกุล (บุตรนอกสมรส) รวมมีบุตร 4 คน เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีวรนาถ มัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แผนกวิทยาศาสตร์ และศึกษาต่อวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ ในครั้งนั้นได้เป็นนักฟุตบอลของมหาวิทยาลัย และสโมสรฟิลิปปินส์ ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 200–300 บาท และยังได้ติดทีมชาติฟิลิปปินส์กลับมาแข่งที่ประเทศไทยด้วย ส่วนระดับปริญญาโท สำเร็จการศึกษาจากคณะจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อเสียงมาพร้อมกับทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ชุด "ดรีมทีม" ซึ่งเป็นชุดที่ได้แชมป์ซีเกมส์ ที่สิงคโปร์ ประจำปี พ.ศ. 2536 ในฐานะผู้จัดการทีม ที่มีนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากร่วมทีม ได้แก่ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ตะวัน ศรีปาน, ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล, ดุสิต เฉลิมแสน, โกวิทย์ ฝอยทอง เป็นต้น

ชีวิตทางการเมือง

แก้

ในทางการเมือง นายวนัสธนาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2539 เคยลงรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยได้ลำดับคะแนนมาเป็นที่สาม และในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี พ.ศ. 2547 นายวนัสธนาจะลงสมัครอีกครั้งในแบบอิสระ แต่ได้เปลี่ยนใจกลางคัน เนื่องจากอ้างว่าได้ดูผลสำรวจความนิยมแล้ว ก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย และได้ใช้ค่าใช้จ่ายในการผลิตแผ่นพับแนะนำตัวไปกว่าล้านบาทแล้ว

ต่อมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และ ปี พ.ศ. 2548

ในกลางปี พ.ศ. 2550 ได้เข้าร่วมกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมด้วยกับบุตรชายคนโต คือ นายกฤษดา สัจจกุล[1]

ในปี พ.ศ. 2553 นายวนัสธนาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังคนกีฬา และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553[2]

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 พรรคพลังคนกีฬา ได้ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อครบตามจำนวนที่ กกต. กำหนดให้ส่งได้ คือ 125 คน โดยมีหมายเลขประจำพรรค คือ หมายเลข 36 โดยนายวนัสธนา สัจจกุล เป็นผู้สมัครลำดับที่ 1 แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด หลังจากนั้นจึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคพลังคนกีฬาเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556 พร้อมกับนายกฤษฎิ์ พรหมทอง ที่ขอลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1[3]

ในวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายวนัสธนาได้เดินทางเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ[4]

ประสบการณ์ทางธุรกิจ

แก้
  • พ.ศ. 2510 : เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ บริษัทแคมป์เดรสเซอร์แอนด์แมกกี จำกัด ในตำแหน่งวิศวกรโครงสร้าง
  • พ.ศ. 2512 : บริษัท แคมป์เดรสเซอร์แอนด์แมกกี จำกัด หมดสัญญาสัมปทาน ได้เข้าไปทำงานที่บริษัท มอริสันนุสเซ่น จำกัดในตำแหน่ง วิศวกรโครงสร้าง โครงการ สนามบินสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทำได้ปีเดียวก็หมดสัญญาโครงการ
  • พ.ศ. 2513 : เข้าทำงานที่ บริษัท จาร์ดีน วอร์ ในตำแหน่ง เซลล์เอนจิเนียร์ ต่อมาสมัครงานใหม่ที่ บริษัทแองโกลไทย ในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายขาย จนได้ชื่อว่าเป็นมือหนึ่งของ ประเทศไทยด้านการขายระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
  • พ.ศ. 2514 : เป็นเจ้าของ บริษัท โรสเอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัดและ บริษัท ฮาร์ทเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำหน่ายเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติ และต่อมาได้ขยายงาน ด้านการติดตั้งระบบไฟฟ้า และน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก
  • พ.ศ. 2515 : ขยายธุรกิจด้วยการซื้อหุ้นโรงงานทำแอร์ จากชาวสิงคโปร์ ที่ซอยเทพารักษ์
  • พ.ศ. 2525 : เป็นเจ้าของ บริษัท ถังแก๊สและอุตสาหกรรม จำกัด ได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารใหม่ จนทำให้บริษัทที่มีการขาดทุนถึง 68 ล้านบาท กลับมามีกำไรถึง 11 ล้านบาทต่อปี
  • เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนเวสท์-อาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โอทีวายแอร์ จำกัด และ บริษัท โฟร์สตาร์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

การทำงานด้านกีฬา

แก้

พ.ศ. 2532 : ได้รู้จักกับนายวิจิตร เกตุแก้ว (อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย) จึงได้เริ่มเข้าสู่วงการฟุตบอลไทย

พ.ศ. 2535 :

  • 16-28 เมษายน 2535 เป็นผู้จัดการทีมเยาวชน อายุ 19 ปี ไปแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเซีย กลุ่ม 4 ที่ประเทศ สิงค์โปร์ ผลการแข่งขันชนะเลิศได้ไปแข่งรอบ 10 ทีมสุดท้ายที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังจากทีมได้แชมป์ ได้ปรับปรุงบ้านพักสำนักงานของตน ให้เป็นแคมป์เก็บตัวของนักกีฬา อีกทั้งจัดงบประมาณด้วยเงินส่วนตัวให้เพื่อเป็นสวัสดิการแก่นักฟุตบอล พร้อมทั้งอาหารอีก 2 มื้อ เช้า-เย็น อีกทั้งสร้างสนามฟุตบอลให้เป็นของสมาคมฟุตบอล โดยใช้เนื้อที่ 10 ไร่ของ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ที่หมู่บ้านเกศินีวิลล์
  • 22 กันยายน - 4 ตุลาคม 2535 เป็นผู้จัดการทีมเยาวชนอายุ 19 ปี ไปแข่งขันฟุตบอล ชิงแชมป์เอเซีย รอบ 10 ทีมสุดท้ายที ่ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรทต์ ผลการแข่งขันตกรอบแรก
  • 6-19 ธันวาคม 2535 เป็นผู้จัดการทีมไปแข่งขัน ฟุตบอลเมอร์ไลออนส์คัพที่ประเทศ สิงค์โปร์ ผลการแข่งขันตกรอบแรก

พ.ศ. 2536 :

  • 7-16 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ชุด B ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพครั้งที่ 24 ได้ตำแหน่งที่ 4
  • 4-20 เมษายน 2536 เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผลการแข่งขันได้ที่ 3 โดยมีญี่ปุ่นได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันรอบ 2
  • 5-21 มิถุนายน 2536 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 17 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ

พ.ศ. 2537 :

  • 12-20 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ชุด B ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 25 ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ
  • 7-16 สิงหาคม 2537 เป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ไปแข่งขันฟุตบอลอินดิเพ็นเด้นท์คัพ ครั้งที่ 6 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ
  • 3-16 ตุลาคม 2537 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผลการแข่งขันตกรอบแรก

พ.ศ. 2538 :

  • 17-26 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ชุด A ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 26 ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งที่ 3
  • 26-30 พฤษภาคม 2538 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันรอบคัดเลือกฟุตบอลโอลิมปิก กลุ่ม 5 ที่ประเทศไทย ผลการแข่งขันตกรอบแรก
  • 4-16 พฤศจิกายน 2538 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ

พ.ศ. 2539 :

  • 1-15 กันยายน 2539 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลไทเกอร์คัพ ครั้งที่ 1 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผลการแข่งขันได้ตำแหน่งชนะเลิศ
  • 4-21 ธันวาคม 2539 เป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย ในการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ รอบ 12 ทีมสุดท้ายผลการแข่งขันตกรอบแรก

ผลงานด้านวงการบันเทิง

แก้
  • ปี 2539 ละคร 111 ตองหนึ่ง
  • ปี 2540 ละคร นิรมิต
  • ปี 2540 ละคร อำนาจ
  • ปี 2541 ละคร สวรรค์เบี่ยง
  • ปี 2542 ละคร เพียงแค่ใจเรารักกัน
  • ปี 2542 ละครเทิดพระเกียรติ ใต้แสงตะวัน ตอน วันเกิดของพ่อ
  • ปี 2544 ละคร ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน

ที่มาของชื่อ

แก้

ที่มาของชื่อ บิ๊กหอย นายวนัสธนามีชื่อเล่นว่า "อ๊อด" สมัยเป็นนักเรียน ครูพละสั่งให้เข้าแถวแต่ยังเล่นซุกซนกับเพื่อน ครูเลยตะโกนเรียกว่า "ไอ้หอย เขาให้แถวตรงยังยุกยิกอยู่ได้" พวกเพื่อนเลยชอบใจ เรียกใหม่ว่า "หอย" ตั้งแต่ตอนนั้น[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. จับตา! ริ้วขบวนอดีตคนคุ้นเคย ‘ไทยรักไทย’‘เปิดหัวต่อหาง’ ลุยเลือกตั้ง
  2. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคพลังคนกีฬา
  3. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคพลังคนกีฬา
  4. "บิ๊กหอย"ซบ พปชร.เชื่อประชาชนพึ่งได้ เผยแอบเชียร์รัฐประหารก่อน พ.ค.57
  5. ธวัชชัย สัจจกุล
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๙, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓