ธงชาติอิรัก (อาหรับ: علم العراق) มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งจากความผันผวนทางการเมืองในประเทศ นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศใน พ.ศ. 2464 เป็นต้นมา ธงชาติแบบที่เปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดนี้ดัดแปลงจากธงชาติอิรัก พ.ศ. 2547–2551 ลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีแดง-ขาว-ดำ แบ่งตามแนวนอน มีความกว้างแต่ละแถบเท่ากัน กลางแถบสีขาวมีอักษรกูฟีย์ เขียนเป็นข้อความภาษาอาหรับว่า "อัลลอหุ อักบัร" แปลว่า พระอัลเลาะห์เจ้าทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเอารูปดาวห้าแฉกสีเขียว 3 ดวงออกจากธงเดิมไป

ธงชาติอิรักแบบปัจจุบัน สัดส่วนธง 2:3

ควรรู้ด้วยว่า ด้านคันธงของธงที่มีอักษรอาหรับจารึกอย่างธงนี้อยู่ทางด้านขวา ไม่ใช่ทางด้านซ้ายของผู้สังเกตอย่างธงปกติทั่วไป

ประวัติ

แก้

พ.ศ. 2464–2502

แก้
 
  พ.ศ. 2464- 2502 (สัดส่วนธง: 1:2)

ธงชาติแบบแรกสุดของประเทศอิรัก กำหนดให้มีขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2464 โดยเป็นรัฐอารักขาเมโสโปเตเมียของสหราชอาณาจักร ลักษณะเป็นธงสามสีพื้นสีดำ-ขาว-เขียว ที่ด้านคันธงมีรูปสี่เหลี่ยมคางหมูในแนวตั้งพื้นสีแดง (บางแบบก็เป็นรูปสามเหลี่ยมก็มี) ในพื้นสีแดงนั้นมีดาว 7 แฉก 2 ดวง เรียงกันในแนวตั้ง หมายถึงทั้ง 14 จังหวัดของราชอาณาจักรอิรักในขณะนั้น สังเกตได้ว่า ธงนี้มีความคล้ายคลึงกับธงชาติจอร์แดนเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าสีในธงทั้งหมดนั้น บรรดาเจ้าผู้ครองนคร (Hashemite leaders) ในการปฏิวัติอาหรับ ซึ่งเป็นผู้สถาปนาประเทศนี้ เป็นผู้เลือกให้ใช้ในธงชาติอิรัก ธงนี้มีการใช้มาตลอดสมัยที่อิรักปกครองด้วยระบอบกษัตริย์จนถึง พ.ศ. 2502 ซึ่งในหมู่พวกนิยมกษัตริย์ในอิรัก ก็ยังมีการใช้ธงนี้อยู่

พ.ศ. 2502–2506

แก้
 
  พ.ศ. 2502- 2506 (สัดส่วนธง: 1:2)

หลังจากการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้การนำของอิบด์ อัล-คะริม กอซิม (Abdul Karim Qassim) ในปี พ.ศ. 2501 ประเทศอิรักก็ได้มีการออกกฎหมายเลขที่ 102 ค.ศ. 1959 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ให้ใช้ธงชาติอย่างใหม่ของสหพันธรัฐอาหรับอิรักและจอร์แดน ซึ่งมีลักษณะเป็นธงสามสีแนวตั้ง พื้นสีดำ-ขาว-เขียว ที่กลางแถบสีขาวนั้นมีรูปดาว 8 แฉกสีแดง 1 ดวง ภายในมีวงกลมสีเหลือง ความหมายของสีดำและสีเขียวคือเป็นสีพันธมิตรอาหรับ ดวงตะวันสีเหลืองหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ส่วนดาว 7 แฉกสีแดงนั้นหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวอัสซีเรีย

ธงชาติแบบดังกล่าวนี้ ได้รับอนุญาตให้ใช้ชักในจังหวัดเคอร์ดิชสถาน ซึ่งเป็นเขตปกครองของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ส่วนธงในรุ่นหลัง ซึ่งมีการใช้ในกลุ่มสมาชิกพรรคบะอัธ และกลุ่มสมาคมพันธมิตรอาหรับ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้[1][2]

พ.ศ. 2506–2534

แก้
 
  พ.ศ. 2506- 2534 (สัดส่วนธง: 2:3)

ต่อมาเมื่อรัฐบาลปฏิวัติของอิบด์ อัล-คะริม กอซิมถูกโค่นอำนาจโดยพรรคบะอัธ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงธงชาติอิรักอีกครั้งหนึ่ง ตามกฎหมายเลขที่ 28 ค.ศ. 1963 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ธงแบบใหม่นี้เป็นธงริ้วสามสีแนวนอนพื้นสีแดง-ขาว-ดำ มีดาว 5 แฉกสีเขียว 3 ดวง ในแถบสีขาว ซึ่งดาวสีเขียว 3 ดวงในธงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของอิรักในการเข้าร่วมสหสาธารณรัฐอาหรับ อันเป็นสหภาพทางการเมืองช่วงสั้น ๆ ระหว่างอียิปต์และซีเรีย[3] ภายหลังซีเรียซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกับอิรักได้รับเอาธงชาติอิรักในยุคนี้ไปใช้เป็นธงชาติตัวเองจนถึงปี พ.ศ. 2514 เมื่อดาวสีเขียวบนธงชาติซีเรียถูกแทนที่ด้วยเหยี่ยวแห่งกุเรช ตราแผ่นดินของซีเรีย[4]

พ.ศ. 2534–2547

แก้
 
  พ.ศ. 2534–2547 (สัดส่วนธง: 2:3)

ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2534 ได้มีการเปลี่ยนแปลงธงชาติอิรักอีกครั้ง โดยธงชาติมีลักษณะคล้ายกับธงชาติยุค พ.ศ. 2506 แต่มีการเปลี่ยนนิยามความหมายของดาว 3 ดวงในธง ให้หมายถึงหลัก 3 ข้อคำขวัญของพรรคบะอษ์ คือ เอกภาพ เสรีภาพ สังคมนิยม (อาหรับ: Wahda, Hurriyah, Ishtirakiyah) และเพิ่มข้อความอักษรกูฟีย์ ภาษาอาหรับ แทรกระหว่างดาวสีเขียว 3 ดวงว่า "อัลลอหุ อักบัร" โดยประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้ออกคำสั่งให้เพิ่มข้อความข้างต้น แม้จะไม่เป็นที่ยืนยันนัก แต่ก็มีการกล่าวกันว่า ข้อความอักษรกูฟีย์ดังกล่าวเป็นลายมือของซัดดัม ฮุสเซนเอง ทั้งยังมีอีกหลายคนตีความกันว่า ที่ซัดดัมทำเช่นนี้ก็เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากโลกอิสลามในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (พ.ศ. 2534)

พ.ศ. 2547–2551

แก้
 
  พ.ศ. 2547–2551 (สัดส่วนธง: 2:3)

หลังการสิ้นอำนาจของซัดดัมใน พ.ศ. 2547 ได้มีการเสนอธงชาติแบบใหม่ให้แทนธงเดิมในเดือนเมษายนปีเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยมีการนำมาใช้แต่อย่างใด (ดูเพิ่มเติมข้างล่าง) ต่อมาในพิธีการส่งมอบอำนาจแก่รัฐบาลรักษาการของอิรัก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 นั้น ได้มีการตกแต่งเวทีโดยใช้ธงซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับธงชาติแบบเดิม กล่าวคือ เป็นธงสามสีแนวนอนพื้นสีแดง-ขาว-ดำ กลางแถบสีขาวมีรูปดาวสีเขียว 3 ดวง ระหว่างดาวทั้งสามมีข้อความภาษาอาหรับ เขียนด้วยอักษรกูฟีย์ว่า "อัลลอหุ อักบัร" ในลักษณะเป็นอักษรตัวเหลี่ยมสมัยใหม่ ธงชาติอิรักแบบแก้ไขเพิ่มเติมนี้ได้มีการเชิญขึ้นสู่ยอดเสาที่สถานทูตอิรักในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547[5]

การเปลี่ยนธงชาติ พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2551

แก้
 
  แบบธงชาติอิรักที่มีการเสนอใหม่ พ.ศ. 2547 (ยกเลิกในภายหลัง)

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2547 สภาการปกครองอิรัก (Iraqi Governing Council หรือ IGC) ได้ประกาศใช้ธงชาติอย่างใหม่แทนธงเดิมในยุคของซัดดัม ฮุสเซน โดยเลือกจากธงที่ได้มีการการส่งเข้าประกวด 30 แบบ ซึ่งแบบธงที่ได้รับการคัดเลือกนี้ เป็นผลงานของของริฟัต อัล ชาเดอร์ชี (Rifat al-Chaderchi) ศิลปินและสถาปนิกชาวอิรัก ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และเป็นพี่ชายของสมาชิกสภาการปกครองอิรักคนหนึ่งด้วย

ลักษณะของธงดังกล่าว เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีขาว ตอนล่างมีแถบสีฟ้า-เหลือง-ฟ้า ขนาดเล็ก ความกว้างรวมกันเป็น 1 ใน 4 ส่วนของความกว้างธงทั้งหมด แถบสีฟ้านั้นหมายถึงแม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรติส ซึ่งไหลผ่านที่ราบลุ่มเมโสโปเตเมีย อันเป็นที่ตั้งของประเทศอิรัก แถบสีเหลืองหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ซึ่งเหตุผลในการให้คำนิยามเช่นนี้ไม่เป็นที่ชัดเจนนัก แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ในธงเคอร์ดิชสถานนั้นมีรูปดวงอาทิตย์สีเหลืองประกอบอยู่ด้วย ส่วนที่กลางพื้นสีขาวนั้น มีรูปจันทร์เสี้ยวสีฟ้า หมายถึง ศาสนาอิสลาม

แบบธงดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าแตกต่างจากธงที่ใช้ในกลุ่มประเทศอาหรับอย่างสิ้นเชิง เพราะตามประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ในแถบตะวันออกกลาง ธงชาติมักจะใช้สีเขียวและสีดำ เพื่อแทนความหมายของศาสนาอิสลาม ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดชาตินิยมอาหรับ และในตราสัญลักษณ์แบบอาหรับนั้น ก็นิยมใช้สีเขียวหรือสีแดงโดยทั่วไปอีกด้วย การที่ใช้ธงชาติที่มีสีหลักเป็นสีขาวและฟ้าเช่นนี้ จึงได้กลายเป็นประเด็นที่โต้แย้งและถกเถียงกันในอิรัก เพราะลักษณะธงนี้ไปคล้ายคลึงกับธงชาติอิสราเอล ซึ่งอิรักถือว่าเป็นประเทศชนชาติศัตรู (อนึ่ง แบบธงชาติอิสราเอลจำนวนหนึ่งก่อนที่จะมีการประกาศใช้ธงชาติของตนจริงๆ นั้น ก็มีสีเหลืองประกอบอยู่ในธงด้วย)[6]) ข้อวิจารณ์ในหลายแห่งแสดงออกมามาว่ารู้สึกเสียใจที่ธงชาติอย่างใหม่นี้ ได้ละเลยการใช้สีพันธมิตรอาหรับ และไม่มีข้อความสรรเสริญพระเจ้า "อัลลอหุ อักบัร" ปรากฏอยู่ โดยขาดความเคารพต่อผู้ที่ออกแบบธงเดิม

มีรายงานว่า ธงแบบใหม่ธงนี้ได้ถูกเผาเพื่อเป็นการประท้วงที่เมืองฟัลลูจาห์ (Fallujah) ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2547 ก่อนหน้าวันที่จะมีการประกาศใช้ธงชาติใหม่อย่างเป็นทางการ 1 วัน

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 นายมัสซุด บาร์ซานี (Massoud Barzani) ประธานสภาการปกครองอิรัก ได้แสดงแบบธงใหม่อย่างเป็นทางการ โดยปรับแก้ให้ธงนี้มีโทนสีฟ้าที่เข้มขึ้นจากแบบเดิม ซึ่งเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 26 เมษายน ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เหตุที่มีการแก้แบบธงนั้นมาจากการประท้วงที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือเป็นจากแก้ไขจากแบบเดิมด้วยสาเหตุความผิดพลาดด้านการพิมพ์เพื่อเผยแพร่สื่อตามที่นายมัสซุดอ้าง นายมัสซุดยังได้กล่าวด้วยว่า แบบธงดังกล่าวนี้จะใช้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการใช้แบบธงชาติที่แน่นอน

จากการเผชิญหน้ากับความขัดแยังในครั้งนี้ ทำให้ที่สุดแล้ว การประกาศใช้ธงชาติแบบใหม่อย่างเป็นทางการจึงถูกยกเลิกไป ต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ในพิธีการส่งมอบอำนาจการปกครองอิรัก ธงชาติอิรักที่แสดงอยู่ในพิธีการดังกล่าว ปรากฏว่าเป็นการปรับแบบธงเล็กน้อยจากแบบธงชาติสมัยของซัดดัม ฮุสเซนเพียงเล็กน้อย โดยเปลี่ยนรูปตัวอักษรในข้อความภาษาอาหรับ จากแบบลายมือ มาเป็นแบบตัวเหลี่ยมสมัยใหม่[7]

ภายหลังเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ได้มีการเสนอแบบธงชาติใหม่ โดยยกเอาดาวห้าแฉก 3 ดวงสีเขียว อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคบะอัธในธงชาติเดิมออก และแทนที่ด้วยรูปวงกลมสีเหลืองซ้อนทับบนดาวแปดแฉกสีเขียว ที่ระหว่างข้อความภาษาอาหรับ "อัลลอหุ อักบัร" เพื่อแทนความหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในอิรัก [8] นอกจากนี้ยังมีการเสนอแบบธงใหม่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับธงชาติช่วง พ.ศ. 2547-2551 แต่เปลี่ยนสีตัวอักษรภาษาอาหรับในธง จากเดิมสีเขียว ให้เป็นสีเหลือง เพื่อให้มีความหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดด้วยเช่นกัน และได้เปลี่ยนนิยามความหมายของดาว 3 ดวงในธงเป็น "สันติภาพ ขันติธรรม และยุติธรรม"[9]

22 มกราคม พ.ศ. 2551 รัฐสภาอิรักได้ลงมติให้ใช้ธงชาติใหม่ มีลักษณะคล้ายธงชาติแบบเดิม แต่ยกเอาดาว 3 ดวงในธงออกเสีย[10]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-25. สืบค้นเมื่อ 2007-12-24.
  2. http://memri.org/bin/articles.cgi?Page=archives&Area=ia&ID=IA29306
  3. "Syrian Flag". History of Syria. สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.
  4. Sergie, Lina, Recollecting history : songs, flags and a Syrian square Massachusetts Institute of Technology. Dept. of Architecture, 2003, p.26
  5. http://www.foxnews.com/story/0,2933,124329,00.html
  6. Gutterman, Dov (2007-06-09). "Israel - Flag Proposals (1948-1949)". Flags of the World. สืบค้นเมื่อ 2008-01-24.
  7. http://www.cnn.com/2004/WORLD/meast/06/28/iraq.handover/
  8. Garrels, Anne (2008-01-12). "Iraq to Restore Former Baath Party Followers". National Public Radio. สืบค้นเมื่อ 2008-01-24.
  9. Charif, Chalaan (2008-01-15). "Iraq's new flag half satisfies everyone". Radio Netherlands. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-18. สืบค้นเมื่อ 2008-01-24.
  10. "Flag of Iraq". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 1, 2020.
  11. Mohammed, Abeer; Moore, Solomon (January 23, 2008). "Iraq Parliament Purges Hussein Vestiges on Flag". The New York Times. สืบค้นเมื่อ November 1, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้